Skip to main content
sharethis

วงเสวนาอาสา 4.0 จัดขึ้นเพื่อเป็นการทบทวนประเมินให้ความหมายของกิจกรรมค่ายอาสาฯ ว่ามันมีบทบาทอย่างไร รับใช้ต่อสถานการณ์ทางสังคมอย่างไรทั้งในอดีตและปัจจุบัน เมื่อวันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2560 ที่มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน จังหวัดชลบุรี โดยมีนักกิจกรรมชาวอาสาจากหลายหลายกลุ่มหลากสถาบัน ทั้ง อิล จากชมรมอาสาพัฒนาและบำเพ็ญประโยชน์ มหาวิทยาลัยบูรพา ฟลุ๊ค จากชมรมความฝันสัญจรอาสาพัฒนาเด็กเล็ก นิค ชมรมเพื่อนมนุษย์ มหาวิทยาลัยบูรพา นุ๊ก จากกลุ่มโกงกาง ปอนด์ จากกลุ่มรักษ์เขาชะเมา จังหวัดระยอง พลอย กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ บอย จากภาคีนักศึกษาเพื่อสังคมและชมรมค่ายอาสาพัฒนาราม-อีสาน มหาวิทยาลัยรามคำแหง นำประเด็นูดคุยหลากหลายมาร่วมวงเสวนาชวนคุยโดย กัญจน์ โฉมยงค์ ชมรมเพื่อนมนุษย์ มหาวิทยาลัยบูรพา (ส่วนหนึ่งของผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นที่ใช้นามแฝงเพราะต้องการหลีกเลี่ยงความยุ่งยากจากการติดตามคุกคามหากถูกรัฐตีความว่าเป็นการแสดงความเห็นทางการเมือง)

ช่วงแรกเป็นการเปิดวงคุยชวนเปิดวงสนทนาถึงบทบาทของค่ายอาสาและคนทำค่ายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันโดยเด็กค่ายรุ่นพี่ แมน ปกรณ์ อารีกุล

“เวลาเราพูดถึงค่ายอาสา และมีต่อท้ายว่า 4.0 เราอาจจะต้องไปคุยต่อว่าแล้ว 1.0 เป็นยังไง คือชมรมที่มีนามสกุลต่อท้ายว่า อาสาพัฒนาอาจจะเป็นชมรมอาสาที่เริ่มต้นด้วยยุค 1.0 ถ้าเราบอกว่าแนวคิดการพัฒนาชนบทมันเริ่มต้นอย่างเป็นวิชาการในปี พ.ศ.2512 ในช่วงที่ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ก่อตั้ง โครงการพัฒนาชนบท ก่อนหน้านั้นน่าจะเรียกว่าอาสา 1.0 ประเทศไทยโดยการพัฒนาภายใต้ของแผนพัฒนาด้าน เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ในสมัยนายก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปี 2504

ในปี 2504 การพัฒนาของรัฐภายใต้แผนพัฒนามันเขียนมาดีมาก หลักการสวยหรู เช่น เรื่องส้วม การขับถ่าย อย่างมีสุขลักษณะ แต่ว่าประเทศไทยเมื่อห้าสิบกว่าปีที่แล้วหลายชุมชนขับถ่ายไม่เป็นที่ จึงต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ‘พัฒนากร’ ขึ้นมา เมื่อมี พัฒนากร จึงตั้งหลักสูตรพัฒนาชุมชนอยู่ในนักสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบจากพัฒนาชุมชนเข้าไปสอบเป็นพัฒนากร แล้วไปอยู่ตามแต่ละอำเภอ เพื่อที่จะทำหน้าที่ศึกษาแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ และทำงานพัฒนาในแต่ละชุมชน ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่เริ่มมีประเด็นเรื่องการออกค่ายในประเทศไทย”

แมน ปกรณ์ได้ลองชวนคุยชวนแบ่งยุคของค่ายอาสาเป็น 1.0,2.0,3.0 ไล่เรียงมาจนถึง 4.0 หรือที่เรียกได้ว่าคือยุคสมัยปัจจุบันของค่ายอาสา

อาสา 1.0 ยังไม่ใช่แนวคิดการอาสาพัฒนาในแบบที่เราชาวค่ายอาสาทำ แต่เป็นแนวคิดในแบบที่เรามองว่าชนบทมันพัฒนาช้า เราจึงต้องไปพัฒนาชนบทในเชิงสังคมสงเคราะห์ แต่หลังจากที่ อาจารย์ป๋วย ตั้งโครงการบูรณะชนบท ขึ้นมาที่ธรรมศาสตร์ในปี 2512 และพานักศึกษาลงพื้นที่ก่อนจะมีการตั้งประเด็นอาสาสมัครในเวลาต่อมา

ต่อมาเป็นอาสา 2.0 เป็นการค่อยๆทำให้เกิดการไปเรียนรู้ร่วมกันกับชาวบ้าน หรือที่เรามักคุ้นเคยกับคำว่า “ไปอยู่กับเขา เรียนรู้กับเขา อยู่กับสิ่งที่เขามี เริ่มจากสิ่งที่เขาเป็น” พร้อมกับเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ได้นำพานักศึกษาส่วนหนึ่งไปสู่การอยู่ในเขตพื้นที่ป่าเขา และเรียนรู้ความเป็นชนบท สมัยเป็นลูกหลานชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เขาจะนึกไม่ออกว่าภาพชนบทนั้นเป็นอย่างไร พอไปเป็นนักศึกษาออกค่ายเห็นถึงความเป็นชนบทจึงยอมรับว่าต้องพัฒนา 

ต่อมาเป็น 3.0 ก็คือ ยุคที่เป็นต้นแบบของเพลงค่ายที่เราร้องกันทุกวันนี้ หรือวิธีการทำค่าย ที่บอกว่าเราไปค่ายอาสา ไปทำค่ายสร้างมีวิธีการแบ่งโครงออกเป็น 3 โครง มี 1.โครงสร้าง เช่นการสร้างห้องสมุด สร้างฝาย สร้างโรงเรียน สร้างอาคารเรียน 2.โครงชุมชน พาไปเรียนรู้ในส่วนของชุมชน และ 3.โครงสวัสดิการ ก็ทำหน้าที่เรื่องการอยู่ การกิน ไม่แน่ใจว่าในปัจจุบันชมรมอาสายังใช้ลักษณะการแบ่งโครงเช่นนี้หรือเปล่า ลักษณะของการทำกิจกรรมในยุคหลัง 2530 เป็นต้นมา กลายเป็นองค์ความรู้และชุดประสบการณ์เป็นสิ่งที่ตกทอดมาถึงเราในปัจจุบัน

พอมาเป็นยุค 4.0 เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไปทำให้วิธีการทำค่ายเปลี่ยนไป สมัยก่อนเวลาที่เราออกค่ายเราแทบ จะไม่ต้องมีกฎบ้าๆบอๆข้อหนึ่งว่า ‘ห้ามเล่นมือถือในระหว่างทำกิจกรรม’ เพราะการทำกิจกรรมในค่ายมันสนุกท้าทาย แต่ในยุคนี้ไม่สามารถทำได้ พูดให้เห็นว่าบางเรื่องในตอนที่เทคโนโลยีเปลี่ยนจาก 3.0 เป็น 4.0 เรื่องค่ายมันเปลี่ยน วิธีการที่คุณจะหาคนไปค่ายมันเปลี่ยน

แต่บางเรื่องที่ยังเคยเป็นปัญหาหรือประเด็นที่ชาวค่ายอย่างเราถูกวิจารณ์เมื่อห้าปีที่แล้วสิบปีที่แล้วหรือยี่สิบปีที่แล้วก็ยังอยู่ เช่น ตกลงเราไปสร้างเพื่ออะไร? ชุมชนที่เราไปได้รับการพัฒนาจริงหรือเปล่า เราหมดเงินไปเป็นจำนวนมากกว่าจะไปถึงกับการลงพื้นที่เซอร์เวย์ ในขณะที่โรงเรียนเล็กๆ สักโรงเรียนหนึ่งกำลังลำบาก แล้วสุดท้ายการที่เราพยายามจะออกค่ายไปให้ไกลหลายร้อยกิโลเมตร...เราไป เราได้ไปสร้างจริงหรือ? คุณอยากไปเปลี่ยนบรรยากาศ หรือเปลี่ยนที่เที่ยวเฉยๆหรือเปล่า? หรือคำถามสำคัญที่ว่า ชุมชนที่เราไปสร้าง ไปอาสาพัฒนา เขาต้องการสิ่งนั้นจริงหรือ? ทุกครั้งที่เราไปเป็นความ ต้องการจากเราหรือสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ ใครมีมากกว่าระหว่างเรากับเขา เราได้เพื่อนใหม่ ได้คนเข้าชมรม ได้รูป ไว้สรุปงาน แต่ว่าชุมชนได้อะไร โลกมันเปลี่ยนทุกวัน คนที่ปรับตัวอยู่กับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ วิธีการทำค่ายที่ปรับตัวอยู่กับการ เปลี่ยนแปลงของโลกได้ หรือชมรมที่อยู่กับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ ถ้าเราอยู่กับความเป็นจริงได้ ปรับตัวได้เรา ก็จะมีอยู่ต่อไป โลกใบนี้สำหรับผม ยึดถือเป็นปณิธาน ผมคิดว่าอะไรที่ “สุดท้ายมันต้องเปลี่ยนมันก็เปลี่ยน อะไรที่ ไม่ยอมเปลี่ยนมันจะล่มสลายไปเอง” เพราะฉะนั้นค่าย 4.0 ก็เช่นเดียวกัน เราต้องพยายามปรับเพื่อที่จะไปต่อ ไม่เช่นนั้นเราก็จะกลับไปทำค่ายแบบยุค 1.0 ยุคที่เรายังบอกชาวบ้านว่าด้อยกว่า บอกว่าชนบทล้าหลัง บอกว่าการที่เราลงไปเพื่อพัฒนาเขา เราต้องแยกให้ออกว่าเราไปพัฒนาเขาจริงๆหรือมันเป็นแค่ชื่อ แต่ว่าในขณะที่เราได้อะไรมากมาย ได้ประสบการณ์จากการไปค่าย แต่ว่าแต่ว่าชุมชนได้อะไรจากสิ่งที่เราทำ? เป็นคำถามที่เราถูกถามจากสังคม และเราต้องคำถามข้อนี้ให้ได้ด้วยเช่นกัน”

อาสา 4.0 ของเด็กค่ายและคนทำงานอาสา 2017

เปิดวงเสวนาโดยผู้ร่วมเสวนาทั้ง 7 คน โดยที่อิล จากชมรมอาสาเป็นคนเริ่มต้นว่า “กิจกรรมในยุคหลังๆ ของชมรมอาสา จะเป็นลักษณะการพัฒนาและฟื้นฟูสถานที่ อุปกรณ์ในโรงเรียนเป็นหลัก เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชน โรงเรียนและคน เพราะโรงเรียนเป็นเสมือนสถานที่ที่คนในชุมชนสามารถที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้”

โดยบอยจากภาคีนักศึกษาเพื่อสังคมและชมรมค่ายอาสาพัฒนาราม-อีสาน กล่าวว่า “กิจกรรมของชมรมเน้นการทำกิจกรรมในภาคอีสานมากกว่า โดยเข้าไปเรียนรู้ปัญหาของพื้นที่และศึกษาวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่เข้าไป จริงๆในยุคนี้ก็เกิดคำถามว่า ค่ายอาสาเราทำไปเพื่ออะไร? ในฐานะที่เราเป็นนักกิจกรรม เราก็ตอบและบอกเล่าให้รุ่นต่อไปได้ฟังว่า เหมือนเราไปเรียนรู้ ไปสร้าง เพื่อการกลับมาพัฒนาตนเอง พัฒนามหาวิทยาลัย พัฒนาครอบครัว ส่วนมากก็ไปออกค่ายและทำกิจกรรมกับชุมชนและเด็ก”

นิค ชมรมเพื่อนมนุษย์ มหาวิทยาลัยบูรพา ชวนมองย้อนในช่วงก่อตั้งชมรมว่า “ตอนนั้นมันเกิดคำถามที่ว่า ‘ถ้าหากไม่เข้ารับน้องจะไปทำอะไรกัน’ แรกเริ่มก็ไม่ใช่ชื่อชมรมนี้แต่เป็นกลุ่มเพื่อนๆ ก็มีหลายคนเสนอไอเดียมากมาย เราชอบชวนกันไป เล่นกีฬา ว่ายน้ำ ดูหนัง และอีกมาก จนมันลากยาวไป ถึงการออกไปทำค่าย ระยะแยกมีคนทำไม่มาก และก็รวบรวมคนกันมาเรื่อยๆ ชมรมเพื่อนมนุษย์ก็หมายถึงชมรมที่รักกันเหมือนเพื่อน กิจกรรมที่ทำหลักๆ ก็เกี่ยวกับการออกไปอาสาพัฒนาสังคม เยาวชน พัฒนาการสร้างสรรค์ให้กับเด็กและเยาวชนในหลากหลายพื้นที่ การทำงานก็เป็นการออกแบบร่วมกัน เป็นเพื่อนกัน มานั่งคุยแลกเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรม ใครมีความฝัน มีความต้องการอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมก็ร่วมกันออกแบบ เพื่อพากันไปให้ถึงเป้าหมายร่วมที่ออกแบบกันไว้”

หนูพลอย กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ เล่าถึงกลุ่มว่าเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองและการรับน้องในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในยุคที่เราเข้ามาในกลุ่มนี้ก็จะจัดกิจกรรมเกี่ยวกับเสวนาบ้าง หรือเข้าร่วมเครือข่ายกลุ่มเพื่อนๆ ที่เคลื่อนไหว ทางการเมือง สิทธิมนุษยชน แต่ถ้าจัดในกลุ่มก็จะไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ เพราะมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้โอเคกับกลุ่มเรา เพราะเป็นกลุ่มอิสระไม่ได้ขึ้นตรงกับมหาวิทยาลัย แต่โดยส่วนตัวชอบทำงานที่เป็นค่ายอาสาร่วมกับเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยอื่นๆ

ฟลุ๊ค จากชมรมความฝันสัญจรอาสาพัฒนาเด็ก เล่าถึงการทำงานหรือจุดประสงค์หลักของชมรมอาจจะคล้ายๆ กับงานอาสาพัฒนาและบำเพ็ญประโยชน์ แต่ชมรมจะเน้นการทำกิจกรรมร่วมกับตัวของเด็กๆ เช่นในเรื่องของความเป็นอยู่ของน้องๆ การดูแล น้องๆ การสังเกตพฤติกรรม ศึกษาชีวิต แต่เราจะไม่ได้เน้นในเรื่องของสถานที่หรือสิ่งก่อสร้างของโรงเรียนเท่าไหร่ เหมือนเอานิสิตของเราไปรับรู้ไปเจอสิ่งใหม่ๆที่เขาไม่เคยรู้

นุ๊ก กลุ่มโกงกาง บอกว่ากลุ่มโกงกางเป็นกลุ่มกิจกรรมอิสระน้องใหม่ที่เพิ่งตั้งไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา กิจกรรมก็ถือว่ายังน้อยอยู่ รูปแบบกิจกรรมจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่หรือนักศึกษาได้ออกไป เจอสิ่งใหม่ๆ นอกมหาวิทยาลัยที่ห้องเรียนไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ ตัวอย่างกิจกรรมคือ ค่ายสารคดีประแสศึกษานักศึกษาขาเลาะ โดยออกแบบร่วมกับชมรมเพื่อนมนุษย์ เป็นรูปแบบค่ายสารคดีที่ให้ชาวค่ายได้บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของชาวลุ่มน้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง อีกกิจกรรมที่จัดก็มีเสวนา รำลึก 27 ปี สืบ นาคะเสถียร เป้าของกลุ่มคือการสร้างการมีส่วนร่วมให้กับทุกคนในการทำกิจกรรมทางสังคม

ปอนด์ กลุ่มรักษ์เขาชะเมา เล่าถึงประวัติศาสตร์ของกลุ่มรักษ์เขาชะเมา ว่าเมื่อ 22 ปีที่แล้ว รักษ์เขาชะเมา เป็นร้านหนังสือเล็กๆ แล้วเห็นว่าเด็กๆ มาอ่านหนังสือที่ร้านเยอะ จึงอยากลองพาเด็กๆ ไปเที่ยว เด็กๆ จึงติดใจ การก่อตั้งกลุ่มเกิดจากป้าสอง คนคือ ป้าแฟ๊บ กับป้าอี๊ด จึงเกิดขึ้น งานของกลุ่มจะเป็นการศึกษาเรียนรู้ชุมชน เพราะว่าเขาชะเมาค่อนข้างมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์แต่ขาดจิตสำนึกในการรักษาคงไว้ เราจึงต้องพาเด็กๆ ไปเรียนรู้ ผ่านภูมิปัญญา การทำของเล่น ธรรมชาติ ที่จะให้เด็กๆรู้เท่าทันโลกาภิวัฒน์ เด็กๆ จะได้เห็นถึงการเปรียบเทียบเกี่ยวกับยุคสมัยปัจจุบันที่นั่งเล่นโทรศัพท์กับเมื่อก่อนว่าเขาหากิน ยังไง เด็กก็จะเกิดการคิดวิเคราะห์และตกผลึกด้วยตัวเอง เราไม่ได้บอกว่าแบบเก่าดีกว่าหรือแบบใหม่ไม่ดี

โดยเส้นทางของการเข้าทำกิจกรรมของหลายๆ คน ก็มีส่วนที่ออกมาในทิศทางใกล้เคียงกัน เช่น การตั้งคำถามต่อสังคมและการเมืองในประเทศ ประเทศเราพัฒนาค่อนข้างช้าโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค ทุกคนในต้องเข้าไปร่วมกันผลักดันถึงจะแก้ไขปัญหาได้ ก็เลยมาทำกิจกรรมตรงนี้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมไม่มากก็น้อย อีกส่วนหนึ่งอธิบายว่าความสนใจส่วนตัวของเรา เช่น สังคมศาสตร์ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมก็มีส่วนที่ทำให้อยากเข้ามาทำกิจกรรม เพราะว่าเอื้อต่อการเรียนรู้ในเรื่องที่เราสนใจ

“ย้อนไปไกลหน่อย ตอนนั้นอยู่ในช่วงประถม 3 มีรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปออกค่ายในหมู่บ้าน ที่ทำให้ชาวบ้านและเด็กในชุมชนได้เข้าร่วมกิจกรรม เป็นมหาวิทยาลัยแรกที่รู้จักและรู้สึกอยากเข้าไปเรียน แต่ถึงจะไม่ได้เรียนที่ธรรมศาสตร์แต่ก็ตั้งใจว่าเข้าปี 1 จะไปออกค่ายต่างจังหวัด แต่พอเข้ามาปี 1 เราก็เป็นนิสิตใน ยุคของรัฐบาลทหาร ตอนปิดเทอมเคยไปค่ายหนึ่งในสังกัดของมหาวิทยาลัยแต่รูปแบบค่ายไม่ค่อยสัมพันธ์กับชุมชน เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ พอปี 58 ก็มีเหตุการณ์จับนักศึกษาที่หน้าหอศิลป์ ครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร ในพี่ในมหาวิทยาลัยโดนจับ ในชีวิตผ่านการรัฐประหารมาสองครั้งในปี 49 และปี 57 แต่ตอนปี 49 ไม่ได้รู้สึกสะทกสะท้าน แต่พอมันเริ่มใกล้ตัวจึงมาสนใจประเด็นรัฐประหาร เริ่มหาข้อมูล แล้วก็มีค่ายที่คณะทำค่ายแต่รูปแบบค่ายก็ยังคงเป็นเช่นเดิม จึงเข้ามารู้จักกับกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ มันก็มีเหตุการณ์หนึ่งที่กลุ่มพาไปทำกิจกรรมทำให้เราไม่ สามารถออกจากกลุ่มได้จึงกลายเป็นคนที่มารับงานต่อ” หนูพลอยเล่าถึงอดีตและสถานการณ์ที่นำพาตัวให้เข้ามาทำกิจกรรม

“ส่วนตัวผมไม่ใช่เด็กกิจกรรมเลย ได้มีโอกาสเรียนอยู่ในโรงเรียนเอกชนที่แทบไม่มีกิจกรรมให้ทำเลย วันๆ เอาแต่เรียนอย่างเดียว ความรู้สึกอาจจะไม่ใช่เด็กกิจกรรม ความฝันอยากเป็นคุณหมอที่ช่วยคนแก่ พอได้เข้ามหาวิทยาลัยก็ได้มาเป็นเชียร์ลีดเดอร์และก็มีรุ่นพี่เข้ามาชวนไปออกค่าย การที่ไปค่ายเราเห็นความเป็นอยู่ของคนในค่าย ได้เห็นรอยยิ้มจากคนในค่าย รอยยิ้มจากน้องๆ ตอนที่ไปครั้งแรก เหมือนได้ย้อนกลับไปในช่วงวัยเด็ก ได้ ถ่ายทอดความรู้สึกที่ขาดหายไปให้กับเด็กๆ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจจุดเล็กๆให้กับน้องๆ” ฟลุ๊ค จากชมรมความฝันสัญจร อาสาพัฒนาเด็กเล็กร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์แรกเริ่มที่เข้ามาทำกิจกรรม

ชวนมองค่ายอาสาในอดีต

“ภาพที่มันยังมีของค่ายอาสาในอดีต ทุกวันนี้ก็ยังมี บางที่ยี่สิบปีที่แล้วยังเก็บขยะกันอยู่ปัจจุบันก็ยังเก็บขยะกันอยู่ เราไม่รู้ว่าค่ายอาสามันเริ่มต้นมาจากอะไร แต่ว่าในช่วงที่มันบูมมากๆ เป็นช่วงที่เราเรียกมันว่า ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน อาจจะเป็นเพราะหลายๆปัจจัยที่ทำให้เกิดการทำค่ายอาสา เป็นลักษณะการรวมตัวกัน เป็นกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ภายใต้มหาวิทยาลัย ออกไปทำโครงการ เป็นกลุ่มอิสระที่ไม่ได้ทางการมาก แล้วพอมาช่วงที่กิจกรรมโดนระงับไป ขอนแก่น ธรรมศาสตร์ เชียงใหม่ ช่วง 6 ตุลา-9 ตุลา ตึกกิจกรรมถูกปิดหมด บางที่ถูกปิดตายไปเป็นปีๆ ในลักษณะค่ายถ้ามองเมื่อก่อนก็จะเป็นทำงานรอบมหาวิทยาลัยหรือภาคพื้นที่ต่างๆที่คิดว่าประสบปัญหา แต่ในลักษณะของงานอาสาของสมัยก่อนอาจจะไปสร้าง อาสาสร้างสิ่งปลูกสร้าง อาจจะเป็นการบริจาคหรือสร้างไปเลย เช่น ซ่อมแซมโรงเรียน ทาสี ฯลฯ แล้วอีกสายหนึ่งจะเป็นสายเสริมอาชีพ เช่น ก็จะไปส่งเสริมในด้าน ของเกษตรกรรม ไปช่วยชาวบ้าน โดยนำองค์ความรู้ของตนเองไปส่งเสริม มศว ไปส่งเสริมด้านการศึกษา ช่วยสอน แนะแนว และมหิดล ก็มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกไปช่วยเหลือด้านสุขภาพตามชุมชน” นิค จากชมรมเพื่อนมนุษย์เล่าถึงอดีตของค่ายอาสาและรูปแบบการทำกิจกรรมที่สอดคล้องกับหลักวิชาที่ชาวค่ายร่ำเรียนและนำไปพัฒนาชุมชน

“ถ้ามองภาพรวม ก็เริ่มต้นก่อนช่วง 14 ตุลาคม เป็นค่ายอาสาชนบทเพื่อไปพัฒนา หลัง 14 ตุลาคม ก็เป็นค่ายจัดตั้งน้องในมหาวิทยาลัย สอดแทรกแนวคิดทางการเมืองให้กับคนในชุมชนเพราะว่าช่วงนั้นไม่ว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์หรือประชาธิปไตยก็เริ่มเข้ามา เราก็เข้าไป ทำให้คนรู้สึกตื่นตัวกับประเด็นการเมือง หลัง 6 ตุลาคม ชมรมอาสาและชมรมต่างๆ ก็โดนปิดตาย และกลับมาในรูปแบบที่โอนชมรมทั้งหมดให้ไปอยู่ภายใต้สโมสรนักศึกษาไม่ได้มีความคล่องตัวและเป็นอิสระเท่าไหร่” หนูพลอยเล่าเสริม

“มันจะมีคำๆหนึ่งที่ชาวบ้านในอดีตพูดกันว่า นักศึกษาเป็นหนี้สังคม ดังนั้นการใช้หนี้สังคมใช้หนี้ประชาชนที่จ่ายภาษีทางการศึกษาให้คือการออกไปช่วยเหลือสังคม ออกไปทำงานกับชุมชนและชนบท ยุคก่อน 14 ตุลาคม นี่เป็นยุคที่ความสนใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยมีเยอะขึ้น กระบวนการในค่ายสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย อีกทั้งการเฟื่องฟูของวรรณกรรมเพื่อชีวิต วารสารการเมือง การฟื้นคืนชีพของหนังสือที่เขียนและแปลโดย จิตร ภูมิศักดิ์ ทำให้นักศึกษาสนใจสังคมและการเมืองกันมากขึ้น คนทำค่ายนั้นเป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีตด้วยเช่นกัน” นุ๊กจากกลุ่มโกงกางเสริมต่อ


ค่ายอาสาไม่สามารถพัฒนาและแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง?

“คือค่ายอาสามันพัฒนาสองอย่าง เป้าหมายแรกคือ เราจะไปทำงานตามจุดประสงค์ของค่ายเรา ไปสร้าง ไปสอน เป้าหมายที่สองคือ พัฒนาคนที่จะไป มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ชื่อ The Robbers Cave Experiment ของ Muzafer Sherif เป็นนักจิตวิทยา ชื่อ ทฤษฏีของเขาคือ Realistic conflict theory การทดลองก็คือ ให้เด็กไม่รู้จักกันเลย 22 คนมาเข้าค่ายเดียวกัน แบ่งเป็นสองทีม ให้เกิดการแข่งขันกัน มีเกมส์ให้เล่น เหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นคือเด็กทะเลาะกันทั้งที่ไม่รู้จักกันมาก่อน สุดท้ายแล้วเขาก็เลยเอาทฤษฎีนี้มาทดลองนั่นคือการ สร้างเป้าหมายร่วม พอสร้างเป้าหมายร่วมแล้วข้อขัดแย้งก็ลดลงมาก เป็นการพิสูจน์ว่าพอเรามีเป้าหมายร่วมมันเสริมสร้างความสามัคคีในกลุ่มของคนที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน รู้สึกว่าค่ายอาสานี้ก็คือเป้าหมายร่วมของการที่คนต่างพ่อต่างแม่ต่างจังหวัดต่างความคิดมาเจอกัน นี่เป็นส่วนของการพัฒนาคน ส่วนการพัฒนาตัวชิ้นงาน

สำหรับปัจจุบัน มันคือการสนอง need ตัวเองกันเอง สนอง need รุ่นพี่ ทุกครั้งที่เราคิดว่าจะไปทำค่ายอาสาที่ไหนมักจะเริ่มต้นที่ ‘ตัวเราอยากไป’ เราจะลืมคิดไปถึงว่า ใครต้องการอะไรก่อน เราไปคิดว่า เราอยากเที่ยวที่ไหนก่อน เป้าประสงค์มันไม่ชัด ค่ายที่เราจริงจังเลยเป็นเป้าหมายรอง ถามว่าช่วยแก้ได้จริงไหม... จริง แต่คุณต้องมองว่าจุดประสงค์ที่คุณจะไปทำมันคืออะไร? แล้วคนที่เราจะไปทำให้เขาอยากได้จริงไหม? “ ปอนด์ กลุ่มรักษ์เขาชะเมา สะท้อนภาพปัจจุบันของการทำงานอาสาที่อาจเป็นแค่เพียงการสนอง need ของกลุ่มคนไม่กี่คน

“จริงๆชมรมเราก็ได้ตระหนักถึงตรงนี้ เวลาลงพื้นที่ ก็จะถามตลอดว่า โรงเรียนต้องการวัตถุชิ้นนี้ไหมแล้วจะเกิดประโยชน์หรือเปล่า เราต้องตั้งคำถามว่าสิ่งที่เขาต้องการและเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนจริงๆ มันคืออะไรกันแน่ เงินแต่ละบาทของแต่ละคนมีค่าไม่เท่ากัน บางคนอยู่ ในสภาพครอบครัวที่ดีเงินหนึ่งบาทอาจจะไม่มีค่าเลย แต่สำหรับบางครอบครัวเงินหนึ่งบาทมีค่ามาก” อิลจากชมรมอาสา พูดเสริม

“ค่ายอาสามันก็มีทั้งด้านบวกและด้านลบ ในแต่ก่อนเราเคยตั้งคำถามกับสังคมว่า จริงๆแล้วเราต้องทำอะไร ให้สังคม มันก็เลยเกิดเป็นค่ายอาสา ค่ายสิ่งแวดล้อม ค่ายอบรมเยาวชน ค่ายครูสอนเด็ก แต่ตอนนี้มันถึงจุดที่เรา ต้องออกมาทำค่ายอาสา สังคมก็กลับมาตั้งคำถามกับพวกเราว่า จริงๆค่ายอาสาทำไปเพื่ออะไร? ส่วนตัวคิดว่าถ้าในอนาคตค่ายอาสาจะออกไปในรูปแบบของการที่ว่า คุณชอบอะไร คุณก็ทำสิ่งนั้นให้เป็นค่ายอาสาได้” บอยเสริมประเด็นต่อ


งานอาสาปัญหาและอุปสรรค

“ที่เราทำมันก็ไม่ใช่ว่าเราต้องไปมอบอะไรให้กับชุมชนที่เราลงไปศึกษา จริงๆสิ่งที่มันจะได้หรือเป้าหมายของ กลุ่มเราก็คือ การลงไปเรียนรู้ชุมชนเพื่อศึกษาปัญหา อาจจะไม่ได้ไปศึกษาที่แท้จริงแต่ทำให้คนที่เข้าค่ายหรือเพื่อน ใหม่ได้ตระหนักว่าปัญหามันเกิดขึ้นไล่ระดับไปสู่สังคมได้นะ ส่วนมากปัญหาและอุปสรรคก็เป็นเรื่องของเงิน การ เดินทาง รูปแบบค่ายที่บางทีก็อาจจะล้าหลัง แล้วก็คนรุ่นใหม่อาจจะรับไม่ได้ อีกอย่างคือคนค่ายไม่ชอบการที่มีคน บางกลุ่มมานั่งให้ความรู้เหมือนในการเรียน อาจจะด้วยเทคโนโลยีและเป็นคนรุ่นใหม่เขาก็จะปฏิเสธระบบเดิมๆ อีก ทั้งปัญหาในระดับมหาลัยที่ยังคงมองกันคนละฝั่งกันอยู่” บอย

“ปัญหาภายใน ก็จะเป็นเรื่องการทำงานร่วมกับเพื่อนๆในค่าย การไม่เข้าใจ บางครั้งอาจจะไม่เข้าใจกันบ้าง ส่วนปัญหาในค่ายก็จะเป็นเรื่องของตัวเด็กๆ เพราะเด็กแต่ละโรงเรียนต่างกัน แต่เราก็ไม่มีทางที่จะแก้ไขปัญหาได้หมด เราต้องใช้เวลาในการปรับตัวและสร้างพื้นที่มิตรภาพระหว่างกัน เราแค่เป็นส่วนหนึ่งที่พอจะช่วยแนะนำน้องๆมากกว่า และสุดท้ายก็เป็นปัญหาเรื่องของงบประมาณ ที่มีการ เปลี่ยนแปลงไปเยอะ” ฟลุ๊ค สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเรื่องการพิจารณางบในตอนท้าย โดยที่ อิล ให้ความเห็นว่า “มหาวิทยาลัยได้ชื่อเสียงเต็มๆ จากการทำกิจกรรมของพวกเรา แต่ไม่เคยสนับสนุนงบประมาณในการทำกิจกรรมอย่างเต็มที่เรา เราเลยต้องเปิดรับบริจาคและของบภายนอกเพื่อทำกิจกรรมต่อไป เราอยากให้มหาวิทยาลัยส่งเสริมการทำกิจกรรมในมากกว่านี้”


ทิศทางและอนาคตต่อไป บนถนนสายอาสา

“อยากจะเห็นการทำค่ายอาสาที่มีการระดมความคิดกัน แลกเปลี่ยนกัน มาช่วยกันออกแบบ ทำไปแล้ว มันเข้ากับวิถีชีวิตของคน เข้ากับพัฒนาการของเด็ก เข้ากับวัฒนธรรมชุมชน มันจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด อนาคตก็อยากให้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานหรือปรับเปลี่ยนกรอบเดิมๆที่มีอยู่ พัฒนาไปให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น ตระหนักรู้ในเรื่องของตัวเองจะทำให้มันเป็นค่ายอาสาที่ยั่งยืนมากขึ้น ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดของชุมชน ถ้าเราเป็นศูนย์กลางที่จะบรรเทาปัญหาได้มันก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น คนที่ไปทำค่ายเองก็อยากให้ตระหนัก ถึงปัญหาตรงนี้ให้มากๆ เพราะครั้งต่อไปมันจะพัฒนากิจกรรมของเราให้ดียิ่งขึ้น สุดท้ายอยากให้เราทบทวนดีๆว่า ครั้งต่อไปเราจะพัฒนาอะไร ไม่ใช่แค่ครั้งที่แล้วเราทำอะไรมาบ้างแล้วก็ทำแบบเดิม...” นิค

“ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ค่ายอาสาหมดไป เพราะประเทศไทยต้องพัฒนาต่อไป การมีอยู่ของค่ายอาสาที่นักศึกษาต้องเข้าไปอาสาพัฒนามันเป็นสิ่งที่สะท้อนความด้อยพัฒนาของประเทศ ถ้ามีก็คงต้องทำรูปแบบอื่น” อิลสะท้อน

“เราเป็นห่วงว่าในอนาคตค่ายอาสาจะกลายเป็นเครื่องมือ ชุบตัวของกระบวนการธุรกิจ และกลุ่มทุนต่างๆ ในการทำงานเพื่อสังคม” หนูพลอย

“ในอนาคตอาจไม่ต้องมีสร้างกันแล้วก็ได้ แต่ทำให้ค่าย เป็นหนึ่งในห้องเรียนแห่งชีวิต เรียนรู้สิ่งที่ห้องเรียนในระบบไม่เคยสอน” นุ๊ก

“ถ้ามองค่ายอาสาในอนาคตส่วนตัวก็อยากให้คนที่ทำค่ายหรือทำกิจกรรมนั้นออกแบบค่ายเอง มองว่าสิ่งที่ทำมันไร้ประโยชน์หรือมีประโยชน์แล้วก็ตอบตัวเอง เราเองก็ถูกปลูกฝังมาด้วยแนวคิดที่อยากเห็นสังคมมันดีขึ้นเหมือนทุกๆคน แต่ด้วยความถนัดหรือความชอบมัน อาจจะต่างกันและความเห็นต่างกัน เลยทำอะไรหลายๆอย่างที่มันต่างกัน ความคาดหวังในอนาคตก็อยากออกมาทำกิจกรรมเยอะ ดีกว่าการที่เราเป็นนักศึกษาแล้วนั่งทำอะไรที่มันตามกระแส” บอยกล่าวทิ้งท้าย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net