Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

1. บทนำ

บทความนี้ปรับปรุงจากบทความชื่อ “การปกป้องสุทธิภาวะของสังคายนากับศาสนาอนุรักษนิยม” ซึ่งเขียนขึ้นเพื่อใช้ประกอบการบรรยายในการอบรมประจำปีของสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทยเมื่อนานมาแล้ว แต่ยังไม่ได้ตีพิมพ์มาก่อน การนำมาเผยแพร่ครั้งนี้สืบเนื่องจากผู้เขียนเห็นว่า ผู้เขียนได้เสนอแนวคิดบางประการที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการพิจารณาถกเถียงปัญหาเกี่ยวกับการบวชภิกษุณีในสังคมไทย แม้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีผู้นำเสนอความคิดไว้หลายแนวทางทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดูเหมือนว่าการถกประเด็นดังกล่าวนี้ยุติลงด้วยข้อสรุปที่ว่า สตรีไทยไม่สามารถบวชเป็นภิกษุณีได้หรือคณะสงฆ์ไทยไม่สามารถยอมรับการบวชภิกษุณีได้เนื่องจากพระวินัยบัญญัติกำหนดไว้ว่า การบวชภิกษุณีต้องกระทำในสงฆ์สองฝ่ายคือ ทั้งฝ่ายภิกษุณีสงฆ์และฝ่ายภิกษุสงฆ์  แต่วงศ์ของภิกษุณีขาดสูญไปแล้วจึงไม่อาจรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ได้อีก ความคิดที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุดจากชาวพุทธไทยได้แก่ ความคิดของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ปัจจุบันคือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  ในหนังสือ “ทัศนะของพระพุทธศาสนาต่อสตรีและการบวชเป็นภิกษุณี” (2544) ท่านชี้ให้เห็นว่าหลักพระธรรมวินัยต่างหากที่ไม่อนุญาตให้คณะสงฆ์บวชภิกษุณีได้ตามอำเภอใจและมันก็ไม่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาอื่น ๆ ที่คนมักหยิบยกมาปนกัน คำตอบของท่านช่วยให้ประตูบานนี้ถูกปิดและอาจจะตลอดไปสำหรับการบวชภิกษุณีในประเทศไทย

 บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่าปัญหาเกี่ยวกับการบวชภิกษุณีเกี่ยวเนื่องกับการสังคายนาครั้งที่ 1 ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์พุทธศาสนายุคแรก (หลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า 3 เดือน) เนื่องจากการสังคายนาครั้งดังกล่าวนี้มีมติสำคัญที่คณะสงฆ์ในประชุมสังคายนาดังกล่าว มติที่ว่าก่อให้เกิดกลุ่มพระสงฆ์ผู้มีแนวคิดแบบอนุรักษนิยม และความเป็นอนุรักษนิยมอันเป็นผลสืบเนื่องจากมติสังคายนาดังกล่าวนี้เองเป็นดั่งเครื่องพันธนาการอันแน่นหนาที่คณะสงฆ์ไทยซึ่งถือตนเองว่าสืบทอดเจตนารมณ์คณะสงฆ์เถรวาทไม่สามารถปลดเปลื้องได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากคณะสงฆ์หรือชาวพุทธย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์และมองประวัติศาสตร์พุทธศาสนาอันเกี่ยวเนื่องกับพระธรรมวินัยและการสังคายนาใหม่ ก็จะเห็นว่าปัญหาเรื่องการบวชภิกษุณีที่แก้ไขไม่ได้เพราะพระวินัยบัญญัติกำหนดเงื่อนไขบางอย่างไว้นั้นอาจไม่ได้เป็นปัญหาอีกต่อไป ปัญหาอยู่ที่ชาวพุทธไทยมีความกรุณามากพอหรือไม่ที่จะเปิดรับการมีภิกษุณี หากมีความกรุณามากพอ ย่อมมองเห็นวิถีทางที่จะเปิดประตูแก่เหล่าสตรีที่ปรารถนาจะเข้าสู่พื้นที่ทางจิตวิญญาณในศาสนาอย่างเต็มที่ ผู้เขียนจะชี้ให้เห็นว่าจะเปิดประตูบานนี้ได้อย่างไร
 

2. ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการสังคายนา

2.1  ความหมายของการสังคายนา

การสังคายนาคืออะไร  นักวิชาการชาวต่างประเทศได้ศึกษาการสังคายนาที่ปรากฏในคัมภีร์ต่าง ๆ ของลังกา พม่า และไทย แล้วสรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า สิ่งที่พบเห็นเกี่ยวกับการสังคายนานั้น เป็นเพียง “แนวคิด” (Idea) กล่าวคือ พบแต่ (1) นิทานหรือเรื่องราวก่อนสังคายนา (2) รายละเอียดบางประการเกี่ยวกับการสังคายนา เช่น นำโดยใคร ใครเป็นผู้อุปถัมภ์ จำนวนพระสงฆ์ที่ร่วมกันทำ จัดขึ้นที่ไหน ใช้ระยะเวลาเท่าใดในการทำแต่ละครั้ง และ (3) เหตุการณ์ต่อเนื่องหลังจากการสังคายนาแล้ว แต่ไม่พบรายละเอียดของการทำสังคายนาแต่ละครั้งว่ามีวิธีการทำอย่างไร (Hallisey, Charles 1991 : 146-147) ข้อสรุปนี้มีมูลความจริงไม่น้อย ในพระไตรปิฎก (ปัญจสติกขันธกะ และ สัตตสติกขันธกะ) มีรายละเอียดของวิธีการทำสังคายนาเพียงเล็กน้อยและเฉพาะการทำสังคายนาครั้งที่ 1-2 เท่านั้น ส่วนความพิสดารจะปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาที่เรียบเรียงขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่10*

การสังคายนา แปลตามรูปศัพท์ว่า ร้อยกรอง คือประชุมสงฆ์จัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะ แล้วรับทราบทั่วกันในที่ประชุมนั้นว่าตกลงกันอย่างนี้ แล้วก็มีการท่องจำนำสืบกันต่อ ๆ มา ในชั้นเดิม การสังคายนาปรารภเหตุความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา จึงจัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะไว้ ในครั้งต่อ ๆ มาปรากฏมีการถือผิดตีความหมายผิด ก็มีการชำระวินิจฉัยข้อที่ถือผิด ตีความหมายผิดนั้น  ชี้ขาดว่าที่ถูกควรเป็นอย่างไร แล้วก็ทำสังคายนา  โดยการทบทวนระเบียบเดิมบ้าง เพิ่มเติมของใหม่อันเป็นทำนองบันทึกเหตุการณ์ จัดระเบียบใหม่บางข้อบ้าง  ในชั้นหลัง ๆ เพียงการจารึกลงในใบลาน การสอบทานข้อผิดในใบลาน ก็เรียกกันว่าสังคายนา ไม่จำเป็นต้องมีเหตุการณ์ถือผิด เข้าใจผิดเกิดขึ้น (สุชีพ  ปุญญานุภาพ 2539 : 6-7) พระเทพเวที (ประยุทธ์  ปยุตโต) กล่าวว่า สังคายนาคือ การรวบรวม ประมวลคำสอนของพระศาสดาไว้อย่างซื่อสัตย์ที่สุด  ให้บริสุทธิ์ที่สุดเท่าที่รู้หรือสืบทราบได้ว่า เป็นคำตรัสคำสอน ของพระองค์แท้ ๆ  ในการสังคายนานั้น เราจะต้องพยายามตรวจสอบรักษาคำสอนเท่าที่พบเท่าที่หาหลักฐานได้ ว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ให้ดีที่สุด ถ้าเราไปวินิจฉัยแล้วทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงและตัดคำสอนบางอย่างทิ้งไปถ้าทำกันอย่างนี้  สิ่งที่บรรจุเข้าไปในพระไตรปิฎกจะไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า แต่จะกลายเป็นคำสอนของคณะบุคคลที่สังคายนาไป   ฉะนั้น ในการสังคายนานั้น หลักการจึงอยู่ที่การพยายามจะนำสิ่งนั้น เท่าที่สืบมา ให้สืบต่อไปอย่างบริสุทธิ์ ให้ได้หลักฐานที่เป็นตัวคำพูดของพระพุทธเจ้าให้มากที่สุด ไม่ไปแทรกแซงและไม่ไปวินิจฉัย (พระเทพเวที (ประยุทธ์  ปยุตโต) 2532 : 43-44)

ในหนังสือ “รู้จักพระไตรปิฎกเพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้” พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์  ปยุตโต) 2543: 6 กล่าวว่า “สังคายนา คือการประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อันได้แก่พระธรรมวินัย มาจัดวางไว้เป็นแบบแผนให้ทรงจำไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นหลักของพระพุทธศาสนาสืบมา” (พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์  ปยุตโต)  2543: 67) และได้อธิบายวิธีการสังคายนาไว้ว่า การสวดพร้อมกันนั้นเรียกว่า สังคายนา เพราะคำว่า “สังคายนา” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สังคีติ” แปลว่า สวดพร้อมกัน คายนา หรือ คีติ แปลว่าการสวด สํ แปลว่า พร้อมกัน สังคายนา ก็คือ สวดพร้อมกัน

วิธีการสังคายนา ที่เรียกว่าวิธีการร้อยกรองหรือรวบรวมพระธรรมวินัย หรือประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็คือ การนำเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาแสดงในที่ประชุม แล้วก็ชักถามกัน จนกระทั่งที่ประชุมลงมติว่าเป็นอย่างนั้นแน่นอน เมื่อได้มติร่วมกันแล้วในเรื่องใดก็ให้สวดพร้อมกัน การสวดพร้อมกันนั้นแสดงถึงการลงมติร่วมกันด้วยและเป็นการทรงจำกันไว้อย่างนั้นเป็นแบบแผนต่อไปด้วย หมายความว่า ตั้งแต่นั้นไป คำสอนตรงนั้นก็จะทรงจำไว้อย่างนั้น เมื่อจบเรื่องหนึ่งก็ให้สวดพร้อมกันครั้งหนึ่ง อย่างนี้เรื่อยไป (เรื่องเดียวกัน : 30–31)

อันที่จริงการทำสังคายนาพระธรรมวินัยนั้นมีกระบวนการขั้นตอนอย่างไร ไม่ปรากฏชัดเจนนักเมื่อศึกษาจากบันทึกเรื่องราวการสังคายนาในพระไตรปิฎก (จุลลวรรค) เราจะพบแต่เหตุการณ์การแวดล้อมในตอนเริ่มต้นและตอนท้ายหลังการสังคายนาเสร็จสิ้นแล้ว แต่ระหว่างการสังคายนานั้น ไม่มีรายละเอียดอะไรมากนัก

2.2  การสังคายนากับพระไตรปิฎก

การสังคายนา คือ การรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้า จัดระบบหมวดหมู่เพื่อให้สามารถจดจำได้ง่าย และนำสืบทอดกันต่อมาในหมู่พระสงฆ์ยุคแรก ๆ โดยการท่องจำ หรือวิธีการที่เรียกว่า "มุขปาฐะ" ในช่วงแรก ๆ ของประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ยังไม่มีคำว่า "พระไตรปิฎก" แต่เรียกคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่า "พระธรรมวินัย"

คำว่า พระไตรปิฎก เกิดขึ้นภายหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน เข้าใจว่ามีการใช้คำนี้ในสมัยการสังคายนาครั้งที่ 3 ของฝ่ายเถรวาทเป็นต้นมา พระไตรปิฎกเกี่ยวข้องอย่างไรกับการสังคายนาพระธรรมวินัย เราอาจลำดับความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันได้ดังนี้ว่า พระธรรมวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระธรรมวินัยนี้เดิมยังไม่มีการรวบรวมจัดระบบ พระสงฆ์จึงได้ประชุมกันเพื่อรวบรวมพระธรรมวินัยเท่าที่มีอยู่นั้นมาจัดระบบเป็นหมวดหมู่ การทำเช่นนี้เรียกว่า การสังคายนา และมีการจัดระบบออกเป็น 3 หมวดใหญ่หรือ 3 คัมภีร์จึงเรียกว่า พระไตรปิฎก ปัจจุบันเรารู้จักกันในฐานะเป็นชื่อของคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา  ถ้าไม่มีการสังคายนารวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาจัดเป็นหมวดหมู่ก็จะไม่มีสิ่งที่เรียกว่าพระไตรปิฎก

การจัดหมวดหมู่คำสั่งสอนที่กลายมาเป็นพระไตรปิฎกนั้น เป็นดังนี้

คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ พระธรรมกับพระวินัย

ก.พระธรรม แบ่งเป็น 2 ปิฎก กล่าวคือ (1) ธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่บุคคลต่าง ๆ ในบริบทที่แตกต่างกันไป ส่วนนี้รวบรวมไว้ในกลุ่มคัมภีร์ที่เรียกว่า “พระสุตตันตปิฎก” ซึ่งธรรมที่แสดงไว้ในปิฎกนี้จะมีเรื่องเล่าประกอบให้รู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเรื่องอะไรที่ไหนแก่ใครเพราะเหตุใด (2)  อีกส่วนหนึ่งจะนำไปจัดไว้ในกลุ่มคัมภีร์ที่เรียกว่า “พระอภิธรรมปิฎก” ซึ่งธรรมที่แสดงไว้ในปิฎกนี้เป็นธรรมล้วน ๆ ไม่มีเรื่องราวประกอบ แต่เป็นการจำแนกวิเคราะห์ธรรมซึ่งมีรายละเอียดซับซ้อน

ข.พระวินัย เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับข้อที่ห้ามประพฤติหรือแนวปฏิบัติต่าง ๆ อันเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ ส่วนนี้ท่านจัดไว้ในชุดคัมภีร์ที่เรียกว่า “พระวินัยปิฎก”

ชาวพุทธถือว่าพระไตรปิฎกเป็นที่ประมวลไว้ซึ่งพระธรรมวินัย ที่เป็นสาระหรือหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา และเป็นคัมภีร์สูงสุดของพระพุทธศาสนา พระธรรมปิฎกกล่าวถึงความสำคัญของพระไตรปิฎกไว้ (เรื่องเดียวกัน : 68–70) ดังนี้

1. พระไตรปิฎกเป็นที่รวบรวมไว้ซึ่งพระพุทธวจนะคือพระดำรัสของพระพุทธเจ้า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ตรัสไว้เอง เท่าที่ตกทอดมาถึงเรานั้นมีมาในพระไตรปิฎก    เรารู้จักคำสอนของพระพุทธเจ้าจากพระไตรปิฎก

2. พระไตรปิฎกเป็นที่สถิตของพระศาสดาของพุทธศาสนิกชน เพราะเป็นที่บรรจุพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ให้เป็นศาสดาแทนพระองค์ เราจะเฝ้าหรือรู้จักพระพุทธเจ้าได้จากพระดำรัสของพระองค์ที่พระเถระสมัยเริ่มแรกรักษาไว้ในพระไตรปิฎก

3. พระไตรปิฎกเป็นแหล่งต้นเดิมของคำสอนในพระพุทธศาสนา คำสอน คำอธิบาย คัมภีร์ หนังสือ ตำราที่อาจารย์หรือนักปราชญ์ทั้งหลายพูด กล่าวหรือเรียบเรียงไว้ ที่จัดว่าเป็นของในพระพุทธศาสนา จะต้องสืบขยายออกมา และเป็นไปตามคำสอนแม่บทในพระไตรปิฎก ที่เป็นฐานหรือแหล่งต้นเดิม

4. พระไตรปิฎกเป็นหลักฐานอ้างอิงในการแสดงหรือยืนยันหลักการที่กล่าวว่าเป็นพระพุทธศาสนา การอธิบายหรือกล่าวอ้างเกี่ยวกับหลักการของพระพุทธศาสนาจะเป็นที่น่าเชื่อถือหรือยอมรับได้ด้วยดี เมื่ออ้างอิงหลักฐานในพระไตรปิฎก ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานอ้างอิงสุดท้ายสูงสุด

5. พระไตรปิฎกเป็นมาตรฐานตรวจสอบคำสอนในพระพุทธศาสนา คำสอนหรือคำกล่าวใด ๆ ที่จะถือว่าเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนาได้ จะต้องสอดคล้องกับพระธรรมวินัยซึ่งมีมาในพระไตรปิฎก

6.พระไตรปิฎกเป็นมาตรฐานตรวจสอบความเชื่อถือและข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ความเชื่อถือหรือข้อปฏิบัติตลอดจนพฤติกรรมใด ๆ จะวินิจฉัยว่าถูกต้องหรือผิดพลาดเป็นพุทธศาสนาหรือไม่ ก็โดยอาศัยพระธรรมวินัยที่มีมาในพระไตรปิฎกเป็นเครื่องตัดสิน

โดยสรุป การสังคายนาพระธรรมวินัยมีความสำคัญในฐานะที่มาของคัมภีร์พระไตรปิฎก ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่รักษา/สืบทอดคำสั่งสอนอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า จะเห็นว่าข้อ 1และ 2 ในข้อสรุปของพระธรรมปิฎกนั้น สะท้อนทัศนะสำคัญของชาวเถรวาทที่มีต่อการสังคายนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสังคายนาครั้งที่ 1 การสังคายนาเป็นเครื่องรับประกันว่าพระธรรมวินัยที่นิกายยึดถืออยู่นั้นเป็นเก่าแก่ดั้งเดิมที่สุด บริสุทธิ์ ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด (พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) 2542 : 34) ทัศนะเช่นนี้มาจาก (1) ความเชื่อมั่นในกระบวนการสังคายนาที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเถรวาท (2) ความเชื่อมั่นในพระเถระผู้กระทำสังคายนาในยุคเริ่มแรก และจารีตการสืบทอดพระธรรมวินัยที่กระทำต่อเนื่องกันมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

 

2.3  การสังคายนาในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา

เนื่องจากการนับสังคายนาของประเทศที่นับถือพุทธศาสนามีความแตกต่างกันอยู่บ้าง เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในเรื่องนี้ ผู้เขียนจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ การสังคายนาที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย กับการสังคายนาที่เกิดนอกประเทศอินเดีย ควรเข้าใจไว้ในเบื้องต้นนี้ว่า การสังคายนาเกือบทั้งหมดที่กล่าวถึงเป็นการสังคายนาของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท การให้ความสำคัญต่อการสังคายนาเช่นนี้สะท้อนเจตนารมณ์สำคัญของการเป็นเถรวาท เจตนารมณ์ที่ว่านี้คืออะไร จะได้เห็นกันข้างหน้า


2.3.1  การสังคายนาในประเทศอินเดีย

การสังคายนาที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดียมีทั้งหมด 5 ครั้ง กล่าวคือ การสังคายนาครั้งที่ 1 และ 2 ที่รับรู้กันโดยทั่วไป กับการสังคายนาที่จัดขึ้นโดยพระสงฆ์ฝ่ายมหาสังฆิกะ(พุทธศตวรรษที่ 2)  การสังคายนาของพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาท ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช  (พุทธศตวรรษที่ 3) และการสังคายนาของนิกายสรวาสติวาทิน (สัพพัตถิกวาท) ในสมัยพระเจ้ากนิษกะ (ราวพุทธศตวรรษที่ 6)

2.3.1.1  การสังคายนา ครั้งที่ 1 (หลังพุทธปรินิพพาน 3 เดือน)

กระทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างภูเขาเวภารบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์ ประเทศอินเดีย พระมหากัสสปเถระเป็นประธานและเป็นผู้ซักถาม พระอุบาลีเป็นผู้ตอบข้อซักถามด้านพระวินัย พระอานนท์เป็นผู้ตอบข้อซักถามด้านหลักธรรม มีพระอรหันต์ประชุมกัน 500  รูป ทำอยู่ 7 เดือนจึงสำเร็จ หลักฐานของเถรวาทเล่าว่า เมื่อพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นสัทธิวิหาริก(ศิษย์) ของพระมหากัสสปเถระได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานแล้ว บรรดาภิกษุปุถุชนเกิดความเศร้าโศกเสียใจร้องให้  พระหลวงตาชื่อสุภัททะจึงกล่าวกับภิกษุเหล่านั้นว่าไม่ต้องเสียใจ แต่ควรจะดีใจ เพราะเมื่อพระพุทธเจ้าไม่อยู่ก็ไม่มีใครมาคอยห้ามปรามไม่ให้อย่างนั้นไม่ให้ทำอย่างนี้อีกต่อไป อยากทำอะไรก็จะได้ทำตามใจชอบ พระมหากัสสปเถระได้ฟังก็เกิดความสลดใจ จึงนำเรื่องนี้เสนอในที่ประชุมสงฆ์ แล้วชักชวนให้ทำสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัย พระเจ้าอชาตศัตรูกษัตริย์แห่งมคธรัฐทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งนี้     

หลังการสังคายนา พระสงฆ์ 500 รูปมีมติร่วมกันว่า สงฆ์จะไม่บัญญัติสิกขาบทใด ๆ ที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติไว้ และจะไม่ถอนสิกขาบทใดๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว จะคงสมาทานประพฤติปฏิบัติตามนั้น คณะสงฆ์เถรวาทได้ยึดถือมตินี้อย่างเคร่งครัดมาจนปัจจุบัน

2.3.1.2  การสังคายนา ครั้งที่ 2 (ประมาณ พ.ศ. 100)

การสังคายนาครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่วาลิการาม เมืองไพศาลี แคว้นวัชชี ประเทศอินเดีย มีพระสงฆ์จำนวนทั้งหมด 700 รูปร่วมทำสังคายนา ทั้งนี้ได้ปรารภเหตุภิกษุชาววัชชีบุตรประพฤติปฏิบัติย่อหย่อนในวินัย 10 ประการ เช่น ถือว่าควรเก็บเกลือไว้ในเขาสัตว์เพื่อเอาไว้ฉันได้ ตะวันชายเกินเที่ยง 2 นิ้วแล้ว ควรฉันอาหารได้ ควรรับเงินและทองได้ เป็นต้น  พระยสะ กากัณฑกบุตร  เดินทางไปประสบเหตุ จึงชักชวนพระเถระทั้งหลายช่วยกันวินิจฉัย แก้ไขความถือผิดครั้งนี้  มีชื่อพระเถระผู้ใหญ่ร่วมสังคายนาทั้งหมด 8 รูปคือ 1. พระสัพพากามี 2. พระสาฬหะ 3. พระขุชชโสภิตะ 4. พระวาสภคามิกะ  5. พระเรวตะ6. พระสัมภูตะ สาณวาสี 7. พระยสะ กากัณฑกบุตร  8. พระสุมณะ โดยพระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพพกามีเป็นผู้ตอบปัญหาทางพระวินัย   ทำอยู่ 8 เดือนจึงแล้วเสร็จ*

2.3.1.3  การสังคายนาของฝ่ายมหาสังฆิกะ (พุทธศตวรรษที่ 2)

หลักฐานของฝ่ายบาลีกล่าวว่า เมื่อพระสงฆ์ฝ่ายพระยสะ กากัณฑกบุตรชักชวนพระสงฆ์จำนวน 700 รูปร่วมกันทำสังคายนาครั้งที่ 2 พร้อมทั้งกล่าวโทษและชำระความผิดของบรรดาภิกษุชาววัชชีบุตรที่ละเมิดสิกขาบท 10 ประการแล้ว ภิกษุชาววัชชีบุตรไม่พอใจจึงร่วมกับภิกษุอื่นอีกจำนวน 10,000 รูป ทำสังคายนาของตนเองที่เมืองกุสุมปุระ (ปาตลีบุตร) ได้ชื่อว่า มหาสังคีติ คือการสังคายนาครั้งใหญ่กว่า ทำให้คณะสงฆ์กลุ่มนี้ได้ชื่อว่า มหาสังฆิกะ  หลักฐานของฝ่ายสันสกฤตกล่าวว่า การเกิดขึ้นของนิกายมหาสังฆิกะเกี่ยวเนื่องกับข้อเสนอ 5 ประการของพระมหาเทวะ  แต่ไม่กล่าวถึงภิกษุชาววัชชีบุตรว่าเกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นของนิกายนี้   นิกายมหาสังฆิกะเป็นกลุ่มแรกที่มีแนวความคิดแบบเสรีนิยม อันเป็นจุดเริ่มต้นของแนวความคิดแบบมหายาน แต่เป็นคนละนิกาย

การสังคายนาของฝ่ายมหาสังฆิกะไม่มีรายละเอียดมากนัก หลักฐานของฝ่ายบาลีกล่าวว่า ในการสังคายนาครั้งนี้ นิกายมหาสังฆิกะเปลี่ยนแปลงคำสอนเดิมในหลายเรื่อง และแต่งพระสูตรขึ้นใหม่ด้วย*

2.3.1.4  การสังคายนาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

พุทธศาสนานิกายเถรวาท ถือการสังคายนาครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ของประวัติศาสตร์พุทธศาสนา ในพระวินัยปิฎก (พระไตรปิฎกภาษาบาลี) ไม่มีบันทึกเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้  แต่จะปรากฏรายละเอียดในอรรถกถา 

การสังคายนาครั้งที่ 3 ของเถรวาท จัดขึ้นที่อโศการาม กรุงปาตลีบุตร ประเทศอินเดีย หลังพุทธปรินิพพานประมาณ 234 หรือ 235 พระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระเป็นหัวหน้า มีพระสงฆ์ประชุมกัน 1,000 รูป ทำอยู่ 9 เดือนจึงแล้วเสร็จ  หลักฐานของฝ่ายเถรวาทกล่าวว่า สมัยนั้น พวกเดียรถีย์ (คนนอกศาสนา) จำนวนมากปลอมบวช แสดงลัทธิศาสนาและความเห็นของตนว่าเป็นพระพุทธศาสนา  พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ได้ขอความอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราช ชำระสอบสวนกำจัดเดียรถีย์เหล่านั้นออกจากพระพุทธศาสนาแล้วจึงชักชวนคณะสงฆ์ทำสังคายนา

ในครั้งนี้ พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ได้แต่งคัมภีร์กถาวัตถุ และบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของพระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ เป็นคัมภีร์ที่เรียบเรียงขึ้นในลักษณะของการสนทนาโต้แย้งกันเกี่ยวคำสอนของพระพุทธศาสนา มีคำถามคำตอบ 500 ข้อ คำสอนของพระพุทธศาสนานิกายต่าง ๆ ที่แยกตัวออกไปจากคณะสงฆ์เดิม รวมทั้งข้อเสนอ 5 ประการของพระมหาเทวะที่ฝ่ายเถรวาทเห็นว่าไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยก็ถูกรวบรวมไว้ในกถาวัตถุนี้ด้วย อาจถือได้ว่า การตีความพระธรรมเป็นประเด็นปัญหาหลักที่ทำให้คณะสงฆ์ฝ่ายเถรวาททำการสังคายนาในครั้งนี้ ฝ่ายมหายานไม่กล่าวถึงเหตุการณ์นี้

 2.3.1.5 การสังคายนาของนิกายสรวาสติวาทิน (สัพพัตถิกวาท)

การตีความคำสอนเรื่องความมีอยู่ของสรรพสิ่งของนิกายสรวาสตวาทิน  (ภาษาบาลีเรียกสัพพัตถิกวาท)  ปรากฏอยู่ในคัมภีร์กถาวัตถุที่แต่งขึ้นในการสังคายนาครั้งที่ 3 ตามการนับของฝ่ายเถรวาทด้วยในฐานะเป็น "ความเห็น" หรือ "การตีความคำสอน" ที่ฝ่ายเถรวาทถือว่าเป็น "มิจฉาทิฏฐิ" นิกายสัพพัตถิกวาทหรือสรวาสตวาทินแตกออกไปจากเถรวาทเมื่อพุทธศตวรรษที่ 2 เจริญรุ่งเรืองอยู่ทางภาคเหนือของประเทศอินเดีย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 5-6 เนื่องจากพระเจ้ากนิษกะ ทรงมีอำนาจอยู่ในอินเดียตอนเหนือ ได้ทรงเลื่อมใสนิกายสรวาสตวาทิน จึงได้ทรงสนับสนุนให้มีการสังคายนาขึ้น  การสังคายนาครั้งนี้มีพระภิกษุฝ่ายมหายานเข้าร่วมด้วย

ในหนังสือจดหมายเหตุของหลวงจีนเฮี่ยนจัง (พระถังซำจั๋ง) เล่าว่า พระเจ้ากนิษกะทรงหันมาสนใจพระพุทธศาสนา   จึงให้อาราธนาพระภิกษุ 1 รูป ไปสอนธรรมทุกวัน เนื่องจากภิกษุแต่ละรูปที่ไปสอนก็สอนแตกต่างกันไป บางครั้งก็ถึงกับขัดกัน พระเจ้ากนิษกะทรงลังเลไม่รู้ว่าคำสอนของภิกษุรูปใดถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง จึงปรึกษากับพระเถระนามว่า ปารสวะ เมื่อพระเถระให้คำแนะนำแล้ว พระเจ้ากนิษกะจึงตกลงพระทัยจัดให้มีการสังคายนา ภิกษุนิกายต่าง ๆ ได้รับอาราธนาเข้าร่วมประชุม จึงเป็นการสังคายนาที่หลายนิกายร่วมกันทำ พระเจ้ากนิษกะทรงโปรดให้สร้างวัด ที่พักสำหรับสงฆ์ 500 รูปผู้ที่จะเขียนคำอธิบายพระไตรปิฎก ในการสังคายนาครั้งนี้มีการแต่งคำอธิบายหรืออรรถกถาสุตตันตปิฎก100,000 โศลก อรรถกถาวินัยปิฎก 100,000 โศลก และอรรถกถาอภิธรรมมีนามว่า อภิธรรมวิภาษา 100,000 โศลก  เมื่อสังคายนาเสร็จแล้ว ก็ได้จารึกลงในแผ่นทองแดง เก็บไว้ในหีบศิลา แล้วบรรจุไว้ในเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ อักษรที่ใช้จารึกพระไตรปิฎกและอรรถกถาได้แก่ สันสกฤต

พระถังซำจั๋งกล่าวไว้ในบันทึกว่า (พระเถระผู้ทำสังคายนา) ได้อรรถาธิบายพระไตรปิฎกอย่างละเอียดพิศดารทั้งส่วนที่เป็นหลักและส่วนที่ปลีกย่อย ทั้งที่ลึกซึ้งสลับซับซ้อนและที่เห็นได้ชัด และง่ายต่อการเข้าใจ หลักธรรมที่สำคัญได้รับการแจกแจงอย่างชัดแจ้งอีกครั้ง วจนะอันลึกซึ้งได้ปรากฏชัดเจนขึ้นใหม่ เป็นที่รู้จักกันทุกครัวเรือนและแพร่หลายออกไปกว้างขวาง คนข้างหลังได้อาศัยเป็นคู่มือศึกษาเรียนรู้ (ซิว  ซูหลุน 2547 : 146)
 

2.3.2  การสังคายนานอกประเทศอินเดีย

การสังคายนานอกอินเดียที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นของฝ่ายเถรวาททั้งหมด ซึ่งเกิดขึ้นใน 3 ประเทศได้แก่ ลังกา พม่า และไทย  

2.3.2.1  การสังคายนาในศรีลังกา

พุทธศาสนาในลังกาเป็นนิกายเถรวาทที่สืบทอดพระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ตรงกับรัชสมัยของกษัตริย์ลังกาพระนามว่าเทวานัมปิยติสสะ คณะสงฆ์ลังการับรองการสังคายนาในอินเดีย 3 ครั้งที่จัดโดยฝ่ายเถรวาทเท่านั้น ได้แก่ สังคายนาครั้งที่ 1 ที่พระมหากัสสปเถระเป็นหัวหน้า สังคายนาครั้งที่ 2 ที่พระยสะ กากัณฑกบุตรและพระสัพพกามีเถระ เป็นหัวหน้า และการสังคายนาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชที่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นหัวหน้า  (ไม่นับการสังคายนาของนิกายมหาสังฆิกะ)

2.3.2.1.1  การสังคายนาครั้งที่ 1*

การสังคายนาครั้งที่ 1 ของลังกาเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 238 หลังจากพระมหินทเถระเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาในลังกาได้ไม่นาน  ทั้งนี้เพื่อวางรากฐานการท่องจำพระพุทธวจนะ จึงมีการประชุมชี้แจงแสดงพระพุทธวจนะตามแนวที่ได้จัดระเบียบไว้ในสังคายนาครั้งที่ 3 (ของเถรวาท) ในประเทศอินเดีย

2.3.2.1.2 การสังคายนาครั้งที่ 2

การสังคายนาครั้งที่ 2 ในลังกา (ลังกาและไทยนับเป็นครั้งที่ 5 พม่านับเป็นครั้งที่ 4 ) เกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 433 (หลักฐานบางแห่งบอกว่า พ.ศ. 450) ในรัชสมัยของพระเจ้าวัฎฎคามณีอภัย ที่โลณกสถาน ณ มตเลชนบท ประเทศลังกา มีพระรักขิตมหาเถระเป็นประธาน  เนื่องจากพระสงฆ์ในขณะนั้นมีความเห็นว่า หากใช้วิธีการท่องจำพระพุทธวจนะต่อไปก็อาจมีข้อวิปริตผิดพลาดได้ง่าย เพราะปัญญาในการท่องจำของกุลบุตรเสื่อมถอยลง*  จึงตกลงจารึกพระพุทธวจนะลงในใบลาน กล่าวกันว่า ได้จารึกอรรถกถาไว้ด้วย  การสังคายนาครั้งนี้ได้รับการรับรองกันโดยทั่วไป

การสังคายนาครั้งนี้สำคัญมากในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเถรวาท เพราะมีการจารึกพระไตรปิฎกหรือพระพุทธวจนะเป็นลายลักษณ์อักษรภาษาบาลีครั้งแรก หลังจากมีการสืบต่อกันมาโดยวิธีท่องจำเป็นเวลานานกว่า 400 ปี

2.3.2.1.3 การสังคายนาครั้งที่ 3 

การสังคายนาครั้งที่ 3 ของลังกาเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2408 (ลังกานับ 2409) ค.ศ. 1856 ที่รัตนปุระ ในลังกา พระเถระชื่อหิกขทุเว สิริมังคละ เป็นหัวหน้า กระทำอยู่ 5 เดือน การสังคายนาครั้งนี้ไม่มีใครรู้จักมากนักนอกจากชาวลังกา ลังกานับเป็นการสังคายนาครั้งที่ 6 ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา


2.3.2.2 การสังคายนาในประเทศพม่า

2.3.2.2.1  การสังคายนาครั้งที่ 1 (พม่านับเป็นครั้งที่ 5)

การสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้นที่เมืองมันดเล ด้วยการอุปถัมภ์ของพระเจ้ามินดง ใน พ.ศ. 2414 (ค.ศ. 1871) พระมหาเถระ 3 รูปคือ พระชาคราภิวังสะ พระนรินทาภิธชะ และพระสุมังคลสามี ได้ผัดเปลี่ยนกันเป็นประธานโดยลำดับ มีพระสงฆ์และอาจารย์ผู้แตกฉานในพระปริยัติร่วมประชุม 2,400 ท่าน ทำอยู่ 5 เดือนจึงสำเร็จ หลังการประชุมสังคายนาครั้งนี้มีการจารึกพระไตรปิฏกลงในแผ่นหินอ่อน 729 แผ่น

2.3.2.2.2  การสังคายนาครั้งที่ 2

พม่านับเป็นครั้งที่ 6 จึงเรียกการสังคายนาครั้งนี้ว่า ฉัฏฐสังคายนา (การสังคายนาครั้งที่ 6) เริ่มกระทำเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 จนถึงวันที 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 เพื่อเฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษด้วย โดยมีวัตถุประสงค์จัดพิมพ์พระไตรปิฎก อรรถกถา และแปลเป็นภาษาพม่า จึงชักชวนให้ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท ได้แก่ ลังกา ไทย ลาว เขมร เข้าร่วมด้วย เมื่อสังคายนาเสร็จก็ได้มีการแจกจ่ายพระไตรปิฎกไปยังประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทยด้วย
 

2.3.2.3 การสังคายนาในประเทศไทย

2.3.2.3.1 การสังคายนาครั้งที่ 1

เกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2020 พระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ (อาณาจักรล้านนา) ได้อาราธนาพระภิกษุผู้ทรงพระไตรปิฎกหลายร้อยรูป ให้ช่วยชำระอักษรพระไตรปิฎก ในวัดโพธาราม เป็นเวลา 1 ปีจึงสำเร็จ อักษรที่ใช้จารึกพระไตรปิฎกครั้งนี้เป็นอักษรไทยล้านนา ถ้าจะกล่าวให้ถูกต้องแล้วก็ควรถือว่าครั้งนี้เป็นการสังคายนาของพระสงฆ์ล้านนาหรือของอาณาจักรล้านนาโดยเฉพาะ สมเด็จพระพนรัตผู้รจนาหนังสือ สังคีติยวงศ์ ได้นับการสังคายนาครั้งนี้เป็นครั้งที่ 8 ในประวัติศาสตร์การสังคายนาของเถรวาท นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนาของไทยถือว่าการสังคายนาครั้งนี้เป็นครั้งแรกของไทย 

2.3.2.3.2 การสังคายนาครั้งที่ 2

เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2331 เนื่องจากทรงทราบว่าคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา มีข้อผิดเพี้ยนมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงทรงอาราธนาพระสงฆ์มีพระสงฆ์ 218 รูป ร่วมกับราชบัณฑิต (อุบาสก) จำนวน 32 คน ชำระพระไตรปิฎก ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ (ปัจจุบันคือวัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษฏิ์ ท่าพระจันทร์) มีการแบ่งงานชำระออกเป็น 4 กอง สมเด็จพระสังฆราช เป็นแม่กองชำระพระสุตตันปิฎก พระวันรัตเป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก พระพิมลธรรม เป็นแม่กองชำระพระอภิธรรมปิฎก สมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นแม่กองชำระสัททาวิเศษ (ตำราไวยากรณ์และคำศัพท์ต่าง ๆ ) ทำอยู่  5 เดือน จึงแล้วเสร็จ เมื่อสำเร็จแล้วได้จ้างช่างจารจารึกลงในใบลาน ให้ปิดทองแท่งทับทั้งใบปกหน้า ปกหลัง และกรอบทั้งสิ้น เรียกว่าฉบับทอง ห่อด้วยผ้ายก เชือกรัดถักด้วยไหม แพรเบญจพรรณ มีฉลากงาแกะเขียนอักษรด้วยหมึก และฉลากทอเป็นตัวอักษร บอกชื่อพระคัมภีร์ทุกคัมภีร์

2.3.2.3.3 การสังคายนาครั้งที่ 3 ในประเทศไทย

การสังคายนาครั้งนี้ดำเนินการในช่วงเวลาปี พ.ศ. 2525-2529 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษาครอบ 5 รอบนักษัตรในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530  วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2528  สมเด็จพระสังฆราชขณะนั้นทรงบัญชาการแต่งตั้งสังคีติการกสงฆ์ (พระสงฆ์ผู้ทำการสังคายนา /คณะกรรมการรวมที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบรับรองการตรวจชำระพระไตรปิฎก) ประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ รองสมเด็จพระราชคณะ พระราชาคณะชั้นธรรม ชั้นเทพ ชั้นราช ทุกรูปทั่วราชอาณาจักร จำนวน 188 รูป โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน โดยแบ่งคณะกรรมการทำงานออกเป็น 3 คณะคือ

1. คณะกรรมการปาลิวิโสธกะ พระวินัยปิฎก (คณะกรรมการตรวจชำระพระวินัยปิฎก) ประกอบดวยคณะภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านวินัยปิฎก จำนวน 28 รูป มีสมเด็จพระสังฆราช (วาสน์  วาสโน) เป็นประธานสังฆปาโมกข์

2.  คณะกรรมการปาลิวิโสธกะพระสุตตันตปิฎก (คณะกรรมการตรวจชำระพระสุตตันตปิฎก) ประกอบด้วยพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านพระสุตตันตปิฎกจำนวน 81 รูป มีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น  ชุตินธโร) เป็นประธานสังฆปาโมกข์

3. คณะกรรมการปาลวิโสธกะพระอภิธรรมปิฎก (คณะกรรมการตรวจชำระพระอภิธรรมปิฎก) ประกอบด้วยพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิด้านพระอภิธรรมปิฎกจำนวน 40 รูป (มีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ  อาสโภ) เป็นประธานสังฆปาโมกข์

2.4  การสังคายนากับพุทธศาสนาแบบอนุรักษนิยม

การสังคายนาที่เป็นจุดกำเนิดของพุทธศาสนาแบบอนุรักษนิยม มีการสืบทอดแนวความคิดและจารีตต่าง ๆ ต่อกันมาอย่างเคร่งครัดจนกระทั่งในประเทศไทยปัจจุบันก็คือ การสังคายนาครั้งที่ 1  จารีตนิยมแนวนี้ถือว่า การสังคายนาครั้งที่ 1 เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการรวบรวมพระธรรมวินัยที่บริสุทธิ์ที่สุดที่พุทธศาสนาจึงพึงมีได้ เพราะทำโดยพระอรหันตเถระที่เคยมีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า  พุทธศาสนาแบบอนุรักษนิยมในปัจจุบันก็คือ พุทธศาสนาเถรวาทนั่นเอง

นี่คือตัวอย่างทัศนคติของชาวเถรวาทที่มีต่อการสังคายนาครั้งที่ 1

การสังคายนาที่สำคัญที่สุดก็ครั้งแรกที่เรียกว่าปฐมสังคายนา ทั้งนี้เพราะเป็นการเริ่มต้นรวบรวมพระธรรมวินัยไว้เป็นหลักฐานโดยผู้ที่ทันรู้ทันเห็นองค์พระบรมศาสดา  ซึ่งสามารถรับรองยืนยันได้แน่นอนว่า พระบรมศาสดาตรัสสอนไว้อย่างไร อะไรเป็นธรรม อะไรเป็นวินัย ท่านเหล่านั้น ไม่ต้องคอยฟังจากครูอาจารย์ถ่ายทอดกันมาเป็นทอด ๆ หากแต่ได้ฟังมาจากพระโอษฐ์เองโดยตรงทีเดียว ผลงานการรวบรวมพระธรรมวินัยโดยการสังคายนาครั้งแรกนี้จึงมีความสำคัญ เพราะเป็นการวางรากฐานงานสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาจากต้นแบบโดยตรง (ทองย้อย   แสงสินชัย  2546 ก : 17)

ชาวเถรวาทเชื่อว่าคณะสงฆ์ที่ทำสังคายนาเป็นพระสงฆ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือเป็นพระอรหันต์ที่มีจิตใจบริสุทธิ์ปราศจากกิเลส ปราศจากความโน้มเอียงใด ๆ ไว้ ท่านเหล่านั้นรวบรวมพระธรรมวินัยไว้อย่างซื่อสัตย์ซื่อตรงที่สุด  ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด ดังนั้นจึงเชื่อมั่นว่า วิธีการรวบรวมคำสอนของพระพุทธองค์ของพระอรหันต์น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าวิธีสืบทอดพระธรรมวินัยด้วยการท่องจำหรือมุขปาฐะเป็นวิธีการสืบทอดที่แม่นยำที่สุด  ดังทัศนะของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) ดังนี้

 . . . การสังคายนาในพระพุทธศาสนา เป็นการรักษาคำสอนเดิมของพระพุทธเจ้าไว้ให้แม่นยำที่สุด ไม่ให้ใครมาเที่ยวแก้ไขให้คลาดเคลื่อนหรือตัดแต่งต่อเติม จะมาทำให้ตกหล่นก็ไม่ได้ ต่อเติมก็ไม่ได้ ต้องรักษาไว้ให้แม่นยำที่สุด เราเพียงตรวจทาน มาซักซ้อมทบทวนกัน ใครที่เชื่อถือหรือสั่งสอนคลาดเคลื่อนหรือผิดแผกไป ก็มาปรับให้ตรงตามของแท้แต่เดิม (พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์  ปยุตโต)  2543: 49)

เป็นอันว่าการรักษาด้วยวิธีเดิมคือ การทรงจำด้วยการสาธยายนั้น เป็นวิธีที่แม่นยำที่สุด เพราะรักษาโดยส่วนรวมที่สวดพร้อมกัน พร้อมกันนั้นแต่ละองค์ก็มีหน้าที่ต้องท่องจำอยู่แล้ว โดยจะต้องมีการซักซ้อมและทบทวนอยู่เสมอซึ่งปรากฏแม้แต่ในสมัยนี้ (เรื่องเดียวกัน : 41)

การที่พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทกลายเป็นอนุรักษนิยมก็เพราะว่าสังคายนาครั้งที่ 1 มีมติที่สำคัญ กล่าวคือ พระเถระผู้สังคายนาตกลงรับญัตติของพระมหากัสสปเถระที่ว่า “คณะสงฆ์จะไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติไว้ ไม่พึงถอนสิกขาบทใด ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว พึงสมาทานประพฤติในสิกขาบททั้งหลายที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว” ในแง่หนึ่งมติที่ประชุมนี้ขัดแย้งกับพระพุทธดำรัสก่อนจะทรงดับขันธปรินิพพานที่ตรัสไว้ว่า “หากสงฆ์จำนงอยู่ จะถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างก็ได้”(มหาปรินิพพานสูตร) เมื่อเมตตานันโท ภิกขุ ได้เขียนหนังสือ เหตุเกิด พ.ศ. 1 เล่ม 2 และวิจารณ์การสังคายนาครั้งที่ 1 อย่างเป็นระบบ ฝ่ายจารีตก็มีคำอธิบายและมีจุดอ้างอิงที่ดูมีเหตุผลเช่นกัน นาวาเอกทองย้อย  แสงสินชัย เขียนไว้ดังนี้

ญัตติของพระมหากัสสปะนั้นไม่ใช่สิ่งที่ท่านคิดขึ้นเองเลย แต่เป็นแนวทางการปฏิบัติที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในอปริหานิยธรรมสำหรับภิกษุหลายชุด เฉพาะชุดที่ท่านนำมาเป็นบัญญัตินี้ตรัสไว้เป็นชุดแรกในมหาปรินิพพานสูตร …

มติไม่ถอนสิกขาบทตั้งอยู่บนพื้นฐานอปริหานิยธรรมข้อที่ 3  หมายความว่า ที่ประชุมปฐมสังคายนามุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามอปริหานิยธรรม จึงมีมติไม่ถอนสิกขาบทใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากไม่ถอนแล้วยังจะไม่บัญญัติสิกขาบทใด ๆ ขึ้นมาใหม่ แต่จะตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว มติเช่นนี้ย่อมสอดคล้องกับอปริหานิยธรรมข้อที่ 3 และสนองวัตถุประสงค์ของปฐมสังคายนาได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะการปฏิบัติตามอปริหานิยธรรมแต่ละข้อย่อมมีอานิสงส์ดังที่ตรัสไว้ว่า “พึงหวังซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม”  ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์แห่งปฐมสังคายนาที่มุ่งจะรวบรวมพระธรรมวินัยไว้เป็นแบบแผน  เพื่อป้องกันอธรรมวาที อวินยวาทีที่จะเกิดขึ้นย่ำยีหลักธรรมวินัยให้เสื่อมในอนาคต

ในทางตรงกันข้าม ถ้าที่ประชุมมีมติให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ มติเช่นนี้ย่อมจะขัดแย้งกับอปริหานิยธรรมข้อที่ 3 ทันทีและความเสื่อมก็จะเกิดขึ้นทันทีเหมือนกัน นั่นคือสิกขาบทหรือศีลของบรรพชิตในพระพุทธศาสนาจำนวนหนึ่งจะถูกยกเลิกเพิกถอนทันที (ทองย้อย   แสงสินชัย  2546 ข: 108–109)

ไม่ว่าการรับมติดังกล่าวนี้จะขัดแย้งกับพุทธดำรัสหรือสอดคล้องกับพุทธดำรัส แต่มตินี้ได้รับการยึดถือในฐานะที่เป็นมติมาจากสภาพระอรหันต์ ชาวเถรวาทปัจจุบันเชื่อว่ามติดังกล่าวนี้ได้รับการยึดถือเป็นจารีตสืบทอดต่อมาอย่างเคร่งครัดโดยคณะสงฆ์เถรวาทตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  สังคายนาครั้งที่ 2 และ 3 ในอินเดียก็ดี เมื่อพระพุทธศาสนาเถรวาทแพร่ไปยังศรีลังกา พม่า ไทย การสังคายนาครั้งที่ 4 (ครั้งที่ 2 ในประเทศศรีลังกา) ที่ได้จารึกพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษรภาษาบาลีเป็นครั้งแรกก็ดี เจตนารมณ์ที่จะรักษาความบริสุทธิ์แห่งพระธรรมวินัยก็ยังเป็นหัวใจสำคัญของการสังคายนา   และแม้หลังจากจารึกพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว รูปแบบการสังคายนาจะเปลี่ยนไปเป็นเพียงการตรวจสอบความถูกต้องของถ้อยคำในเอกสารก็ตาม เจตนารมณ์ก็ยังเหมือนเดิมคือเพื่อจะรักษาถ้อยคำในภาษาบาลีให้ถูกต้องไม่ผิดเพี้ยน  ตรงกันมากที่สุด 

ความเป็นอนุรักษนิยมของเถรวาทไม่ใช่เฉพาะในเรื่องสืบทอดรักษาตัวคัมภีร์หรือเนื้อหาคัมภีร์พระไตรปิฎกอย่างเคร่งครัดเท่านั้น หากการตีความพระธรรมวินัยเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆ ของชาวเถรวาทยังมีลักษณะอนุรักษนิยมด้วย กรณีต่าง ๆ ที่เกิดในสังคมไทย กรณีธัมมนันทาสามเณรี (รศ. ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์)  กรณีของพระเมตตานันโท ภิกขุก็ดี  ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า การตีความเรื่องราวในพระไตรปิฎก  หลักคำสอนหลักพระวินัยในบางลักษณะ หรือการจะเปลี่ยนแปลงหลักการแห่งพระวินัยบางข้อเพื่อให้เอื้อต่อการเข้าถึงศาสนาแก่ฝ่ายสตรี ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้

จารีตอันเคร่งครัดเช่นนี้ เป็นผลโดยตรงจากมติการสังคายนาครั้งที่ 1 ที่มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน  การสังคายนาครั้งที่ 1 จึงเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจกระทบกระเทือนหรือลบล้างได้ สำหรับชาวเถรวาท การทำลายความน่าเชื่อถือของการสังคายนาครั้งที่ 1 เท่ากับการทำลายพุทธศาสนา เพราะแสดงถึงการไม่ยอมรับความถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ของพระธรรมวินัยที่รวบรวมไว้โดยสังคายนาครั้งนั้น

 

4. การสังคายนากับปัญหาเกี่ยวกับภิกษุณี

เมื่อพระพุทธศาสนาเถรวาทเผชิญกับปัญหาสิทธิสตรี เนื้อหาบางส่วนในพระไตรปิฎกก็ได้ถูกหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์  โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับภิกษุณีในพุทธศาสนาเถรวาท มีการตั้งข้อสังเกตถึงการเสื่อมสลายไปของภิกษุณีเถรวาท และเสนอคำอธิบายเกี่ยวกับความเสื่อมดังกล่าวว่ามาจากสาเหตุสำคัญคือ ภิกษุณีไม่ได้รับความเป็นธรรมในสถาบันสงฆ์ สิ่งบ่งชี้ดังกล่าวนี้ปรากฏเด่นชัดในครุธรรม 8 ประการ ปิดกั้นไม่ให้ภิกษุณีมีบทบาทสำคัญในทางศาสนา และพระพุทธดำรัสที่แสดงความรังเกียจต่อสตรีเพศก็ดี การบวชเป็นภิกษุณีซึ่งมีเงื่อนไขพิเศษที่ทำได้ยากก็ดี ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภิกษุณีไม่ได้รับยกย่องในชุมชนชาวพุทธ และสูญสลายไปจากพุทธศาสนาเถรวาทในที่สุด

เมื่อนักวิชาการฝ่ายสตรีนิยมอย่างฉัตรสุมาลย์  กบิลสิงห์ วิพากษ์วิจารณ์ข้อบกพร่องส่วนนี้ของพระพุทธศาสนาเถรวาทนั้น ก็ได้เสนอว่า ในพระไตรปิฎกมีเนื้อหาบางส่วนไม่สอดคล้องกับจิตวิญญาณของพระพุทธศาสนาที่มองเห็นศักยภาพในการบรรลุธรรมอย่างเท่าเทียมกันระหว่างบุรุษกับสตรี  พระไตรปิฎกมีเนื้อหาส่วนหนึ่งยกย่องและสนับสนุนสิทธิสตรี ขณะเดียวกันก็มีเนื้อหาอีกส่วนหนึ่งเป็นไปในทางตรงกันข้าม (กดขี่สตรี) ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ วินิจฉัยว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าการจารึก (การเขียน) พระไตรปิฎกที่เกิดขึ้นในสมัยหลังพุทธกาลนานถึง 400 กว่าปีนั้นทำโดยบุรุษซึ่งมีความคิดแบบปิตาธิปไตย และได้รับอิทธิพลความคิดจากวัฒนธรรมพราหมณ์ นอกจากนี้สิทธิในการตีความคำสอนก็มักตกอยู่ในมือของพระภิกษุสงฆ์ซึ่งเป็นได้รับอิทธิพลดังกล่าว  สตรีเพศจึงได้รับการเน้นย้ำในแง่ที่ว่า “สตรีเป็นศัตรูของพรหมจรรย์” ก่อนการบวชเป็นสามเณรีของ ร.ศ. ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ นั้น การชี้แนะในเชิงวิชาการว่าพระไตรปิฎกมีของแปลกปลอมเจือปนอยู่นี้ ไม่มีผลกระทบมากนักต่อสถาบันพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับการเรียกร้องหลังจากได้บวชเป็นสามเณรีในลังกามาแล้ว

ข้อเสนอที่กระทบต่อสถาบันพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศไทย (และพุทธศาสนาเถรวาททั่วไป) มากที่สุดได้แก่ ข้อเสนอของเมตตานันโท ภิกขุ ในหนังสือ  เหตุเกิด พ.ศ. 1  เล่ม 2  เมตตานันโท ภิกขุไม่เพียงแต่เสนอว่ามีบทบัญญัติต่าง ๆ ที่ถูกบรรจุเข้าไปในพระไตรปิฎกและเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ภิกษุณีเสื่อมสูญไปเท่านั้น หากได้เสนอข้อพิจารณาที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์แห่งการกีดกั้นและการสูญสลายของภิกษุณีสงฆ์ในพระพุทธศาสนา จุดเริ่มต้นที่ว่านี้คือปฐมสังคายนา หรือการสังคายนาครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นอันเดียวกันกับจุดเริ่มต้นของพุทธศาสนาเถรวาทนั่นเอง          

เมตตานันโท ภิกขุได้ศึกษาเรื่องการสังคายนาครั้งที่ 1 ด้วยมุมมองที่ต่างออกไปจากจารีตเดิมของเถรวาท ท่านนำเสนออย่างมีรายละเอียดที่น่าตื่นเต้น เร้าใจ ผลสรุปของการศึกษาเรื่องนี้ก็มีผลกระทบอย่างมากและหากว่าข้อสรุปต่าง ๆ ที่ให้ไว้เป็นจริง ก็จะส่งผลกระทบกระเทือนโดยตรงต่อพระพุทธศาสนาเถรวาท โดยเฉพาะข้อสรุปที่ว่า การสังคายนาครั้งที่ 1 ซึ่งดำเนินการโดยพระมหากัสสปเถระนั้น เป็นการชำระ พระวินัย   โดยมีจุดประสงค์สำคัญคือ การกำจัดภิกษุณีสงฆ์ออกไปจากพระพุทธศาสนา มิใช่การชำระ  พระธรรมวินัย  อย่างที่ชาวเถรวาททั่วไปยึดถือ

ในการเสนอหลักฐานและเหตุผลประกอบการพิจารณาเรื่องนี้  เมตตานันโท ภิกขุได้เริ่มต้นตั้งแต่การตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับมูลเหตุสำคัญของการชักชวนพระสงฆ์ 499 รูปทำสังคายนา โดยให้ข้อสรุปว่า คำพูดของพระหลวงตาสุภัททะที่กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัยนั้นไม่ใช่มูลเหตุสำคัญของการสังคายนาครั้งที่ 1 เพราะในที่ประชุมไม่มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นไปพิจารณาแต่อย่างใด มูลเหตุสำคัญนั้นน่าจะอยู่ที่การกำจัดภิกษุณีสงฆ์ออกไปจากพระพุทธศาสนานั่นเองทั้งนี้อาจพิจารณาได้จากการปรับอาบัติพระอานนท์

การปรับอาบัติพระอานนท์ทั้ง 5 ประการนี้ มิได้เกี่ยวข้องกับพระธรรมวินัยโดยตรง และในจำนวนอาบัติที่ท่านถูกคณะสงฆ์ปรับนั้น มี 2 ข้อเนื่องด้วยสตรี โดยเฉพาะข้อสุดท้ายที่ว่า เป็นผู้ขวนขวยให้สตรีได้รับการอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ชวนสงสัยได้ว่า มูลเหตุของปฐมสังคายนาน่าจะมาจากเรื่องความเห็นของสงฆ์ที่ไม่ตรงกันในเรื่องภิกษุณีมากกว่าจะเป็นเรื่องการพูดจากของพระสุภัททะผู้บวชเมื่อแก่ และสาเหตุเดียวเท่านั้นที่พระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่าทำให้พระสัทธธรรมและพรหมจรรย์ตั้งอยู่ได้ไม่นานคือ การเกิดขึ้นของภิกษุณีสงฆ์ (เมตตานันโท ภิกขุ  2545: 99)

สิ่งที่เมตตานันโท ภิกขุได้กระทำต่อมาก็คือการตรวจสอบคุณสมบัติของพระสงฆ์ผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ข้อนี้มีความสำคัญมากเพราะชาวเถรวาทถือว่า พระเถระที่ร่วมในการสังคายนาครั้งนี้ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ หลุดพ้นจากกิเลสแล้วทั้งสิ้น แต่เมตตานันโท ภิกขุได้นำเสนอข้อมูลในลักษณะตรงกันข้ามกับความเชื่อดังกล่าว เริ่มตั้งแต่การตั้งข้อสงสัยในความบริสุทธิ์ใจของพระมหากัสสปเถระ โดยชี้ข้อมูลบางอย่างที่นำไปสู่การตีความว่า พระเถระที่ได้รับการชักชวนมากประชุมสังคายนาส่วนใหญ่นั้นเป็นพรรคพวกของพระมหากัสสปะนั่นเอง และไม่เพียงแต่เท่านั้น เมตตานันโท ภิกขุยังยกหลักฐานบางประการที่ชวนให้เห็นว่า พระมหากัสสปะและคณะสงฆ์ที่เป็นพรรคพวกของตนนั้นได้รับอิทธิพลความคิดที่รังเกียจสตรีเพศจากจารีตความคิดของพราหมณ์ โดยสืบจากประวัติชีวิตของพระมหากัสสปะเอง  อิทธิพลของพราหมณ์แสดงออกผ่านการปรับอาบัติพระอานนท์ในตอนท้ายของการสังคายนา

การเปรียบเทียบการปรับอาบัติพระอานนท์ในการสังคายนาครั้งนี้ กับคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พระเถระที่ดำเนินการสังคายนาทั้ง 499 รูปเหล่านั้น เป็นผู้ยึดมั่นในกฎหมายพระธรรมศาสตร์ . . . มากกว่าหลักการในพระพุทธศาสนา

การวิเคราะห์ด้วยหลักการแห่งมหาปเทศ  แสงดงให้เห็นบุคลิกของพระมหากัสสปะ ประธานแห่งปฐมสังคายนานี้ เข้าได้กับค่านิยมของพราหมณ์ผู้เคร่งครัดในจารีตแห่งกฎหมายพระธรรมศาสตร์เช่นเดียวกัน (เรื่องเดียวกัน : 225) 

ส่วนพระอานนท์นั้นต้องรับเข้ามาร่วมด้วยเพราะความจำเป็นเพื่อไม่ให้เกิดคำติเตียนจากคณะสงฆ์ส่วนใหญ่เท่านั้น พระมหากัสสปะนั้นเป็นปฏิปักษ์กับพระอานนท์ในเรื่องทัศนคติต่อสตรีเพศและการบวชภิกษุณี พระมหากัสสปะดูจะไม่ชอบใจที่พระอานนท์ขวนขวายให้สตรีบวชในพระพุทธศาสนา

วิธีการสังคายนาที่กระทำกันในการสังคายนาครั้งที่ 1 ซึ่งชาวเถรวาทเชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือและให้ความเคารพโดยไม่ตั้งข้อสงสัยนั้น เมตตานันโท ภิกขุก็ได้เสนอว่าไม่มีความน่าเชื่อถือหรือถูกต้องด้วยพุทธประสงค์แต่ประการใด ทั้งนี้โดยการพิจารณาจากองค์ประกอบสำคัญที่ขาดหายไปในการสังคายนา กล่าวคือ ในทัศนะของเมตตานันโท ภิกขุ การประชุมสังคายนาที่ถูกต้องจะต้องมีองค์ประกอบของพุทธบริษัทครบทั้ง 4 คืออุบาสก อุบาสิกา ภิกษุและภิกษุณี แต่ในการสังคายนาครั้งที่ 1  ไม่เป็นไปตามพระพุทธประสงค์  ท่านจึงตั้งคำถามว่า

เมื่อพุทธประสงค์ในการจัดสังคายนานั้นชัดเจนถึงขนาดนี้ เหตุใดพระมหากัสสปะจึงไม่ดำเนินการสังคายนาให้ถูกต้องตามพุทธประสงค์ ? เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การสังคายนาครั้งที่ 1 นี้เป็นการสังคายนาที่ไม่มีภิกษุณีแม้แต่รูปเดียวเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แต่พระอุบาลีได้วิสัชชนาแจกแจงพระวินัยของทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ แม้แต่ธรรมะในส่วนของฝ่ายคฤหัสถ์นั้นก็ไม่มีตัวแทนของอุบาสกและอุบาสิการ่วมด้วยเลย เมื่อเป็นเช่นนี้เหตุใดจึงไม่มีภิกษุรูปใดคัดค้านความชอบธรรมของการสังคายนาครั้งนี้ ? (เรื่องเดียวกัน : 87)

นอกจากนี้เมตตานันโท ภิกขุยังได้เสนอหลักฐานว่า การสังคายนาครั้งที่ 1 ไม่ใช่การสังคายนาพระธรรมวินัย เป็นแต่เพียงการสังคายนาพระวินัย หมายความว่า ในการสังคายนาครั้งนี้จะต้องมีวาระซ่อนเร้นที่สำคัญ กล่าวคือ น่าจะมีการเพิ่มเติมข้อความบางอย่างเข้าไปในพระวินัย ซึ่งก็ได้แก่ ประวัติการเกิดขึ้นขงภิกษุณีสงฆ์และ ครุธรรม 8 ประการ อันเป็นข้อความที่นำไปสู่การกีดกันภิกษุณีสงฆ์ออกไปจากพระพุทธศาสนานั่นเอง

เมตตานันโท ภิกขุ ไม่ได้ระบุชัดว่าครุธรรม 8 ประการนั้นถูกบรรจุเข้าไปเมื่อครั้งปฐมสังคายนา แต่ก็ได้ให้ข้อสรุปไว้หลายตอนซึ่งสามารถตีความวัตถุประสงค์ของเมตตานันโท ภิกขุ ตัวอย่างเช่น

การบัญญัติครุธรรม 8 ประการนี้เกิดขึ้นภายหลังการเกิดของภิกษุณีสงฆ์ระยะหนึ่งแล้ว และเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ในระยะดังกล่าว ภิกษุณีสงฆ์นั้นกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ภิกษุผู้มีอำนาจในการบริหารและมีอคติต่อสตรีอย่างรุนแรงเห็นว่าภิกษุณีสงฆ์เป็นภัยกับพระพุทธศาสนานั่นเอง

การบัญญัติครุธรรมเหล่านี้ทั้งชุดขึ้นจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อการทำลายภิกษุณีสงฆ์ให้หมดไป โดยอาศัยอำนาจของพุทธโอษฐ์ ทำให้เหมือนกับว่าเป็นพุทธดำรัส แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากการบัญญัติของพระเถระที่มีอำนาจในคณะสงฆ์สมัยหลังพุทธปรินิพพานรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งมีอำนาจในคณะสงฆ์เพียงพอที่จะทำให้ภิกษุทั้งหลายรับฟังไว้ในฐานะพุทธวจนะได้ (เรื่องเดียวกัน : 126)

“ภิกษุผู้มีอำนาจในการบริหารและมีอคติต่อสตรีอย่างรุนแรง” ในที่นี้จะเป็นใครไม่ได้นอกจากพระมหากัสสปะ ผู้เป็นประธานการสังคายนาครั้งที่ 1 นั่นเอง และข้อสรุปเกี่ยวกับเจตนารมณ์เบื้องหลังของปฐมสังคายนาในบทส่งท้ายหนังสือ เหตุเกิด พ.ศ. 1 ของเมตตานันโท ภิกขุ ที่นับว่ามีอันตรายต่อสถานภาพของพุทธศาสนาเถรวาทอย่างยิ่งก็คือ

เจตนารมณ์ที่แท้จริงของปฐมสังคายนาจึงมิใช่อยู่ที่การรวบรวมพระธรรมวินัยให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อป้องกันความเสื่อมต่อพระศาสนา ดังคำปรารภของพระมหากัสสปะ แต่เป็นการกำจัดภิกษุณีสงฆ์ให้หมดไปอย่างรวดเร็ว โดยเนื้อหาสาระของการสังคายนาในครั้งนี้จึงเป็นการปฏิรูปพระวินัย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับภิกษุณีทั้งหมด การสังคายนาพระธรรมนั้นเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นครั้งหนึ่งแล้ว ภายใต้การนำของพระสารีบุตร จึงทำให้เกิดแหล่งข้อมูลเปรียบเทียบกับหลักฐานในพระวินัยปิฎกได้

ผลของปฐมสังคายนาสามารถเห็นได้จากการยุติลงอย่างสิ้นเชิงของการประพันธ์ของภิกษุณีและพระเถรีทั้งหลาย ซึ่งเคยมีปรากฏจำนวนมากในเถรีคาถา อันน่าจะเป็นเครื่องระบุได้อย่างดีถึงความแตกต่างของการปกครองในสมัยที่พระศาสดายังทรงพระชนม์กับยุคหลังพุทธปรินิพพาน ซึ่งสิทธิของนักบวชสตรีในพระพุทธศาสนาถูกจำกัดจึงเป็นยุคแห่งการกดขี่ (เรื่องเดียวกัน : 226–227)

ถ้าหากสิ่งที่เมตตานันโท ภิกขุ ยกขึ้นมาโต้แย้งมีหลักฐานน่าเชื่อถือได้จริง ย่อมเท่ากับเป็นการปฏิวัติความเชื่อใหม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาจะต้องได้รับการแก้ไขเสียใหม่ เพราะข้อเสนอของท่านเท่ากับเป็นการถอนรากเหง้าของพระพุทธศาสนาตามแบบที่ถือสืบทอดกันมาในหมู่นิกายเถรวาท ดังนั้น ในหนังสือ “เหตุเกิด พ.ศ.2545“ ของ นาวาเอกทองย้อย  แสงสินชัย จึงปรากฏการโต้แย้งโจมตีการกระทำของเมตตานันโท ภิกขุ อย่างรุนแรงเช่นกล่าวหาว่าพระเมตตานันโท ภิกขุ “ต้องการจะดิสเครดิตผลการสังคายนานั่นเอง” (ทองย้อย  แสงสินชัย 2546ก :17)

ในทัศนะของนาวาเอกทองย้อย  แสงสินชัย หนังสือ เหตุเกิด พ.ศ. 1 ของเมตตานันโท ภิกขุ มีนัยสำคัญอย่างยิ่งเพราะนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ที่มาของพระไตรปิฎกเชื่อถือไม่ได้

ซึ่งก็เท่ากับเป็นข้อสรุปว่า พระไตรปิฎกก็ย่อมจะเชื่อถือไม่ได้ด้วยนั่นเอง เมื่อพระไตรปิฎกเชื่อถือไม่ได้เสียแล้ว การจะเอาพระไตรปิฎกมาเป็นมาตรฐานตัดสินความถูกผิดของคำสอนก็ตาม ของการกระทำต่าง ๆ ก็ตาม ที่สงฆ์หมู่นั้นหมู่โน้นสอนและประพฤติกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็จึงเชื่อถือไม่ได้ไปด้วย เท่ากับชี้นำเป็นนัยต่อไปว่า คำสอนและพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เห็นกันว่าวิปริตผิดเพี้ยนนั้น เอาเข้าจริง ๆ แล้ว อาจเป็นสิ่งที่ถูกต้องตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ก็ได้ เพราะเมื่อเอาพระไตรปิฎกเป็นมาตรฐานไม่ได้เสียแล้ว ก็เป็นอันไม่มีอะไรเป็นข้อพิสูจน์ว่าคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้นคืออะไร คืออย่างไร เมื่อถึงตอนนั้นก็อาจจะมีพระไตรปิฎกฉบับธรรมกาย พระไตรปิฎกฉบับสันติอโศก พระไตรปิฎกฉบับอะไรต่อมิอะไร รวมทั้งพระไตรปิฎกฉบับอ่านใหม่ของพระมโน เกิดขึ้นสะพรั่งไปหมด และทุกฉบับล้วนแต่อ้างหลักวิชาการที่ถูกต้องแม่นยำว่า ฉบับของตนถูกต้องตามพุทธประสงค์ที่สุดในโลก และเมื่อนั้นก็เป็นอันว่าพระพุทธศาสนาได้ถูกเกลื่อนกลืนกลายสลายร่างสูญสิ้นสภาพไปจากโลกสมตามมโนปรารถนาของพระผู้เป็นเจ้าทุกประการ. (เรื่องเดียวกัน :18)

และอีกตอนหนึ่ง

จะเห็นว่า ถ้าหลักวิชาการของพระมโนที่แสดงไว้ใน เหตุเกิด พ.ศ.1 เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เราก็ต้องล้มเลิกพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ต้องล้มเลิกพระไตรปิฎก และต้องล้มเลิกพระพุทธศาสนาด้วย รวมทั้งจะต้องเขียนประวัติพระพุทธศาสนากันใหม่ทั้งหมด. (เรื่องเดียวกัน :42)

ข้อวิพากษ์ที่มีต่องานเขียนของเมตตานันโท ภิกขุของ นาวาเอกทองย้อย  แสงสินชัย ในหนังสือ เหตุเกิด พ.ศ. 2545  เล่ม 1 และ 2 ถือเป็นการค้นคว้าข้อมูลหลักฐานและการนำเสนอข้อโต้แย้งที่น่าศึกษาอย่างยิ่งในฐานะผู้ที่ยืนยันความถูกต้องและความบริสุทธิ์ของการสังคายนาครั้งที่ 1 โดยความเห็นส่วนตัว ข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ ที่นำเสนอและตีความเพื่อโต้แย้งพระเมตตานันโท ในหนังสือ “เหตุเกิด พ.ศ. 1  เล่ม 2“   หากผู้เขียนหนังสือเล่มดังกล่าวไม่ใช้วาทศิลป์มากเกินไป  ตัดข้อความที่แสดงอารมณ์เสียดสีบุคลิกภาพของเมตตานันโท ภิกขุ ออกไปบ้าง  ข้อมูลหลายอย่างที่ท่านผู้เขียนนำมาแสดงและหักล้างข้อเสนอของเมตตานันโท ภิกขุ จะน่ารับฟังมากกว่านี้ เพราะมีน้ำหนักและน่าเชื่อถือไม่น้อย


5. การถอดรื้อแนวคิดการสังคายนาเพื่อแก้ปัญหาภิกษุณีไทย

การสังคายนาและพระไตรปิฎกมีความสำคัญมากในทัศนะของชาวเถรวาทดังสะท้อนในงานเขียนของนาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย ชาวเถรวาทเชื่อว่าประวัติศาสตร์สังคายนาโดยเฉพาะครั้งที่ 1 นั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้เพราะกระทบถึงรากเหง้าของศาสนา ชาวเถรวาททั่วไปไม่เคยตั้งคำถามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การสังคายนาครั้งที่ 1 และไม่คิดจะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ เพราะถือว่ามีความสมบูรณ์พร้อมในตัวเองอยู่แล้ว การทำให้เปลี่ยนความเชื่ออย่างแรงดังที่เมตตานันโท ภิกขุ พยายามนำเสนอนั้นมีผลกระทบมากเกินไป  การโต้กลับต่อข้อเสนอดังกล่าวจึงดำเนินไปทั้งในรูปของวิชาการและนอกขอบเขตวิชาการ

เถรวาทยึดมั่นในเจตนารมณ์การสังคายนาครั้งที่ 1 อย่างเคร่งครัดนั่นคือ ยืนยันมติที่ว่า “จะไม่เพิ่มเติมสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติ และจะไม่เพิกถอนสิกขาบทใด ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว” ซึ่ง “สิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ” ในที่นี้หมายถึง “ข้อความที่รวบรวมไว้โดยการสังคายนาครั้งที่ 1 นั่นเอง” ในทัศนะของเถรวาท  ประวัติศาสตร์การสังคายนาที่กำหนดตนตัวของเถรวาทไม่มีปัญหา  ความเป็นอนุรักษนิยมที่เป็นผลพวงจากการสังคายนาครั้งที่ 1 ก็ไม่มีปัญหา  หากแต่เป็นความดีงาม เพราะทำให้รักษาความบริสุทธิ์ของพระพุทธศาสนาไว้ได้ 

แต่จากแง่มุมของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่มักจะถูกกันให้อยู่นอกขอบของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย เชื่อว่าความเป็นอนุรักษนิยมของเถรวาทไทยเป็นปัญหา  และที่สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนมากมีอยู่เรื่องหนึ่งคือ เรื่องของนักบวชสตรีหรือภิกษุณี ปัญหาภิกษุณีเกิดขึ้นเนื่องจากความประสงค์ที่จะให้เถรวาทไทยยอมรับสถานภาพของภิกษุณีของรองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรสุมาลย์  กบิลสิงห์ แต่กระแสตอบรับจากเถรวาทในประเทศไทยเป็นไปในทางตรงกันข้าม เหตุผลที่อ้างก็คือ ภิกษุณีของฝ่ายเถรวาทขาดสูญไปแล้ว และไม่สามารถจะดำเนินการให้มีขึ้นมาใหม่ได้ด้วยเหตุที่ขัดกับพระวินัยบัญญัติที่ว่า การบวชภิกษุณีจะต้องกระทำในสงฆ์สองฝ่ายคือ ภิกษุณีสงฆ์ และพระภิกษุสงฆ์ จึงจะเป็นสำเร็จได้ตามพระธรรมวินัย  เนื่องจากประวัติศาสตร์ภิกษุณีขาดตอนเสียแล้วจึงไม่อาจดำเนินการให้เป็นไปตามพระวินัยได้ ถ้าหากจะให้ยอมรับการบวชก็ต้องสืบให้ได้ว่ามีภิกษุณีเถรวาทยังคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน หรือคณะสงฆ์อาจจะต้องยอมเปลี่ยนแปลงพระวินัยบางข้อที่เป็นอุปสรรคในการบวช  การหาทางออกด้วยวิธีหลังนี้ดูจะเป็นไปได้ง่ายกว่าวิธีแรก  แต่การเป็นอนุรักษนิยมแบบเข้มข้นของเถรวาทหรือคณะสงฆ์ไทยทำให้การบวชภิกษุณีหรือการยอมรับนักบวชสตรีเป็นไปไม่ได้

ในที่นี้ผู้เขียนมีข้อเสนอบางประการที่น่าจะช่วยให้เถรวาทลดความเป็นอนุรักษนิยมแบบเข้มข้นลงโดยมีสมมติฐานเบื้องต้นว่า การเป็นอนุรักษนิยมน้อยลงจะช่วยให้มีการแก้ปัญหาที่เกี่ยวพระพุทธศาสนาเป็นไปอย่างเหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  ข้อเสนอดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับการสังคายนาทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ประการแรกที่อาจทำได้แต่ไม่มีใครอยากทำก็คือ การนำประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนามาพิจารณาใหม่เพื่อเพิกถอนลักษณะอนุรักษนิยมแบบสุดขั้วของเถรวาทนั้นเสียก่อน โดยพิจารณามติสังคายนาครั้งที่ 1 และพระพุทธดำรัสก่อนดับขันธปรินิพพานที่ว่า “หากสงฆ์จำนงอยู่ จะถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างก็ได้” อย่างจริงจัง แทนที่จะให้ “มติสังคายนาครั้งที่ 1” อยู่เหนือ “พุทธดำรัส” ก่อนเสด็จปรินิพพาน ก็อาจจะต้องเปลี่ยนให้มติสังคายนามีอำนาจกดทับน้อยลง ให้มติดังกล่าวมีอำนาจรองจากพุทธพจน์ การเปลี่ยนประวัติศาสตร์ดังกล่าวนี้จะมีผลทำให้เถรวาทมีความเป็นอนุรักษนิยมน้อยลงไป และอาจจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนสิกขาบทที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่สังคมสมัยใหม่ เถรวาทอาจต้องพิจารณาอย่างจริงจังว่า “อำนาจ” ที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้แก่สงฆ์ในการรับสมาชิกเข้าสู่ชมชน (การอุปสมบท) และสังฆกรรมต่าง ๆ นั้น ครอบคลุมถึงอำนาจที่จะตราข้อความใด ๆ ให้อยู่เหนือพระพุทธดำรัสได้หรือไม่ พระสงฆ์ในการสังคายนาครั้งที่ 1-3 เท่านั้นหรือที่มีอำนาจในการกำหนดรูปแบบพระพุทธศาสนา คณะสงฆ์ในปัจจุบันมีอำนาจในการปรับเปลี่ยนมติใด ๆ ที่คณะสงฆ์ในประวัติศาสตร์ตกลงกันไว้ได้หรือไม่

ข้อเสนอของผู้เขียนดังกล่าวนี้แตกต่างจากข้อเสนอของเมตตานันโท ภิกขุ เพราะท่านได้เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะการสังคายนาครั้งที่ 1 แบบถอนรากถอนโคน โดยแสดงให้เห็นว่า การสังคายนาครั้งที่ 1 ไม่มีความชอบธรรม แต่ผู้เขียนเสนอให้พิจารณาทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาเสียใหม่ในประเด็นที่เป็นที่รับรู้กันอยู่แล้ว ซึ่งผู้มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนี้ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งหากแต่เป็นคณะสงฆ์เถรวาททั้งหมด หรืออาจจะเฉพาะพระสงฆ์เถรวาทในประเทศไทย กล่าวคือจะต้องพิจารณาและตัดสินโดยมติคณะสงฆ์เถรวาททั้งมวล ปัญหาก็คือว่า คณะสงฆ์ในปัจจุบันสามารถจะมีสิทธิและสถานะใดที่จะเสนอให้เปลี่ยนแปลงมติของสังคายนาครั้งที่ 1 หรือไม่ ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับสถานภาพของ “ความเป็นสงฆ์” กล่าวให้ชัดเจนก็คือ “สมมติสงฆ์” ในปัจจุบัน สามารถจะมีมติให้ยกเลิกมติของ “อริยสงฆ์” ในสังคายนาครั้งที่ 1 ได้หรือไม่ ซึ่งในการตกลงเรื่องนี้ คณะสงฆ์จะต้องพิจารณาประเด็นสำคัญที่ว่า การเปลี่ยนแปลงมติของสังคายนาครั้งที่ 1 จะก่อให้เกิดผลอะไรตามมา จะนำไปสู่การเสื่อมสลายของพระพุทธศาสนาหรือไม่ 

การลดความเข้มข้นแบบอนุรักษนิยมลงไปดูเหมือนว่าจะพอมีทางทำได้ โดยพิจารณาจากบทวิเคราะห์ในหนังสือ เหตุเกิด พ.ศ. 2545 ของนาวาเอกทองย้อย  แสงสินชัย  เรื่อง ”สิกขาบทเล็กน้อย” ท่านได้ตอบปัญหาว่าเมื่อคณะสงฆ์ในการสังคายนาครั้งที่ 1 ลงมติไม่ถอนสิกขาบทเล็กน้อย สงฆ์อื่น ๆ ในเวลานั้นก็ดี สงฆ์ในอนาคตก็ดี จะมีสิทธิในการถอนสิกขาบทเล็กน้อยหรือไม่  ซึ่งท่านให้คำตอบว่ามีสิทธิแน่นอน หากสงฆ์ที่ว่านั้นลงมติเห็นชอบพร้อมกันให้ถอดถอนเปรียบเหมือนรัฐในเวลาต่อมาย่อมมีสิทธิเสนอต่อสภาให้ยกเลิกกฎหมายเดิมทุกฉบับไม่ว่าจะบัญญัติมาตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินองค์ไหน ถ้าสภาเห็นชอบร่วมกัน (ทองย้อย  แสงสินชัย 2546ข : 123) พร้อมกันนี้ก็ได้ยกกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์คือ กรณีพระวัชชีบุตรยกเลิกสิกขาบท 10 ประการอันนำไปสู่สังคายนาครั้งที่ 2 ในเวลาต่อมา แต่ตัวอย่างที่นาวาเอกทองย้อย  แสงสินชัย ยกมานั้นจะไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีนัก  เนื่องจากในกรณีนี้ พระสงฆ์ที่ยกเลิกสิกขาบทเล็กน้อยครั้งนั้นเป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของการสังคายนาครั้งที่ 1 ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว  กรณีประเทศไทยเล่า สมมติว่าสงฆ์ในประเทศไทยในปัจจุบันนี้จะใช้สิทธิตามพุทธานุญาตให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างได้หรือไม่ นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย ยอมรับว่า โดยหลักการก็สามารถทำได้ (เรื่องเดียวกัน : 124) แต่ในทางปฏิบัติย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะ

เพราะสงฆ์ในประเทศไทยโดยเฉพาะในพุทธศาสนาเถรวาทเป็นพวกที่ถือหลักตามปฐมสังคายนา เพราะฉะนั้นสงฆ์นิกายนี้จึงไม่ถอนสิกขาบทใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าสงฆ์หมู่ไหนในประเทศไทยคิดจะถอน ก็จะต้องออกไปจากนิกายเถรวาท เพราะการถอนสิกขาบทไม่ใช่หลักการของเถรวาท จะอยู่เป็นเถรวาทด้วยแล้วก็ใช้สิทธิถอนสิกขาบทนั่นนี่ไปด้วยหาได้ไม่ (เรื่องเดียวกัน : 124)

ชัดเจนว่า หากสงฆ์จะเปลี่ยนแปลงสิกขาบทบางอย่างโดยหลักการก็สามารถทำได้ เพราะพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ แต่ปัญหาอยู่ที่ความเป็นเถรวาท  ปัญหาที่ว่า “คณะสงฆ์ที่เคยยอมรับมติสังคายนาครั้งที่ 1 สามารถมีมติยกเลิกมติดังกล่าวได้หรือไม่” ก็น่าจะทำได้เช่นกัน แต่การไม่ยอมรับมติสังคายนาครั้งที่ 1 ย่อมแสดงถึงการปฏิเสธการเป็นเถรวาท ผู้เปลี่ยนแปลงเช่นนั้นจะสิ้นสภาพการเป็นเถรวาทไปกลายเป็นคณะนิกายอื่นไปโดยปริยาย

สมภาร  พรมทา วิจารณ์ว่า การที่คณะสงฆ์ไทยหรือเถรวาทไทยปฏิบัติต่อพระวินัยซึ่งเป็นสมมติสัจจะในฐานะที่เป็นกฎอันเปลี่ยนแปลงไม่ได้นั้น แม้จะไม่สอดคล้องกับลักษณะอเทวนิยมของพุทธศาสนา ก็ยังเป็นที่เข้าใจได้ ถ้าหากการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นจากความประสงค์จะให้ความเคารพต่อพระพุทธเจ้าในฐานะองค์ศาสดา แต่สิ่งที่เข้าใจไม่ได้ก็คือ การปฏิบัติเช่นเดียวกันนี้ต่อผู้อื่นที่ไม่ใช่พระศาสดา กล่าวคือ พระอรหันต์ 500 รูปที่มีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ว่า คณะสงฆ์อาจถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ พระอรหันต์ก็ได้ลงมติไม่ให้เพิกถอนสิกขาบทใด ๆ ซึ่งอาจตีความได้ว่าขัดกับพระพุทธประสงค์นั้น สิ่งที่สมภาร  พรมทา ตั้งคำถามคือ ไฉนคณะสงฆ์จึงปฏิบัติต่อมติของสังคายนาเทียบเท่าพระพุทธบัญญัติ ไฉนคณะสงฆ์ปัจจุบันจึงปฏิบัติต่อคณะสงฆ์ในสังคายนาครั้งที่ 1 เป็นเจ้าของพระพุทธศาสนาเสียเอง ทั้ง ๆ ที่พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ตั้งผู้ใดขึ้นเป็นเจ้าของแห่งพุทธศาสนา (สมภาร  พรมทา 2547: 1–3)

ยังมีปัจจัยอื่นด้วยที่ทำให้นิกายเถรวาทจะไม่เปลี่ยนแปลงมติหรือสิกขาบทใด ๆ คือ ชาวเถรวาทเชื่อที่ว่านิกายตนเป็นฝ่ายที่รักษาพระธรรมวินัยที่บริสุทธิ์มาแต่ดั้งเดิม ที่เป็นเช่นนั้นได้ก็เพราะการยึดถือมติสังคายนาครั้งที่ 1 อย่างเคร่งครัดนั่นเอง และเมื่อใดก็ตามที่ละทิ้งมติดังกล่าว พระพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์ก็จะถูกทำลายไป  มายาคติเช่นนี้ปลูกฝังและถ่ายทอดกันมาในกลุ่มเถรวาท ดังปรากฏในคำชี้แจงของ นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย ที่ว่าหากยอมให้มีการถอนสิกขาบทเล็กน้อยเพื่อสนองพุทธประสงค์ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว “ความฉิบหายก็จะเกิดขึ้นแก่พระพุทธศาสนาเป็นอเนกประการเหลือจะคาดคะเนได้” เพราะการถอนนั่นเองมีค่าเท่ากับไม่สมาทานประพฤติในสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้ เมื่อทำตรงกันข้ามกับอปริหานิยธรรม ผลที่เกิดขึ้นย่อมจะตรงกันข้ามไปด้วย คือแทนที่จะพึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่เสื่อม ก็จะต้องเป็นพึงหวังได้ความเสื่อมอย่างเดียวไม่มีความเจริญ  นอกจากนั้น

เมื่อ “สามารถตราเงื่อนไขและบัญญัติ” ได้ครั้งหนึ่งแล้วก็ย่อมเป็นข้ออ้างอิงให้มีการตราเงื่อนไขและบัญญัติกันได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ในที่สุดสิกขาบททั้งสิ้นอาจถูกตีความโดย “สงฆ์” ในอนาคตให้เป็นสิกขาบทเล็กน้อยแล้วเพิกถอนเสีย และแม้แต่ตัวพระพุทธศาสนาทั้งศาสนาก็อาจถูกหมู่สงฆ์หมู่ใดหมู่หนึ่งที่เป็นฝ่ายอธรรมวาทีอวินยวาทีลงมติเลิกเพิกถอนออกไปจากสาระบบของศาสนาเสียก็ได้ (เรื่องเดียวกัน : 110)

การใช้เหตุผลของนาวาเอกทองย้อย แสงสินชัยดังกล่าวเป็นเพียงการใช้เหตุผลตามหลักตรรกวิทยาเท่านั้น  โดยยึดข้อความของอปริหานิยธรรม ข้อที่ 3 เป็นเสมือนกฎ การกระทำใด ๆ ก็ตามที่สอดคล้องกับกฎเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ส่วนการกระทำใดที่ขัดแย้งกับกฎย่อมนำไปสู่ผลตรงกันข้าม มายาคติสำคัญอีกประการหนึ่งที่ถ่ายทอดกันมาในหมู่เถรวาทก็คือ ความเชื่อที่ว่าพุทธศาสนานิกายอื่นไม่ใช่พุทธศาสนาที่แท้จริง  ขอให้พิจารณากรณีตัวอย่างที่ นาวาเอกทองย้อย  แสงสินชัย อ้างถึง

นี่คือปรากฏการณ์จริงที่อาจเป็นไปได้ ถ้ามีการปฏิบัติตามพุทธานุญาต. . . คือมีการถอนสิกขาบทเล็กน้อยกันจริง ๆ และของจริงที่เกิดมีขึ้นแล้วก็ไม่ต้องดูอื่นไกล-ก็พระภิกษุในนิกายมหายานทุกวันนี้นั่นยังไง ถ้าเปรียบเทียบกับพระภิกษุนิกายเถรวาท ก็แทบจะเป็นคนละศาสนาอยู่แล้วมิใช่หรือ นั่นแหละเป็นผลงานของสงฆ์ฝ่ายที่ปฏิบัติตามสิ่งที่พระมโนอ้างว่าเป็นพุทธประสงค์ล่ะ (เรื่องเดียวกัน : 116)

เป็นอันว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เถรวาทจะดำรงความเป็นอนุรักษนิยมเช่นนี้ เพราะเชื่อว่าการเป็นอนุรักษนิยมถูกต้องและจะทำให้พระพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์ดำรงมั่นตลอดไป

อีกประการหนึ่งที่เป็นข้อเสนอของผู้เขียนก็คือ การเปลี่ยนทัศนะเรื่องการทำสังคายนาใหม่ กล่าวคือ แทนที่จะมองว่า  การสังคายนาเป็นการรวบรวมพระพุทธวจนะ   หรือการรักษาพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์โดยการชุมนุมสงฆ์ที่ทรงจำพระพุทธวจนะมาสวดร่วมกัน หรือการชำระข้อความพระไตรปิฎก (พระธรรมวินัย) ที่ท่องจำสืบกันมาหรือการแก้ไขข้อบกพร่องตัวอักษรที่จารึกไว้ในใบลานหรือหนังสือ  ก็ขยายมุมมองให้กว้างกว่านั้น  ผู้เขียนเคยได้เสนอไว้หลายปีแล้วว่า การสังคายนาน่าจะเป็นกระบวนการหาข้อตกลงร่วมกันของสงฆ์เกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับพระธรรมวินัย   การสังคายนาในแง่นี้เป็นทั้งกระบวนการชำระพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์ เป็นทั้งเป็นกระบวนการแก้ปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมวินัย กล่าวคือ เมื่อมีการถือผิดเกี่ยวกับพระธรรมวินัย หรือมีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการนำพระธรรมวินัยไปปฏิบัติในสังคมสงฆ์หรือชุมชนชาวพุทธ  การหาทางออกด้วยการสังคายนาพระธรรมวินัยจะเป็นวิธีการที่น่าสนใจที่สุด เพราะกระบวนการนี้อาศัยการตกลงร่วมกันของสงฆ์ทั้งหมด มิใช่ของปัจเจกบุคคล*

ตัวอย่างเช่น กรณีวัดพระธรรมกาย ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเถรวาท  การแก้ปัญหานี้จะไม่เพียงแต่อ้างอิงพระไตรปิฎกเท่านั้น เพราะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็อ้างจุดที่เป็นช่องว่างในพระไตรปิฎกมาสนับสนุนข้ออ้างของตนได้อย่างมีเหตุผลเช่นเดียวกัน ในประเด็นที่หาทางออกไม่ได้ด้วย “ตัวอักษร” เนื่องจากไม่มีข้อความใดกล่าวเรื่องนี้ไว้โดยตรงหรือชัดเจนเพียงพอที่จะตัดสินใจให้เด็ดขาดลงไปได้   ปัญหาดังกล่าวนี้จะยกขึ้นสู่การพิจารณาของคณะสงฆ์โดยรวม การพิจารณาของสงฆ์และมติร่วมกันของสงฆ์จะถือเป็นข้อยุติ ในบางกรณีอาจเป็นการยุติชั่วคราว จนกว่าคณะสงฆ์ในสังคายนามีมติร่วมกันเป็นอย่างอื่น

หรือกรณีปัญหาภิกษุณี เราจะเห็นว่าการถกเถียงปัญหาเรื่องนี้กระทำต่อกันโดยบุคคลหรือคณะบุคคลบางกลุ่มที่เห็นขัดแย้งกัน ข้อสรุปต่าง ๆ ที่ปรากฏออกมาจากความเห็นหรือข้อถกเถียงของฝ่ายที่อ้างอิงพระธรรมวินัยจากบาลีพระไตรปิฎกนั้น  มิอาจกล่าวได้ว่า เป็น “มติสงฆ์” ที่ชาวพุทธทั้งหมดจะยอมรับร่วมกัน แต่เป็นมติของบุคคลที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของความถูกต้อง  คน ๆ หนึ่งซึ่งอาจจะมีความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนามากกว่าคนอื่น ๆ มีสิทธิที่จะแสดงความเห็นของตนเกี่ยวกับพระธรรมวินัยได้ แต่ย่อมมิใช่ผู้เดียวที่จะตัดสินความถูกต้องเกี่ยวกับพระธรรมวินัย แม้จะอ้างอิงหลักฐานจากพระไตรปิฎกก็ตาม แต่บางเรื่องก็เห็นชัดว่าฝ่ายที่เห็นแย้งสามารถจะอ้างพระไตรปิฎกมาสนับสนุนมุมมองของตนได้อย่างมีเหตุผลเช่นกัน แต่ที่เป็นอยู่มักจะมีฝ่ายหนึ่งที่คิดว่าตนเองกุมความถูกต้องไว้คนเดียวโดยอ้างคัมภีร์ อ้างความชอบธรรมในการรับมรดกแห่งพระธรรมวินัยไว้ฝ่ายเดียว  ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งถูกมองหรือกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำลายความถูกต้อง เป็นฝ่ายที่จะทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมสลายไปจากโลกนี้

การมองสังคายนาว่าเป็นกระบวนการหนึ่งของการแก้ปัญหาพระธรรมวินัยนั้นต้องอาศัยทัศนคติที่ดีต่อ “ความเป็นสงฆ์” เช่นเดียวกันกับที่เถรวาทมีทัศนคติที่ดีต่อ “ความเป็นสงฆ์” ของพระเถระที่ทำปฐมสังคายนา  เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับสงฆ์ในฐานะผู้รักษาพระธรรมวินัย  หากสงฆ์คือชุมชนที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับธรรม ซึ่งเป็นความจริงแท้ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้  ประสบการณ์ร่วมของคณะสงฆ์ก็น่าจะสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นสิ่งที่ชาวพุทธจะยอมรับได้  ประสบการณ์เช่นนี้อาจจะหาไม่ได้ใน “ตัวอักษร” ที่ชำระกันครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ หากเชื่อมั่นในความเป็นสงฆ์  ประสบการณ์ร่วมเช่นนี้จะปรากฏขึ้นมาได้ขึ้นมิใช่โดยอ้างการบรรลุธรรมของปัจเจกบุคคล  หากเกิดจากบุคคลที่ประชุมร่วมกัน พิจารณาไตร่ตรองพระธรรมวินัยร่วมกันโดยอาศัยประสบการณ์และความรู้ที่สืบทอดมาจากอดีตเป็นองค์ประกอบสำคัญ 

การมองเช่นนี้น่าจะช่วยให้ไปพ้นจากความเป็นอนุรักษนิยมที่ยึดมั่นกับอดีตจนแข็งตึง จนไม่สามารถสนองตอบต่อสังคมหรือประเด็นปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม หรือการตอบสนองด้วยวิธีการเดิม ๆ

 

6.  ใครคือเจ้าของพุทธศาสนา ?

เถรวาทในประเทศไทยดูเหมือนจะไม่ตระหนักว่า การเป็นอนุรักษนิยมแบบเข้มข้นจะเป็นปัญหาสำหรับคณะสงฆ์หรือพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ในทางตรงกันข้าม ชาวไทยควรจะดีใจที่คณะสงฆ์ไทยดำรงความเป็นอนุรักษนิยมแบบเข้มข้นเรื่อยมาจนปัจจุบัน เพราะชาวโลกได้รู้จักพระพุทธศาสนาอันบริสุทธิ์จากความพยายามธำรงรักษาพระธรรมวินัยที่รับมาจากการสังคายนาครั้งที่ 1 ให้บริสุทธิ์นั่นเอง  ในทัศนะของผู้เขียน การเป็นอนุรักษนิยมของเถรวาทเป็นสิ่งที่ดีในแง่ที่มีเจตนารมณ์มุ่งมั่นรักษาพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์    และเราก็ไม่ควรจะคาดหวังให้ลักษณะดังกล่าวนี้หายไปจากพุทธศาสนาเถรวาทโดยสิ้นเชิง ความหลากหลายทางความคิดและจารีตปฏิบัติเป็นสิ่งงดงามเพราะในที่สุดแล้ว มนุษย์ก็จะได้เลือกแนวทางตามความเหมาะสมของอุปนิสัย

ความเป็นอนุรักษนิยมโดยตัวมันเองไม่ได้มีปัญหา   แต่เมื่อชาวเถรวาท (1) เชื่อมั่นว่าฝ่ายตนกุมความจริงสูงสุดเอาไว้และเข้าใจว่าตนเองเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา (2) สถาปนาตัวเองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัฐ ถือว่ารัฐดังกล่าวเป็นรัฐพุทธ และ (3) พยายามรักษาความเป็นเจ้าของพุทธศาสนาไว้โดยใช้อำนาจรัฐ  ก็จะเกิดปัญหาขึ้น  ยิ่งเมื่อสถาบันทางศาสนาถูกรัฐใช้เป็นเครื่องมือในการปกครอง มุ่งพิทักษ์รักษาอุดมการณ์ของตนโดยเชื่อว่ากลุ่มบุคคลอื่นเป็นผู้ทำลายอุดมการณ์ดังกล่าว  การจัดการข้อขัดแย้งทางศาสนาโดยอาศัยอำนาจรัฐแทรกแซง ก็

ไม่ว่าการถือว่าตนเองเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนาจะสมเหตุสมผลหรือไม่ การยึดกุมอำนาจความจริงทางศาสนาก็เกิดขึ้นแล้วในสถาบันพุทธศาสนาเถรวาทของไทย  ดูเหมือนว่าผู้กุมอำนาจความจริงเท่านั้นมีสิทธิจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้คนอื่นเข้ามีส่วนร่วมในประสบการณ์ทางศาสนาของพระพุทธเจ้าได้   ตัวอย่างการผูกขาดความจริงก็คือ การถือว่ากลุ่มนิกายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตหรือในปัจจุบันก็ดี เป็นความเสื่อมทางศาสนา เป็นผู้ทำลายความบริสุทธิ์  ทัศนคติของชาวเถรวาทต่อมหายานในปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นเดียวกันกับทัศนคติที่มีต่อชาวอโศก คือเป็นความเสื่อมแห่งศาสนธรรม มิใช่ความก้าวหน้า  เมื่อสตรีต้องการจะเข้าร่วมประสบการณ์ทางศาสนากับเถรวาทในประเทศไทยในระดับที่ “เกินปกติ” ที่เคยปฏิบัติมา  เถรวาทไทยก็ได้ขีดเส้นกั้นที่ไม่อาจก้าวย่างเข้าไปร่วมประสบการณ์นั้นได้  นี่คือลักษณะที่เรียกว่า Exclusivism ซึ่งเป็นผลตามมาจากความเชื่อมั่นว่า ตนเองเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา

ในอดีต การกีดกั้นกลุ่มศาสนาอื่นๆ อาจดำเนินไปภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันรัฐกับสถาบันศาสนา  ข้อหาที่ใช้ก็คือการทำลายพระพุทธศาสนาและความมั่นคงของชาติ เพราะฉะนั้นกลุ่มทางศาสนาดังกล่าวจึงอาจถูกทำลายด้วยอำนาจรัฐที่มีสถาบันศาสนาหนุนหลัง ในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า รัฐคือกษัตริย์ กษัตริย์คือรัฐ ทุกสิ่งในพระราชอาณาจักรล้วนเป็นสมบัติของพระมหากษัตริย์  สถาบันศาสนาที่พระมหากษัตริย์ทรงนับถือต้องถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่อาจประทุษร้ายได้  การประทุษร้ายต่อศาสนาจะเท่ากับการไม่ภักดีต่อองค์ประมุข การจัดการกับความแตกต่างทางศาสนาโดยอำนาจรัฐในระบอบดังกล่าวนี้มีเหตุผลของมันเองรองรับอยู่ ครั้งหนึ่ง เมื่อประเทศไทยต้องการให้วันวิสาขบูชาเป็นงานระดับโลก รัฐบาลจึงต้องการให้งานวันวิสาขบูชาเปิดกว้างแก่ชาวพุทธทุกกลุ่ม  ศูนย์พิทักษ์พุทธศาสนาได้กดดันไม่ให้ขบวนการทางพุทธศาสนากลุ่มอื่นที่มีแนวทางแตกต่างจากตนเองในแง่ประวัติศาสตร์และการตีความศาสนธรรมเข้าร่วมกิจกรรมวันวิสาขบูชาครั้งนั้น มหาเถรสมาคมในฐานะองค์กรบริหารสูงสุดของพุทธศาสนาในประเทศไทยมีมติไม่ให้ "คนนอก" เข้ามีส่วนร่วมในการจัดงานดังกล่าว

“ใครเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา?” น่าจะเป็นคำถามที่ชาวพุทธเถรวาทควรสนใจ และตอบให้กระจ่าง อย่างน้อยที่สุด การถามคำถามเช่นนี้กับตัวเองก็เป็นการตรวจสอบไตร่ตรองตัวเอง เพื่อแสวงหาแนวทางที่ถูกที่ควร แต่หลังจากตั้งคำถามเช่นนี้แล้ว จะยังเป็นอนุรักษนิยมอยู่เช่นเดิมหรือไม่ก็เป็นสิทธิโดยเสรี

           

 

เอกสารอ้างอิง

กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.2514. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง. เล่ม 7, 10, 37. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา.

กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า.(ทรงชำระ).2538. ธรรมสมบัติ (หมวดที่ 2) สังคีติกถา (สำนวนเก่า). กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย.

ชาญณรงค์  บุญหนุน.2543. “การสังคายนาในมุมมองใหม่ : หนทางสู่การแก้ปัญหาคณะสงฆ์ไทยปัจจุบัน” วารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 7, 2 (พฤษภาคม – สิงหาคม 2543) : 5-29.

ชาญณรงค์  บุญหนุน.2545. “ความสำคัญของพระวินัยในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเถรวาท : จากสังคายนาครั้งที่ 1 ถึงธัมมนันทาสามเณรี.” วารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 9, 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2545) : 7–30.

ซิว  ซูหลุน. 2547. พระถังซำจั๋ง : จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.

เทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต), พระ., 2532. สัจจธรรมกับจริยธรรม. กรุงเทพฯ : มูลนิธิพุทธธรรม.

ทองย้อย  แสงสินชัย,นาวาเอก.2546 ก. เหตุเกิดเมื่อ พ.ศ.2545. เล่ม 1. กรุงเทพฯ : มูลนิธิพุทธธรรม.

ทองย้อย  แสงสินชัย,นาวาเอก. 2546. เหตุเกิดเมื่อ พ.ศ.2545. เล่ม 2. กรุงเทพฯ : มูลนิธิพุทธธรรม.

ธรรมปิฎก, (ป.อ. ปยุตฺโต), พระ. 2541. นิติศาสตร์แนวพุทธ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพุทธธรรม, 

ธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), พระ. 2542. กรณีธรรมกาย ฉบับขยายความ. พิมพ์ครั้งที่ 1.  กรุงเทพฯ: พิมพ์อำไพ.

ธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต), พระ. 2543. รู้จักพระไตรปิฎกเพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้. กรุงเทพฯ : มูลนิธิพุทธธรรม.

ธรรมปิฎก (ประยุทธ์  ปยุตโต), พระ. 2547. ” ความเห็นต่อวารสารพุทธศาสน์ศึกษา” วารสารพุทธศาสน์ศึกษา  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 11,1 (มกราคม-เมษายน 2547) : 63–88.

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 2530. พระไตรปิฎก : ประวัติและความสำคัญ. กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2525. พระไตรปิฎก และอรรถกถา กถาวัตถุภาคที่ 1. กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย.

มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, วินัยปิฎก เล่ม 1 ภาค 1 มหาวิภังค์ ปฐมภาค และอรรถกถา. (จัดพิมพ์เนื่องในวโรกาสครบ 200 ปีแห่งพระราชวงศ์จักรี  กรุงรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช 2425.) กรุงเทพฯ  : เฉลิมชาญการพิมพ์, มปพ.

เมตตานันโท ภิกขุ. 2545. เหตุเกิด พ.ศ. 1 เล่ม 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แสงพระอาทิตย์.

สมภาร  พรมทา. 2547. “ใครคือเจ้าของพระพุทธศาสนา” วารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 11, 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2547) : 1–3.

สุชีพ  ปุญญานุภาพ. 2539. พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน. พิมพ์ครั้งที่ 16. กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์.

เสถียร  โพธินันทะ. 2522. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ : บริษัทสร้างสรรค์บุ๊ค จำกัด.

Conze, Edward.1993. A Short History of Buddhism. Oxford: Oneworld Publication.

Hallisey, Charles. 1991.  “Councils as Ideas and Events in the Theravada.” The Buddhist Forum II. (Seminar Papers 1988-1990): 133-148. School of Oriental and African Studies, University of London.

 

เชิงอรรถ

* โปรดดูใน  มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, วินัยปิฎก เล่ม 1 ภาค 1 มหาวิภังค์ ปฐมภาค และอรรถกถา. (จัดพิมพ์เนื่องในวโรกาสครบ 200 ปีแห่งพระราชวงศ์จักรี  กรุงรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช 2425.) กรุงเทพฯ  : เฉลิมชาญการพิมพ์, มปพ. หน้า 19-172

* บันทึกของพระถังซำจั๋งระบุว่า การสังคายนาเกิดขึ้นหลังพุทธปรินิพพาน 110 ปี   พระอริยสงฆ์ที่ร่วมกันทำสังคายนา เป็นศิษย์ของพระอานนท์เถระ สาเหตุของการสังคายนากล่าวไว้ตรงกันกับหลักฐานในพระไตรปิฎกภาษาบาลี (ซิว  ซูหลุน 2547 : 293) หลักฐานของฝ่ายบาลี (ทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถา) ไม่กล่าวถึงการถามและการวิสัชชนาพระธรรมในการสังคายนาครั้งนี้

* ใน “จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง” โดยพระถังซำจั๋ง กล่าวว่า ผู้ร่วมประชุมสังคายนามีทั้งพระสงฆ์ทั่วไป อริยสงฆ์  กุลบุตร และผู้มีสติปัญญา ที่เป็นเสขบุคคลและอเสขบุคคล ที่ไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมสังคายนาครั้งที่ 1 ที่มีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน (ซิว  ซูหลุน 2547 : 377) ข้อมูลนี้ดูจะสับสนอยู่ เพราะถ้ายึดถือตามบันทึกของพระถังซำจั๋ง การสังคายนาของมหาสังฆิกะจะเกิดขึ้นในสมัยเดียวกันกับการสังคายนาครั้งที่ 1  ส่วนหลักฐานของฝ่ายบาลีกล่าวว่า สังคายนามหาสังฆิกะเกิดขึ้นในต้นพุทธศตวรรษที่ 2

* คณะสงฆ์ลังกาและไทยนับเป็นสังคายนาครั้งที่ 4 ของพุทธศาสนานิกายเถรวาท  แต่พม่าไม่นับเป็นการสังคายนา

* ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ช่วงดังกล่าวนี้มีเหตุการณ์แย่งชิงราชบัลลังก็กันของกษัตริย์ลังกาอยู่เรื่อย มีความไม่สงบเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน พระสงฆ์ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวพันกับการแย่งชิงอำนาจของบรรดากษัตริย์ต่าง ๆ โดยตั้งใจบ้างไม่ตั้งใจบ้าง จนยากจะหาคนมีเวลาท่องจำพระไตรปิฎก จึงเกรงว่าพระพุทธวจนะจะเสื่อมสูญด้วยไม่มีคนท่องจำ

* การตีความสังคายนาแนวนี้ผู้เขียนเสนอไว้เป็นครั้งแรกในบทความเรื่อง  “การสังคายนาในมุมมองใหม่ : หนทางสู่การแก้ปัญหาคณะสงฆ์ไทยปัจจุบัน” วารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 7, 2 (พฤษภาคม – สิงหาคม 2543) : 5-29.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net