Skip to main content
sharethis

เครือข่ายปฎิรูปการประกันตัวเพื่อคนจนล่าชื่อถึง กก.ปฎิรูป ด้านกระบวนการยุติธรรม แนะใช้ 'แบบตรวจวัดความเสี่ยงการหลบหนี' ย้ำ 'เปลี่ยนระบบเงินประกัน ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน อีกต่อไป' ระบุในหนึ่งปีมีคนต้องติดคุกฟรี ถึง 60,000 คน

ลงชื่อได้ที่ เว็บไซต์รณรงค์ change.org 

21 ก.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเว็บไซต์รณรงค์ change.org เครือข่ายปฎิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน ได้ตั้งการรณรงค์ล่ารายชื่อในชื่อว่า 'เปลี่ยนระบบเงินประกัน “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน” อีกต่อไป' ร้องเรียนถึง คณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม

การรณรงค์นำเสนอด้วยวิดีโอ 'ท้าให้ทาย...คดีนี้ใครต้องติดคุก?' นำเสนอสถานการณ์จำลองเหตุการณ์ฆาตรกรรม พร้อมอธิบายว่าใครต้องติดคุก ปรากฎเป็นผู้ต้องสงสัยคนหนึ่งที่ไม่มีเงินประกันตัวในระหว่างที่มีการฝากขัง แม้ท้ายที่สุดจะไม่มีความผิดก็ตาม ส่วนผู้ต้องสงสัยคนอื่นไม่ติดคุกเนื่องจากมีเงินประกันตัว

"เพียงแค่ไม่มีเงินก็ต้องเข้าไปรอในคุก ไม่ว่าจะผิดจริงหรือไม่ก็ตาม โดยในหนึ่งปี มีคนต้องติดคุกฟรีๆ แบบนี้ถึง 60,000 คน" ข้อความที่ระบุในวิดีโอรณรงค์ดังกล่าว

เครือข่ายปฎิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน ระบุว่า ก่อนศาลจะตัดสินว่าใครผิด ผู้ต้องสงสัย ขอย้ำว่าแค่สงสัยยังไม่รู้ว่าทำผิดจริงหรือเปล่า ที่ถูกจับกุม ณ ที่เกิดเหตุ จะต้องถูกฝากขัง เพื่อไม่ให้หนีไปก่อนพิจารณาคดี แต่เขาสามารถวางเงินประกันเพื่อซื้ออิสรภาพช่วงรอได้ เมื่อมาฟังศาลตัดสิน ไม่ว่าผิดหรือถูก ก็จะได้เงินประกันคืนไป แต่ในทางกลับกัน คนจนที่ไม่มีเงินเอาไว้ประกันตัวเอง จะต้องติดคุกระหว่างรอการพิจารณา ซึ่งเฉลี่ยแล้วอาจกินเวลาในคุก 6 เดือน ถึง 1 ปี ทั้งที่ตัวเองอาจจะไม่ได้ผิดเลย
 
"ระบบนี้ทำลายชีวิตของคนจนกว่า 60,000 คนต่อปี บางคนถึงกับยอมรับสารภาพทั้งที่ไม่ผิด เพราะนั่นอาจหมายความว่าจะทำให้ติดคุกสั้นลง ส่วนคนรวยที่ผิดจริงบางราย ก็พร้อมจ่ายเงินประกันแล้วหนีอยู่ดี" เครือข่ายปฎิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน ระบุ พร้อมอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ยิ่งกว่านั้นยังส่งผลเสียต่อประเทศ กว่า 8,500 ล้านต่อปี ต้นทุนของเรือนจำ เช่น ผู้คุม ​อาหาร ค่าใช้จ่ายต่างๆ กว่า 2,500 ล้านต่อปี คนที่ต้องเสียโอกาสในการทำงานสร้างรายได้ คำนวนแล้วเกือบ 6,000 ล้านต่อปี ต้นเหตุของเรื่องนี้ ก็เพราะเงินไม่ได้วัดว่าใคร เสี่ยงที่จะหนีหรือไม่หนี
 
เครือข่ายปฎิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน เสนอให้นำแบบตรวจวัดความเสี่ยงการหลบหนี มาใช้อย่างเต็มที่ โดยระบุด้วยว่า ตอนนี้ไทยก็เริ่มรับโครงการนี้มาทดลองใช้แล้ว
 
สำหรับ แบบตรวจวัดความเสี่ยงการหลบหนี นั้น เครือข่ายปฎิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน อธิบายเพิ่มเติมว่า ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ได้นำระบบดังกล่าวมาใช้ ซึ่งได้ผลดีอย่างมาก โดยเมื่อมีคดีเข้ามา เจ้าหน้าที่ศาลจะดึงข้อมูลของผู้ต้องสงสัย จำนวน 15 หมวด เช่น ประวัติอาชญากรรม ประวัติยาเสพติด คดีที่ค้างพิจารณา ฐานรายได้ เป็นต้น มาคำนวนเป็นคะแนน ว่าคนนี้ มีความเสี่ยงที่จะหนีมากน้อยแค่ไหน ผู้พิพากษา สามารถจัดการตามคะแนนได้ เช่น เสี่ยงน้อยก็ให้สาบานแล้วนัดวันรายงานตัว เสี่ยงกลางก็สามารถให้รายงานตัวด้วยการ Scan ลายนิ้วมือผ่าน Application หรือใส่กำไลที่ข้อเท้า และถ้าเสี่ยงมากจริงๆ ว่าจะหนี ก็ยังสามารถขังได้เหมือนเดิม  ด้วยการตรวจวัดความเสี่ยงที่เป็นวิทยาศาสตร์ และกลไกการกำกับดูแลหลังปล่อย จึงทำให้ศาลมีทั้งข้อมูลและเครื่องมือที่ทำให้ไม่ต้องเรียกเงินในการประกันตัวอีกต่อไป
 
ข้อดีของระบบใหม่นี้ คือ ใช้หลักการที่เป็นวิทยาศาสตร์ ทำให้คนทุกคนไม่ว่ารวยจน ก็จะเท่าเทียมกัน คนรวยมีทั้งที่เสี่ยงจะหนีและไม่หนี คนจนก็เช่นกัน ทุกคนจะถูกวัดด้วยเครื่องมือเดียวกัน ปลอดอคติ เป็นหลักสถิติ ที่ยิ่งใช้มาก ยิ่งเพิ่มฐานข้อมูล ก็จะยิ่งคาดการณ์ได้แม่นยำมากขึ้น  และลดความแออัดในเรือนจำ ตอนนี้คุกไทยมีผู้ต้องขังทั้งหมด 2.4 แสนคน แต่เป็นคนที่ถูกขังเพราะไม่มีเงินประกัน ถึงเกือบ 60,000 คน หรือ 1 ใน 5 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net