ภาคประชาสังคมเดินขบวนคบเพลิง-ชุมนุมคู่ขนานการประชุมอาเซียนที่ฟิลิปปินส์

ภาคประชาสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เดินขบวนคบเพลิงเป็นระยะทางกว่า 6 กม. คู่ขนานการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ฟิลิปปินส์ โดยภาคประชาสังคมไทยชูประเด็นชนกลุ่มน้อย LGBT นักโทษการเมือง หยุด ม.112 ยุติความรุนแรงชายแดนใต้ ประชาธิปไตยต้องมาตอนนี้เดี๋ยวนี้

ขณะที่ผู้เข้าร่วมจากภูมิภาคอาเซียนระบุต้องการเห็นอาเซียนที่มีความเท่าเทียม และเห็นแก่มนุษยธรรม พร้อมย้ำว่าอาเซียนคือความแตกต่างเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับและก้าวต่อไปด้วยกัน

ภาคประชาสังคมอาเซียนร่วมเดินขบวนถือคบเพลิงมุ่งหน้าไปยังอนุสาวรีย์ประชาชนในเมืองเกซอนซิตี ประเทศฟิลิปปินส์ โดยเป็นการชุมนุมคู่ขนานการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่จัดระหว่าง 13-14 พฤศจิกายน

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายร้อยคนเดินขบวนถือคบเพลิงจากโรงแรมโนโวเทลสู่อนุสาวรีย์ประชาชนในเมืองเกซอน ประเทศฟิลิปปินส์

การเดินขบวนเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากเวทีประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนขึ้น (ASEAN Civil Society Conference/ASEAN People Forum: ACSC/APF) โดยงานประชุมจะมีไปจนถึงวันที่ 14 พ.ย. 2560 นี้ มีภาคประชาสังคมจากทุกประเทศในอาเซียนรวมถึงประเทศติมอร์ เลสเต เข้าร่วมงานในพิธีเปิดจำนวนหลายร้อยคน

การเดินขบวนเริ่มในเวลาราว 18.30 น. เดินจากโรงแรมโนโวเทลในเมืองเกซอน มุ่งหน้าสู่อนุสาวรีย์ประชาชน เป็นระยะทางทั้งสิ้นราว 6 กม. ท่ามกลางการอารักขาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจฟิลิปปินส์รายทาง

เฮนรี่ โคห์ จากองค์กรฟอร์ติฟาย ไรท์กล่าวว่า ตนมาเวที ACSC/APF รอบนี้เพื่อขับเคลื่อนประเด็นความหลากหลายทางเพศ โดยกล่าวว่าปีนี้การรณรงค์ประเด็นความหลากหลายทางเพศทำได้ง่ายขึ้น เพราะการออกแบบพื้นที่พูดคุยกันแยกย่อยออกเป็นหลายประเด็น และประเด็นความหลากหลายทางเพศได้แบ่งกันไปเชื่อมโยงกับประเด็นสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ ได้

“เราต้องการสร้างอาเซียนที่มีความเท่าเทียม มีมนุษยธรรม ที่ประชาชนมีสิทธิในการเลือกรสนิยมและอัตลักษณ์ทางเพศได้”

“เหล่าผู้นำของอาเซียนต้องพิทักษ์สิทธิทางเพศและกลุ่มเพศทางเลือกจากความรุนแรงและการถูกเหยียด ถ้าพวกเราต้องการมีอาเซียนที่ยุติธรรมอย่างแท้จริงแล้ว สิทธิของกลุ่มที่ถูกทำให้เป็นชายขอบอย่างกลุ่ม LGBT ก็ไม่ควรถูกกีดกัน” เฮนรี่กล่าว

ธิดา คุส จากกลุ่มสีละกะ ทำงานด้านสิทธิสตรีและธรรมาภิบาลในกัมพูชา ระบุว่า เธอมาร่วมเวที ACSC/APF เพราะต้องการส่งเสียงจากกลุ่มรากหญ้าให้ระดับชาติและระดับภูมิภาคได้ยิน ทั้งยังระบุปัญหาเชิงโครงสร้างของอาเซียนและชาติสมาชิกว่าไม่มีกลไกรับฟังเสียงจากประชาชน

“เราใส่ประเด็นของเราลงไปในเวที ACSC/APF ได้อย่างง่ายดาย แต่สำหรับเวทีอาเซียนแล้วมันเป็นไปไม่ได้เพราะพวกเขาไม่ได้มีโครงสร้างให้เราเข้าถึงได้ในระดับภูมิภาคและระดับชาติ”

“ฉันหวังว่าอาเซียนจะมีระบบที่เป็นมิตรและเปิดเผยกับพลเมืองประเทศต่างๆ มากกว่านี เพราะว่าเวลาเราพูดถึงอาเซียน สิ่งที่ควรได้รับการคำนึงถึงก่อนควรต้องเป็นประชาชนของอาเซียน”

จูวินัล ดิเอซ จากติมอร์ เลสเตกล่าวว่า “ผมมาที่นี่เพื่อสร้างเครือข่ายและร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับคนประเทศต่างๆ ในอาเซียนเพื่อส่งเสริมให้ชนพื้นเมืองในภูมิภาคมีสิทธิในฐานะมนุษยชน”

“เรื่องหนึ่งก็คือ เราไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน ถ้าประเทศในอาเซียนไม่ตระหนักถึงสิทธิของชนพื้นเมือง ทุกประเทศในอาเซียนต้องรับรองหลักการสิทธิมนุษยชนให้กับชนพื้นเมือง”

“ติมอร์ เลสเต เคยตกเป็นเหยื่อของเหล่าผู้นำในอาเซียนที่ต้องการแสดงพละกำลังของตัวเอง หนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียนเคยส่งทหารมาเข่นฆ่าพวกเรา และเราก็ไม่อยากให้ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนนำเอาหลักการดังกล่าวไปใช้ฆ่าคนไม่ว่าจะใจปาตานี ปาปัวตะวันตก มินดาเนาและที่อื่นๆ อาเซียนต้องตอบสนองต่อสิทธิของประชาชนตนเอง อาเซียนจะเป็นนายหน้าให้กับลัทธิทุนนิยมและจักรวรรดินิยมไม่ได้” จูวินัล กล่าว

มัจฉา พรอินทร์ จากโครงการสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ทำงานกับประเด็นชายขอบต่างๆ ทำงานกับคนทั้งหมดที่ประสบปัญหาสิทธิมนุษยชนกล่าวว่ากลไกภายในประเทศที่มีทำให้คนชายขอบจำนวนมากเข้าไม่ถึง จึงต้องใช้กลไกต่างๆ รวมถึงอาเซียน ทำให้ต้องมาเคลื่อนไหวในระดับอาเซียนให้นำไปสู่การสนใจ เปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น

“เราจะเห็นว่าคนเราหลากหลายมาก แล้วอาเซียนสิบประเทศก็มีบริบทไม่เหมือนกัน พอเรามารวมกันแล้วต้องการให้ข้อเรียกร้องเป็นหนึ่งเดียว เป็นเอกภาพเราก็จะเห็นว่ามีการต่อสู้ แย่งชิงพื้นที่ แต่นี่ก็คือความเป็นจริง เราเห็นการประนีประนอมให้ประเด็นของแต่ละคนได้เข้าไปด้วยกัน เราเห็นการต่อสู้เพื่อจะหาจุดยุติ สุดท้ายต่อให้มันไม่ยุติ เราก็ต้องยืนยันที่จะรับฟังความเห็นที่แตกต่าง หลากหลายและคงตรงนี้ไว้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง เราไม่สามารถเมหือนกัน อาเซียนคือความแตกต่าง หลากหลาย คือวัฒนธรรม คือคน เราจะทำอย่างไรให้คนที่แตกต่างหลากหลายเดินไปด้วยกัน แต่เคียงบ่าเคียงไหล่กัน และประเด็นแต่ละประเด็นก็เยอะมาก เราจำเป็นที่จะต้องรับรู้ให้หมด” มัจฉา กล่าว

อุ้ม (นามสมมติ) เป็นหนึ่งในเยาวชนไทยไร้สัญชาติที่ได้มาร่วมประชุมอาเซียนเป็นครั้งแรก กล่าวว่า ตื่นเต้นและดีใจที่ได้มา เพราะกว่าจะได้มาก็ลำบากเพราะไม่มีสัญชาติ ความลำบากเริ่มตั้งแต่ขอหนังสือจากผู้ใหญ่บ้าน ไปอำเภอ แล้วก็ไปที่จังหวัด ที่อำเภอที่อยู่ไม่ค่อยได้ทำเรื่องคนไม่มีสัญชาติขอออกนอกพื้นที่ก็จะมีปัญหาในเรื่องการทำเอกสาร พอเอกสารมีข้อผิดพลาดก็ต้องกลับมาแก้ไข พอผ่านจังหวัดแล้วก็ต้องไปกรมต่อ ใช้เวลาสองอาทิตย์กว่าจะทำพาสปอร์ตได้ซึ่งถือว่าเร็ว เธอพบว่าประเด็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติไม่ค่อยได้รับการพูดถึงในเวทีประชาชนอาเซียน จึงอยากผลักดันให้เป็นที่พูดถึงมากขึ้น

การเดินขบวนเกิดขึ้นในช่วงวันจัดงานประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ณ กรุงมะนิลา โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมการด้านการดูแลความปลอดภัยและเตรียมความพร้อมยามฉุกเฉินของอาเซียนได้แถลงว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองอาจถูกส่งตัวกลับประเทศทันที และในวันที่ 12 พ.ย. ได้มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ประท้วงต่อต้านสหรัฐฯ ในกรุงมะนิลา ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก

การเดินขบวนเสร็จสิ้นเมื่อฟิลิปปินส์ในฐานะเจ้าภาพปีปัจจุบันได้ส่งมอบหน้าที่เจ้าภาพในปีต่อไปให้กับประเทศสิงคโปร์ โดยไทยจะได้รับตำแหน่งเจ้าภาพในปี 2562 หลังจากสิงคโปร์

ภาพบรรยากาศในงาน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท