Skip to main content
sharethis
ภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ-ธุรกิจ-สมาชิกรัฐสภา 87 คน ร้องประยุทธ์คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก-สิทธิด้านแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาทั้ง 14 คน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ตกเป็นเป้าฟ้องคดีหมิ่นประมาทและข้อหาอื่น ๆ เหตุเปิดเผยข้อมูลละเมิดสิทธิด้านแรงงาน 

ภาพกลุ่มคนงานดังกล่าวเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 ก.ค.59

19 ก.ย. 2560 จากกรณีเมื่อที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลมีคำพิพากษาให้ฟาร์มไก่ธรรมเกษตรใน จ.ลพบุรี ซึ่งเคยทำสัญญาส่งไก่ให้แก่บริษัทเบทาโกร จ่ายเงินชดเชยแก่อดีตคนงานพม่า 14 คน จำนวน 1,700,000 บาท โดย คำตัดสินของศาลถือเป็นการตัดสินตามคำสั่งของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลพบุรี ที่ก่อนหน้านี้มีคำสั่งให้เจ้าของฟาร์มธรรมเกษตรชดเชยเงินให้แก่กลุ่มแรงงาน และถือเป็นการยกคำร้องอุทธรณ์ของเจ้าของฟาร์มธรรมเกษตร ที่ต้องการให้ศาลพิจารณายกเลิกไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยโดยอัตโนมัตินั้น
 
ล่าสุดวันนี้ (19 ก.ย.60) รายงานข่าวแจ้งว่า ฟอร์ตี้ฟายไรต์และองค์กรภาคประชาสังคม หน่วยงานธุรกิจ สมาชิกรัฐสภาอีก 86 คน ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกในวันนี้ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลไทย “ดำเนินมาตรการเชิงรุกโดยทันที” เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิด้านแรงงาน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
 
“หน่วยงานธุรกิจในประเทศไทยได้หันมาใช้การฟ้องคดีหมิ่นประมาทมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์ และเพื่อเบี่ยงประเด็นจากข้อกล่าวหาว่ามีการกระทำผิดร้ายแรง” เอมี สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหารฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าว  พร้อมเรียกร้องด้วยว่า ทางการไทยต้องลุกขึ้นปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็นและสิทธิของแรงงาน
 
จดหมายเปิดผนึกระบุว่า บริษัทธรรมเกษตร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทฟาร์มเลี้ยงไก่ของคนไทย ได้ฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อคนงาน 14 คนเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 59 โดยกล่าวหาว่าคนงานเหล่านี้ทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง เนื่องจากการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในวันที่ 7 ก.ค. 59 ศาลแขวงดอนเมืองที่กรุงเทพฯ มีกำหนดพิจารณาคดีของบริษัทธรรมเกษตร จำกัดต่อคนงานในวันที่ 4 ต.ค.นี้
 
ในคำร้องต่อ กสม. คนงานอ้างว่าทางบริษัทไม่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำและไม่จ่ายค่าทำงานล่วงเวลา บังคับให้คนงานต้องทำงานเกินเวลาหลายชั่วโมง และมีการยึดเอกสารประจำตัวของคนงานไว้ด้วย ในวันที่ 14 กันยายน ศาลฎีกาของไทยพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้บริษัทธรรมเกษตร จำกัดจ่ายเงินจำนวน 1.7 ล้านบาท เป็นค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิของคนงานทั้ง 14 คน
 
บริษัทธรรมเกษตรจำกัดได้ฟ้องคดีต่อ อานดี้ ฮอลล์ (Andy Hall) นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวอังกฤษ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 กล่าวหาว่ามีการหมิ่นประมาททางอาญา และการละเมิดพระราชบัญญัติการกระทําผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากการโพสต์ข้อความทางโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงานของคนงานข้ามชาติทั้ง 14 คน ศาลอาญากรุงเทพใต้จะทำการไต่สวนมูลฟ้องในคดีนี้ในวันที่ 15 ธันวาคม 2560
 
จดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้สำนักนายกรัฐมนตรี ประกันสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกของคนงาน นักกิจกรรม และบุคคลอื่น ๆ ที่รายงานข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิแรงงานโดยบริษัทต่าง ๆ ในระหว่างการดำเนินงานธุรกิจ และให้ลดการเอาผิดทางอาญากับความผิดฐานหมิ่นประมาท จดหมายดังกล่าวยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยบังคับใช้ข้อบทเพื่อคุ้มครองสิทธิด้านแรงงานสำหรับคนงานทุกคน รวมทั้งคนงานข้ามชาติ
 
“พล.อ.ประยุทธ์ควรทำตามสัญญาของเขาที่จะประกันให้หน่วยงานธุรกิจของไทย ปฏิบัติตามสิทธิขั้นพื้นฐานและการคุ้มครองทั้งนี้ควรเริ่มจาก การบังคับใช้สิทธิด้านแรงงานและการคุ้มครองสิทธิของคนงานที่จะยื่นเรื่องร้องเรียน” ผู้อำนวยการบริหารฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าว พร้อมระบุด้วยว่าขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลในการพิจารณาว่าคดีต่อคนงานนี้ว่า อาจจะไม่มีมูลใดๆ
 
รายละเอียด จดหมายเปิดผนึกดังกล่าว : 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net