เสวนา: ไทยกับสังคมนิยม ปชต. เลือกตั้งต้องเลิก 3/2558 ปชช. คือผู้ชี้ชะตา

สังคมนิยมประชาธิปไตยต้องค่อยเป็นค่อยไป ไทยเริ่มที่ติดลบ เลือกตั้งปีหน้าลูกผีลูกคน กฎตั้งอย่างไรก็ได้แต่ประชาชนเป็นคนตัดสิน เลือกตั้งหน้าต้องยกเลิก คสช. 3/2558 เพื่อปลดล็อค อนาคตความคิดต่างควรแข่งขันบนสนามที่แฟร์กับทุกฝ่าย ตัวแทนแรงงานระบุ ขบวนแรงงานยังแตกแยก หวังฟ้าใหม่ร่วมงานนักศึกษา เกษตรกร

(ซ้ายไปขวา): สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ บุญสม ทาวิจิตร

23 พ.ย. 2560 มูลนิธิฟรีดิช เอแบร์ จัดงานเปิดตัวหนังสือเรื่อง “ความคิดพื้นฐานว่าด้วยสังคมประชาธิปไตย” และมีงานเสวนาในประเด็นอนาคตของประเทศไทยว่าสังคมจะก้าวไปอย่างไร มี ผศ. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงาน พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ จากเวทีเอเชียว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (FORUM-ASIA) เป็นวิทยากร และศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยาเป็นผู้ดำเนินรายการ

สังคมนิยมประชาธิปไตยต้องค่อยเป็นค่อยไป ไทยเริ่มที่ติดลบ เลือกตั้งปีหน้าลูกผีลูกคน กฎตั้งอย่างไรก็ได้แต่ประชาชนเป็นคนตัดสิน

สิริพรรณกล่าวว่า เชื่อว่าคนไทยไม่ถึงร้อยละสิบที่เข้าใจความหมายของคำว่าสังคมนิยมประชาธิปไตย สังคมนิยมประชาธิปไตยจริงๆ เป็นสิ่งที่ไปไกลกว่าประชาธิปไตย ประเด็นที่ว่าสังคมไทยจะไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่เป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะถ้ามองสังคมไทยตอนนี้ในการที่จะไปสู่การเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย ดิฉันมองว่าตอนนี้ไทยไม่ได้ตั้งต้นอยู่ที่ศูนย์ แต่ติดลบและไม่ใช่ลบหนึ่งด้วย ดังนั้นเราจึงต้องใช้พลังเยอะมากที่จะขับเคลื่อนสังคมไปสู่จุดนั้น

สังคมนิยมประชาธิปไตย คือรูปแบบการปกครอง ทางการเมืองในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ สามารถคิดค้นด้านการมีส่วนร่วมในหลายรูปแบบ ในส่วนที่เรียนรู้ปฏิบัติตาม หรือ ลอกเรียนแบบตามกันมาคือให้มีการเลือกตั้งโดยใช้ระบบเลือกตัวแทนเข้ามาบริหารประเทศ ส่วนรายละเอียดนั้นก็จะแตกต่างกันไป ในเงื่อนไขของการพัฒนาที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศให้มากที่สุด หลายประเทศคิดถึงระบบการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นดูแลจัดการตนเอง

ส่วนทางด้านเศรษฐกิจนั้น ใช้รูปแบบสังคมนิยม ระบบสังคมนิยมในจินตนาการตั้งอยู่บนความคิดที่ต้องการให้ระบบเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยุติธรรม ทุกคนร่วมกันทำงานเพื่อสร้างผลผลิตส่วนรวม และได้รับ สวัสดิการ พยายามกระจายรายได้โดยรัฐให้ประชาชนให้ทั่วถึงทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน มีรัฐสวัสดิการที่ควรมีอยู่พอสมควร ระบบสังคมนิยมไม่จำเป็นที่จะอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการหรือระบอบใดระบอบหนึ่งแต่สามารถอยู่ได้ทุกระบอบเพราะเป็นเพียงระบบเศรษฐกิจเท่านั้นไม่ใช่ระบอบการปกครอง

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: สังคมนิยมประชาธิปไตย ทางออก หรือ ทางเลือก

แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยจะเกิดได้คือ หนึ่ง รัฐต้องเข้มแข็งมากพอที่จะเข้ามาก้าวก่ายระบบเศรษฐกิจเพื่อจัดการระบบเศรษฐกิจให้สร้างความเป็นธรรมในสังคม ถ้ารัฐอ่อนแอจะทำไม่ได้ แล้วทำไมต้องประชาธิปไตย เพราะการก้าวก่ายเพื่อสร้างความเป็นธรรม เสมอภาคและภราดรภาพ ต้องได้รับความชอบธรรมอย่างสูง รัฐเผด็จการ รัฐที่ไม่มีความชอบธรรมทำไม่ได้ รัฐที่ชอบธรรมจึงเป็นรัฐที่ต้องมาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นธรรม หลักของแนวคิดนี้คือต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป หลายคนอาจจะอยากปฏิวัติ (Revolution) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นของสังคมตะวันตกในการเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตยนั้นได้มาผ่านการวิวัฒนาการ (Evolution)

ประเด็นคือเราจะไม่มีทางไปสู่ประชาธิปไตยหรือสังคมนิยมประชาธิปไตยถ้าแรงงานไม่มีอำนาจต่อรอง จริงๆแล้วประชากรกลุ่มใหญ่ที่มีพลังที่สุดคือผู้ใช้แรงงาน แต่ถูกทำให้นิ่งมานาน เพราะเวลาเราไปเลือกตั้งผู้ใช้แรงงานถูกทำให้ไปเลือกตั้งในฐานะภาคเกษตรกร คือเวลาทำงานไปทำที่อื่น แต่ไปเลือกตั้งต้องกลับภูมิลำเนา เสียงแรงงานจึงไม่เคยถูกสะท้อนผ่านพรรคใดๆ ตราบใดที่แรงงานถูกกดทับแบบนี้ ประเทศจะไม่มีทางไปสู่การเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย

สิริพรรณเสนอว่า ควรแก้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเลือกตั้งให้แรงงานเลือกตั้งในพื้นที่ที่ทำงานได้ อย่าลืมว่ารัฐและอำนาจรัฐที่เป็นองคาพยพที่ใหญ่ เวลาเขาคิดการทั้งหมดตั้งแต่ 2549 ถึงวันนี้ เขาได้ต่อจุดเอาไว้ และจุดของเขามันเยอะมาก เขากดปุ่มหลายปุ่มพร้อมกัน แล้วฝ่ายที่ทำงานเพื่อประชาธิปไตยได้ทำอย่างนั้นไหม นอกจากไม่ได้ทำงานร่วมกันแล้วยังแซะกันไปแซะกันมา ถ้าจุดที่จะต้องทำร่วมกันคืออย่างน้อยรณรงค์ให้กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีการลงทะเบียนเลือกตั้งในเขตที่ตัวเองทำงานเพื่อให้พลังแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมีอำนาจต่อรอง ถ้าคุณรวมกันได้สองหมื่นเสียง พรรคการเมืองจะฟังคุณไหม ที่ผ่านมามีแต่นโยบายตอบโจทย์เกษตรกร แต่ไม่มีนโยบายตอบโจทย์แรงงานเพราะเสียงเหล่านี้ไม่เคยรวมกัน

ในประเด็นการเลือกตั้งครั้งหน้าของไทย อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความเห็นว่าการเลือกตั้งของไทยครั้งหน้าต้องใช้คำว่าอาจจะเกิดหรือไม่เกิด (Contingent) เพราะไม่มีทิศทางชัดเจนที่จะบอกได้ เราได้ยินพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่าจะมีการเลือกตั้งประมาณเดือน พ.ย. ปีหน้า แต่สัญญาณที่ออกมาจากทางรัฐบาลเองก็คิดว่าไม่น่ามี แต่ถ้าดูจากลางสังหรณ์คิดว่าไม่มีเลือกตั้งในปีหน้า ถ้าถามว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะได้เห็นอะไร ส่วนตัวคิดว่าหลายคนคิดว่าเป็นการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญที่ไม่มีประชาธิปไตยที่สุดท้ายก็จะได้นายกรัฐมนตรีที่ประชาชนอาจไม่ได้เลือก ส่วนตัวคิดว่า อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งครั้งหน้าจะน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะจะเป็นเรื่องที่ท้าทายกฎระเบียบและพลังประชาชนจำนวนมาก เพราะเรารู้ว่ากลไกการเลือกตั้งถูกออกแบบมาทำให้พฤติกรรมการเลือกตั้งเปลี่ยน จากเลือกพรรคเป็นคน ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ทำให้พรรคลดความเป็นระบบพรรคการเมืองลง แต่ละเขตพรรคเดียวกันก็จะมีเบอร์ต่างกันไป ทั้งหมดเป็นการออกแบบกลไกกติกาเพื่อมุ่งสู่การทำลายระบบพรรคการเมือง ลดความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับพรรคการเมือง ลดทอนประสิทธิภาพประชาชนในกรณีที่ประชาชนอาจไม่ได้เป็นคนเลือกนายกฯ เอง แต่ประสบการณ์ทั่วโลกก็บอกว่าระบบเลือกตั้งไม่สามารถทำได้อย่างที่ผู้ร่างคิดเสมอไป พลังที่จะท้าทายกลไกนั้นคือพลังประชาชน ทว่า จะท้าทายและลดทอนกลไกดังกล่าวได้หรือเปล่า นอกจากนั้น ทุกการเลือกตั้งสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่ประชาชนจะได้ขับเคลื่อน มีการสนทนาและมีการแลกเปลี่ยนของกลุ่มต่างๆ ตรงนี้คือประกายสำคัญที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งโดยธรรมชาติมันทำได้อยู่แล้ว แต่ถ้าทำได้ด้วยเราก็ควรจะทำ เช่นการเชื่อมโยงจุดต่างๆ เคลื่อนไหวในมุมของตัวเอง และถ้าแต่ละคนสามารถทำงานร่วมกันได้จะเป็นอะไรที่ดีมาก

การเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตยอาจจะอยู่อีกไกล แต่เราควรมีเป้าหมาย และสังคมนิยมประชาธิปไตยควรเป็นอีกเป้าหมายที่ควรไปถึง แต่ตอนนี้เราไม่ได้แค่สู้กับระบบการเมือง แต่กำลังสู้กับระบบเศรษฐกิจด้วย ปรเด็นที่สู้คือ รัฐกับทุนกำลังร่วมมือกัน แล้วประชาชนจะอยู่ตรงไหน วันนี้เราอยากเห็นประชาชนไม่ได้มองตัวเองเป็นราษฎรอีกต่อไป แต่เป็นพลเมืองที่ตระหนักในความเป็นพลเมืองของเรา และได้รับการปฏิบัติต่อในฐานะพลเมือง เมื่อเป็นเช่นนั้นการขับเคลื่อนอย่างอื่นจะตามมา

เลือกตั้งหน้าต้องยกเลิก คสช. 3/2558 เพื่อปลดล็อค อนาคตความคิดต่างควรแข่งขันบนสนามที่แฟร์กับทุกฝ่าย

พิมพ์สิริกล่าวว่า ความน่าสนใจของแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยในแง่ประวัติศาสตร์คือกระบวนการที่เป็นลักษณะของการปฏิรูปมากกว่าการปฏิวัติที่สะท้อนว่ามีการประนีประนอมแล้วกับระบบทุนนิยม รัฐสวัสดิการต่างๆ มีไว้เพื่อไม่ให้มีความตึงเครียดระหว่างชนชั้นต่างๆ ในสังคม กลับมาถึงคำถามสังคมนิยมปะชาธิปไตยว่าเหมาะกับสังคมไทยไหม ท้ายที่สุดคำตอบคือเราต้องการอะไร เราต้องการไปสู่สังคมในอุดมคติที่เราต้องการหรือไม่ ตอนนี้ก็เชื่อว่าหลังวาทกรรมระบบตลาดเสรีนิยมใหม่ก็ยังมีคนบางกลุ่มอยากเห็นสังคมนิยมสมบูรณ์แบบ แต่ถ้าเอาฉันทามติคนในสังคมมองก็มองว่าระบบตลาดคือที่สุดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม สังคมนิยมประชาธิปไตยคือทางออกที่ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมไม่ห่างจนเกินไป

แนวทางในอนาคตอย่างแรกต้องเริ่มจากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ถึงจะทำให้มีการพูดคุย มีบรรยากาศพูดคุยที่เปิด คิดว่าภาคประชาสังคมต้องชัดเจนด้วยว่าถ้าจะไปสู่การเลือกตั้งอย่างน้อยคำสั่งที่ 3/2558 ต้องถูกยกเลิก นี่ถือว่าเป็นอย่างน้อย ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการเลือกตั้งที่คุยกันเรื่องการเมืองไม่ได้ ชุมนุม หาเสียงเปิดเผยไม่ได้

คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่มีหน้าที่ปราบปรามคดีการเมือง ได้แก่

หนึ่ง มีอำนาจ "ออกคําสั่งเรียกให้บุคคลมารายงานตัว" ต่อเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามหรือมาให้ถ้อยคํา หรือส่งมอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับนี้

สอง มีอำนาจ "จับกุมตัวบุคคลที่กระทําความผิดซึ่งหน้า" และควบคุมตัวผู้ถูกจับนําส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดําเนินการต่อไป

สาม มีหน้าที่ "ช่วยเหลือ สนับสนุน หรือเข้าร่วมในการสอบสวน" ในความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับนี้ และหากเข้าร่วมการสอบสวนคดีใดก็ให้ถือว่าเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย

สี่ มีอำนาจ "ตรวจค้นเคหสถาน, บุคคล หรือยานพาหนะ" เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยโดย "มีหลักฐานตามสมควร" ว่าบุคคลซึ่งกระทําความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับนี้ หลบซ่อนอยู่ หรือมีทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยการกระทําความผิด หรือได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทําความผิด หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ อย่างไรก็ดี การใช้อำนาจดังกล่าว ต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากการรอเอาหมายค้นมา บุคคลนั้นจะหลบหนีไป หรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทําลาย หรือทําให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม

ห้า มีอำนาจ "ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน" ที่ค้นพบจากการตรวจค้นตัวบุคคล เคหสถาน หรือยานพาหนะ

หก กระทําการอื่นใดตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย

เจ็ด มีอำนาจ "ควบคุมตัวไม่เกินเจ็ดวัน" ในกรณีที่เรียกตัวบุคคลนั้นมาเพื่อสอบถามข้อมูล และการสอบถามยังไม่เสร็จ โดยต้องควบคุมไว้ในสถานที่อื่นที่มิใช่สถานีตํารวจ ที่คุมขัง หรือเรือนจํา และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้ต้องหาไม่ได้

แปด การกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัว เช่น ในกรณีที่บุคคลถูกควบคุมตัวเจ้าพนักงานจะปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขหรือไม่มีก็ได้ เช่น การกำหนดพื้นที่ห้ามเข้า การเรียกประกันทัณฑ์บน การห้ามประกอบอาชีพบางอย่าง การห้ามเดินทางออกนอกประเทศ หรือ การระงับธุรกรรมทางการเงิน เป็นต้น

ที่มา: iLaw

วิทยากรจาก FORUM-ASIA กล่าวว่า อนาคตของไทยเป็นไปได้สองทาง หนึ่ง ทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้งตลอดสิบปีที่จริงๆ ตั้งใจดีกับประเทศทั้งสองฝั่ง แต่อาจจะมีประเด็นหลักไม่เหมือนกัน ฝ่ายหนึ่งอาจต่อต้านคอร์รัปชั้น ธรรมาภิบาล อีกฝั่งหนึ่งเน้นการมีส่วนร่วม แต่ถ้ามีคนตรงกลางที่ผสานสองฝ่ายได้ก็อาจจะสวยงาม แต่ปัญหาคือใครจะเป็นคนนั้น สอง อุดมการณ์ไม่จำเป็นต้องบรรจบกันตรงกลาง ต่างคนก็ต่างเดิน เป็นการแข่งขันไปเลย แต่ละฝ่ายเน้นประเด็นหลักของตนเป็นประชาธิปไตยแบบแข่งขัน

ทุกภาคส่วนไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน คิดว่าสะดวกใจมากกว่าที่คนจะคิดไม่เหมือนกันและแต่ละคนรณรงค์ในแนวทางของตัวเอง แต่ต้องยอมรับร่วมกันว่าจะต้องทำให้สนามแข่งขันเปิดพื้นที่ให้ทุกคนเท่าๆ กัน คุณจะไม่เอาประชาธิปไตยก็ไม่เอาก็ได้ จะตั้งพรรคการเมืองที่ชูธงเรื่องธรรมภิบาล ปกครองแบบอำนาจนิยมก็ได้ ฝ่ายที่อยากได้ประชาธิปไตย อยากได้การมีส่วนร่วมก็รวมตัวกันมา

ตัวแทนแรงงานระบุ ขบวนแรงงานยังแตกแยก หวังฟ้าใหม่ร่วมงานนักศึกษา เกษตรกร

บุญสม กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในคนไทยที่ไม่รู้เรื่องสังคมนิยมประชาธิปไตย อาจจะด้วยข้อจำกัดของการเป็นแรงงาน ส่วนใหญ่คนงานและสหภาพแรงงานจะมุ่งหน้าสู่การทำงานเพื่อปากท้องของครอบครัว เขาจะไม่รูู้ว่าแนวคิดเหล่านี้เป็นอย่างไร คนงานไม่เคยเห็นหนังสือลักษณะนี้ ถึงเคยเห็นแต่การศึกษาก็น้อยมาก อย่างที่เข้าใจว่านายจ้าง นายทุนกับการให้การศึกษาเกี่ยวกับหลักคิดสังคมนิยมและความเท่าเทียมมันเป็นเรื่องที่อยู่บนเส้นขนานระหว่างกันอยู่แล้ว และตนคิดว่าถ้าคนงานรู้จักหนังสือประเภทนี้ พวกเขาอาจจะมีแนวคิด ทฤษฎีในการจัดตั้งกับคนงานมากขึ้นและอาจจะนำไปสู่การมีทางเลือกในการเข้าสู่สังคมประชาธิปไตยที่คนงานจะใช้สิทธิ์ทางอ้อมได้

สิบปีที่ผ่านมาแรงงานแตกเป็นเสี่ยง จากกลุ่มที่จับมือกันมาพอเจอสถานการณ์แบบนี้ทำให้แบ่งขั้วกันชัดเจน จึงไม่แน่ใจถึงความเป็นไปได้ที่จะผสาน ประนีประนอมให้เป็นหัวขบวนในการต่อสู้ทางการเมืองและสังคม ถ้ามีการเลือกตั้งอนาคตจะเป็นอย่างไรก็เป็นหน้าที่ของแรงงานที่จะต้องผสานความร่วมมือกันให้ได้ เมื่อช่วงบ่ายๆ วันนี้ก็ได้ไปคุยกันในรายการวิทยุไทยพีบีเอสว่า ตอนนี้กระบวนแรงงานถูกกระทำเยอะแยะมากมาย แล้วจะทำอย่างไรในสถานการณ์ที่รัฐบาลเผด็จการครอบงำ หลายคนก็บอกว่าให้รอไปก่อน ให้ฟ้าใหม่มาค่อยออกมา เพราะถ้าเคลื่อนไหวตอนนี้ก็ไม่รู้เลยว่าจะท้าทายอำนาจที่มีล้นฟ้าได้อย่างไร แต่ส่วนหนึ่งก็มีการพูดคุยในองค์กรว่า การรอเวลาเลือกตั้งเป็นท่าทีที่อาจจะเปลี่ยนได้

ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานยังกล่าวอีกว่า ในอนาคตอยากเห็นเครือข่ายสามประสาน คือนักศึกษา กรรมกรและชาวนา แต่แรงงานเองก็คิดว่าต้องรอฟ้าใหม่ หวังอย่างยิ่งว่า เมื่อฟ้าใหม่แล้วจะได้ร่วมมือกับชาวนาและนักศึกษาก็ ก็เป็นคำถามว่าขบวนแรงงานเองจะสร้างความเข้มแข็งอย่างไรในอนาคต และต้องปรับขบวนตัวเองให้ไวที่สุด มีการต่อสู้ทางความคิดไม่เช่นนั้นก็จะเป็นผู้ถูกปกครองตลอดไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท