Skip to main content
sharethis

เมื่ออัตลักษณ์ทางเพศและศาสนาไปด้วยกันไม่ได้ LGBT ในสามจังหวัดจึงต้องเลือกแตกหัก ต่อรอง หรือปรับเปลี่ยนตนเอง คือวิธีจัดการและคลี่คลายความขัดแย้งภายในตน

3 ปีก่อน เอ๋ (นามสมมติ) ตัดสินใจหนีออกจากบ้านที่ยะลามาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ เมืองเทพสร้างที่เธอเคยสาบานว่าจะไม่มีวันมาอยู่อาศัยเด็ดขาด เธอฝ่าฝืนคำสาบานของตัวเองเพราะไม่อาจทนแรงกดดันจากครอบครัวได้อีกต่อไป

เอ๋รู้ตัวตั้งแต่จำความได้ว่า เธอเป็นทอม ตอนนั้นเธอยังไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่ตนเองเป็นเรียกว่าอะไร รู้เพียงว่าเธอแปลก เธอผิดปกติ ทำไมถึงรู้สึกขัดเขินยามสนิทสนมกับผู้หญิง เอ๋เคยหลอกตัวเองด้วยการลองคบหาผู้ชาย แต่ก็ทนฝืนได้ไม่นาน

“ตอนเด็กๆ น้อยเนื้อต่ำใจพ่อแม่ หนูมีพี่น้อง 6 คน ผู้ชาย 4 คน หนูเป็นคนที่ 3 คิดว่าพ่อแม่รักลูกผู้ชายมากกว่า ทำกับลูกชายแบบหนึ่ง กับลูกสาวอีกแบบหนึ่ง เราต้องรับผิดชอบทุกอย่างในบ้าน แต่ลูกชายไม่ต้องทำอะไรเลย เลยถามเขาว่าทำไมต้องเป็นเราอยู่คนเดียวที่ทำงานบ้าน คำตอบเดียวที่เขาให้มาคือเพราะคุณเป็นผู้หญิง ต้องทำงานในบ้านทุกอย่าง มีการโต้เถียงกัน แต่สุดท้ายก็ได้คำตอบเดิมๆ คิดในใจว่าถ้าเราเกิดมาเป็นผู้ชายก็คงจะดี พ่อแม่คงจะรักเรามากกว่านี้”

ครอบครัวของเอ๋ค่อนข้างเคร่งครัดในแนวทางศาสนา พ่อของเอ๋เป็นคนหนึ่งที่ริเริ่มผลักดันให้มีการคลุมฮิญาบในยะลาอันเป็นผลจากการปฏิวัติอิหร่านในยุคนั้น เอ๋จึงต้องคลุมฮิญาบตั้งแต่เด็ก เธอไม่เคยชอบ มันทั้งร้อนและยุ่งยาก ขณะที่ผู้ชายกลับแต่งตัวแบบไหนก็ได้ เป็นอีกครั้งที่เธอตั้งคำถามกับพ่อว่าทำไมเธอถึงต้องคลุมฮิญาบ

“คุณพ่อตอบว่าพระเจ้าไม่ชอบ พระเจ้าสั่ง ไม่ใส่แล้วบาป ตกนรก การที่มีผู้ชายเห็นเส้นผมเราแค่เส้นเดียวตกนรก 40 ปี เขาจะอ้างถึงพระเจ้าเสมอ หนูถามต่อไปว่าแต่มันร้อนนะ ร้อนมาก เคยลองท้าให้เขามาใส่ดูบ้าง เขาก็ตอบว่าในนรกร้อนกว่า สำหรับหนูตอนนั้นไม่เมคเซ๊นส์เลย หนูคิดว่าการเปิดผมไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ทำไมพระเจ้าจะต้องเกลียดกับแค่ที่เราเปิดผมให้คนอื่นเห็น”

นอกจากความยุ่งยากแล้ว ฮิญาบยังเป็นสัญลักษณ์ของสตรีเพศ มันจึงยากจะยอมรับสำหรับเอ๋ที่นิยามตัวเองเป็นผู้ชาย เธอเลือกคลุมผมเวลาอยู่บ้านและถอดฮิญาบออกเมื่อใช้ชีวิตนอกบ้าน

“ตราบใดที่เรายังอยู่ในฮิญาบ เขาก็ยังมองว่าเราเป็นผู้หญิงอยู่ มันอำพรางตัวได้ง่ายกว่าการถอดฮิญาบออก ผมเราสั้น แต่พอคลุมฮิญาบเท่านั้นแหละ เป็นผู้หญิงทันที

“ตอนนั้นการที่เราเป็นทอม หนูเชื่อว่ามันบาป แต่บาปร้อยเปอร์เซ็นต์มั้ย ก็ไม่ อีกใจหนึ่งก็คานความคิดว่า ไม่เป็นไร ถึงเราจะเป็นแบบนี้ แต่เรายังเชื่อในพระเจ้า พระเจ้าเมตตา ทรงให้อภัยเสมอ กฎเหล็กของอิสลามคือตราบใดที่ยังเชื่อในพระเจ้า บาปทั้งหมดก็จะหลุดพ้น เลยคิดว่าเรายังเชื่อพระเจ้า ต่อให้เราเป็นทอม พระเจ้าก็คงให้อภัยได้ แต่อีกใจยังตั้งคำถามว่า ถ้าพระเจ้าไม่รัก ที่พระเจ้าบอกว่าเพศที่สามเป็นชาวนรก ทำไมล่ะ ถ้าเรารักพระเจ้าแล้ว แล้วพระเจ้าจะยังโกรธเกลียดเราเหรอ เราจะยังเป็นบ่าวที่ดีของพระเจ้าไม่ได้เหรอ เราแค่เป็นแบบนี้ แล้วถ้าพระเจ้าทรงเกลียด เรียกเราเป็นชาวนรก พระเจ้าจะสร้างเรามาทำไม”

เอ๋เล่าว่า เธออยู่กับความอึดอัดนี้มาตลอด กระทั่งพ่อแม่เธอเริ่มกดดันให้เธอแต่งงาน ใช่, กับผู้ชาย นั่นเป็นจุดแตกหักที่เธอตัดสินใจหนีมาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ

“อยู่บ้านไม่ได้ พ่อแม่ไม่สามารถรับความเป็นเราได้เลย พอเริ่มโตขึ้น เขาจะกดดันเรื่องแต่งงาน จะเป็นทอมก็เป็นไป แต่ยังไงก็ต้องแต่งงาน ทุกวันที่ตื่นมาจะมีแรงกดดันให้แต่งงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เขาพยายามซ่อมเราด้วยการให้เราแต่งงาน เพราะคิดว่าการเป็นทอมคือโรคที่สามารถแก้ได้ด้วยการแต่งงานกับผู้ชาย และเหมือนเป็นจุดสูงสุดของชีวิตคนอิสลามมลายูที่นอกจากเรื่องการศึกษาแล้วก็คือการมีผัว มีลูก เป็นค่านิยมแบบนั้น”

หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ เอ๋ค่อยๆ ปลดเปลื้องตัวเองออกจากพันธนาการทางศาสนา เธอตั้งคำถามต่อความมีอยู่ของพระเจ้าและเลือกเดินออกจากอิสลาม แน่นอน นี่ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ความสัมพันธ์กับพ่อแม่ที่เปราะบางอยู่แล้ว ...แหลกสลายก็ยังอาจเป็นคำที่เบาไป ว่างเปล่า เป็นคำที่เธอใช้

เอ๋ไม่ใช่คนเดียวที่หนีการแต่งงาน บุษยมาสเล่าชีวิตของน็อต (นามสมมติ) กะเทยคนหนึ่งให้ผมฟังว่า หลังจากพ่อเสียชีวิต ผู้เป็นพี่ชายก็รู้สึกว่าตนเองต้องรับผิดชอบครอบครัว เขาจึงพยายามทำให้น็อตหายจากการเป็นกะเทยด้วยการจับแต่งงานเมื่อเรียนจบ น็อตเลือกเส้นทางของตนด้วยการไม่เรียนต่อ พาตัวเองไปทำงานอยู่หัวหิน ไว้ผมยาว ใช้ชีวิตตามเพศที่เลือก กลับมาบ้านปีละครั้งช่วงเทศกาลฮารีรายอ ซึ่งเป็นเทศกาลสำคัญของชาวมุสลิมในสามจังหวัด

น็อตจะกลับบ้านด้วยทรงผมที่ตัดสั้น กลับไปเป็นผู้ชายชั่วคราว

................

ไม่ใช่คนหลากหลายทางเพศทุกคนที่เลือกจะแตกหักแบบเอ๋ ราคาที่ต้องจ่ายมันแพงเกินไป สำหรับบางคน เมื่อสองอัตลักษณ์ปะทะกัน พวกเขาเลือกประนีประนอมและต่อรองให้อัตลักษณ์ทั้งสองอยู่ร่วมกันได้ภายใต้กรอบความเชื่อทางศาสนา ไม่ทำร้ายตนเองและคนรอบข้างจนเกินไป

“การปะทะระหว่างอัตลักษณ์ ผมคิดว่ามันมีพื้นที่และเวลาของมัน คนเรามีหลายอัตลักษณ์ขึ้นกับเวลาและสถานที่ แอลจีบีทีในวันรายอ เขาอาจแต่งชุดของเขาตามเพศกำเนิด เพราะมันเป็นสีสัน เป็นวันที่เขาผูกพัน ร่วมสังสรรค์กับญาติพี่น้องของเขา เขารู้ว่าเขาควรจะทำอะไร ในเวลาใด กาลเทศะไม่ใช่เพดานของสิทธิและเสรีภาพ แต่เป็นการปฏิสัมพันธ์กับบางสิ่งบางอย่างที่ไม่เหมือนเรา และเราจะอยู่กับสิ่งนั้นอย่างไร

“เวลาที่เขาเลือกแสดงออกระหว่างอัตลักษณ์ทางเพศของตนกับอัตลักษณ์มลายู สำหรับผม มันเป็นความชาญฉลาดและผมคิดว่าเขาก็มีความสุขที่ได้แสดงหลายอัตลักษณ์ ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องบังคับให้เขามีอัตลักษณ์เดียว แต่บางกรณีเขาก็อาจรู้สึกอึดอัด ทุกคนไม่ได้อะไรทั้งหมด การดีลกับความไม่เหมือนจึงน่าสนใจ” เป็นความเห็นของเอกรินทร์ ต่วนศิริ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

กะเทยวัยรุ่นในตัวเมืองยะลา นาน่า วีนัส ชื่อในวงการที่เธอใช้เรียกตัวเอง เธอเลือกแสดงออกอัตลักษณ์ทางเพศให้สังคมรับรู้ ในเวลาเดียวกัน เธอก็ไม่ขาดหายจากการปฏิบัติศาสนกิจที่มุสลิมที่ดีพึงทำ มันไม่ง่าย แต่ก็ไม่ถึงกับย่ำแย่นัก จะให้เดินเข้ามัสยิดแบบหน้าสด? เธอทำไม่ได้ ขืนทำแบบนั้นความมั่นใจเป็นได้หล่นหายก่อนถึงมัสยิด

นาน่าแต่งหน้าเมื่อต้องไปละหมาดที่มัสยิด ใส่ชุดปกติสำหรับทำศาสนกิจ บรรดาผู้ใหญ่ก็มองเป็นเชิงถามบ้างว่า ‘เยอะไปหรือเปล่า’ ถ้าเป็นรุ่นราวคราวเดียวกันก็เลือกนินทาให้เธอได้ยิน เธอบอกว่าเพราะเธออยู่ในเมือง การแสดงออกของเธอจึงไม่ใช่เรื่องซีเรียส ความเป็นเมืองช่วยดูดซับแรงปะทะจากความหลากหลาย

“เราต้องดูพื้นที่ด้วยว่าเราสามารถแต่งตัวได้แบบไหน ไม่ใช่ว่าเราจะนุ่งสั้นเลย พ่อแม่หนูก็รู้ว่าเราเป็นแบบนี้ แต่หนูไม่เคยใส่สั้น เวลาหนูไปไหนก็พยายามแต่งตัวให้เกียรติสถานที่ แต่งหน้า ผมเกรียน ให้เขารู้ว่าเราเป็น แต่ไม่เว่อร์”

“รู้สึกบาปมั้ย” ผมถาม

“ก็รู้สึกค่ะ แต่เราเกิดมา เราเลือกไม่ได้ เราพยายามเป็นคนดีให้เขาเห็น เราไม่ใช่แบบว่าจะเป็นหญิงไปเลย การที่เราเป็นแค่นี้กับเป็นมากกว่านี้ ไม่เหมือนกันนะคะ บาปก็ไม่เท่ากัน เรารู้ตัวว่าเรามีบาป แค่นี้ก็บาปแล้ว เราเลยพยายามแค่นี้พอ”

“เคยอยากแปลงเพศมั้ย”

“ถ้าตอน ม.1 ม.2 เราเห็นรุ่นพี่ เราเห็นตามสื่อต่างๆ เขาสวย ผมยาว มีนม เราก็อยากจะเป็น อยากเหมือนเขา แต่ความเป็นจริงเราอยู่ศาสนานี้ เราเป็นมุสลิม สังคมด้วย เราเรียนรู้ เราโตมา เราไปศึกษาดู พ่อแม่ก็ไม่ได้ห้ามไปเลย แต่ก็มีกรอบให้เรา เราก็ไม่เอาดีกว่า แค่นี้พอแล้ว แค่นี้ท่านก็ลำบากใจพอแล้ว”

“แล้วถ้าวันหนึ่งเราอยากจะเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้หญิงล่ะ”

“คงต้องห้ามใจ ในเมื่อเราเป็น ความรู้สึกมี มันก็ไม่มีได้ พอมันมีอีกครั้งหนึ่งก็ต้องไม่มีได้ คนเราความรู้สึกมันเปลี่ยนแปลงไปตลอด เราก็พยายามเสพสื่อให้น้อยลง พยายามเสพสื่อที่ดูแล้วเหมาะกับเรา เราก็มีรุ่นพี่ที่ไปทำงานกรุงเทพ ก็เป็นแบบนี้ เขาสวย แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องสวย ผมยาว มีนม แค่นี้เราก็มีความสุขแล้ว มันขึ้นกับความสุขหนูมากกว่า ถ้าเราทำมากกว่านี้เราก็รู้สึกว่าคนอื่นเขามอง เราก็ไม่มีความสุข ทำแค่นี้พอแล้วค่ะ”

“แปลว่ายังแคร์สายตาคนอื่นอยู่”

“ใช่ค่ะ”

ถ้าวันหนึ่งถูกจับแต่งงานกับผู้หญิง นาน่าบอกทันทีว่าเธอทำใจไม่ได้ เคยบอกกับที่บ้านว่า ถ้าบังคับเธอแต่งงาน “หนูจะหนีออกจากบ้าน จะหาผัวผู้ชายให้ดู แต่เขาก็ยิ้มๆ ทางบ้านหนูเปิดและยอมรับหนู

“ถ้าเป็นไปได้หนูคงไม่เชิงว่าแต่งงาน หนูยังให้เกียรติ เสพสื่อมาเยอะ แต่งงานแล้ว มีพิธีมงคล แต่ทำไมคนเขากดดัน ไปว่าด่าดูถูกจนไม่ใช่พิธีมงคล แค่ใช้ชีวิตด้วยกันก็พอ ซึ่งเราคงต้องฟังทั้งฝั่งพ่อแม่เขา พ่อแม่เรา ส่วนสายตาคนอื่นเราก็แคร์เหมือนกัน แต่ไม่มาก ในเมื่อเราสองคนรักกัน มีความสุข แต่ถ้าทำให้คนอื่นลำบาก หนูขอบายดีกว่า มันหนักใจนะคะ อยู่ด้วยกันมีความสุข แต่ถ้าคนอื่นมาทำให้เราไม่มีความสุข อยู่ไปก็ไม่มีความสุข สักวันหนึ่งก็ต้องเลิก”

ถามถึงการคลุมฮิญาบ นาน่าบอกว่าถ้าเป็นงานกิจกรรมก็ใส่บ้าง แต่ในชีวิตประจำวันไม่ใส่ เธอเกรงใจทางบ้านและรู้สึกว่าต้องให้เกียรติผ้าคลุม เว้นเสียแต่ว่าจะออกนอกพื้นที่ยะลา

“อยู่ในสามจังหวัดดูว่ากะเทยหนักกว่า แต่จริงๆ แล้วผู้หญิงหนักกว่า เพราะการไม่ใส่ฮิญาบเป็นการเปิดเผย ทอมในสามจังหวัดมีเยอะ กะเทยยังมีความให้เกียรติ คือเป็นผู้ชายไม่ต้องใส่ผ้าคลุมก็ได้ แต่ถ้าเป็นทอมก็อยากเป็นผู้ชาย ก็ไม่ใส่ผ้าคลุม เลยชัดเจนกว่า เปิดเผยตัวโดยที่ผิดหลักศาสนา”

..............

“การปะทะระหว่างอัตลักษณ์ ผมคิดว่ามันมีพื้นที่และเวลาของมัน คนเรามีหลายอัตลักษณ์ขึ้นกับเวลาและสถานที่... เขารู้ว่าเขาควรจะทำอะไร ในเวลาใด กาลเทศะไม่ใช่เพดานของสิทธิและเสรีภาพ แต่เป็นการปฏิสัมพันธ์กับบางสิ่งบางอย่างที่ไม่เหมือนเรา และเราจะอยู่กับสิ่งนั้นอย่างไร"

ย้อนกลับมาที่เอกับบี ความรักของพวกเขาทั้งคู่เป็นความรักข้ามพรมแดนศาสนา เอเป็นมุสลิม บีเป็นพุทธ ปัจจุบันทั้งคู่นิยามตนเองเป็นเกย์ ส่วนอดีต เอเป็นกะเทย บีเป็นผู้ชาย เอและบีพบกันผ่านโลกโซเชียล ไม่นานก็ตัดสินใจอยู่ด้วยกันเพื่อช่วยกันประกอบธุรกิจ กว่าเอจะมาถึงจุดนี้ เขาผ่านความเจ็บปวด การต่อรอง การเปลี่ยนแปลงตนเองมามากมาย

เอเล่าให้ฟังว่า เขาเคยผ่านช่วงเวลาที่เป็นกะเทย แต่งหญิง กินยาคุม ผ่านกระบวนการทุกอย่างเท่าที่ผู้ชายคนหนึ่งที่ต้องการเปลี่ยนตัวเองสู่ความเป็นหญิงจะทำได้ ขาดก็แต่การแปลงเพศ ความเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัวมุสลิมที่ค่อนข้างมีหน้ามีตาในพื้นที่ ทำให้พ่อแม่ไม่อาจยอมรับความเป็นตัวเขาได้ เกิดการดุด่ารุนแรง ถูกไล่ออกจากบ้าน เลยเถิดถึงขั้นลงไม้ลงมือ จบลงด้วยการหนีไปใช้ชีวิตเป็นแดนเซอร์ในกรุงเทพฯ

“ในสังคมกรุงเทพ เขาจะบอกว่าไม่ต้องเป็นกะเทย ถ้าจะเป็นก็เป็นผู้หญิงไปเลย ถ้าจะเป็นเกย์ก็เป็นเกย์ไปเลย ผมไปอยู่ในสังคมเกย์ อยู่ที่ยะลาคือฟรีแลนซ์จะเป็นอะไรก็ได้ แต่ที่นั่น ที่กรุงเทพฯ ไม่ได้ ชีวิตที่นู่น ถ้าน้องๆ ที่นี่ได้ไปสัมผัส ผมเชื่อว่าน้องๆ ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะถ้าอยู่อย่างนี้ ผมก็เป็นเกย์ไม่ได้หรอก ผมต้องเป็นกะเทยเหมือนเพื่อน แต่ผมไปอยู่ในสังคมเกย์ เพื่อนทั้งหมด 10 คนเป็นเกย์หมด ผมก็ต้องเป็นเกย์”

ความเป็นเกย์ยังคงเก็บภาพลักษณ์ความเป็นชายได้ ไม่เหมือนกะเทย ครอบครัวของเอยอมรับได้ง่ายกว่า เขาเริ่มไว้หนวดเครา เตะฟุตบอล แต่งตัวเป็นผู้ชาย กับหัวใจเกย์

“นั่นแหละคือสิ่งที่พ่อแม่เห็นภายนอก แต่ข้างในยังเหมือนเดิม ซึ่งเขายอมรับได้ว่านี่คือลูกเรา แค่นั้นก็พอแล้ว”

เจ็ดปีในกรุงเทพฯ เอกลับยะลาในฐานะเกย์ ไม่ใช่กะเทยเหมือนครั้งจากไป พ่อแม่ยอมรับภาพลักษณ์นี้ได้มากกว่า เขาเริ่มทำธุรกิจของตนเองจากประสบการณ์และความรู้ที่สั่งสมมาจากชีวิตกร้านกรำในกรุงเทพฯ ทั้งเมคอัพ อาร์ตทิสต์ ช่างทำผม กระทั่งเป็นครูสอนเต้น เหมือนเรื่องจะจบลงอย่างมีความสุข ...ก็ไม่อย่างนั้นเสียทีเดียว

“พ่อแม่ก็ไม่ยอมรับอีก ทำไมไปสอนเต้น ไปแต่งหน้า เพราะการสัมผัสตัวระหว่างชายหญิงในอิสลาม บาปแน่นอน แต่ด้วยความที่ผมอยากให้พ่อแม่ยอมรับผมให้ได้ว่ามันเป็นอาชีพ จนสุดท้าย 3 ปีหลัง แม่เห็นว่าเราพยายาม ตั้งใจเปลี่ยนแปลงตัวเอง แกก็เลยยอมรับ”

ไม่ต่างจากนาน่าหรือเอ๋ บาปเกาะกินความรู้สึก

“ถ้าพูดตามหลักศาสนาแล้วคือบาป เพราะตามหลักศาสนามีแค่ชายกับหญิงเท่านั้น เกย์ ตุ๊ด บาปหนัก ก็รู้สึกบาปครับ แต่ผมคิดว่ามันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แค่เราดำเนินชีวิตปกติที่เราเป็นอยู่ ณ ตอนนี้ แค่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ผมไม่ซีเรียส”

หลังจากเริ่มทำธุรกิจของตัวเอง เอต้องการคนที่อยากจะเดินทางร่วมกัน ใช้ชีวิตร่วมกัน ทำมาหากินร่วมกัน แล้วบีก็เข้ามา บีซึ่งก่อนนี้เคยผ่านการมีครอบครัวและมีลูกมาแล้ว เอเชื่อว่าพ่อแม่น่าจะรู้ความสัมพันธ์ของเขากับบีและน่าจะรับได้ เพราะทั้งสองต่างก็ช่วยกันทำมาหากิน

บียอมรับว่า การใช้ชีวิตนอกชายคาวางตัวลำบาก พวกเขาต้องทำตัวเหมือนเพื่อนชายสองคน ขณะที่ชีวิตส่วนตัวเป็นอีกแบบหนึ่ง

เอบอกว่า เขาเชื่อว่าต้องมีคนที่คิดและนินทาทำนองว่า นี่ไง เพราะไปคบหากับคนนอกศาสนาจึงพาให้เป็นแบบนี้ แต่เขาไม่สนใจ

“ในความคิดของผมนะ การเป็นเกย์จะอยู่ในสังคมง่ายกว่า เพราะมีภาพของความเป็นผู้ชาย พอเรามีเพื่อนเป็นผู้ชายก็สบายๆ อย่างผมสองคนสามารถอยู่ในหมวดหมู่ของผู้ชายแท้ๆ ไปเล่น ไปกินได้ทุกอย่างปกติ คนอื่นมองเข้ามาอาจจะไม่คิดว่าเป็น เรารู้กันแค่สองคน ไม่ต้องมาบอกใครว่านี่แฟนนะ การใช้ชีวิต เราใช้เป็นครอบครัวมากกว่าเป็นแฟน พออยู่ข้างนอกเราทำงาน เราเพื่อนกัน เรารู้อยู่แล้วว่าเป็นแฟนกันนี่แหละ แต่บางทีสังคมไม่ต้องการแบบเรา เราก็ต้องบอกสังคมอีกแบบหนึ่ง”

ถ้าวันหนึ่งถูกกดดันให้ต้องแต่งงานกับผู้หญิง?

“ถามว่าวันหนึ่งผมต้องการมั้ย ผมต้องการ แต่ผมต้องการจุดยืนของตัวเองให้มั่นคงก่อน ถึงจะไปดูแลอีกคนหนึ่งที่เป็นผู้หญิงได้ ลูกก็อยากมี อยากมีชีวิตแบบครอบครัว แต่ ณ เวลานี้เรากำลังค้นหาจุดที่อยู่ วันหนึ่งเราอยากมี แต่ขอให้วันนั้นมันสมบูรณ์ทุกอย่าง เราสามารถดูแลลูกเขาได้ ถึงตอนนั้น ผมก็ต้องเลือกเพื่อครอบครัว

แล้วจะมีความสุข?

“ผมคิดว่าเราต้องเรียนรู้กัน”

“ถ้าวันนั้นยังรักบีอยู่ล่ะ”

“ผมคิดว่าความรักไม่ต้องจากกันเพราะชีวิตคู่ เราจะไปมีภรรยาแล้วนะ เราจะต้องเลิกกันมั้ย ไม่จำเป็นขนาดนั้น เพราะเราอยู่ด้วยกันทุกวันนี้ เราอยู่กันแบบครอบครัวมากกว่า คือใช้ชีวิตแบบครอบครัว แบบพึ่งพาอาศัยกันและกัน เป็นเพื่อนชีวิต ถ้าวันหนึ่งเราต้องแยกกัน เราสองคนจะดีใจ เราต่างไปมีครอบครัว เราเคยคุยกันแล้วว่าถ้าวันหนึ่งเราต้องแยกจากกันจริงๆ ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ขอให้แยกกันแบบยิ้ม ไม่เอาทะเลาะโวยวาย”

ผมหันไปมองหน้าบี เขาเพียงเงียบและยิ้ม

(ตอนต่อไปซึ่งเป็นตอนสุดท้าย จะกล่าวถึงหนทางเล็กๆ เท่าที่มีในการอยู่ร่วมกัน)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net