Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

สังคมไทยปัจจุบันกำลังมีความคาดหวังว่า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลทหารมาเป็นรัฐบาลพลเรือนในอีกไม่นานนี้ โดยมีหลายปัจจัยทางสังคมกดดันการตัดสินใจจัดการเลือกตั้งของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการเมืองภายในประเทศ ฯลฯ โดยทั้งนี้ในส่วนของปัจจัยการเมืองภายในประเทศ ผู้เขียนจะมุ่งเน้นไปที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยการขับเคลื่อนสังคมประชาธิปไตยดังกล่าว แต่ในปัจจัยดังกล่าวก็ยังพบปัญหาบางประการในหมู่นักกิจกรรมซ้ายไทยรุ่นใหม่ด้วยกัน โดยผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมือง เช่น กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา เป็นต้น มาเป็นกรณีศึกษาที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อบทความดังกล่าว เพื่อมุ่งเน้นอธิบาย (analysis) และเสนอแนะแนวทาง (normative) เพื่อนำมาสู่ข้อเสนอในการแก้ปัญหาเรื่องอคติ (prejudice) รวมไปถึงการกีดกัน (discrimination) และการขาดการรวมหมู่ (non-collective) ของฝ่ายซ้ายไทยซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะมีสาเหตุที่มาจากข้อแตกต่างในความเชื่อของอุดมการณ์ทางการเมือง และข้อแตกต่างในการแสดงปฏิบัติกิจกรรมทางการเมือง รวมไปถึงปัจจัยเพาะบ่มด้านพฤติกรรมการขาดการรวมหมู่ในระดับอุดมศึกษาไทย ซึ่งบทความนี้จะอาศัยการวิเคราะห์ด้วยหลักจิตวิทยาสังคม (social psychology)[1] ในการอธิบายปัญหาและเพื่อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาปรากฎการณ์ดังกล่าวของสังคม โดยในบทความนี้จะเป็นการกล่าวถึงบริบทของนักกิจกรรมที่เป็นฝ่ายซ้ายไทยรุ่นใหม่


ความเป็นมาของปัญหา

สืบเนื่องผู้เขียนก็ได้คลุกคลีกับวงการนักเคลื่อนไหวและกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองซ้ายไทยรุ่นใหม่ต่างๆเป็นระยะเวลาพอสมควร ผู้เขียนจึงพอทราบได้ถึงปัญหาในวงการดังกล่าวอยู่พอสมควร โดยทั้งนี้ เมื่อเรามีการอธิบายอุดมการณ์ทางการเมืองให้เป็นเรื่องโดยง่าย (simplified) ก็สามารถแบ่งได้เป็นฝ่ายซ้าย และฝ่ายขวา ซึ่งฝ่ายซ้ายมักจำแนกอย่างกว้างได้เป็นฝ่ายเสรีนิยม (liberalism) และสังคมนิยม (socialism) ส่วนฝ่ายขวามักจำแนกอย่างกว้างได้เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม (conservatism)

โดยวงการนักเคลื่อนไหวและกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองคนรุ่นใหม่ มักจะนิยามตนเองหรือกลุ่มว่ามีพื้นฐานทางอุดมการณ์ทางการเมืองในฝ่ายซ้ายรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งของเสรีนิยมหรือสังคมนิยม ซึ่งเราจะพบได้ว่าทั้งเสรีนิยมและสังคมนิยม มีหลักการความเชื่อบางอย่างที่สอดคล้องกัน เช่น หลักความเชื่อเรื่องความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย (equality before the law) ความเสมอภาคกันทางการเมือง (political equality) หรือความเสมอภาคในโอกาส (equality of opportunity) ซึ่งล้วนเป็นความเชื่อที่มีคุณค่ายิ่ง (ยังมีความเสมอภาคบางอย่างที่แนวคิดสังคมนิยมมุ่งเน้นเด่นชัดออกมาจากแนวคิดเสรีนิยม ได้แก่ ความเสมอภาคทางสังคมและเศรษฐกิจ (social and economic equality) ซึ่งจะนำมาสู่ความเสมอภาคในผลลัพธ์ (equality in outcome) ของประชาชน เป็นต้น) แต่ถึงกระนั้นแล้ว ในทางจิตวิทยาสังคม ความแตกต่างทางความเชื่อก็ย่อมนำมาสู่ความขัดแย้งได้ โดยการแบ่งอุดมการณ์ทางการเมืองและนำมาจัดกลุ่มแบ่งประเภท (categorization) ย่อมนำมาสู่การแสดงข้อแตกต่างให้ชัดเจนขึ้น การแบ่งกลุ่มเขา (outgroup) และกลุ่มตน (ingroup) สามารถนำมาสู่อคติและความขัดแย้งซึ่งกันและกัน (ถึงแม้ว่ากลุ่มเขาและกลุ่มเราจะมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน) โดยจะขอชี้ให้เห็นดังต่อไปนี้


1.ความแตกต่างทางอุดมการณ์ทางการเมือง

ความแตกต่างสามารถนำมาซึ่งอคติ และอคติสามารถขำมาสู่ความขัดแย้ง โดยถึงแม้การแบ่งประเภทกลุ่มจะทำให้กลุ่มมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเลือกรูปแบบแผนการดำเนินการ อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายกลุ่ม โดยเป้าหมายนี้ก็อาจสอดคล้องกับเป้าหมายกลุ่มอื่นด้วย แต่การแบ่งประเภทก็ยังสามารถก่อให้เกิดอคติ โดยในกรณีนี้ เพื่อให้เห็นภาพการจัดประเภทที่ละเอียดยื่งขึ้น ก็จะต้องแบ่งอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกย่อยชนิดลงไปอีกทั้งสามอุดมการณ์ได้มากมาย โดยมักนิยมนิยามตนเองว่าเป็นกลุ่มแนวคิดเสรีนิยมคลาสสิค (classic liberalism) สังคมเสรีนิยม (social liberalism) แนวคิดสังคมประชาธิปไตย (social democracy) แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย (democratic socialism) หรือแนวคิดซ้ายคอมมิวนิสต์ (left communism) เป็นต้น โดยทุกกลุ่มต่างก็มีจุดมุ่งหมายที่ต้องการประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ให้บังเกิดแก่ประเทศไทย แต่การร่วมมือกันกับสามารถเป็นไปได้อย่างไม่สะดวกจากอคติ โดยอคติเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเราเป็นใคร โดยในสังคมนั้น ตามธรรมชาติมนุษย์ เรามักมองว่าตนเองมีข้อดีกว่าผู้อื่น และผู้อื่นมีข้อด้อยมากกว่าตน ในทางกลุ่มการเมืองก็เช่นกัน ทั้งฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายสังคมนิยมก็มักมองกันและกันอย่างมีอคติ มองว่าอุดมการณ์ทางการเมืองของตนมีคุณค่าแก่สังคมมากกว่าอุดมการณ์ของฝ่ายอื่น อุดมการณ์ทางการเมืองของผู้อื่นไม่ได้ดีเสมอเหมือนกับอุดมการณ์ทางการเมืองของตน เรื่องนี้สามารถอธิบายผ่านแนวคิดความไม่เสมอภาคของสถานะและอคติได้ โดยยกตัวอย่าง การมองแบบเหมารวม (stereotype) โดยฝ่ายเสรีนิยมมักมองฝ่ายสังคมนิยมหัวรุนแรง มักมองว่าฝ่ายสังคมนิยมชอบสร้างกระแสสังคมให้เป็นที่สนใจของสื่อมวลชน และมักมองว่าฝ่ายสังคมนิยมมักไม่รู้จักการประนีประนอมกับกลุ่ม “ชนชั้นนายทุน” ของพวกเขา (ในกรณีอ้างอิงแนวคิดมาร์กซิสต์) ส่วนฝ่ายสังคมนิยมมักมองว่าฝ่ายเสรีนิยมเป็นพวกหาผลประโยชน์จากทั้งสองฝ่ายผ่านการประนีประนอม (ทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายสังคมนิยม) โดยมองว่าฝ่ายเสรีนิยมมักดำรงตน “อยู่เป็น” ในทุกสถานการณ์ (ฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายสังคมนิยมจะแย่งชิงพื้นที่ทางความคิดกันอย่างไร ฝ่ายเสรีนิยมก็ลอยตัวอยู่เหนือสถานการณ์ได้เสมอ) และมักมองว่าฝ่ายเสรีนิยมมักทำอะไรไม่จริงจัง พอเจออุปสรรคไม่มากเท่าใดก็หยุดการดำเนินการเรื่องนั้นต่อ เป็นต้น ซึ่งอคติเช่นนี้สามารถนำมาสู่ความเกลียดชังระหว่างกลุ่มอุดมการณ์ทางการเมืองในที่สุด ทำให้ฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายสังคมนิยมมักไม่ร่วมกันสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ฝักใฝ่ประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ร่วมกัน เป็นต้น


2.แนวทางการปฏิบัติที่ต่างกัน

สืบเนื่องจากความแตกต่างกันทางอุดมการณ์ทางการเมือง ย่อมส่งผลกระทบมาซึ่งการปฏิบัติในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ โดยจากอคติระหว่างอุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งเป็นการมองแบบเหมารวม และนำมาสู่ความขัดแย้งและเกลียดชัง โดยกลุ่มนักกิจกรรมซ้ายไทยรุ่นใหม่มักจะมีการจัดกิจกรรมเช่น งานเสวนา งานวิชาการ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ กลุ่มนักกิจกรรมแต่ละกลุ่มมักจะมีอคติกันระหว่างกลุ่ม ส่งผลให้ขาดการประสานข้อมูลและการทำงานกันระหว่างกลุ่ม หรือหาทางผูกขาดหรือกีดกันกลุ่มอื่นๆในการทำกิจกรรมที่กลุ่มตนต้องการทำ เพราะเชื่อว่ากลุ่มตนจะทำกิจกรรมนั้นได้ดีกว่า ซึ่งทำให้เครือข่ายของกลุ่มผู้ฝักใฝ่ประชาธิปไตยอันสมบูรณ์นั้นอ่อนแอจากการขาดการรวมหมู่เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน โดยจะขออธิบายหัวข้อนี้ให้เด่นชัดขึ้นผ่านการยกตัวอย่าง เช่น ฝ่ายสังคมนิยมจะมองหากิจกรรมที่มีความเข้มข้นและดึงดูดกระแสสังคมได้มาก เพราะต้องการให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากที่เป็นอยู่ ส่วนฝ่ายเสรีนิยมนิยมจัดกิจกรรมที่ไม่เข้มข้น เพื่อเน้นการยอมรับจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ไม่ต้องการให้สังคมเปลี่ยนแปลงรวดเร็วในระดับหนึ่ง และแสดงออกว่าฝ่ายเสรีนิยมก็พยายามให้สังคมเปลี่ยนแปลงกับฝ่ายสังคมนิยมในระดับหนึ่ง โดยทั้งฝ่ายเสรีนิยมและสังคมนิยมก็อาจเกิดการมองแบบอคติว่าแนวทางการปฏิบัติของตนดีที่สุด จึงเกิดปัญหาการกีดกันการทำกิจกรรมทางการเมืองกันดังกล่าว


แนวทางการแก้ปัญหาอคติ การกีดกัน และการไม่รวมหมู่ของนักกิจกรรมซ้ายไทยรุ่นใหม่

จากที่ได้เขียนบรรยายมาข้างต้นนั้น ปัญหาของอคติ การกีดกัน และการไม่รวมหมู่ของนักกิจกรรมซ้ายไทยรุ่นใหม่ ผู้เขียนได้นำเสนอถึงปัจจัยสองประการที่นำมาสู่อคติ การมองแบบเหมารวม ความขัดแย้ง และนำมาสู่การกีดกันดังกล่าวในที่สุด ไว้ 2 ปัจจัย อันได้แก่ 1.ความแตกต่างทางอุดมการณ์ทางการเมือง และ 2.แนวทางการปฏิบัติที่ต่างกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เป็นปัญหาในการเปลี่ยนแปลงสังคม เพราะทั้งอุดมการณ์แบบเสรีนิยมและแบบสังคมนิยมก็ล้วนมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการสร้างประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ให้เกิดแก่ประเทศไทย โดยแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาอคติ การกีดกัน และการไม่รวมหมู่ดังกล่าว สามารถอาศัยหลักวิธีในการแก้ปัญหาด้วยการมีสำนึกคิดถึงหลักเป้าหมายสูงสุด (superordinate goals) โดยมีที่มาจากการวิจัยที่ให้เด็กๆเล่นเกมส์ร่วมมือกัน ซึ่งนำมาสู่การลดความก้าวร้าว และมีการเพิ่มขึ้นของการให้ความร่วมมือกัน เมื่อให้เด็กๆเล่นเกมที่แข่งขันกัน เด็กๆก็แสดงออกถึงความก้าวร้าวและให้ความร่วมมือกันลดลง (Bay-Hintz, et al., 1994) หรือ หรือกรณีการสร้างเป้าหมายร่วมแบบชั้นเรียนจิ๊กซอว์ (jigsaw classroom) ที่พัฒนาโดย อีเลียต อารอนสัน (Elliot Aronson, 2000; Aronson, Blaney, Stephin, Sikes, & Snapp, 1978; Aronson & Patnoe, 1997) เพื่อสร้างการเรียนรู้แบบร่วมมือกันในห้องเรียน โดยเปรียบการที่เด็กๆแต่ละคนมาร่วมกันต่อจิ๊กซอว์ก็เหมือนเป็นการเติมเต็มภาพที่ให้สมบูรณ์ให้กลายมาเป็นภาพที่สมบูรณ์ อาศัยการร่วมด้วยช่วยกันต่อจิ๊กซอว์ โดยเป็นการให้เด็กๆแต่ละคนไปศึกษาค้นคว้าข้อมูลเนื้อหาการเรียน และนำความรู้ที่ตนศึกษามาร่วมกันทำการบ้านกับเด็กๆคนอื่น พบว่าเมื่อทุกคนช่วยกันทำการบ้าน (เป้าหมายสูงสุดคือการทำการบ้านให้เสร็จสมบูรณ์) การบ้านก็เสร็จสมบูรณ์ เมื่อย้อนมาที่ปัญหาของกลุ่มนักกิจกรรมซ้ายไทยรุ่นใหม่ดังกล่าวนั้น กลุ่มนักกิจกรรมซ้ายไทยรุ่นใหม่ก็ต้องลดอคติ ลดความขัดแย้ง และแสวงหาการรวมหมู่กันมากยิ่งขึ้น มีการร่วมมือช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน แลกเปลี่ยนข้อมูล และความรู้ต่างๆ เพื่อที่จะได้ร่วมกันบรรลุเป้าหมายสูงสุด ซึ่งก็คือการร่วมกันสร้างประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ให้เกิดแก่ประเทศไทยนั่นเอง


เชิงอรรถ
[1] นพมาศ อุ้งพระ (ธีรเวคิน). 2555. จิตวิทยาสังคม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
 



เกี่ยวกับผู้เขียน: ธรณ์เทพ มณีเจริญ เป็นนิสิตชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net