Skip to main content
sharethis

กลุ่มเพื่อนเพื่อมนุษยธรรม เปิดข้อความเตือนสติ พร้อมช่องทางความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้อพยพลี้ภัยชาวโรฮิงญา ย้ำในพุทธศาสนา “การไม่ฆ่า” คือ ศีลข้อแรก ที่แสดงให้เห็นถึงจุดยืนทางมนุษยธรรมในการไม่ใช้ความรุนแรงในการจัดการกับปัญหา

21 ก.ย. 2560 จากเหตุการณ์ความรุนแรงภายในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า โดยในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจำนวนมากได้หลบหนีเข้าสู่ประเทศบังคลาเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากปฏิบัติการทางทหารของกองทัพพม่าที่มีต่อกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญา

ล่าสุดวานนี้ (20 ก.ย.60) กลุ่มเพื่อนเพื่อมนุษยธรรม ประกอบด้วย พระไพศาล วิสาโล ธรรมนันทาภิกษุณี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อัญชลี คุรุธัช สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ สมบูรณ์ จึงเปรมปรีดิ์ วิจักขณ์ พานิช พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ อวยพร เขื่อนแก้ว กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล สนิทสุดา เอกชัย อภิญญา เวชยชัย งามศุกร์ รัตนเสถียร มุทิตา เชื้อชั่ง กษิดิศ อนันทนาธร ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา สุรพศ ทวีศักดิ์ และคมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ออกจดหมายจากกลุ่มเพื่อนผู้สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้อพยพลี้ภัยชาวโรฮิงญา

จดหมายดังกล่าว ระบุว่าในพุทธศาสนา “การไม่ฆ่า” คือ ศีลข้อแรก ที่แสดงให้เห็นถึงจุดยืนทางมนุษยธรรมในการไม่ใช้ความรุนแรงในการจัดการกับปัญหา ในกรณีชาวโรฮิงญา การพยายามหาเหตุผลให้กับการเข่นฆ่าเพื่อนมนุษย์ด้วยอคติทางชาติพันธุ์หรือศาสนา จึงเป็นสิ่งที่สังคมพุทธไม่ควรเพิกเฉยหรือยอมรับ

กลุ่มดังกล่าว ได้เชิญชวนผู้สนใจร่วมกันส่งข้อความแห่งความรักความกรุณา ส่งความรู้ความเข้าใจเพื่อลดอคติทางชาติพันธุ์ รวมทั้งส่งผ่านความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่พอจะทำได้ ผ่านทางองค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์นานาชาติ (International Network of Engaged Buddhists: INEB) ซึ่งจะนำทรัพยากรดังกล่าวไปช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่ลี้ภัยอยู่ในชายแดนบังคลาเทศ โดย ช่องทางการส่งข้อความแห่งมนุษยธรรมและลงชื่อได้ที่ https://goo.gl/forms/M76mYdFktaQRogmv2 หรือแชร์/โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก แล้วติดแฮ็ชแท็ก "#เพื่อนเพื่อมนุษยธรรม"

สำหรับผู้ที่ต้องการบริจาคเงินช่วยเหลือสามารถโอนเงินผ่านบัญชี “มูลนิธิเสฐียรโกเศศ - นาคะประทีป” ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเจริญนคร บัญชี ออมทรัพย์ เลขที่ 024-2-59705-9 แล้วแนบหลักฐานการโอนเงินมาที่ อีเมล์: thaihumanitarian@gmail.com

รวมข้อความจากกลุ่มเพื่อนเพื่อมนุษยธรรมต่อกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้น :

“พุทธศาสนานอกจากปฏิเสธความรุนแรงแล้ว ยังไม่สนับสนุนการแบ่งเขาแบ่งเรา จนเห็นคนอื่นเป็นศัตรูที่ต้องเกลียดชัง  ยิ่งการมองเห็นผู้คนเป็นตัวเลวร้ายเพียงเพราะเขามีเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาต่างจากเรา ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควร เพราะเราไม่พึงตัดสินคนโดยดูที่“สมมุติ” หรือ “ยี่ห้อ”ของเขาเท่านั้น  ถึงที่สุดแล้วทุกคนต่างเป็นมนุษย์และเพื่อนร่วมทุกข์กันทั้งนั้น จึงควรมีเมตตาต่อกัน (ดังเวลาแผ่เมตตา เราก็แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ ไม่เลือกว่าเป็นคนหรือสัตว์ด้วยซ้ำ จะกล่าวไปไยถึงการแบ่งแยกว่าเป็นพุทธ มุสลิม คริสต์ ไทย  พม่า หรือโรฮิงญา) ดังนั้นเมื่อเห็นใครประสบทุกข์ เราจึงควรช่วยเหลือตามกำลัง โดยไม่เลือกว่าเป็นคนชาติใดศาสนาใด เพราะแท้จริงแล้วเรากำลังช่วยเพื่อนมนุษย์  มิใช่ใครอื่น”

พระไพศาล วิสาโล, วัดป่าสุคโต

======================

ก่อนที่จะเป็นโรฮินจา เขาก็เป็นมนุษย์ที่มีชีวิต มีความปรารถนาที่จะใช้ชีวิตที่สงบสุข เหมือนกับเรา  ขอสนับสนุนให้เขาได้รับการปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์เพื่อนร่วมโลก เช่นเดียวกันกับเรา

ธัมมนันทาภิกษุณี, วัตรทรงธรรมกัลยาณี

======================

“โรฮิงญาเป็นคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ไม่ว่าในพม่า ในอินเดีย ในบังคลาเทศ พวกเขาเป็นคนที่น่าสงสารมาก เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่ถือพุทธ เราต้องมองว่าทั้งหมดเนี่ย คือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เราจึงควรมีเมตตากรุณาต่อคนโรฮิงญา ต้องช่วยเป็นปากเป็นเสียงแทนเขา เค้าถูกรังแก ก็ควรช่วยอุดหนุนเกื้อกูลเขา ถ้าเขาขอร้องให้ช่วยอะไรก็ควรช่วยเขา แม้เขาไม่ขอร้องก็น่าจะหาทางช่วยเหลือเขาเท่าที่เราจะทำได้ ตามหนทางของชาวพุทธ

พุทธะแปลว่าตื่น ชาวพุทธจะต้องไม่ติดในชาตินิยม ไม่ติดในการรังเกียจ... บางทีไปรังเกียจเขาว่าเป็นมุสลิมบ้างอะไรบ้าง ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องเหลวไหล ชาวพุทธจะต้องมีความรักเป็นเจ้าเรือน ตระหนักถึงความทุกข์ของคนที่เขาเดือดร้อน พระพุทธเจ้าสอนเรื่องทุกขสัจจ์นั้นสำคัญมาก ความทุกข์ไม่ใช่ของเราคนเดียว ...เพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะคนกลุ่มน้อยที่ถูกข่มเหง เราจะต้องช่วยกันออกมาเป็นปากเป็นเสียง ช่วยเหลือเกื้อกูลเขา เรียนรู้จากเขา”

ส. ศิวรักษ์, ปัญญาชนสยาม

=======================

“ชาวโรฮิงญานับพันถูกฆ่าและถูกทำร้ายอย่างโหดเหี้ยม พวกเขานับแสนต้องอพยพหนีออกจากเมียนมาร์ หมู่บ้านนับร้อยถูกเผาทำลายด้วยกองกำลังทหารติดอาวุธ  เช่นเดียวกับที่คนยิวและคนเขมรนับล้านที่ถูกฆ่าโดยนาซีและเขมรแดงในอดีต เช่นเดียวกับชาวธิเบตที่ถูกฆ่าถูกกักขังทรมาน เช่นเดียวกับชาวพุทธบังกลาเทศที่ถูกฆ่าและขับไล่

เราจะเลือกมีส่วนร่วมกับความทุกข์มหันต์นี้อย่างไร ด้วยการเติมเชื้อเพลิงแห่งความเกลียดชังและความรุนแรง ด้วยการเพิกเฉยเบือนหน้าหนี ด้วยการเปิดใจรับรู้ หรือด้วยการก้าวเข้าร่วมแก้ไข

ณ ตอนนี้เราเห็นใจและให้ความช่วยเหลือใครอยู่บ้าง ในหัวใจของเรา มีความอ่อนโยนและรับรู้ความทุกข์ของใคร - เด็กกำพร้าขาดความรักความอบอุ่น, ขอทานพิการไร้ที่ซุกหัวนอน, สุนัขจรจัดโหยหิว, ผู้ป่วยใกล้ตายขาดญาติมิตร, ทหารที่พิการจากการปฏิบัติหน้าที่, ผู้ถูกข่มขืน, ผู้ถูกทำร้ายทรมาน, ศิลปินอดอยาก, เด็กเรียนดีไม่มีอนาคต, ผู้ประสบภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว จากน้ำท่วม จากความแห้งแล้ง จากสงคราม ฯลฯ

หากหัวใจเรามีพื้นที่ให้กับความเมตตากรุณาแม้กับใครสักคนแล้ว เราลองสมมุติตัวเองเป็นชาวโรฮิงญาตอนนี้ เราจะมองเห็นความทุกข์อันใหญ่หลวงของคนที่ถูกฆ่าถูกตามล่า คนที่สูญเสียครอบครัวและทุกสิ่ง หากเราเจอชะตากรรมเช่นเดียวกัน เราจะเป็นอย่างไรหากโลกไม่ไยดี แล้วเราจะเห็นได้ว่าพวกเขาคือเพื่อนมนุษย์ของเรา”

อัญชลี คุรุธัช, ผู้ช่วยเหลือด้านภาษาให้แก่บ้านพักฉุกเฉินชาวเอเชียในซานฟรานซิสโก (Asian Women Shelter) กรรมการที่ปรึกษาองค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์นานาชาติ (INEB)

==========================

“หากมองด้วยแว่นการเมือง เราอาจพบว่าประเด็น ‘โรฮิงญา’ นั้นมีความซับซ้อนหลากหลายแง่มุม แต่ถ้าลองถอดแว่นการเมืองออก แล้วมองชาวโรฮิงญาในฐานะเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกเดียวกันนี้ เราอาจพบว่านี่คือโจทย์ที่จำเป็นต้องร่วมทำความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และเปิดพื้นที่ให้ความเมตตากรุณาซึ่งกันและกัน แน่นอนว่าเราไม่สามารถตัดสินได้หรอกว่าแต่ละฝ่ายควรจัดการปัญหานี้อย่างไร แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งซึ่งสามารถรับรู้ได้ถึงความทุกข์ ความเดือดร้อนของมนุษย์อีกหลายคน สิ่งที่พอจะทำได้คือให้ความช่วยเหลือตามวิธีและความสามารถของแต่ละคน โดยมองข้ามเส้นแบ่งของชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา หรือสิ่งต่างๆ ที่แบ่งแยกมนุษย์ออกจากกัน ในฐานะพี่น้องร่วมโลก เราสามารถช่วยเหลือพี่น้องที่เดือดร้อนได้เสมอ ซึ่งการช่วยเหลือนั้นย่อมทำให้หัวใจของเราเปิดออก โอบรับความต่าง และรู้สึกรู้สากับความทุกข์ของผู้อื่น เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นย่อมเป็นแบบฝึกหัดทดสอบจิตใจของเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายได้เป็นอย่างดี”

สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (นิ้วกลม), นักเขียน

==============================

"ผมเห็นว่าเราต้องหลงเหลือความเป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม หรืออื่นๆ ให้น้อยที่สุด แต่มีความเป็นมนุษย์ให้มากที่สุด ซึ่งความเป็นมนุษย์สำคัญมากและเป็นพื้นฐานของศาสนาต่างๆ ด้วย พวกเราจำเป็นต้องช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความทุกข์ยาก โดยเฉพาะพี่น้องชาวโรฮิงยาที่กำลังลำบากอยู่ ณ ตอนนี้ซึ่งมีจำนวนหลายแสนคนที่ต้องอพยพ และอีกหลายแสนต้องเผชิญกับอันตรายอยู่เราจำเป็นต้องอาศัยพื้นฐานของความเป็นมนุษย์เพื่อแก้ปัญหานี้มากกว่า เชื้อชาติ ศาสนา หรือแม้แต่กรอบอันคับแคบของประเทศชาติ และเราจำเป็นต้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในเรื่องปัจจัยพื้นฐานของพี่น้องชาวโรฮิงยาเหล่านี้ และช่วยในระยะยาวอีกด้วย"

สมบูรณ์ จึงเปรมปรีดิ์, องค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์นานาชาติ; INEB (International Network of Engaged Buddhist)

======================          

 “เมื่อวันก่อน ผมได้พบกับชาวโรฮิงญาคนหนึ่งที่มาใช้ชีวิตอยู่ในไทย พูดไทยได้ เขาสูญเสียสมาชิกในครอบครัวไป 3 คนและญาติมิตรอีกนับไม่ถ้วน ความรู้สึกโศกเศร้าของเขานั้นเอ่อล้น แต่ยังคงพยายามทำทุกวิถีทางที่จะสื่อสารกับชาวโลก เพื่อขอความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและความเห็นอกเห็นใจต่อความโหดร้ายทารุณที่พวกเขาประสบอยู่    

คำว่า “ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม”  ไม่ใช่การเข้าข้าง หรือไม่ใช่การให้การสนับสนุนที่ซับซ้อนอะไร แต่มันคือการให้ความช่วยเหลือพื้นฐานที่สุดที่มนุษย์คนหนึ่งพึงกระทำต่อมนุษย์อีกคนหนึ่งในสถานการณ์ลดทอนความเป็นมนุษย์อย่างเลวร้าย การเห็นอกเห็นใจและให้ความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่พอจะทำได้  เพื่อที่ผู้คนชาวโรฮิงญามีน้ำดื่ม อาหาร เสื้อผ้า ที่พักพิง ยารักษาโรค เพียงพอต่อการมีชีวิตรอดผ่านช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากนี้ไปได้ เป็นสิ่งที่เราควรกระทำ เพราะนอกจากจะช่วยบรรเทาทุกข์ให้แก่ชาวโรฮิงญาแล้ว ยังจะช่วยปลดปล่อยหัวใจของเราออกจากกำแพงอคติและการแบ่งแยกทางเชื้อชาติและศาสนาอีกด้วย”

วิจักขณ์ พานิช, สถาบันวัชรสิทธา

===============================

ไม่กี่วันก่อน ท่านทะไลลามะบอกสื่อว่า “ถ้าพระพุทธองค์ยังอยู่ พระองค์ต้องช่วยเหลือชาวมุสลิมที่น่าสงสารเหล่านี้แน่นอน” และบอกต่อว่า “ท่านรู้สึกเศร้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาก” เพราะในช่วงแค่สองสัปดาห์เราเห็นเกือบหนึ่งในสามของชาวโรฮิงญาต้องกระเสือกกระสนดิ้นรน อพยพหลบหนี เป็นจำนวนมากกว่าผู้อพยพที่เดินทางจากแอฟริกาไปยุโรปทั้งปี (2559) บางคนถูกยิงด้วยกระสุน บางคนบาดเจ็บเพราะกับระเบิดของทหารพม่า หลายสิบคนจมน้ำตาย ระหว่างข้ามแม่น้ำในช่วงฤดูมรสุม แม้คนที่ข้ามมาได้แล้วก็อยู่กันอย่างอนาถา ฝนตก น้ำท่วม เต็มไปด้วยดินโคลน คนเหล่านี้ไม่ใช่อาชญากรร้าย เป็นเพลเรือนผู้บริสุทธิ์ เป็นแค่ “เหยื่อ” ของสงคราม เป็นเหยื่อของความคิดชาตินิยมสุดโต่ง สิ่งที่โดดเด่นของเราชาวพุทธ คือการไม่แยกชนชั้นวรรณะและศาสนา พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่าให้ช่วยเหลือมีเมตตาต่อพุทธด้วยกันเอง แต่ให้คำนึงว่าเราเป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน เราจะนิ่งดูดายได้อย่างไร

พิภพ อุดมอิทธิพงศ์, นักแปลและนักวิชาการอิสระ

============================

ความทุกข์สาหัสของชาวโรฮิงยากว่าสามแสนคนที่ถูกผลักออกจากประเทศพม่าในช่วงที่ผ่านมาเรียกร้องให้เราเปิดหัวใจเพื่อให้ความเมตตา ความกรุณาความเห็นใจ และมนุษยธรรมของเราหลั่งไหลออกมา เพราะพวกเขาคือเพื่อนมนุษย์ที่สูญเสียบ้านเกิด หลายคนสูญเสียสมาชิกครอบครัว คนจำนวนมากได้รับบาดเจ็บ มีคนที่ยังหลบซ่อนตัวเพราะกลัวถูกทำร้าย และแม้จะมีที่พักพิงในบังกลาเทศแต่ก็ขาดอาหาร ยา เครื่องนุ่งห่มและอนาคตของชีวิตที่ปลอดภัย

อวยพร เขื่อนแก้ว, ผู้อำนวยการศูนย์ผู้หญิงบ้านดินเพื่อสันติภาพและความเป็นธรรมคะ

============================

ในขณะที่พวกเรามีชีวิตที่อยู่ดีมีสุขและมีเวลาภาวนา ชาวโรฮิงญา เพื่อนบ้านของเรากำลังประสบชะตากรรมอย่างหนัก พวกเขาไม่มีแม้ความหวังสำหรับอนาคต การช่วยเหลือพวกเขาจึงสำคัญและจำเป็นไม่เพียงด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรมเท่านั้น แต่คือหน้าที่และความรับผิดชอบของชาวพุทธทุกคนที่ได้รับการสอนให้รักและกรุณาต่อทุกชีวิตอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าพวกเขาจะนับถือศาสนาใด ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นมนุษย์หรือไม่

กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล, มูลนิธิพันดารา

===========================

“หัวใจที่ด้านชาต่อความทุกข์ร้อนของผู้อื่น ไม่ใช่หัวใจของผู้ที่ยึดถือคำสอนของพระพุทธเจ้า”

สนิทสุดา เอกชัย, คอลัมนิสต์ Bangkok Post

============================

ชาวโรฮิงญาคือคนที่มีเลือดเนื้อจิตวิญญาณ มีสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่แตกต่างจากเรา ความต่างเชื้อชาติ ศาสนา ไม่ได้ทำให้ความเป็นมนุษย์ของคนโรฮิงญาด้อยค่ากว่าเรา ตรงกันข้ามการที่ชาวโรฮิงญาต้องต่อสู้ดิ้นรนกับความเกลียดชังของโลก  อดทนต่อความเมินเฉยเย็นชา การเหยียดหยามตีตราจากอคติของผู้คนในทุกแห่งหน และทำหน้าที่พิทักษ์ปกป้องลูกหลานของตนเอง พวกเขาคือชาติพันธุ์กล้าหาญและมีศรัทธาต่อการมีชีวิต

การมองเห็นชาวโรฮิงญาและลูกหลานของเขาในฐานะมนุษย์ คือการที่บอกว่าเราต่างมีภาระหน้าที่ทางมนุษยธรรมต่อกัน ความเอื้ออาทรและความเห็นอกเห็นใจชาวโรฮิงญาแม้อาจไม่ได้ช่วยเขาให้พ้นทุกข์อย่างเต็มที่ แต่ก็บอกให้เรารู้ว่า เผ่าพันธุ์มนุษย์ในโลกนี้ยังคงมีมนุษยธรรมหลงเหลืออยู่

อภิญญา เวชยชัย, นายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราห์
===========================

"ข้าพเจ้าได้คุยกับเพื่อนถึงเหตุผลในการช่วยเหลือโรฮิงญา เขาบอกว่า เราในฐานะชาวพุทธ ควรจะมีความเมตตาต่อคนเหล่านี้ในฐานะ “เพื่อนร่วมทุกข์” ซึ่งในบทสวดแผ่เมตตาพระพุทธเจ้าก็สอนให้เราทุกคน มีจิตใจเมตตาต่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนมนุษย์ที่รู้จัก หรือไม่รู้จักก็ตาม ข้าพเจ้าค่อนข้างเห็นด้วยกับเหตุผลดังกล่าว นอกจากนั้นยังคิดว่า แม้ว่า เขา/เธอจะมีความแตกต่างกับเราเช่นไร แต่ในวันที่พวกเขากำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเข่นฆ่าสังหารจนถึงแก่ชีวิต การทรมานและทำร้ายร่างกายพลเรือนผู้บริสุทธิ์จนทำให้เขา/เธอเหล่านี้ ต้องอพยพหนีออกจากบ้านเกิดอันเป็นที่รัก ในสภาพการณ์เช่นนี้เราในฐานะ “เพื่อนร่วมทุกข์” จะเพิกเฉยอยู่ได้อย่างไร อย่างน้อยความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ น่าจะเป็นก้าวแรกที่จะพาเราเดินไปรับฟังเสียงความทุกข์ของเขา/เธอ ที่อยู่อีกฟากฟ้าหนึ่ง จากประสบการณ์ข้าพเจ้ามีความเชื่อว่า การได้ยินเสียงและสัมผัสความรู้สึกของกันและกัน อาจจะทำให้เรารู้สึกอยากจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อช่วยเหลือเขา/เธอเหล่านั้น"

งามศุกร์ รัตนเสถียร, สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา (มหาวิทยาลัยมหิดล)

================================

“อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เขียนในบทความ 'คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน' ตอนหนึ่งว่า

"เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ ๆ อย่างบ้า ๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ..."

และเน้นย้ำอยู่เสมอว่า สังคมที่พึงปรารถนานั้น  นอกจากจะต้องมีสมรรถภาพ มีเสรีภาพ และมีความยุติธรรมในสังคมแล้ว  ยังจำเป็นที่จะต้องมีความเมตตากรุณาด้วย

ก็ชาวโรฮิงญานั้นเป็นคนเหมือนเรา ควรหรือที่เขาจะต้องตายอย่างโง่ๆ อย่างบ้า ๆ   ถ้าเรามีความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์บ้าง ก็น่าที่จะเห็นใจและช่วยเหลือเขาตามสมควร”

กษิดิศ อนันทนาธร, ผู้จัดการโครงการ 100 ปีชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

==========================

เรื่องของชาวโรฮิงญานั้นน่าเศร้ามานมนาน เป็นชายขอบในทุกที่ โศกนาฏกรรมที่เกิดเร็วๆ นี้ยิ่งน่าหดหู่ใจ แต่ที่หดหู่ใจยิ่งกว่าคือ สังคมของเราก็เต็มไปด้วยความไม่เข้าใจ ความเพิกเฉย ซ้ำเติมเข้าไปอีกผ่านกำแพงศาสนา ชาติพันธุ์ และเราไม่รู้จะหยุดยั้งความโหดร้ายนั้นอย่างไร หยุดยั้งความไม่เข้าใจนั้นอย่างไร เรื่องราวความโหดร้ายก็ไม่ได้มีพยานรู้เห็น ไม่มีภาพรันทดหดหู่แพร่กระจายในโลกโซเชียล

แต่ถึงอย่างนั้นเราก็จินตนาการถึงได้ในฐานะมนุษย์ด้วยกัน และเมื่อรู้สึก เราอาจทลายกำแพงความเพิกเฉย พอทำอะไรได้ก็จะทำ โดยไม่ต้องอ้างอิงหลักศาสนาไหนๆ เลยก็ได้

มุทิตา เชื้อชั่ง, นักข่าวสิทธิมนุษยชน รางวัล AFP

=================================
ทำไมมนุษยธรรมจึงหายไปจากความรู้สึกหรือ “สามัญสำนึก” ของพวกเรา หากคณะสงฆ์ มหาวิทยาลัยสงฆ์ และองค์กรชาวพุทธต่างๆ ในไทยร่วมกันส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าและชาวพุทธพม่าแก้ปัญหาชาวโรฮิงญาอย่างมีมนุษยธรรมและเคารพหลักสิทธิมนุษยชน แม้ถึงที่สุดแล้วอาจเปลี่ยนแปลงความโหดร้ายป่าเถื่อนที่เกิดขึ้นไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้รู้ว่าตัวตนของ “ความเป็นชาวพุทธ” ของเรายังมีอยู่ ยังอยู่ที่นี่ และยังเปล่งเสียงมนุษยธรรมออกมาได้

สุรพศ ทวีศักดิ์, นักวิชาการด้านพุทธศาสนา

===========================

“เมื่อเรามองมนุษย์ในความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม ไม่แบ่งเชื้อชาติ ศาสนา ชนชั้น วรรณะ, ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เว้นแต่ว่าเราจะมองชาวโรฮิงญาอย่างไม่เท่าเทียมในความเป็นมนุษย์, การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่อพวกเขาจึงเป็นการแสดงออกว่าเราเองนั่นแหละคือมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะเมื่อเราถือตนนักหนาว่าเป็นเมืองพุทธ เราก็ควรมีความรักความเมตตาปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์อย่างไม่ลำเอียง เหตุการณ์ที่พระสงฆ์ออกมาปลุกระดมให้เกิดความชิงชังชาวโรฮิงญาในพม่า เป็นตัวอย่างเราควรสลดใจ เรื่องนี้ควรตระหนักอย่างไม่จำเป็นต้องคิดจากมุมมองศีลธรรมของศาสนา แต่ตระหนักได้ด้วยจริยธรรมของมนุษย์พื้นฐาน ต่อเหตุการณ์นี้เอง มันกลับเป็นการพิสูจน์ถึงความเป็นมนุษย์ของตัวเรา”

ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา, อาจารย์มหาวิทยาลัย, แอดมินเพจ zen smile, zen wisdom

==============================

“หัวใจของพุทธศาสนาคือคำสอนเรื่องความกรุณาที่ไม่มีประมาณ ไม่แบ่งแยกเรา-เขา ไม่ว่าจะด้วยลัทธิศาสนาความเชื่อหรือชาติพันธุ์ แต่มองเห็นความเป็น"เพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น" และพุทธศาสนาไม่มีแนวคิดเรื่องอาฆาตแก้แค้น แค่นี้ก็เป็นเหตุผลเพียงพอแล้วที่เราควรเห็นอกเห็นใจและให้ความช่วยทางมนุษยธรรมกับชาวโรฮิงญา”

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง, อาจารย์มหาวิทยาลัย, ภาคปรัชญา มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net