Skip to main content
sharethis

ครม. มีมติอนุมัติวงเงินงบประมาณที่ใช้ดำเนินโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2560/61 87,216.17 ล้านบาท - ไฟเขียวนำเบี้ยประกันสุขภาพลดหย่อนภาษี

20 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลระบุว่า วานนี้ (19 ก.ย.60)  เวลา 09.00 น. ณ อาคาร 100 ปี ศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2560 ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ได้ร่วมแถลงผลการประชุม ครม. ดังกล่าว

โดยประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ ครม. มีมติอนุมัติวงเงินงบประมาณที่ใช้ดำเนินโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2560/61 ด้านการตลาด ตามที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอ จำนวน 3 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 87,216.17 ล้านบาท (วงเงินสินเชื่อ 33,510.00 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 53,706.17 ล้านบาท) ดังนี้ 1. โครงการที่ดำเนินการโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 2 โครงการ วงเงิน 86,276.17 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.1 โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงินสินเชื่อ 12,500.00 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 406.25 ล้านบาท 1.2 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี วงเงินสินเชื่อ 21,010.00 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 52,359.92 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้ ธ.ก.ส. ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป

และ 2. โครงการที่ดำเนินการโดย พณ. จำนวน 1 โครงการ วงเงิน 940.00 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายจากงบกลาง รายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561  

ไฟเขียวนำเบี้ยประกันสุขภาพลดหย่อนภาษี

นอกจากนี้ สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า  ครม. เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับมาตรการทางภาษี ด้วยการนำเบี้ยประกันสุขภาพหักลดหย่อนภาษีวงเงินไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี  เมื่อรวมกับเงินฝากประกันชีวิต ประกันชีวิต ทั้ง 3 ประเภทรวมกันแล้วนำไปหักลดหย่อนภาษีรวมกันต้องไม่เกิน 1 แสนบาทต่อรายต่อปี เพื่อเปิดทางให้ผู้ซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพใช้สิทธิ์ให้เต็มวงเงิน 100,000 บาท 

ส่วนเหตุผลไม่ขยายเพดานให้สูงกว่า 100,000 บาทนั้น เนื่องจากกรมสรรพากรศึกษาพบว่าคนส่วนใหญ่ซื้อประกันแล้วนำมาหักลดหย่อนไม่เกิน 100,000 บาท และต้องการช่วยลดภาระผู้มีรายได้น้อย หากซื้อเพิ่มขึ้นสูงกว่า 100,000 บาท นับว่าเป็นผู้รายได้ปานกลางที่พออยู่ได้ นอกจากนี้ ยังลดภาระงบประมาณของรัฐเมื่อประชาชนหันไปซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทประกันมากขึ้นและดึงประชาชนเข้าสู่ระบบประกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net