Skip to main content
sharethis

ฉากเมืองไทยเมื่อการเมืองไม่รับใช้คนเลือกตั้ง ยุทธศาสตร์ชาติมุ่งย้อนเวลาในวันที่เศรษฐกิจ การเมือง สังคมไม่ใช่แบบเดิม รธน. การเลือกตั้งมุ่งสืบทอดอำนาจ แนะปลดล็อคเมื่อไหร่ประชาชนเคลื่อนไหวให้สุด ไม่หยุดที่การเลือกตั้ง กำหนดสัดส่วนเลือกตั้งแบบใหม่ถือว่าตั้งโจทย์ผิด ให้ประชาชนตัดสินเองว่านโยบายคุ้มค่าหรือไม่


วิดีโอเสวนาหัวข้อ "โฉมหน้าอนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง" คาดคะเนโมเดล "นายกฯ คนนอก" รูปแบบต่างๆ โดยอภิชาต สถิตนิรามัย และ การเลือกตั้งแบบสืบทอดอำนาจโดย พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ


จากซ้ายไปขวา: พงศกร ยาห้องกาศ/ พล.ท.พงศกร รอดชมภู/ อภิชาต สถิตนิรามัย


10 ธ.ค. 2560 มีการเสวนา "โฉมหน้าอนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง" โดยมี อภิชาต สถิตนิรามัย รองศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ  พงศกร ยาห้องกาศ นิสิตปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นผู้ร่วมเสวนา งานจัดขึ้นที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 

โฉมหน้าอนาคตเมื่อการเมืองไม่รับใช้คนเลือกตั้ง ยุทธศาสตร์ชาติมุ่งย้อนเวลาในวันที่เศรษฐกิจ การเมือง สังคมไม่ใช่แบบเดิม

อภิชาต สถิตนิรามัย

การเลือกตั้งครั้งหน้าที่เป็นแบบสัดส่วนผสมซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต กับ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ แต่จะมีบัตรเลือกตั้งใบเดียวแล้วใช้คะแนนที่ได้จาก ส.ส. เขต ไปคำนวณ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ในลักษณะแปรผกผัน ใต้ระบบบัตรเลือกตั้งนี้พรรคที่ได้ ส.ส. เขต เยอะก็จะได้สัดส่วนปาร์ตี้ลิสต์น้อย

ระบบเลือกตั้งที่มีบัตรใบเดียวแบบนี้ มีอาจารย์ท่านหนึ่งเรียกมันว่าไม่สะท้อนเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชน คือการเลือกตั้งกำมะลอ การเลือกตั้งทั่วไปเลือกสองอย่างคือ เลือกผู้ปกครองเรา คือรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี สอง หน้าที่สำคัญคือการเลือกนโยบายที่เราถูกใจ การเลือกตั้งระบบนี้มันกำมะลอเพราะว่าจะไม่ได้ทั้งสองอย่าง คือไม่ได้รัฐบาลและนโยบายที่เราต้องการ

การเลือกตั้งใต้บัตรใบเดียวทำให้การเลือกตั้งแบบเดิมที่เลือกคนที่รักเลือกพรรคที่ชอบไม่ได้อีกต่อไป เราต้องเลือกอันใดอันหนึ่งระหว่าง ส.ส. เขต กับนโยบาย ระบบนี้บุคคลสำคัญกว่านโยบายของพรรค ในการเลือกตั้งครั้งหน้าการแข่งขันทางนโยบายที่ชนะการเลือกตั้งจะไม่เกิด นักการเมืองไม่มีแรงจูงใจที่จะชนะการเลือกตั้งด้วยนโยบายพรรค นโยบายสำคัญต่อการชนะเลือกตั้งน้อยลง จะเป็นการเน้นว่าเขตนี้ใครดีหรือไม่ดี การซื้อเสียงก็จะกลับมา ที่สำคัญระบบเลือกตั้งนี้ออกแบบโดยจงใจที่จะให้พรรคใหญ่ได้คะแนนเสียงลดลง ทำให้พรรคขนาดกลางและพรรคระดับภูมิภาคได้คะแนนเสียงมากขึ้น เพราะถ้าได้เขตเยอะก็จะได้ปาร์ตี้ลิสต์น้อย ประชาธิปัตย์และเพื่อไทยจะได้ ส.ส. โดยรวมน้อยลง จะไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากเกินร้อยละ 50 ของรัฐสภา พรรคขนาดกลางจึงมีอำนาจต่อรองมากในการจัดตั้งรัฐบาลผสม

นอกจากนี้ยังมีการให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อนายกฯ สามคน เป็นวิธีการที่ให้คนที่ไม่เป็น ส.ส. เป็นนายกฯ หรือที่เรียกกันว่านายกฯ คนนอก เป็นประเด็นที่ชี้ให้เห็นชัดว่ามันกำมะลอ หนึ่ง เราเลือกตัวนายกฯ ไม่ได้  เลือกพรรครัฐบาลไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับพรรคขนาดกลางที่จะต่อรอง สอง นโยบายจะไม่ได้เป็นตัวชี้ขาดการเลือกตั้ง คุณเลือกไปอาจไม่ได้นโยบายที่ต้องการเพราะตัวบุคคลสำคัญกว่า

ประเด็นที่สำคัญที่ทำให้การเลือกตั้งไร้ค่าคือ ยุทธศาสตร์ชาติ เป็นระบบที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่มีผลในการกำหนดนโยบาย ซึ่งตอนนี้ก็มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติแล้ว

ในมาตรา 65 ของ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ฯ ระบุว่าการเลือกตั้งและวิธีการทำนโยบายที่ผ่านมามันเหมือนบันไดลิง พรรคหนึ่งชนะก็ขึ้นไปกำหนด พรรคที่แพ้ก็ลงมา มันจึงไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่มียุทธศาสตร์ชาติว่าไทยควรไปทางไหน จึงสร้างแผนที่เป็นอำนาจบังคับ เขาจะบังคับให้รัฐบาลมุ่งไปตามอุโมงค์แบบงูที่เดินทางในอุโมงค์

รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องแถลงนโยบายหลังจัดตั้งรัฐบาลเสร็จต่อรัฐสภา โดยบังคับว่านโยบายรัฐบาลชุดนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ หมายความว่านักการเมืองไม่สามารถมีนโยบายนอกกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ในการจัดทำ พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปี รัฐบาลต้องแถลงว่างบประมาณสอดคล้องกับยุทธศาสตร์หรือไม่อย่างไร เพื่อใช้เงินของรัฐบาลที่มาจากภาษีของเรา

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ฯ ยังกำหนดให้ ส.ว. หรือ ส.ส. ตรวจสอบว่าหน่วยงานใดปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ และมีอำนาจลงโทษหน่วยงานนั้นได้ถ้าไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ และมาตรา 29 ที่ให้อำนาจ ส.ว. ชุดแรก ซึ่งทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. มีอำนาจในการพิจารณาว่าการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐว่าสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ และถ้าการดำเนินงานไม่สอดคล้อง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผลจากมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือการปฏิบัติงานเอง ครม. โดยตรง ถ้าเป็นเช่นนั้นก็สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาได้

องค์ประกอบยุทธศาสตร์ชาติมีทหารและข้าราชการ ตัวแทนจากสภาเกษตร สภาหอการค้า สภาธนาคาร สภาอุตสาหกรรม องค์ประกอบหลักยุทธศาสตร์ชาติถูกนำด้วยทุนใหญ่และข้าราชการที่นำโดยทหาร ผู้มีส่วนได้รับเลือกเป็นสมาชิกในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จะมี 3 คนที่มาจากการเลือกตั้ง ในกรณีที่นายกฯ ไม่ใช่คนนอก ถ้าเป็นคนนอกก็เหลือแค่ 2 คน แต่ตอนนี้แต่งตั้งมาแล้ว 28 จาก 34 คน ก็เหลือ 6 คน ที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งจะแต่งตั้งเข้ามาได้ จำนวนคนที่จะมาจากการเลือกตั้ง และที่แต่งตั้งจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมากที่สุดที่จะมาจากการเลือกตั้งคือ 9 คน จากทั้งหมด 34 คน

ยุทธศาสตร์ชาติในตัวมันเองถูกตีความได้สูงมาก จึงสามารถกลายเป็นลูกฟุตบอลทางการเมืองได้ตลอดเวลาว่านโยบายที่รัฐทำนั้นสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เราจะเห็นสิ่งที่เป็นไปได้ 2-3 แบบ หนึ่ง สมมติว่ารัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง นายกฯ ไม่ใช่คนนอก มีปาฏิหาริย์ให้นักการเมืองหลายพรรคจับมือกัน เลือกนายกฯ ที่มาจาก ส.ส. ได้ จากระบบเลือกตั้งนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดรัฐบาลผสมหลายพรรคที่อ่อนแอ เพราะว่าอำนาจต่อรองหลายพรรคหลากหลาย มันจะกลับไปเป็นภาพรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา รัฐบาลชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อก่อนปี 2540 รัฐบาลชวน หลีกภัย หรือรัฐบาลหลังยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่มีพรรครัฐบาลผสม 5-7 พรรค รัฐบาลแตกง่าย ยุบสภาบ่อย ทะเลาะกันบ่อย ยังไม่รวมการถูกสอยจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ รัฐบาลที่เปราะบางจะผลักดันประเทศไปทางไหนได้หรือไม่ ในทางเศรษฐกิจการผลักดันโดยรัฐบาลผสมนั้นยากเพราะไทยกำลังเป็นสังคมสูงวัย และแรงงานลดจำนวนลง เหตุผลนี้จะทำให้รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ทำให้รัฐบาลเข้มแข็งกลับมา แต่คิดว่าโอกาสเกิดฉากนี้ได้น้อย

แบบที่สอง เกิดนายกฯ คนนอก คือเปรมโมเดลปี 2520-2521 เป็นต้นมา คือเป็นนายกฯ ที่ไม่ได้ลงเลือกตั้ง จัดตั้งพรรคทหารในแบบกว้าง คืออาจเป็นพรรคการเมืองที่สนับสนุนโดยทหาร คือรัฐบาลประกอบด้วยนายกฯ ที่มาจากข้าราชการที่นำโดยทหารและเทคโนแครต ถามว่าปัจจุบันเทคโนแครตไทยมีไหม ตายไปหมดตั้งแต่ปี 2540 แล้ว แต่จะแย่กว่ารัฐบาลเปรมเพราะมีองค์กรอิสระที่คอยตรวจสอบทั้งแนวดิ่งและแนวราบ ปัญหาคือจะทำให้องค์กรอิสระเหล่านี้ขัดขารัฐบาล หรือขัดขากันเอง ยกตัวอย่างที่ตอนนี้คุณสมชัย ศรีสุทธิยากร จาก กกต. ก็ซัดกับคุณมีชัย ฤชุพันธ์ทุกวัน ที่สำคัญ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชากลับมาเป็นนายกฯ จริง เขาจะไม่มี มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แล้ว เขาจะสามารถขับเคลื่อนไทยไปข้างหน้าได้หรือเปล่า

ไม่ว่าจะเป็นฉากไหนก็ตาม เศรษฐกิจไทยไม่มีทางที่จะโตอย่างรวดเร็วปีละร้อยละ 4-5 เหมือนในอดีต เราจะไม่เห็นภาพอย่างนั้นไปอีกอย่างน้อย 4-5 ปี เพราะตอนนี้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง คือการขาดความสามารถในการแข่งขัน ภาวะสังคมสูงวัยและระบบการศึกษาไม่ได้ผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่เก่งพอ ถ้าปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไข แรงกดดันต่อรัฐบาลก็มีมากขึ้น

ฉากที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าฉากหนึ่งหรือสองต่างก็ย้อนยุคทั้งนั้น กติกาที่จะไขนาฬิกากลับมันขัดกับเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปแล้ว ในเวลา 30-40 ปีที่ผ่านมาให้กำเนิดตัวละครใหม่ คือชนชั้นกลางและชนชั้นกลางระดับล่าง ปีที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจโตขึ้นร้อยละ 3 แต่คนจนเพิ่มขึ้น 9 แสนคน ทำไมคนจนจะไม่เพิ่มได้ เพราะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แม้จะดีขึ้นแต่ก็น้อยลง ค่าแรง 300 บาทที่ขึ้นตั้งแต่ปี 2554 ตอนนี้ไม่ทันอัตราเงินเฟ้อแล้ว แล้วคนเหล่านี้ที่เขาเคยมีสิทธิ์มีเสียงทางการเมือง คนที่เคยชอบประชาธิปไตยแบบกินได้ในปี 2540 ที่เลือกนโยบายได้ คุณจะเรียกว่าประชานิยมก็ตามแต่ พวกเขาจะอยู่เฉยหรือเปล่า

ชนชั้นกลางในเมืองอึดอัดหรือยังกับสภาพที่เป็นอยู่ งานสำรวจของผมพบว่าชนชั้นกลางระดับบนในกรุงเทพฯ ไม่รู้สึกมั่นคงกับชีวิตตนเอง ไม่คิดว่าอนาคตในระยะสั้นของพวกเขาและระยะยาวในรุ่นลูกหลานจะดีขึ้น หลังจากไม่มีมาตรา 44 แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลนายกฯ คนในหรือนายกฯ คนนอก ท่านคิดว่าพวกเขาจะอยู่เฉยทางการเมืองไหม ถ้าเขาไม่เฉย รัฐบาลก็จะมีแรงกดดัน ขนาดตอนนี้มีมาตรา 44 ยังขาลงเลย ในอนาคตถ้าไม่มี มาตรา 44 จะแก้ปัญหาขาลงแบบนี้อย่างไร ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 นั้นตามกฎหมายแล้วแก้ยาก แต่อย่างไรก็ขอให้ตั้งสติเพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน

 

รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งคือการสืบทอดอำนาจรัฐ-ทุนเก่า แนะ ปลดล็อคเมื่อไหร่ประชาชนเคลื่อนไหวให้สุด ไม่หยุดที่การเลือกตั้ง

พล.ท.พงศกร รอดชมภู 

เรื่องความมั่นคงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงไม่ว่าในแบบสันติหรือไม่สันติ แต่ก็ต้องตั้งสติเพราะการเปลี่ยนแปลงทุกแบบมีการเตรียมการ มีการตั้งตัว

ตอนนี้ประเทศไทยถือว่าถูกแช่แข็งแล้ว เพราะภาพใหญ่ในสังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ทั้งเรื่องระบบสารสนเทศใหญ่เข้ามา ทำให้คนระดับล่างเกิดการตื่นตัวและเรียนรู้การเมือง เช่น คนต่างจังหวัดรู้ว่าเลือกอันนี้ก็จะได้อันนั้น ขณะที่คนในเมืองเลือกใครก็ไม่รู้ว่าจะได้อะไร เลือกส่งเดชไป ตอนนี้สังคมไทยในความเห็นผมนั้นชัดเจนเหมือนประเทศในยุโรปหรือสหรัฐฯ คือแบ่งเป็นขวา-ซ้าย ชัดเจน เดิมสมัย พล.อ.เปรมยังกั๊กได้ ให้พรรคการเมืองมาฮั้วกัน แต่พอผ่านการเรียนรู้ทางการเมืองมาทำให้รู้ดีขึ้น

ทำไมต้องแช่แข็ง เพราะกลัวจะเกิดความไม่มั่นคงในระบบว่าใครจะกุมอำนาจในช่วงเปลี่ยนผ่าน ตอนนี้ก็เปลี่ยนผ่านแล้ว รัฐธรรมนูญตัวนี้เป็นการออกแบบการเปลี่ยนผ่านเอาไว้ล่วงหน้าเพื่อให้ครองอำนาจให้นานพอเพื่อรอกระบวนการที่เปลี่ยนผ่าน

อนาคตไทยหลังการเลือกตั้ง หากดูจากแผนที่เขาวางแล้วมันคือการสืบทอดอำนาจต่อไป ตอนนี้ฝ่ายขวาจัดมีทุนผูกขาดที่อิงกับชนชั้นนำ ที่ตอนนี้ชนชั้นนำเขาตัดทิ้งแล้ว และพรรคการเมืองบางพรรคฝ่ายขวาจัดก็มีฝ่ายการเมืองเขาเองและพรรคทางใต้ พรรคกลางๆ หรือพรรคภูมิภาคต้องคุยกัน จับมือกันตั้งแต่ต้นเพื่อดูว่าจะมี ส.ส. เกิน 250 คนไหม ถ้าเกินแล้วโอกาสเกิดนายกฯ คนนอกก็ยาก การเอาคนนอกเข้ามานั้นขึ้นกับพรรคที่ไม่เอาขวาจัดว่ามีพันธมิตรพอไหม สมมติถ้าขวาจัดไม่ได้ คนในก็ต้องเป็นพรรคการเมืองที่ต้องสนับสนุนขวาจัดหรือขวาเบาหน่อยจะจับมือกับทุนใหญ่ แต่ถ้าคนนอกมา ฝ่ายทหาร หรือพรรคประชาธิปัตย์มาก็ต้องมาเจอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ สิ่งที่ตามมาคือ การเมืองเป็นระบบราชการปกครอง เศรษฐกิจเป็นทุนผูกขาด ช่องว่างระหว่างรายได้มากขึ้น คนจนจนลงเพราะเกษตรกรหมด คนจับจ่ายใช้สอยไม่มี แม่ค้าก็หมดเพราะไม่มีคนซื้อ

ประชาชนควรใช้โอกาสนี้เคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะฉบับนี้ทุเรศจริง ต้องแก้ระบบยุติธรรมที่ไม่ได้แก้ไขมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ควรคิดว่าทำอย่างไรไม่ให้เกิดรัฐประหาร อาจจะแก้อะไรในกฎหมายที่ทำให้ทหารรัฐประหารไม่ได้ ภาคประชาชนต้องเป็นผู้ตรวจสอบการทุจริตของราชการ วันนี้เราบอกว่านักการเมืองทุจริต แต่กระบวนการคอร์รัปชันเกิดจากระบบราชการ ข้าราชการก็ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินเช่นกัน

กฎหมายในช่วง คสช. มีอะไรแปลกๆ เยอะ โดยเฉพาะการขูดรีดประชาชนผ่านภาษี กฎหมายที่มาจากรัฐประหารตั้งแต่ยุคต้นก็ต้องเอามาทบทวนใหม่ทั้งหมด เช่น เรื่องกระบะท้าย เรื่องภาษีรถเก่า 7 ปี ต้องเลิกไปหมด ฝ่ายขวาจัดที่อิงกับทุนใหญ่ต้องแก้กฎหมายผูกขาด เพื่อกระจายอำนาจและทุนให้คนทั่วไป

นอกจากนี้ ควรทำให้สังคมเป็นสังคมอุดมปัญญา ไม่ใช้ความเชื่อ ส่งเสริมทางวิทยาศาสตร์มากๆ เตรียมตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่จะมีการตีกลับจากการดึงอำนาจไปมา ประชาชนต้องขยับต่อ ผลักดันต่อไม่ใช่แค่เลือกตั้งแล้วก็จบ ประชาชนต้องออกตัวตั้งแต่มีการปลดล็อคการเมืองเพื่อให้ตัวแสดงอื่นขยับตาม

 

กำหนดสัดส่วนเลือกตั้งแบบใหม่ถือว่าตั้งโจทย์ผิด แจงวงเงินทำนโยบายก่อนเลือกตั้งเป็นการบีบให้นักการเมืองขาดนวัตกรรม คุ้มเงินหรือไม่ให้คนเลือกตั้งตัดสิน

พงศกร ยาห้องกาศ 

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะเกิดขึ้นในระบบเลือกตั้งคือมันกำลังจะบั่นทอนและดึงอำนาจจากมือประชาชนออกไป หลัง 2540 ใช้ระบบเลือกตั้งผสมมาตลอด คือพยายามสร้าง ระบบเขต พยายามสร้าง ส.ส. ที่ใกล้ชิดกับประชาชนในเขต ระบบสัดส่วนเป็นพื้นที่ให้คนที่เก่งทางเทคนิคแต่ไม่เก่งการเลือกตั้งก็มีพื้นที่

การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ประชาชน สมมติว่าถ้าประชาชนอยากเลือก ส.ส. คนหนึ่งที่เราเห็นว่าดูแลเราดี แต่ในระดับชาติเราไม่ชอบนโยบายพรรคที่เขาสังกัดเราก็เลือกไม่ได้ หรือถ้าอยากให้พรรคหนึ่งเป็นรัฐบาล แต่ ส.ส. พรรคนั้นในพื้นที่เขาแย่มาก ก็เลือกแยกไม่ได้

การเลือกตั้งแบบนี้จะเป็นการบั่นทอนสถาบันพรรคการเมือง ในเมื่อเรานำระบบบัญชีรายชื่อผูกไว้กับเขตเลือกตั้ง พรรคจะเน้นตัวบุคคล สิ่งที่เกิดคือมีการกว้านซื้อสมาชิกพรรคที่มีฐานเสียงเยอะ เพราะพรรคต้องการฐานคะแนนเสียง และถ้าใครได้อ่านคำถาม 6 คำถามของนายกฯ ที่ถามว่าอยากมีพรรคการเมืองใหม่หรือไม่ ถ้าพรรคการเมืองต้องการจะได้ระบบบัญชีรายชื่อก็จะต้องส่ง ส.ส. ระดับเขต แล้วพรรคขนาดเล็กจะเอา ส.ส. เขตจากไหนไปแข่งกับพรรคใหญ่

การออกแบบระบบเลือกตั้งไม่มีระบบไหนที่ดีที่สุดที่ใช้ได้กับทุกประเทศ แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องสะท้อนเจตนารมณ์ประชาชนให้มากที่สุด ถ้าไปตั้งสมมติฐานว่าการเลือกตั้งดีที่สุดคือการทำให้ได้สัดส่วนตัวแทนที่ดีสุดก็เป็นการตั้งประเด็นที่ผิดไป

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) พรรคการเมืองที่ระบุว่า การจัดตั้งพรรคต้องมีทุนประเดิม 1 ล้านบาทค่อนข้างเป็นอุปสรรคกับพรรคใหม่ และการที่จะต้องมีสมาชิกพรรค 5 พันคนในเวลาหนึ่งปีและเพิ่มเป็น 1 หมื่นคนภายใน 4 ปี ถ้าดูจากพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคที่เก่าแก่ที่สุดก็มีสมาชิกแค่ 3 ล้านคนเท่านั้น เรายังมีอีกหลายพรรคที่มีสมาชิกพรรคน้อยมาก เราอยากได้พรรคการเมืองทางเลือกแต่ว่าระบบที่วางไว้กลับเป็นอุปสรรคเสียเอง นอกจากนี้ การที่พรรคการเมืองต้องบอกวงเงินที่จะใช้ในการทำนโยบายและวัดความคุ้มค่าไม่ค่อยสมเหตุสมผลเพราะคนที่ตัดสินความคุ้มค่าคือประชาชนเมื่อนโยบายนั้นๆ ดำเนินไป ถ้ามีคนอ้างว่าทุจริต มันก็จะต้องมีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็งมากกว่าจะไปจำกัดกรอบให้นักการเมืองคิดอะไรใหม่ๆ ไม่ได้ เพราะที่ผ่านเราก็แทบจะไม่สามารถหานักการเมืองที่มีนโยบายที่มีทางเลือกใหม่ได้ พรรคการเมืองยังพัฒนาไปไม่ถึงความคาดหวังทางนโยบายของประชาชน

ประเด็นการเงิน ปี 2540 ไม่ได้กำหนดเงินบริจาคพรรคการเมือง พรรคเลยผูกขาดโดยกลุ่มทุน มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าพรรคใหญ่พรรคนั้นเป็นของนายทุน แต่จริงๆ แล้วก่อนปี 2540 พรรคการเมืองหลายพรรคได้รับเงินบริจาคเกิน 10 ล้านบาทจากบุคคลคนเดียว ตอนนี้มีการกำหนดเพดานไม่ให้บริจาคเกิน 10 ล้านบาท แต่ธุรกิจใหญ่ก็สามารถใช้บริษัทย่อยของตัวเองแบ่งกันบริจาคให้พรรคการเมืองเหมือนกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net