เครือข่ายฯต้านรุนแรงทางเพศ แนะ อิศราถอนฟ้องคนเผยแพร่ข่าว ตั้งกก.กลางสอบ

ปมกระแสข่าวละเมิดทางเพศพนักงานในสถาบันอิศรา ‘ทิชา ณ นคร’ แนะตั้งคณะกรรมการกลางตรวจสอบ ถอนฟ้องคนเผยแพร่ข่าว ย้ำคุกคามทางเพศในที่ทำงานไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่สาธารณะควรพูดถึง

19 ก.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (19 ก.ย. 60) เครือข่ายบุคคลและองค์กรต่อต้านความรุนแรงทางเพศ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องความรับผิดชอบจากสถาบันและสำนักข่าวอิศราและองค์กรวิชาชีพสื่อ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเป็นกลาง โปร่งใส และเป็นธรรมจากกรณีข่าวการคุกคามทางเพศระหว่างผู้บริหารและพนักงานในองค์กรสื่อ

สืบเนื่องจากกรณีกระแสข่าวผู้บริหารสถาบันและสำนักข่าวอิศราคุกคามทางเพศนักข่าวผู้หญิงในที่ทำงาน ทางสถาบันอิศราได้ออกแถลงการณ์ 2 ฉบับเมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา ในนามประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันอิศรา และในนามพนักงานของสถาบันและสำนักข่าวอิศรา ระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวว่า “ยังไม่ปรากฏว่ามีผู้ร้องเรียนหรือผู้เสียหาย รวมถึงผู้ถูกกล่าวหาอย่างชัดแจ้ง มีเพียงข่าวลือข่าวซุบซิบ” และ “เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล” อีกทั้งยังยืนยันรับรองว่า ผู้บริหารสถาบันและสำนักข่าวอิศราที่ถูกกล่าวหาว่าคุกคามทางเพศ มิได้มีพฤติกรรมดังกล่าวแต่อย่างใด อ้างว่ามีผู้ประสงค์ร้ายต้องการทำร้ายชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ เป็นผลจากการที่สถาบันและสำนักข่าวอิศราได้ทำหน้าที่สื่อตรวจสอบการทุจริตของบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมา และยกเอาประวัติคุณงามความดีในการปฏิบัติงานด้านอื่นของผู้ถูกกล่าวหา มาเป็นเหตุผลรับรองความบริสุทธิ์ในกรณีการคุกคามทางเพศ

แฟ้มภาพ

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ในนามตัวแทนเครือข่ายบุคคลและองค์กรต่อต้านความรุนแรงทางเพศ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวประชาไทเพิ่มเติมว่า การที่สถาบันอิศรารีบยืนยันว่าคนที่ถูกกล่าวหาเป็นคนดี มีผลงาน ไม่ได้กระทำการดังกล่าว เป็นการด่วนสรุปเกินไป ไม่ใช่หลักฐานที่จะทำให้สรุปว่าไม่มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศ

รวมถึงการที่สถาบันอิศราพยายามจะยกประเด็นที่ถูกกลั่นแกล้ง การทำลายสถาบันอิศรา ทำลายตัวบุคคล เนื่องจากได้ต่อสู้ในประเด็นสำคัญๆ ทางการเมือง ทางสังคม ทางผลประโยชน์สาธารณะ คิดว่าเป็นการบิดเบือนประเด็นการคุกคามทางเพศไปอย่างรวดเร็วมาก

“เขาพูดถึงประเด็นคุกคามทางเพศเป็นเรื่องส่วนตัว แต่จริงๆ การคุกคามทางเพศในที่ทำงานไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่กระทำต่อคนที่มีสถานะเป็นลูกน้อง” ทิชา กล่าว

เธอกล่าวต่อว่า ถ้าสถาบันอิศราวางตัวเรื่องนี้อย่างสง่างามจริงๆ ก็คือการตั้งคณะกรรมการผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องนี้ขึ้นมาตรวจสอบหาความจริง และถ้าการหาความจริงนั้นพบว่ามีความเกี่ยวข้องจริง มีการกระทำแบบนี้จริงในสถาบันอิศราจะต้องจัดการและประกาศต่อสาธารณะอย่างจริงจัง คุณก็ต้องยอมรับว่าคนที่คุณคิดว่าต่อสู้เพื่อประโยชน์สาธารณะก็มีมุมมืด แต่สถาบันอิศราเลือกที่จะไม่ตั้งคณะกรรมการ

“ความจริงก็คือเรื่องที่เกิดขึ้นมันยังไม่ถูกพูดเลย แล้วก็ใช้ความดีมากมายของคุณมาอธิบายท่ามกลางข่าวลือแบบนี้ ซึ่งเรื่องบางเรื่องมันเป็นด้านมืดของมนุษย์ มันเกิดขึ้นในมุมมืด และมุมมืดนั้นก็ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นประเด็นที่สาธารณะกำลังห่วงใยกันอยู่ มันย่อมเกิดขึ้นได้ หรือไม่ได้ คำตอบที่ดีที่สุดคือการมีคนกลางที่น่าเชื่อถือ” ทิชาย้ำ

เมื่อถามถึงเรื่องการเรียกร้องให้มีการถอนฟ้องผู้เผยแพร่ข่าว ทิชากล่าวว่า ไม่เข้าใจว่าใช้ตรรกะอะไร คุณอยู่กับข่าว คุณย่อมรู้ว่านี่เป็นพลวัตร เป็นการเคลื่อนไหว

“การแจ้งความก็เหมือนกับคุณกำลังพยายามปกป้องอะไรบางอย่าง มันไม่สง่างามเลยกับคนที่ทำสื่อมาขนาดนี้ ยกเว้นอย่างเดียวก็คือคุณกลัวความจริง” ทิชากล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้แถลงการณ์โดยสรุปของเครือข่ายบุคคลและองค์กรต่อต้านความรุนแรงทางเพศมีใจความเรียกร้องให้สถาบันอิศราแสดงความรับผิดชอบ โดย

1. เร่งดำเนินการให้มีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เป็นกลาง โปร่งใส และเป็นธรรม โดยเชิญบุคคลภายนอกที่มีความ เป็นกลาง และมีประสบการณ์ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการใช้อำนาจทางเพศโดยมิชอบ เข้าร่วมการตรวจสอบด้วย

2. เปิดทางให้องค์กรวิชาชีพสื่อดำเนินกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงควบคู่กันไป

3. เสนอแนะให้ผู้เกี่ยวข้องถอนแจ้งต่อความผู้เผยแพร่ข่าวตามที่ได้มีการแจ้งความไว้ 

สำหรับรายละเอียดแถลงการณ์ของเครือข่ายฯ มีดังนี้

แถลงการณ์เรียกร้องความรับผิดชอบจากสถาบันและสำนักข่าวอิศรา

และองค์กรวิชาชีพสื่อ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเป็นกลาง โปร่งใส และเป็นธรรม

กรณีข่าวการคุกคามทางเพศระหว่างผู้บริหารและพนักงานในองค์กรสื่อ

โดย เครือข่ายบุคคลและองค์กรต่อต้านความรุนแรงทางเพศ

            สืบเนื่องจากที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่ข้อมูลว่า ผู้บริหารองค์กรสื่อแห่งหนึ่งมีพฤติกรรมคุกคามทางเพศพนักงานในสังกัด และประกาศเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2560 จะจัดตั้งคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว  ต่อมาได้มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์และข่าวในสื่อกระแสหลัก ระบุว่าเหตุการณ์การคุกคามทางเพศดังกล่าวเกิดขึ้นที่สถาบันและสำนักข่าวอิศรานั้น

เมื่อวันที่ 15 กันยายน ที่ผ่านมา สถาบันและสำนักข่าวอิศราได้ออกแถลงการณ์ 2 ฉบับ ในนามประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันอิศรา และในนามพนักงานของสถาบันและสำนักข่าวอิศรา ระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวว่า “ยังไม่ปรากฏว่ามีผู้ร้องเรียนหรือผู้เสียหาย รวมถึงผู้ถูกกล่าวหาอย่างชัดแจ้ง มีเพียงข่าวลือข่าวซุบซิบ”* และ “เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล”* อีกทั้งยังยืนยันรับรองว่า ผู้บริหารสถาบันและสำนักข่าวอิศราที่ถูกกล่าวหาว่าคุกคามทางเพศ มิได้มีพฤติกรรมดังกล่าวแต่อย่างใด

เป็นที่น่าสังเกตว่า สถาบันฯ มีวินิจฉัยยืนยันรับรองดังกล่าว โดยอาศัยเพียงข้อมูลจากการสอบถามถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ จากบุคคลแวดล้อม และจากตัวผู้ถูกกล่าวหาเอง และโดยอาศัยความเชื่อมั่นในตัวผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็น “ผู้เสียสละตนเป็นตัวแทนและเป็นเบื้องหน้า ทำหน้าที่ต่าง ๆ แทนคณะกรรมการบริหารสถาบันอิศราอย่างใกล้ชิดและเข้มแข็งตลอดมา”** และ “มีประวัติในการทำงานภายใต้กรอบจรรยาบรรณวิชาชีพ เพื่อปกป้องประโยชน์ของส่วนร่วมมาโดยตลอด”*

แถลงการณ์ของสถาบันและสำนักข่าวอิศรายังระบุด้วยว่า การกล่าวหาผู้บริหารของสถาบันฯ ในครั้งนี้ เป็นการกระทำของ “ผู้ประสงค์รายและต้องการทำร้ายชื่อเสียงและทำลายเกียรติคุณที่สะสมมายาวนานของสถาบันอิศรา”** เป็นผลจากการที่สถาบันและสำนักข่าวอิศราได้ทำหน้าที่สื่อตรวจสอบการทุจริตของบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมา ทำให้ “ผู้ที่ได้รับผลกระทบและคนบางกลุ่มแอบแฝงหยิบเป็นประเด็นโจมตีและมุ่งทำลายความน่าเชื่อถือของผู้บริหารสถาบันอิศรา และมุ่งทำลายความน่าเชื่อถือของสำนักข่าวและสถาบันอิศรา”*

จากแถลงการณ์ดังกล่าว จึงคาดการณ์ได้ว่า สถาบันและสำนักข่าวอิศราจะไม่ดำเนินกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเป็นกลาง โปร่งใส และเป็นธรรม ในกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด

เครือข่ายบุคคลและองค์กรต่อต้านความรุนแรงทางเพศ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของบุคคลและองค์กรที่ทำงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศในสังคมไทย เห็นว่า ปฏิกิริยาตอบโต้ต่อข่าวการคุกคามทางเพศภายในองค์กรของสถาบันและสำนักข่าวอิศรา ยังไม่ได้แสดงถึงความรับผิดชอบของสถาบันฯ อย่างเพียงพอ เพราะแทนที่จะเร่งรัดให้มีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เป็นกลาง โปร่งใส และเป็นธรรม สถาบันฯ กลับรีบด่วนออกมาประกาศยืนยันรับรองความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา และประกาศจะต่อสู้ยืนหยัดร่วมกับผู้ถูกกล่าวหา โดยอาศัยเพียงการสอบถามข้อมูลจากบุคคลแวดล้อมและตัวผู้ถูกกล่าวหาเอง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่รอบด้าน และมีโอกาสสูงที่จะเป็นข้อมูลที่โน้มเอียงเข้าข้างผู้ถูกกล่าวหา

นอกจากนี้ สถาบันและสำนักข่าวอิศรายังหยิบยกเอาประวัติคุณงามความดีในการปฏิบัติงานด้านอื่นของผู้ถูกกล่าวหา มาเป็นเหตุผลรับรองความบริสุทธิ์ในกรณีการคุกคามทางเพศ ซึ่งแม้คุณงามความดีดังกล่าวจะเป็นความจริงที่สังคมยอมรับ แต่การที่บุคคลมีประวัติการปฏิบัติงานดีเด่นในด้านอื่น ไม่ใช่หลักฐานข้อพิสูจน์โดยชัดแจ้งว่าบุคคลดังกล่าวจะไม่มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศ ซึ่งเป็นคนละกรณีกัน

ในกรณีที่สถาบันและสำนักข่าวอิศรากล่าวอ้างว่า ขณะนี้ยังไม่มีผู้ร้องเรียนหรือผู้เสียหายจากการคุกคามทางเพศที่เกิดในสถาบันฯ ออกมาแสดงตัว ก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่ดีในการที่สถาบันฯ จะนิ่งเฉยไม่ดำเนินกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงใด ๆ เพราะหากสถาบันฯ มีความจริงใจและมุ่งมั่นที่จะทำความจริงในเรื่องดังกล่าวให้ปรากฏ ย่อมไม่พ้นวิสัยของสถาบันฯ ที่จะสืบหาตัวผู้ร้องเรียนหรือผู้เสียหาย และมอบหมายให้คณะบุคคลที่ไว้วางใจได้ว่าเป็นกลางและมีความละเอียดอ่อน ทำหน้าที่สอบถามปากคำจากผู้ร้องเรียนหรือผู้เสียหายได้

การที่สถาบันและสำนักข่าวอิศรา กล่าวหาว่า ผู้ที่เป็นต้นตอของการเผยแพร่ข่าวการคุกคามทางเพศดังกล่าว คือ ผู้เสียผลประโยชน์หรือผู้ได้รับผลกระทบจากการรายงานข่าวการทุจริตต่างๆ ของสถาบันฯ และยังมีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่เผยแพร่ข่าวรายหนึ่ง (ตามแถลงการณ์อีกฉบับหนึ่งของสถาบันฯ ออกเมื่อ 16 ก.ย. 60) ด้วยนั้น ถือเป็นการปักป้ายเหมารวมผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายจากการคุกคามทางเพศโดยแท้จริง หรือเป็นผู้ที่รับทราบข้อมูลและต้องการเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมโดยบริสุทธิ์ใจ และอาจถูกมองว่าเป็นความพยายามที่จะปิดปาก มิให้บุคคลเหล่านี้กล้าออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริงหรือเรียกร้องใด ๆ ต่อไป

วิธีการตอบโต้ต่อสถานการณ์ของสถาบันและสำนักข่าวอิศราดังกล่าวข้างต้น ได้สร้างความคลางแคลงใจในความจริงใจและมุ่งมั่นของสถาบันฯ ที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงเมื่อมีการกล่าวหาว่ามีการประพฤติผิดหรือใช้อำนาจโดยมิชอบภายในสถาบันฯ เอง และจะทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันฯ ในฐานะองค์กรสื่อที่ปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบและนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประพฤติผิดและใช้อำนาจโดยมิชอบในหน่วยงานต่าง ๆ อย่างจริงจังและมุ่งมั่นมาโดยตลอด

ในการนี้ เครือข่ายบุคคลและองค์กรต่อต้านความรุนแรงทางเพศ จึงขอเรียกร้องให้สถาบันและสำนักข่าวอิศราแสดงความรับผิดชอบ โดย

1.     เร่งดำเนินการให้มีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เป็นกลาง โปร่งใส และเป็นธรรม โดยเชิญบุคคลภายนอกที่มีความเป็นกลาง และมีประสบการณ์ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการใช้อำนาจทางเพศโดยมิชอบ เข้าร่วมการตรวจสอบด้วย

2.     เปิดทางให้องค์กรวิชาชีพสื่อดำเนินกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงควบคู่กันไป

3.     เสนอแนะให้ผู้เกี่ยวข้องถอนแจ้งต่อความผู้เผยแพร่ข่าวตามที่ได้มีการแจ้งความไว้

สุดท้ายนี้ เครือข่ายบุคคลและองค์กรต่อต้านความรุนแรงทางเพศ ขอเรียกร้องให้องค์กรวิชาชีพสื่อที่เกี่ยวข้อง ดำเนินกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีนี้ให้ถึงที่สุดด้วย

เพื่อให้วิชาชีพสื่อมีความสง่างาม และคงความน่าเชื่อถือ ในฐานะวิชาชีพที่มุ่งนำเสนอความจริงเพื่อความถูกต้องเป็นธรรมในสังคมต่อไป

เครือข่ายบุคคลและองค์กรต่อต้านความรุนแรงทางเพศ

   19 กันยายน 2560

*    แถลงการณ์จากพนักงาน กรณีผู้บริหารสถาบันอิศราถูดพาดพิงทำให้เสียหาย โดย พนักงานของสถาบันอิศราและสำนักข่าวอิศรา – 15 ก.ย. 60

**   แถลงการณ์กรณีผู้อำนวยการสถาบันฯ ถูกกล่าวหา โดย ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันอิศรา – 15 ก.ย. 60

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าก่อนหน้านี้ทางสถาบันอิศราและพนักงานได้ออกแถลงการณ์ 2 ฉบับ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท