Skip to main content
sharethis

คำถาม 3 ข้อเรื่องชาติพันธุ์ ศาสนาและความรุนแรง มิติเศรษฐกิจการเมือง กับท่าทีของไทยและตัวแสดงในเวทีระหว่างประเทศ ชะตากรรมร่วมของชนกลุ่มน้อยในภาคพื้นอ่าวเบงกอลกับการถูกทำให้เป็นอื่น สังคมไทยกับการจัดการผู้อพยพชาวโรฮิงญา เสนอ รบ. ไทยแสดงบทบาทมากกว่านี้

Image may contain: 4 people, people sitting, table and indoor

ภาพในงานเสวนา (ที่มา: สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล)

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดเวทีสนทนาแลกเปลี่ยนเรื่อง “โรฮิงญา” กับ “สังคมไทย” เกี่ยวกันไหม? ... ทำไมเกี่ยวกัน โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ พุทธณี กางกั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนจากองค์กร Fortify Rights  ศิววงศ์ สุขทวี ตัวแทนเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ  ศุภชัย ทองศักดิ์ ผู้ผลิตสารคดีและหนังสั้นซึ่งปัจจุบันกำลังทำสารคดีเกี่ยวกับชาวจักมา (Chakma) ชนกลุ่มน้อยชาวพุทธในบังกลาเทศ เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล  อดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติและรองประธานมูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี และ สักกรินทร์ นิยมศิลป์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

วิดีโอเสวนาจากเฟซบุ๊กเพจ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

วิกฤตโรฮิงญา ผลกระทบต่อไทยและคำถาม 3 ข้อเรื่องชาติพันธุ์ ศาสนาและความรุนแรง

“สถานการณ์ชาวโรฮิงญาในปัจจุบันอาจถือว่าเป็นวิฤตที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การอพยพของชาวโรฮิงญา ... จากข้อมูลของ UNHRC พบว่ามีผู้อพยพไปบังกลาเทศเกือบ 400,000 คน ภายใน 15 วันที่ผ่านมา”

ศิววงศ์ สุขทวี

ศิววงศ์ได้เปิดประเด็นด้วยภาพสถานการณ์วิกฤตชาวโรฮิงญาในรอบปัจจุบันซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นวิกฤตที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การอพยพของชาวโรฮิงญาได้ จากข้อมูลของ UNHCR บังกลาเทศ ระหว่างวันที่ 25 ส.ค. ถึง 11 ก.ย. 60 พบว่ามีผู้อพยพไปบังกลาเทศกว่า 370,000 คน ซึ่งรวมแล้วมีผู้อพยพทั้งหมดในบังกลาเทศมากกว่า 4 แสนคน หากมองเปรียบเทียบกับสถานการณ์อพยพครั้งก่อนในช่วงปีพ.ศ. 2555 – 2559 มีผู้อพยพชาวโรฮิงญาทั้งไปที่บังกลาเทศและอพยพทางเรือทั้งหมด 168,000 คน ย้อนกลับไปดูสถิติในปีพ.ศ. 2534 – 2535 มีผู้อพยพประมาณ 2 แสนคน และในปี พ.ศ. 2521 มีประมาณ 250,000 คน จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เกิดคำถามว่าจริงแล้วมีประชากรชาวโรฮิงญาทั้งหมดเท่าไร สถิติที่ทุกฝ่ายมีเป็นเพียงตัวเลขประมาณการณ์เท่านั้น แม้แต่สถิติของรัฐบาลพม่าเองที่มีประมาณ 1 ล้าน 1 แสนคนก็ไม่ได้มาจากการสำรวจ หากนับจำนวนผู้อพยพทั้งหมดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาประมาณ 560,000 คนกับจำนวนประชากรที่คาดการณ์ต่ำสุดประมาณ 800,000 คนแล้ว อาจคิดได้ว่าประชากรชาวโรฮิงญาที่หลงเหลือในพื้นที่อาจมีเพียง 1 – 2 แสนคนเท่านั้น

ประเด็นผลกระทบต่อไทย ตัวแทนเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐกล่าวว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาไทยสามารถจัดการกับปัญหาการอพยพของชาวโรฮิงญาได้โดยการใช้กฎหมายการป้องกันการค้ามนุษย์ แต่สิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้คือการเคลื่อนย้ายข้ามชายแดนมากขึ้นและง่ายขึ้น และปัญหาอีกประการคือ ในขณะที่รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติ เราแทบจะไม่รู้เลยว่าชาวโรฮิงญาจำนวนมากได้แฝงตัวอยู่ในไทยโดยการถือบัตรแรงงานข้ามชาติ ปัญหาสำคัญของการจัดการการหลบหนีเข้าเมืองของไทยจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นประเทศต้นทางที่ไม่ได้มีความพยายามในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว ซ้ำยังผลักดันให้เกิดการหลบหนีออกมาประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น

ศิววงศ์ได้เปิดประเด็นคำถามในสองเรื่อง หนึ่ง วิกฤตครั้งนี้อาจทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวสุดโต่งในแต่ละประเทศมีข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรมต่อการใช้ความรุนแรงได้หรือไม่ ซึ่งความรุนแรงดังกล่าวอาจไม่ได้เกิดขึ้นโดยตรงในพม่าแต่เกิดขึ้นจากการรับรู้ข้ามพื้นที่ สอง คำถามที่ว่าในบริบทวัฒนธรรมการเมืองของพม่ามีการใช้กำลังต่อสู้จากกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทำไมพอชาวโรฮิงญาตั้งกลุ่มกองกำลังขึ้นมากลับมีกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มเริ่มกล่าวโทษชาวโรฮิงญาว่าบดบังประเด็นและวิกฤตปัญหาของตนแทนที่จะประณามตอบโต้ต่อรัฐบาลหรือทหารพม่า นอกจากนี้เขายังแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ที่ว่าพม่าเองพยายามให้คำอธิบายว่าความขัดแย้งดังกล่าวเป็นความขัดแย้งระหว่างพุทธและมุสลิมและเป็นการก่อการร้าย และขณะเดียวกันได้มีการเรียกร้องให้กลุ่มประเทศมุสลิมเข้ามามีอิทธิพลในประเด็นนี้จะทำให้ประเด็นนี้ถูกขยับไปสู่ประเด็นปัญหาที่ใหญ่กว่าหรือไม่ ทั้งประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชาวมุสลิมและปัญหาการก่อการร้าย

มิติเศรษฐกิจการเมือง กับท่าทีของไทยและตัวแสดงในเวทีระหว่างประเทศ

สักกรินทร์ได้นำเสนอถึงประสบการณ์ในการจัดการปัญหาผู้อพยพลี้ภัยของประเทศไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยสงครามอินโดจีน ผู้ลี้ภัยในตะเข็บชายแดนไทย-พม่า และผู้อพยพชาวโรฮิงญาในปัจจุบัน แต่การปฏิบัติต่อกลุ่มผู้อพยพต่าง ๆ นั้นมีมาตรฐานไม่เหมือนกันโดยขึ้นอยู่กับบริบทการเมืองระหว่างประเทศในขณะนั้น ในยุคหนึ่งไทยมีบทบาทอย่างมากในประเด็นผู้อพยพถึงขั้นไปกำหนดท่าทีในเวทีระหว่างประเทศ แต่ปัจจุบันกลับมีท่าทีที่เงียบมากต่อเรื่องนี้

อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ให้เห็นถึงภูมิหลังของปัญหาดังกล่าวในหลายมิติ โดยเฉพาะมิติทางเศรษฐกิจการเมือง ปัญหาของช่องว่างทางเศรษฐกิจและการเข้าถึงสิทธิที่ทำกิน ชาวโรฮิงญาตกเป็นเหยื่อของการเมืองระหว่างประเทศมาโดยตลอด ทั้งประวัติศาสตร์การสู้รบระหว่างพม่าและอาระกัน สมัยอาณานิคมซึ่งอังกฤษได้ติดอาวุธให้กับชาวโรฮิงญาในการต่อสู้กับพม่า ในปัจจุบันท่าทีของรัฐบาลมหาอำนาจทั้งสหรัฐฯ จีนและอินเดียเองก็เข้าข้างรัฐบาลพม่าเนื่องจากรัฐยะไข่นั้นเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญโดยประเทศจีนมีโครงการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่อก๊าซจากยะไข่ต่อเข้าไปจีน ในขณะที่อินเดียก็ต้องการสร้างระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมต่อชายแดนพม่าในรัฐยะไข่เช่นกัน ส่วนสหรัฐฯ เองก็นิ่งเฉยในกรณีนี้เนื่องจากกลัวพม่าจะเอนเอียงเข้าหาจีนมากไป สำหรับท่าทีของตัวแสดงในเวทีระหว่างประเทศอื่น ๆ อย่าง มาเลเซียและอินโดนีเซียมีท่าทีที่ชัดเจนในคุ้มครองคนเหล่านี้ กรณีอินโดนีเซียถึงกับให้รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศบินไปยังพม่าเพื่อพูดคุยกับนางอองซานซูจีและรัฐบาลเพื่อหาทางออกในประเด็นปัญหาดังกล่าว ขณะเดียวกันทางประเทศตุรกีได้ร้องขอให้รัฐบาลบังคลาเทศไม่ผลักดันชาวโรฮิงญากลับไปพม่าโดยที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ส่วนทางบังคลาเทศก็ไม่สามารถรับประกันและคุ้มครองผู้อพยพได้ทั้งหมด

สักกรินทร์เห็นว่าปัญหานี้เป็นปัญหาความท้าทายของอาเซียนแต่อาเซียนเองกลับไม่ได้แสดงบทบาทและท่าทีอย่างเต็มที่ในเรื่องนี้ ซึ่งความจริงแล้วอาเซียนมีธรรมนูญอาเซียนที่ให้การรับรองเรื่องสิทธิมนุษยชนและกลไกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียน ในขณะเดียวกันอาเซียนเองมีกลไกสังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะเวที ASEAN People Forum ที่ควรใช้ในการกดดันเรียกร้องต่อประเด็นปัญหาดังกล่าว ทั้งยังแสดงความกังวลว่าหากปัญหานี้ซึ่งเป็นความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ถูกยกระดับให้กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาแล้วอาจนำไปสู่การแทรกแซงจากภายนอก โดยเฉพาะขบวนการรัฐอิสลามหรือ ISIS ได้ ซึ่งการสร้างความเข้าใจให้กับสังคมนั้นเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะบทบาทของสื่อมวลชนในการนำสื่อข้อมูลข่าวสาร   

สังคมไทยกับการจัดการผู้อพยพชาวโรฮิงญา เสนอ รบ. ไทยแสดงบทบาทมากกว่านี้

ไทยมีกระบวนการจัดการและกฎหมายที่เอื้อต่อการจัดการการอพยพของชาวโรฮิงญาอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ขาดอยู่คือเจตนารมณ์ทางการเมือง

อดิศร เกิดมงคล

อดิศรเปิดประเด็นเกี่ยวกับท่าทีของเพื่อนชนกลุ่มน้อยในพม่าที่ตนรู้จักที่เห็นว่าชาวโรฮิงญาเป็นศัตรูร่วม โดยเชื่อมโยงกับนิยามความเป็น “กลา” ในสังคมพม่า ซึ่งคำว่า “กลา” [Kala; ภาษาไทยใช้คำว่า กุลา] มีการเปรียบเทียบกับคำว่า “แขก” ในภาษาไทยแต่ว่าคำดังกล่าวดูมีนัยความเป็นศัตรูมากกว่า ความเป็น “กลา” ในกรณีของโรฮิงญานั้นมีรายละเอียดที่ซับซ้อนพอสมควร อดิศรชี้ให้เห็นว่าจริงแล้วสังคมไทยมีความใกล้ชิดกับคนกลุ่มนี้มาตั้งแต่อดีตแต่คำถามคือเรารู้จักพวกเขามากน้อยแค่ไหน โดยเขายกตัวอย่างถึงบ้านที่ตนเติบโตมาที่แม่สอดมีคำบอกกล่าวว่าเดิมเป็นบ้านของพ่อค้าคนกลา นอกจากนี้เขายังเห็นว่าคำดังกล่าวในช่วงนี้มีนัยอยู่บนพื้นฐานของการเมืองแบบใหม่ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลของนางอองซานซูจีจึงทำให้ชนกลุ่มน้อยมีท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นกับโรฮิงญาเพื่อที่จะหาพวกในการเจรจา

อดิศรแบ่งช่วงเวลาที่คนโรฮิงญาที่เข้ามาในไทยอย่างน้อย 3 กลุ่มซึ่งรัฐไทยมีแนวทางการจัดการที่แตกต่างกันไป ได้แก่ กลุ่มแรก ช่วงก่อนปี ค.ศ. 1988 โดยเฉพาะสมัยนายพลเนวินยึดอำนาจ คนเหล่านี้นี้ไม่ได้ระบุตัวเองว่าเป็นโรฮิงญา พวกเขาอาจได้รับบัตรชนกลุ่มน้อยหรืออาจได้รับสัญชาติไทยไปแล้วซึ่งหลายคนไม่รู้ว่ามีอยู่ เช่น คนที่ทำธุรกิจชายแดนไทย-พม่าในแม่สอด กลุ่มที่สอง คือผู้ที่อพยพหลังจากเหตุการณ์ปราบปรามขบวนการนักศึกษาปี ค.ศ. 1988 ในสมัยนั้นประเด็นเรื่องโรฮิงญาไม่ได้มีบทบาทอะไร หลายคนยังอยู่ในค่ายผู้อพยพในชายแดนไทยและยังมีความหวังที่จะได้ลี้ภัยไปประเทศที่สาม กลุ่มที่สาม คือกลุ่มผู้อพยพที่เข้ามาตั้งแต่เหตุการณ์ขัดแย้งและความรุนแรงในรัฐยะไข่ในปี ค.ศ. 2012 คนกลุ่มนี้หลายคนยังอยู่ในห้องกักกันตัว สำหรับความขัดแย้งในรอบปัจจุบันรัฐบาลชุดนี้มีนโยบายแก้ไขปัญหาโรฮิงญาโดยเปลี่ยนคำเรียกเป็น ‘เบงกาลี’ ตามคำขอของมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่าซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงท่าทีและความสัมพันธ์ของรัฐบาลชุดนี้ที่ค่อนข้างสนิทสนมกับฝ่ายทหารพม่า

จากอดีตที่ผ่านมา อดิศรเห็นว่าประเทศไทยเคยมีกระบวนการในการจัดการผู้อพยพชาวโรฮิงญาอยู่แล้ว และมีกฎหมายที่เพียงพอในการจัดการแต่สิ่งที่ขาดอยู่คือเจตนารมณ์ทางการเมือง เขาเสนอว่ารัฐบาลไทยควรแสดงบทบาทมากกว่านี้ โดย หนึ่ง ไทยควรมีมาตรการที่ชัดเจนในการดูแลคนเหล่านี้ให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ตามปกติ เช่น การได้รับบริการสาธารณะพื้นฐาน สอง รัฐบาลไทยควรเป็นตัวกลางในการหาทางออกระหว่างพม่าและชาวโรฮิงญาซึ่งรัฐบาลสามารถแสดงบทบาทนำดังกล่าวในระดับอาเซียนได้

ชะตากรรมร่วมของชนกลุ่มน้อยในภาคพื้นอ่าวเบงกอลกับการถูกทำให้เป็นอื่น

ศุภชัยชี้ชวนให้เรามองให้เห็นถึงชะตากรรมร่วมกันของชาวโรฮิงญาและชาวจักมา (Chakma) ซึ่งชนทั้งสองกลุ่มร่วมอาศัยอยู่บริเวณภาคพื้นอ่าวเบงกอลเชื่อมต่อกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคม ชาวจักมาเป็นชนกลุ่มน้อยชาวพุทธในประเทศมุสลิมอย่างบังกลาเทศในขณะที่ชาวโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่าที่มีชาวพุทธเป็นส่วนใหญ่

“สิ่งสำคัญคือเรามองปัญหานี้อย่างไร การมองเพียงมิติศาสนาอย่างเดียวอาจจะไม่พอ … เราจำเป็นต้องมองในมิติที่กว้างขึ้นทั้งในทางประวัติศาสตร์อาณานิคมที่เชื่อมโยงกับประเด็นชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ [ในภูมิภาค]”

ศุภชัย ทองศักดิ์

เขากล่าวว่าชะตากรรมที่คล้ายคลึงระหว่างชนทั้งสองกลุ่มเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคอาณานิคมอังกฤษเป็นต้นมา ชาวจักมาเองได้รับสิทธิในการอาศัยบนเทือกเขาจิตตะกองโดยอังกฤษกีดกันมิให้ชาวมุสลิมเบงกาลีสามารถอาศัยได้ พอหลังจากยุคอาณานิคม และปากีสถานแยกตัวจากอินเดียแล้ว ชาวจักมาภายใต้การปกครองของปากีสถานตะวันออกก็ถูกกีดกันมากขึ้นโดยรัฐบาลได้ส่งชาวเบงกาลีเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของชาวจักมามากขึ้นและสร้างเขื่อนซึ่งทำให้ชาวจักมาต้องอพยพไปอินเดียหลายแสนคน ซึ่งคล้ายคลึงกันกับชะตากรรมของชาวโรฮิงญา ต่อมาเมื่อชาวเบงกาลีต่อสู้จนสามารถแยกตัวเป็นอิสระจากปากีสถานมาก่อตั้งบังคลาเทศได้แล้ว ชาวจักมาพยายามร้องขอสิทธิในการปกครองตนเองในระดับหนึ่งแต่รัฐบาลบังกลาเทศกลับส่งกองกำลังไปกวาดล้างชาวจักมาที่สงสัยว่าจะก่อกบฏจึงทำให้เกิดกองกำลังต่อต้านของชาวจักมาขึ้นมา สำหรับชาวจักมาที่ได้อพยพไปอยู่ที่อินเดีย ความรู้สึกของคนเหล่านี้ตระหนักและสำนึกอยู่เสมอว่าตนเป็นชาวจักมาอยู่ที่บนเทือกเขาจิตตะกอง มิได้เป็นคนชาติไหน

ศุภชัยสรุปว่า สิ่งสำคัญคือเรามองปัญหานี้อย่างไร การมองเพียงมิติศาสนาและชนกลุ่มน้อยอย่างเดียวก็อาจจะไม่พอและไม่ให้คำตอบอย่างรอบด้าน และการมองเพียงมิติความขัดแย้งทางศาสนานั้นจุดติดความขัดแย้งได้อย่างรวดเร็วมาก หากแต่จำเป็นต้องมองในมิติที่กว้างขึ้นทั้งในทางประวัติศาสตร์อาณานิคมและการสร้างรัฐชาติ รวมถึงเชื่อมโยงกับประเด็นชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในอ่าวเบงกอล พม่าและภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  

 

ภาพในงาน (ที่มา: สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล)

Image may contain: 2 people, people smiling, people sitting

Image may contain: 2 people, people sitting and indoor

Image may contain: 3 people, people sitting, table and indoor

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net