กลุ่มอีอีซี วอทช์ ยื่นหนังสือนายกฯ ถอนร่างอีอีซี เริ่มกระบวนการใหม่

กลุ่มอีอีซี วอทช์ ยื่นหนังสือนายกฯ เสนอความเห็นต่อกฎหมายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรียกร้องให้แก้ปัญหาเดิมก่อนเร่งเดินหน้าโครงการ หวังรัฐบาลถอนร่างและเริ่มกระบวนการใหม่ ดักคอ ไม่ควรเร่งดำเนินออกกฎหมายฉบับใดในช่วงเดือนตุลาคมนี้

วันนี้ (9 ตุลาคม 2561) เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ทางกลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี วอทช์ (EEC Watch) ได้เดินทางไปยื่นข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี (Eastern Economic Corridor: EEC) และความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.... ต่อนายกรัฐมนตรี โดยมีอิทธิพล ช่างกลึงดี นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการส่วนการมีส่วนร่วมของประชาชน (สสร.) ศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับหนังสือ

กัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงาน กลุ่มอีอีซี วอทช์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่แก่พื้นที่ 3 จังหวัด-ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง ตัวแทนจากกลุ่มอีอีซี วอทช์ ซึ่งมีประชาชนจากชลบุรี จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และสระแก้วที่ร่วมเดินทางมาด้วย จึงขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 43(3) เสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐ ดังนี้

1.รัฐต้องมีการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกหรืออีสเทิร์น ซีบอร์ด ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมและมีแนวทางจัดการปัญหาในระยะยาวอันเป็นที่ยอมรับได้ของประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมาโครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ดได้สร้างปัญหาหลายประการ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การแย่งชิงทรัพยากร ความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจะต้องเตรียมนโยบายแผนงานแก้ไขปัญหาก่อนที่จะเดินหน้าอีอีซี

2.รัฐจะต้องไม่เร่งรัดโครงการหรือกิจการที่อาจจะก่อผลกระทบในวงกว้างที่ปัจจุบันมีการคัดค้านกันอยู่ เช่น โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 โครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 โครงการนิคมอมตะนครแห่งที่ 2 เป็นต้น

3.รัฐต้องมีการปฏิบัติตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 โดยสมบูรณ์ด้วยในกระบวนการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอีอีซี กล่าวคือ ก่อนตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้าน เป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน

4.รัฐต้องจริงจังกับความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาของประชาชนในภาคตะวันออก

นอกจากนี้ ทางกลุ่มอีอีซี วอทช์ ยังได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.... ว่า

1.การพัฒนาอีอีซีเป็นแนวนโยบายต่อเนื่องจากอีสเทิร์น ซีบอร์ดที่ก่อผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่มาอย่างยาวนาน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และสุขภาวะ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environment Assessment) ของอีอีซีก่อนการดำเนินการใดของรัฐหรือก่อนที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ

2.การจัดให้มีการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจรเพื่อลดอุปสรรคและต้นทุนในการประกอบการ จะต้อองไม่เป็นการลดหย่อนสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนและลดหย่อยหลักการระวังไว้ก่อน (Precautionary Principle) ที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ กฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งใดๆ

3.การปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่ง หรือมีกฎหมายขึ้นมาใหม่ เพื่อให้การพัฒนาอีอีซีมีประสิทธิภาพ สะดวก และรวดเร็ว ต้องปฏิบัติตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 อย่างเคร่งครัด

4.การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ให้ชัดเจนแน่นอน โดยเหมาะสมกับสภาพและศักยภาพของพื้นที่ สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นหัวใจที่สำคัญยิ่ง เพราะฉะนั้นจะยกเว้นการนำกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองมาใช้บังคับในระหว่างการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงการพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค และคณะกรรมการนโยบายจะมีมติให้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนิการตามนโยบายและแผนตามมาตรา 29 ในเรื่องใดไปพลางก่อนไม่ได้ โดยต้องให้กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการจัดทำผังเมืองขึ้นใหม่ ในระหว่างที่ยังจัดทำผังเมืองไม่แล้วเสร็จ ให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามผังเมืองที่มีการประกาศบังคับใช้อยู่

5.ขอให้พิจารณาทบทวนกระบวนการจัดหาที่ดินเพื่อการพัฒนาอีอีซี ไม่ควรนำที่ดิน ส.ป.ก. ที่ราชพัสดุ ที่ดินของรัฐอื่นใด หรือที่ดินที่มีความสำคัญกับระบบนิเวศหรือวัฒนธรรมมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาอีอีซี หากจะมีการจัดหาที่ดินต้องให้เอกชนเป็นผู้จัดหาเอง

6.ประชาชนในภาคตะวันออกที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินควรได้รับสิทธิ์ในการเข้าถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและทำกินด้วย นอกจากนี้ การได้รับสิทธิประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดต้องมีเงื่อนไขเป็นไปเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ Sustainable Development Goals (SDGs)

สุภาภรณ์ มาลัยลอย จากมูลนิธิยุติธรรมสิ่งแวดล้อมหรือเอ็นลอว์ กล่าวกับประชาไทว่า เราหวังว่าควรจะถอนร่างฉบับนี้ออกมา แล้วดำเนินกระบวนการและประเมินอย่างถูกต้องตามมาตรา 77 ตามรัฐธรรมนูญก่อนเดินหน้า

“เราคิดว่ารัฐบาลไม่ควรเร่งรีบเพื่อตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาเพียงมองเรื่องอุตสาหกรรมหรือจีดีพีเท่านั้น เราคิดว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องคำนึงถึงคนในพื้นที่ด้วย เราคาดว่ารัฐบาลคงฟังเสียงภาคประชาชน ดีที่สุดคือถอนออกมาและอย่าเร่ง โดยเฉพาะในเดือนนี้ ไม่ควรเร่งดำเนินการใดๆ ทั้ง พ.ร.บ. ฉบับนี้และ พ.ร.บ. ฉบับอื่นใดที่กระทบกับสิทธิของประชาชน เพราะสิทธิของประชาชนที่จะมีส่วนร่วมและตรวจสอบเป็นสิ่งสำคัญ เราจึงคาดหวังว่าเราก็เป็นเสียงส่วนหนึ่งของประชาชนในภาคตะวันออก อยากให้ทบทวนและถอนร่างออกมาดำเนินการใหม่อีกรอบหนึ่ง”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท