ซีเรียลงนามข้อตกลงโลกร้อน-ขณะที่สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศเดียวที่จะถอนตัว

ในขณะที่รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กำลังอยู่ในช่วงดำเนินการออกจากความตกลงแก้ไขปัญหาโลกร้อน ประเทศที่มีปัญหาสงครามกลางเมืองของตัวเองอย่างซีเรียกลับเป็นประเทศล่าสุดที่ลงนามเข้าร่วม

แฟ้มภาพโรงงาน Bethlehem Steel ที่มลรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ภาพถ่ายเมื่อปี 2550 (ที่มา: Jschnalzer/Wikipedia/CC BY-SA 3.0)

9 พ.ย. 2560 ประเทศซีเรียเป็นประเทศล่าสุดที่ลงนามในข้อตกลงโลกร้อนปารีส แม้ว่าประเทศของพวกเขาจะยังคงมีสงครามกลางเมือง เรื่องนี้จึงคล้ายเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ สร้างความประหลาดใจให้กับหลายฝ่าย และผลจากการลงนาม ทำให้เหลือเพียงสหรัฐอเมริกา อีกประเทศเดียวเท่านั้นที่จะไม่ได้ร่วมลงนาม ถ้าหากทำตามกระบวนการออกจากการลงนามตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยประกาศไว้

หลังจากที่สหประชาชาติทำการเจรจาหารือมาเป็นเวลามากกว่า 20 ปี ในที่สุดก็ทำให้มีผู้ลงนามในความตกลงปารีสปี 2558 ได้จำนวน 197 ชาติ ความตกลงดังกล่าวสหรัฐฯ ได้ลงนามในสมัยของอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา อย่างไรก็ตามพอถึงสมัยของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เริ่มดำเนินกระบวนการพยายามจะออกจากความตกลงนี้โดยต้องใช้เวลาถึงปี 2563 กระบวนการถอนตัวจากการลงนามถึงจะมีผล ซึ่งพอถึงจุดนั้นก็จะมีการเลือกตั้งในสมัยถัดไปแล้ว

สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน กลุ่มภาคประชาสังคมของสหรัฐฯ วิจารณ์การถอนตัวของสหรัฐฯ ว่าในตอนนี้สหรัฐฯ กำลังถูกโดดเดี่ยวออกจากเวทีโลกแล้ว

"ราวกับว่ามันยังแสดงให้เห็นไม่ชัดเจนมากพอ จะบอกก็ได้ว่าทุกประเทศอื่นๆ ในตอนนี้กำลังเดินหน้าร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา ขณะที่ทรัมป์โดดเดี่ยวสหรัฐฯ ในจุดยืนที่ชวนให้รู้สึกอับอายและอันตราย" ไมเคิล บรูน ผู้อำนวยการบริหารของกลุ่มสิ่งแวดล้อมเซียร์ราคลับกล่าว

"การเคลื่อนไหวอย่างเอาเป็นเอาตายของทรัมป์ที่ช่วยเหลือบรรษัทจอมสร้างมลภาวะโดยการไม่ยอมรับว่ามีวิกฤตโลกร้อนจิงแสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้ใส่ใจเกี่ยวกับการเป็นผู้นำหรือเข้าใจเรื่องความเป็นผู้นำเลย" บรูนกล่าว

อย่างไรก็ตามมีผู้สังเกตการณ์บอกว่าต่อให้รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ออกจากความตกลงปารีสแล้ว แต่เมืองหรือรัฐต่างๆ ในสหรัฐฯ ก็ยังคงมีปฏิบัติการกับประเด็นโลกร้อนได้ เช่น การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน

นอกจากนั้นรัฐบาลฝรั่งเศสยังแถลงอีกว่ารัฐบาลทรัมป์ถูกคัดออกจากรายชื่อเชิญชวนเข้าร่วมประชุมเรื่องโลกร้อนในเดือนหน้าที่จะมีผู้นำระดับโลกมากกว่า 100 คนเข้าร่วม เพื่อดำเนินการต่อในความตกลงปารีส

ในความตกลงปารีสปี 2558 มีการตกลงร่วมกันว่าจะพยายามควบคุมไม่ให้สภาพอากาศของโลกร้อนขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ซึงนักวิทยาศาสตร์บอกว่าเป็นระดับที่ปลอดภัย ถ้าให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นมากกว่านี้อาจจะกลายเป็นหายนะและไม่สามารถย้อนคืนกลับมาได้ เช่นจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้เกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อน และทำให้เกิดภัยแล้งในหลายที่ของโลกและทำให้พื้นที่หลายแห่งทำการเกษตรไม่ได้ ขณะที่พื้นที่บางแห่งก็จะเกิดน้ำท่วมอย่างหนัก และจากพฤติกรรมของชาวโลกในปัจจุบันปีนี้ก็อาจจะเป็นปีที่มีระดับอุณหภูมิสูงสุดเท่าที่เคยวัดมา

องค์กรสิ่งแวดล้อมยุโรประบุว่าประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปกำลังดำเนินการตามแนวทางในการปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ถึงระดับที่ตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2563 โดยที่ในปีที่แล้วพวกเขาปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงเล็กน้อย แต่ยังต้องใช้ความพยายามมากขึ้นเพื่อให้ลดระดับกาปล่อยก๊าซลงได้ตามเป้าหมายปี 2573

 

เรียบเรียงจาก

Syria signs Paris climate agreement and leaves US isolated, The Guardian, 07-11-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท