การ 'ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์' กับ 'กวาดล้างเผ่าพันธุ์' ต่างกันอย่างไร?

ผู้นำโลกเลือกคำพูดอย่างระมัดระวังในการกล่าวถึงกรณีการอพยพของกลุ่มชาวโรฮิงญาที่หนีจากเหตุการณ์รุนแรงในพม่า โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าพวกเขาจะไม่ใช้คำว่า "genocide" หรือ "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" แต่จะใช้คำว่า "Ethnic Cleansing" หรือ "การกวาดล้างเผ่าพันธุ์" ทั้งที่ความหมายน่าจะใกล้เคียงกันแต่สองคำนี้ต่างกันอย่างไร สื่อพีบีเอสจากสหรัฐฯ นำเสนอคำตอบในกรณีนี้

ผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่ชายแดนพม่า-บังกลาเทศ ภาพถ่ายเดือนพฤศจิกายน 2559

มีการตั้งข้อสังเกตว่าในกรณีความรุนแรงที่เกิดกับชาวโรฮิงญาตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค. จนเกิดเป็นประเด็นร้อนในระดับโลก ในเวทีโลกก็มีการประณามการกระทำของทหารพม่าว่าเป็น "การปราบปรามอย่างโหดเหี้ยม" หรือคำอย่าง "กรณีการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ตามนิยามในตำรา" (textbook case of ethnic cleansing)

ในวันที่ 24 ต.ค. ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ฝ่ายการต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวว่ากำลังพิจารณาคว่ำบาตรพม่าแบบจำกัดวง พวกเขาบอกแค่ว่าจะมีการจำกัดความร่วมมือกับคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรุนแรงและจำกัดการเดินทางของผู้นำกองทัพระดับสูงของพม่า รวมถึงอาจจะมีการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนกับคนบางกลุ่มหรือเจ้าหน้าที่พม่าบางรายด้วย แต่พวกเขาก็ไม่ประกาศออกมาว่าการกระทำของรัฐบาลพม่าเป็น "การกวาดล้างเผ่าพันธุ์"

แล้ว "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" หมายความว่าอย่างไร?

สหประชาชาติเคยนิยามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นครั้งแรกไว้ในปี 2491 โดยระบุไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Convention on the Prevention and Punishment of the Crime of Genocide) 5 ข้อที่กระทำ "โดยมีเจตนาทำลายชาติพันธุ์, สัญชาติ, เชื้อชาติ หรือกลุ่มศาสนา" ดังนี้คือ

1.) สังหารสมาชิกของกลุ่มคนนั้นๆ
2.) สร้างความเสียหายต่อร่างกายหรือจิตใจอย่างรุนแรง
3.) มีการกระทำการแบบคำนวนให้สภาพชีวิตของกลุ่มคนถูกทำลายทางกายโดยบางส่วนหรือโดยทั้งหมด ซึ่งมีการไตร่ตรองไว้ก่อน
4.) ออกมาตรการห้ามไม่ให้กลุ่มคนให้กำเนิด
5.) บีบบังคับให้มีการย้ายเด็กจากกลุ่มนั้นๆ

ขณะที่ "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" หรือ genocide นั้นต้องมีเจตนาที่จะกำจัดกลุ่มคนนั้นๆ ทั้งกลุ่ม โดยถึงแม้ว่าจะพิสูจน์เจตนาไม่ได้แต่อาชญากรรมเช่นนี้ก็ยังถือเป็น "อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" หรือเข้าข่าย "การกวาดล้างเผ่าพันธุ์" ได้แต่ไม่ถึงขั้นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มีการพยายามวางเกณฑ์ทางกฎหมายมาโดยตลอดว่าจะวัดเจตนากันอย่างไร ทำให้มีเพียงไม่กี่รายเท่านั้นในประวัติศาสตร์ที่ถูกตัดสินว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หนึ่งในนั้นคือระบอบนาซี และอีกรายหนึ่งคืออดีตนายกเทศมนตรีทาบคอมมูนในรวันดาที่ถูกตัดสินให้มีความผิดเพราะ "เขารับรู้หรือควรจะรับรู้ว่าการกระทำของเขาจะส่งผลให้เกิดการทำลายกลุ่มคนบางส่วนหรือทั้งหมด"

แล้วอะไรคือ "การกวาดล้างเผ่าพันธุ์" ?

การกวาดล้างเผ่าพันธุ์นั้นสื่อถึงแค่ว่ามีการขับไล่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งออกไปจากพื้นที่หนึ่งๆ แม้ว่าจากนิยามของยูเอ็นแล้วการกวาดล้างเผ่าพันธุ์จะไม่ถูกจัดเป็นอาชญากรรมในระดับนานาชาติ แต่ในความเป็นจริงการกวาดล้างเผ่าพันธุ์และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั้นมีเส้นแบ่งที่พร่าเลือน เจมส์ ซิลค์ ศาตราจารย์ด้านสิทธิมนุษยชนจากวิทยาลัยกฎหมายของเยลกล่าวว่า "ถึงแม้ถ้าแรงจูงของคุณจะอยู่ที่การขับให้ผู้คนออกไป แต่ถ้าคุณกระทำมันด้วยเจตนาที่ต้องการทำลายกลุ่มๆ นั้น มันก็จะถือเป็น 'การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์' ด้วย"

ในกรณีของโรฮิงญานั้นรายงานของสหประชาชาติระบุว่ารัฐบาลพม่ากระทำการโดยวางแผนอย่างเป็นระบบในการละเมิดสิทธิมนุษยชนบีบบังคับให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากต้องอพยพออกจากหมู่บ้านตัวเอง

บทลงโทษของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คืออะไร?

อนุสัญญาของยูเอ็นระบุว่าผู้ที่ก่อเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จะต้องถูกงโทษไม่ว่าจะเป็นผู้นำ เจ้าหน้าที่รัฐ หรือปัจเจกบุคคลที่มีส่วนร่วม แต่ก็ไม่ได้ระบุบทลงโทษชัดเจนทำให้ที่ผ่านมามีการพิจารณาลงโทษตั้งแต่จำคุก 10 เดือน ไปจนถึงจำคุกตลอดชีวิตตามแต่บทบาทของผู้มีส่วนร่วมในอาชญากรรม

นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดขอบเขตอำนาจของศาลโลกที่ไม่สามารถออกคำสั่งจับกุมผู้ก่อเหตุได้ด้วยตนเองแต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากชาติใดชาติหนึ่งในบังคับใช้คำสั่งลงโทษ ในกรณีที่ศาลของประเทศที่เกิดเหตุและลงนามในอนุสัญญาไม่มีการลงโทษผู้ก่อเหตุ

มีการยกตัวอย่างกรณีของรวันดาที่กองทัพและกลุ่มติดอาวุธชาวฮูตูออกสังหารชาวทุตซีและนักการเมืองฮูตูสายกลาง ทำให้เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2537 โฆษกการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาประกาศว่าเหตุการณ์ในรวันดาอาจจะนับเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เรื่องนี้มีการหารือจากฝ่ายกลาโหมของสหรัฐฯ ที่ระบุว่าการออกมาประกาศว่าเรื่องนี้เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อาจจะทำให้สหรัฐฯ มีพันธะต้อง "ทำอะไรสักอย่าง"

แล้วในกรณีของพม่าเป็นเช่นไร?

กรณีของพม่า สหรัฐฯ ก็กังวลในแบบเดียวกันว่าการใช้คำว่า "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" จะทำให้พวกเขามีพันธะทางกฎหมายและทางจริยธรรมในการต้องทำอะไรสักอย่างกับพม่า ปัญหานี้ยังเกิดจากการที่รัฐบาลบารัค โอบามา เคยยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเมื่อเห็นว่าสถานการณ์ประชาธิปไตยในประเทศดีขึ้น ซึ่งซิลค์ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลโอบามาพยายามหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ส่วนหนึ่งเพราะกลัวว่าจะทำลายสิ่งที่เขาเคยบอกไว้ว่าพม่าเป็นประเทศที่ "เป็นประชาธิปไตยอย่างมีความหวัง" ด้วย

โจชัวร์ เคอร์ลันซิค นักวิจัยอาวุโสด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวว่าสหรัฐฯ น่าจะไม่เรียกสถานการณ์ในพม่าว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จนกว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญหรือยูเอ็นพูดแบบนี้ก่อน ทางยูเอ็นเองก็รั้งรอที่จะพูดว่ามันเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพราะกลัวว่าจะกระทบต่อความพยายามนำประเทศพม่าจากการปกครองระบอบทหารไปเป็นประชาธิปไตย อีกทั้งยูเอ็นยังไม่สามารถตัดสินเรื่องเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้ดยที่ไม่มีคณะกรรมการสืบสวนในเรื่องนี้ก่อน โดยต้องรอการรับรองจากสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ รวมถึงต้องอาศัยความร่วมมือจากพม่าในการอนุญาตให้คณะผู้สืบสวนเข้าไปในประเทศได้

ความกังวลว่าความรับผิดชอบจะตกอยู่กับผู้ท่ประกาศว่าเป็น "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" นี้เองทำให้เป็นเรื่องยากที่สหรัฐฯ จะเป็นฝ่ายเข้าไปเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในพม่าแต่เพียงฝ่ายเดียว แม้แต่กรณีรวันดาเองก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาลรวันดาจนทำให้ผู้ก่อเหตุถูกนำสู่กระบวนการยุติธรรมในอีก 20 ปีหลังจากนั้นได้

อย่างไรก็ตาม ทาสนิม โมตาลา ทนายความจากคลินิคกฎหมายสิทธิมนุษยชนนานาชาติโลเวนสไตน์ วิทยาลัยกฎหมายเยล กล่าวว่าประชาคมโลกยังต้องรับผิดชอบตามกฎหมายนานาชาติไม่ว่าการก่อเหตุเหล่านั้นจะเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่ก็ตาม ในหลักการว่าด้วยความรับผิดชอบต่อการคุ้มครองระบุว่ารัฐที่ไม่สามารถคุ้มครองระบุว่ารัฐที่ไม่สามารถปกป้องประชากรตนเองจาก "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมสงคราม การกวาดล้างเผ่าพันธุ์ และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" ได้ ประชาคมโลกจะต้องทำอะไรบางอย่าง แต่ปัญหาคือกฎหมายนานาชาติจะไม่สามารถบังคับใช้ได้ถ้าหากไม่มีการสนับสนุนจากบางรัฐหรือจากประชาคมโลก

เรียบเรียงจาก

What’s the difference between genocide and ethnic cleansing?, PBS, 24-10-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท