Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ในฐานะของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (human rights defender) คนหนึ่ง ซึ่งมักจะได้รับการสอบถาม ประชดประชัน แดกดัน ต่อว่า ด่าตรงๆ ฯลฯ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวที่ปกป้องและเรียกร้องให้มีการปฎิบัติเยี่ยงมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญาอยู่เสมอ โดยผู้ที่มีทัศนคติทางลบต่อชาวโรฮิงญามักมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อชาวโรฮิงญาในหลายๆประการจนเป็นมายาคติฝังลึกเมื่อกล่าวถึงชาวโรฮิงญา

ในการนี้เครือข่ายเพื่อสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (Coalition for Rights of Refugee an Stateless Person - CRSP) ซึ่งประกอบไปด้วยองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนหลายองค์กรเข้าด้วยกันได้จัดทำคำถามคำตอบเกี่ยวกับข้อสงสัยหรือมายาคติที่มีต่อชาวโรฮิงญาว่าความจริงนั้นเป็นเช่นไร โดยคัดมาจากความคิดเห็นจริงในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ซึ่งผมขอนำคำอธิบายดังกล่าวจากเอกสาร “Freedom”ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย มาเสนอพร้อมกับความคิดเห็นส่วนตัวของผมเพิ่มเติมในคำตอบ ดังนี้


1) เขาพูดกันว่า

ปัญหาโรฮิงญา ทำไมไทยต้องมารับกรรม

ความจริง

ผู้อพยพชาวโรฮิงญาหลบหนีจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และทุกประเทศมี “หน้าที่”ตามพันธกรณีระหว่างประเทศในการปกป้อง นอกจากไทยแล้วยังมีหลายประเทศที่ให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญาแล้ว เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ตุรกี ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ขณะเดียวกันผู้อพยพโรฮิงญาบางกลุ่มในประเทศไทยเกิดจากขบวนการค้ามนุษย์ในไทยหลอกลวงและชักจูงเข้ามา

2) เขาพูดกันว่า

เขาให้มาอาศัยพักพิงก็บุญหัวจะตายแล้วล่ะ ยังจะมาสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้เจ้าหน้าที่อีก

ความจริง

ห้องกักในประเทศไทยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากลและการกักขังส่วนใหญ่ดำเนินไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา บางห้องอาจมีชาวโรฮิงญาถึง ๒๐๐ คน ห้องน้ำห้องหนึ่งอาจต้องใช้ร่วมกันถึง ๔๐ คน หลายคนขาดสารอาหารและต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากภายในห้องกัก จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าเหตุใดเขาเหล่านั้นจึงต้องพยายามหลบหนีออกมา

3) เขาพูดกันว่า

ข้าวฟรี ที่อยู่ฟรี ภาษีไม่ต้องเสีย ยังเรียกร้องขนาดนี้

ความจริง

พบว่าชาวโรฮิงญาหลายคนได้กินเพียงข้าวกับแตงกวา ข้อเรียกร้องของพวกเขาเป็นเพียงต้องการพบหน้ากับครอบครัว รู้ระยะเวลาที่แน่นอนในการถูกกัก ซึ่งไม่ได้มีความต้องการแตกต่างหรือมีความต้องการการดูแลที่ดีกว่าผู้ต้องกักอื่นๆแต่อย่างใด

4) เขาพูดกันว่า

โรฮิงญาเป็นประชากรที่ไม่มีคุณภาพ กิน ขี้ ปี้ นอน ไม่ยอมคุมกำเนิด ไม่ใช่เป็นแรงงานที่มีคุณภาพซึ่งเอาไปใช้ประโยชน์ได้

ความจริง

รัฐบาลพม่าไม่ยอมรับชาวโรฮิงญาเป็นพลเมือง ชาวโรฮิงญาจึงไม่มีสิทธิสถานะใดๆ รวมทั้งต้องขออนุญาตในการเดินทางซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิอย่างที่สุด เป็นเหตุให้ชาวโรฮิงญาไม่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเองได้เลย

5) เขาพูดกันว่า

โรฮิงญาเข้าพม่าครั้งแรกห้าหมื่นคน ตอนนี้แพร่พันธุ์ออกลูกเป็นสองล้านคน

ความจริง

ชาวโรฮิงญาอยู่มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 ก่อนจะเป็นรัฐยะไข่ในปัจจุบันพื้นที่ตรงนั้นรู้จักกันในนาม อาระกันซึ่งก่อนที่จะมีการก่อตั้งประเทศพม่าเสียอีก ภายหลังจากปี 1962 เมื่อมีการรัฐประหารขึ้นในพม่า ประชาชนทุกคนถูกบังคับว่าต้องมีบัตรแสดงตัวตน แต่ชาวโรฮิงญาพวกเขาได้รับพิจารณาให้ถือแค่บัตรที่ระบุว่า เป็นคนต่างชาติ ซึ่งการไม่ให้สัญชาติและการปฏิเสธสถานะชาติพันธุ์โรฮิงญาของรัฐบาลพม่าทำให้ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนถึงจำนวนของชาวโรฮิงญา ในปัจจุบันอัตราการตายของเด็กแรกเกิดชาวโรฮิงญาสูงเป็น 2 เท่าของอัตราเฉลี่ยทั่วโลก และอัตราการตายของเด็กชาวโรฮิงญาที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ เป็น 2 เท่าของอัตราการตายเฉลี่ยของประเทศพม่า

6) เขาพูดกันว่า

โรฮิงญาสร้างแต่ปัญหา

ความจริง

การปะทะระหว่างชาวโรฮิงญาและชาวยะไข่ในปี 2555 ทำให้คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญากว่าแสนคนต้องหลบหนีอยู่ภายในพม่า ที่ผ่านๆมาทุกปีชาวโรฮิงญาต้องหนีออกจากพม่านับแสนคน ล่าสุดตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมปี 2560 นี้ ชาวโรฮิงญาต้องอพยพข้ามพรมแดนไปลี้ภัยในบังคลาเทศกว่า ห้าแสนคน มิหนำซ้ำจากรายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่ามีการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลไว้ในชายแดนโดยกองทัพพม่า เพื่อมิให้ชาวโรฮิงญากลับมายังบ้านเรือนของตนเองที่บางส่วนถูกเผาทิ้งเสียอีก ที่น่าเศร้าก็คือองค์การแพทย์ไร้พรมแดนที่ต้องการช่วยเหลือชาวโรฮิงญาในพม่ายังถูกขับไล่ออกจากพื้นที่โดยชาวยะไข่อีกด้วย

ในจดหมายเปิดผนึกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลฉบับล่าสุดที่มีถึงประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา เรียกร้องให้ผู้นำประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อชาวโรฮิงญาโดยเรียกร้องให้อาเซียนจัดประชุมสุดยอดฉุกเฉินเพื่อแก้ปัญหานี้ เพราะที่ผ่านมาอาเซียนได้แสดงท่าทีต่อกรณีนี้ โดยออกแถลงการณ์ที่มีเนื้อหาที่เบามากฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2560 เกือบหนึ่งเดือนหลังความโหดร้ายในรัฐยะไข่อุบัติขึ้น โดยอาเซียนได้แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณดังกล่าว แต่หลีกเลี่ยงไม่ใช้คำว่า“โรฮิงญา”แต่อย่างใด

นอกจากปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนแล้วหากเรายังขืนปล่อยให้ปัญหาโรฮิงญาทวีความร้ายแรงเกิดขึ้นจนถึงกับมีการเพิ่มการจับอาวุธขึ้นต่อสู้แล้ว ปัญหาก็ยิ่งจะเพิ่มความร้ายแรงมากขึ้นไปอีกอาจกลายเป็นเงื่อนไขและโอกาสที่ขบวนการก่อการร้ายเข้ามาแทรกแซง และเมื่อถึงตอนนั้นก็คงต้องเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้าในภูมิภาคนี้ซึ่งก็ย่อมรวมถึงไทยเราเองด้วย

กล่าวโดยสรุปก็คือโรฮิงญาก็คือมนุษย์เช่นเดียวกับเราทุกคนที่จะต้องได้รับการปฏิบัติเฉกเช่นมนุษย์ทั้งหลายทีควรต้องปฏิบัติต่อกัน เรารักชีวิต โรฮิงญาก็รักชีวิตเช่นกัน ความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนาหรือถิ่นกำเนิดไม่สามารถลดทอน “สิทธิมนุษยชน”ลงได้ครับ

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 11 ตุลาคม 2560

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net