Skip to main content
sharethis

21 พ.ย. 2560 สหภาพยุโรป (อียู) ให้ทุนพัฒนาวิดีโอเกมที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการข่มเหงรังแกกันในเด็กอันเกิดจากการเหยียดเพศสภาพหรือเพศวิถีรวมถึงจากการเหยียดเชื้อชาติ

ผู้ที่ได้รับทุนพัฒนาเกมดังกล่าวจากอียูคือมหาวิทยาลัยเวสต์ออฟสกอตแลนด์ (UWS) ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง "การศึกษาผลของเทคโนโลยีเกมในเชิงสาระที่มีต่อการจำกัดปัญหาการข่มเหงรังแกด้วยอคติในหมู่เด็ก"

โครงการนี้มีการพัฒนาเกมสำหรับเด็กอายุ 10-12 ปี เพื่อท้าทายความคิดแบบ "เหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศ ความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนรักสองเพศ คนข้ามเพศ อย่างไม่มีเหตุผล" โดยหวังว่าจะช่วยให้เด็กสำรวจอคติในตัวเอง รวมถึงเห็นอันตรายเมื่อมันนำไปสู่การข่มเหงรังแก

UWS ระบุอีกว่าเกมที่พวกเขาพัฒนาจะเป็นการให้เด็กเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบโรงเรียนเสมือนจริง มีการข่มเหงรังแกกันด้วยสาเหตุเรื่องอคติ และสามารถให้ผู้เล่นเลือกได้ว่าจะตอบสนองต่อสถานการณ์นั้นๆ อย่างไร โดยมีการวางแผนว่าจะจัดให้มีเกมนี้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อประเมินผลในช่วงต้นปี 2562 และในปลาย 2562 จะจัดให้มีเกมนี้ทั่วประเทศในยุโรป 4 ประเทศ

ผู้นำโครงการนี้คือมาเรีย ซาปัวนา อาจารย์ด้านอาชญวิทยาและกระบวนการยุติธรรมจากวิทยาลัยสื่อ วัฒนธรรม และสังคม ประจำ UWS เธอกล่าวว่า กลุ่มเด็กที่ถูกข่มเหงรังแกจากอคติมักจะเป็นกลุ่มเด็กที่ถูกกีดกันซึ่งมีการประเมินว่าอาจจะส่งผลต่อผลการเรียน ทำให้เกิดการออกจากโรงเรียน ส่งผลต่ออนาคตของเด็ก

ซาปัวนาบอกอีกว่า เคยมีงานวิจัยที่ระบุว่าครูหลายคนยังไม่รู้วิธีแก้ไขปัญหาการข่มเหงรังแกจากอคติอย่างได้ผล พวกเขาหวังว่าโครงการนี้จะช่วยเสริมส่วนที่ขาดหายไปโดยพัฒนาวิธีการใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมให้ครูสามารถระบุถึงประเด็นอคติทางเชื้อชาติและทางเพศกับการข่มเหงรังแกในหมู่เยาวชนได้

UWS ยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเปิดแห่งเนเธอร์แลนด์ มหาวิทยาลัยพาตราสในกรีซ และมหาวิทยาลัยนักปรัชญาคอนสแตนตินในสโลวาเกีย ทำโครงการนี้เป็นเวลา 28 เดือน

เคที ราฟเฟอร์ตี ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านการข่มเหงรังแก respectme กล่าวว่าการข่มเหงรังแกเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ไม่ว่าจะโดยรูปแบบใดๆ โรงเรียนเป็นสถานที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงโดยการท้าทายอคติผ่านการศึกษาและเตรียมพร้อมให้เยาวชนกลายเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาจึงหวังว่าโครงการวิจัยนี้จะสามารถเสนอวิธีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาการข่มเหงรังแกบนฐานของอคติได้อย่างยั่งยืน"

สื่อ Pink News ระบุว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเริ่มมีวิดีโอเกมกระแสหลักที่เปิดกว้างให้มีตัวละครผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น เช่น การยกเลิกการแบ่งแยกเครื่องแต่งกายเป็น "แบบหญิง" หรือ "แบบชาย" แต่ให้ตัวละครแต่งกายแบบใดก็ได้

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ของเกมออนไลน์บางแห่งก็ยังคงมีการเหยียดเพศอยู่เช่นในเกมรูนสเคป (Runescape) เคยมีกลุ่มผู้เล่นต่อต้านหลังจากที่ผู้พัฒนาเกมนี้ประกาศจะมีการเฉลิมฉลอง "ไพรด์" สำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยมีการต่อต้านผ่านการวิพากษ์วิจารณ์และกล่าวแสดงความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันอย่างไม่มีเหตุผล

 

เรียบเรียงจาก

EU funds video game teaching kids to tackle homophobic bullying, Pink News, 20-11-2017
http://www.pinknews.co.uk/2017/11/20/eu-funds-video-game-teaching-kids-to-tackle-homophobic-bullying/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net