Skip to main content
sharethis

สุขภาพปี 2561 ของคนไทยจะเป็นอย่างไร ชวนเทียบงบประมาณสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศไทย 3 ระบบได้แก่ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ งบรักษาพยาบาลข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม โดยสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการยังคงได้งบอุดหนุนรายหัวสูงสุดอยู่ที่ 12,676.06 บาทต่อคน หลักประกันสุขภาพได้งบประมาณสูงสุดคือ 1.26 แสนล้านบาท ดูแลประชาชน 48.8 ล้านคน เมื่อเฉลี่ยรายหัวแล้วอยู่ที่ 2,592.89 บาท

โดยเมื่อพิจารณาแยก 3 กองทุนคือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ งบรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว และกองทุนประกันสังคม มีรายละเอียดดังนี้

คลิกที่นี่เพื่อชมภาพขนาดใหญ่

1. กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ในปีงบประมาณ 2561 ได้รับงบประมาณ 126,533.13 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.36 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ครอบคลุมประชาชน 48.8 ล้านคน เฉลี่ยงบประมาณอยู่ที่ 2,592.89 บาทต่อคน

สำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใช้งบประมาณแผ่นดินอุดหนุน 100% ควบคู่กับระบบร่วมจ่ายค่าธรรมเนียม 30 บาทมาตั้งแต่ก่อตั้งกองทุนตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2545 แต่มีช่วงที่ยกเลิกระบบร่วมจ่ายและให้รักษาฟรีช่วงสั้นๆ คือปี 2549-2555 ก่อนกลับมาใช้ระบบร่วมจ่าย 30 บาทจนถึงปัจจุบัน

สิทธิบัตรทองสำหรับประชาชนจะได้ตั้งแต่แรกเกิด และสิ้นสุดสิทธิเมื่อได้สิทธิรักษาพยาบาลอื่นทดแทนไม่ว่าจะเป็นบัตรประกันสังคม หรือสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการ ผู้ถือบัตรทองเข้ารับการบริการสาธารณสุขได้ที่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนที่เป็นคู่สัญญา โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแล ส่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถใช้สิทธิได้ในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุด โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤต (อ่านคู่มือ)

2. งบรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว

ในปีงบประมาณ 2561 ได้รับงบประมาณ 63,000 ล้านบาท โดยจัดอยู่ในงบกลางตามมาตรา 49 "ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานของรัฐ และครอบครัว" มีผู้มีสิทธิประมาณ 4.97 ล้านคน เฉลี่ยงบประมาณอยู่ที่ 12,676.06 บาทต่อคน

โดยผู้มีสิทธิใช้สวัสดิการนี้ได้แก่ ข้าราชการและครอบครัว ได้แก่ บิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ และไม่นับบุตรบุญธรรม รวมทั้งคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ใช้งบประมาณแผ่นดินอุดหนุน 100% แต่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีเกินสิทธิกำหนด สำหรับโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษาจะเป็นโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนที่เข้าร่วม โดยมีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังดูแล

สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเริ่มต้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2521 ตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2521 มีการปรับปรุงแก้ไขอีกหลายฉบับ โดยปัจจุบันใช้พระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553 และใช้ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555

สำหรับสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการจะสิ้นสุดเมื่อไม่ได้รับราชการ ส่วนสมาชิกครอบครัวหากมีสิทธิประกันสังคมอยู่แล้วจะไม่สามารถใช้สวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการได้ (อ่านคู่มือ)

3. กองทุนประกันสังคม

โดยในรายงานผลสถานะกองทุนประกันสังคม ประจำเดือนกันยายนปี 2560 มีงบประมาณจากรายจ่ายเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทน 48,544 ล้านบาท โดยมีผู้ประกันตน 14.47 ล้านคน เฉลี่ยงบประมาณอยู่ที่ 3,354.80 บาทต่อคน

ทั้งนี้กองทุนประกันสังคมเริ่มดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 จัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล มาตั้งแต่ปี 2534 โดยในเดือนกันยายนปี 2560 เงินกองทุนสะสมกองทุนประกันสังคมตามงบการเงินมีจำนวน 1,809,225 ล้านบาท

โดยประกันสังคมถือเป็นสวัสดิการทางสังคมที่ใช้ระบบไตรภาคี รัฐบาลอุดหนุน 33.33% ส่วนที่เหลือเป็นเงินสมทบโดยผู้ประกันตนและนายจ้าง โดยต้องจ่ายเงินสมทบเข้าสู่ระบบประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน และจะสิ้นสุดสิทธิประกันสังคมเมื่อขาดส่งเงินสมทบมากกว่า 3 เดือน โดยผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาได้ในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม โดยผู้ประกันตนสามารถเลือกโรงพยาบาลได้ 1 แห่ง และสามารถเปลี่ยนโรงพยาบาลได้ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมของทุกปี

นอกจากสิทธิในการรักษาพยาบาลแล้ว กองทุนประกันสังคมยังมีสิทธิประโยชน์กรณีผู้ประกันตนทุพพลภาพ เสียชีวิต คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร บำเหน็จและบำนาญชราภาพ และกรณีว่างงาน โดยมีเงื่อนไขการเกิดสิทธิเป็นไปตามระยะเวลาจ่ายเงินสมทบที่ระเบียบกำหนดไว้ (อ่านรายละเอียด)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net