ประภาส ปิ่นตบแต่ง : สถานการณ์ข้าว ‘ชาวนาวิกฤตแน่หลังพ้นยุคจำนำข้าว’

นักวิชาการเผยภาพรวม ตลาดโลกแข่งขันสูง ราคาข้าวเปลือกไม่ขึ้น ชี้ทำนาอย่างเดียวไม่พอ ชาวนาต้องสร้างรายได้หลากหลาย แนะรัฐควรมีนโยบายสนับสนุน ระบุอุดหนุนยังจำเป็น แต่นโยบายจัดการน้ำยังมีปัญหา มองนโยบายนาแปลงใหญ่ไม่ได้ผล ขาดระบบจัดการที่ดี ถามมีองค์กรตรวจสอบกำกับ ‘ประชานิยม’ ยังยึดโยงกับประชาชนหรือไม่

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาในหัวข้อเสวนาเรื่อง "ทิศทางข้าวและชาวนา หลังยุคจำนำข้าว" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน "รัฐศาสตร์เสวนา" ชุดไทยศึกษากับการเมืองและสังคมไทย โดยหนึ่งในวิทยากรผู้ร่วมเสวนาคือ ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมชาวนา ได้พูดเกี่ยวกับสถานการณ์ภาพรวมของข้าว ชาวนา และนโยบายของรัฐที่เกี่ยวกับข้าว โดยมีรายละเอียดดังนี้

สถานการณ์ภาพรวมขณะนี้

ดังนั้นอย่าไปดัดจริตพูดว่ากินข้าวช่วยชาวนา ต่อให้กิน 9 มื้อชาวนาก็ไม่รวย

ประภาสกล่าวว่า ชาวนาวิกฤตแน่หลังจำนำข้าว โดยชี้ว่า แม้ข้าวอินทรีย์ 150,000 ไร่ เพิ่มขึ้นมาเป็น 200,000 ไร่ (ตัวเลขของมูลนิธิสายใยแผ่นดิน) จากนาทั้งหมด 70 ล้านไร่ แต่ก็ยังถือว่าเป็นปริมาณที่น้อยมาก ราคาข้าวเปลือกหลังโครงการจำนำข้าว ขึ้นสูงสุด โดยเฉพาะข้าวคุณภาพต่ำอยู่ที่ตันละ 7,200-8,000 บาท แต่ก็ลดลงอีก ปัจจุบันอยู่ที่ 7,000-7,500 บาท หากเป็นการขายข้าวของชาวนาโดยตรงจากการเกี่ยวสดจะถูกหักเรื่องความชื้น จึงเหลือเพียง 6,000 บาท และอาจไม่มีทางราคาขึ้นกว่านี้เพราะสถานการณ์ตลาดโลกมีการแข่งขันสูงมาก

ไทยเคยผลิตข้าวได้ถึง 38 ล้านตันในสมัยโครงการจำนำข้าว ปัจจุบันเหลือ 32-33 ล้านตัน และเคยต่ำสุดในปี 58 อยู่ที่ 27 ล้านตัน แต่ก็ยังต้องมีการส่งออกเพราะข้าวเป็นพืชที่ปลูกเพื่อการส่งออกอยู่แล้ว เราบริโภคประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์ ส่งออก 45 เปอร์เซ็นต์ แต่ในจำนวน 55 เปอร์เซ็นต์ที่บริโภคในไทยนั้นคิดง่ายๆ ว่าเราต้องกินข้าว 6-9 มื้อถึงจะกินหมด

"ดังนั้นอย่าไปดัดจริตพูดว่ากินข้าวช่วยชาวนา ต่อให้กิน 9 มื้อชาวนาก็ไม่รวย" ประภาสกล่าว

เขาเสริมต่อว่า ประเด็นคือไม่สามารถเปลี่ยนได้ในชั่วพลิกฝ่ามือ การพูดว่า ‘ตอนนี้ข้าวถูกก็ไปปลูกอย่างอื่นสิ’ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา การเข้ามาดูแลชาวนาในภาพรวมนั้นสำคัญกว่า นโยบายช่วยชาวนาเป็นสิ่งที่ทุกรัฐบาลต้องประคับประคองให้ชาวนาอยู่รอดได้

ในปี 59 เราผลิตข้าวคุณภาพต่ำได้ 13.5 ล้านตัน ส่วนข้าวคุณภาพสูง ได้แก่ หอมมะลิ 12 ล้านตัน และหอมปทุมฯ 1 ล้านตัน ข้าวอินทรีย์ที่พยายามจะบุกเบิกตลาดให้เป็นพรีเมี่ยมมีเพียง 3-7 หมื่นตันเท่านั้น ข้าวคุณภาพต่ำไม่ได้หมายความว่าใช้ตีนเขี่ยๆ ทำ แต่ข้าวเหล่านี้ถูกรัฐบาลสนับสนุนให้มีการปลูกเพื่อส่งออกไปตลาดใหญ่คือ ตะวันออกกลาง แอฟริกา

ชีวิตชาวนาปัจจุบัน เผชิญวิกฤตราคา

ประภาสคาดว่าชาวนาภาคกลางอาจเผชิญวิกฤตราคาเพราะส่วนใหญ่ที่ปลูกเป็นข้าวคุณภาพต่ำ ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น ช่วยประหยัดเวลาและแรงงาน ทำให้ชาวนามีเวลาไปทำอย่างอื่นด้วย ชีวิตที่สามารถทำให้เกิดรายได้ที่หลากหลายจึงน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

ในสถานการณ์ที่ราคาข้าวพอไปได้ชีวิตก็โอเค แต่ปัจจุบัน ขณะที่ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยประมาณไร่ละ 5,500 บาท (นาเช่าบวก 1,000) ราคาข้าวเกี่ยวสดจากนาไร่ละ 6,000-6,500 บาท ราคาข้าวตันละ 7,000 บาท ชาวนาได้กำไรประมาณไร่ละ 500-1,000 ชาวนาปกติมีนาสูงสุดประมาณ 20 ไร่ นั้นหมายความว่าในรอบ 4 เดือนที่ทำนา ชาวนาจะมีรายได้ตกประมาณ 1-2 หมื่นบาท (บวกโครงการไร่ละ 1,000 ก็อาจจะได้เพิ่มอีกสูงสุด 10,000) แต่ค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ ในชีวิตประจำวันก็มีไม่น้อย โดยเฉพาะ ค่าการศึกษาสำหรับลูกหลาน ชาวนาจึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

ประภาสกล่าวว่าชาวนาก็ไม่ได้รอให้รัฐบาลมีนโยบายมาช่วย ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่อยากได้ แต่ช่องทางเหล่านั้นขึ้นอยู่กับคนอื่น ดังนั้นการปรับตัวของชาวนาเอง เช่น การทำนาแบบล้มตอซัง การปรับที่นาบางส่วนทำพืชผักล้มลุก เช่น นาบัว ผักบุ้ง ฯลฯ การทำนากุ้ง รวมถึงการค้าขายและขายแรงงาน และการปรับตัวมาเป็นผู้ประกอบการ กลุ่มผลิตข้าวอินทรีย์

การปรับตัวของชาวนาในปัจจุบัน

ประภาสเสนอว่าควรมีนโยบายที่พอให้ชีวิตชาวนาอยู่ได้ เช่น คำนึงว่าเขามาขายแรงงาน มีสวัสดิการค่าแรงขั้นต่ำรองรับมากน้อยขนาดไหน โครงสร้างการเอารัดเอาเปรียบ หลักประกันที่ให้ผู้ค้าขายไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ มีหลักประกันเชิงรายได้ เรื่องของระบบความปลอดภัยที่ให้ผู้บริโภคเชื่อมั่น รัฐต้องใส่ใจกับนโยบายเหล่านี้ ไม่ใช่สักแต่ให้เขาไปเผชิญตามยถากรรมเอง

ประภาสยกตัวอย่างว่า ผักบุ้งที่เราซื้อกำละ 10-15 บาท ที่บ้านเขาเหลือกำละ 3 บาท สิ่งเหล่านี้ต้องมีนโยบายสนับสนุน ไม่ใช่บอกให้เขาเปลี่ยนไปปลูกอันนี้แทนสิ แล้วมันอย่างไรต่อ

นโยบายข้าวยุค คสช.

เนื้อหาเชิงนโยบาย

ถ้านาแปลงใหญ่เน้นประสิทธิภาพการผลิต ซื้อรถดำนามา 3 คัน มี 50 ไร่ กว่าจะดำได้ครบทุกแปลง ผมว่าแปลงแรกเกี่ยวแล้ว แปลงสุดท้ายยังไม่ได้ดำเลย เพราะคุณต้องรอเพาะข้าว ไม่งั้นคุณต้องมีฐานเพาะข้าวจำนวนมหาศาลซึ่งก็ไม่คุ้ม เกษตรตำบลเกษตรอำเภอที่ผมได้คุยอยู่บ้างก็พูดว่าอย่าไปทำเลย ถ้าเจ๊งใครจะรับผิดชอบ

ประภาสวิเคราะห์ในด้านบวกว่า ได้แก่ การอุดหนุนรูปแบบต่างๆ เห็นด้วยว่าเป็นเรื่องจำเป็น แต่นโยบายที่จะไปช่วยส่งเสริมการขยายพื้นที่การปลูกหรือปริมาณผลผลิตคงไปได้ยากถ้าดูในเชิงบริบท สถานการณ์ข้าวในปัจจุบันและการแข่งขันในตลาดโลก แต่อย่างไรก็ดีนโยบายเชิงระยะสั้นที่ประคับประคองให้ชาวนาพออยู่ได้ก็เป็นสิ่งซึ่งควรต้องทำ และรัฐบาลปัจจุบันก็กลับมาทำทั้งสิ้น แม้จะเปลี่ยนชื่อนโยบายไปแต่ก็อันเดียวกัน

ส่วนด้านลบ มีเรื่องการห้ามทำนาปรัง รวมทั้งนโยบายเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากร การบริหารจัดการน้ำ จะให้เมืองหรือให้ภาคการเกษตร น้ำแล้งไม่ให้ทำนา น้ำท่วมก็กันน้ำไว้เต็มนา ชาวนาต้องสูบน้ำออกเอง

แต่ทั้งนี้ต้องดูเชิงเนื้อหาในแต่ละเรื่อง เช่นประเด็นเรื่องนาแปลงใหญ่* ความจริงเขาตั้งเป้าไว้ 2,000 แปลง แต่ปัจจุบันตัวเลขที่ไม่เป็นทางการเท่าที่ทราบคือ 10-20 แปลงเท่านั้น ถามว่าทำไมไปไม่ได้ ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดมากแต่มันมีปัญหาเยอะอยู่ นาแปลงใหญ่ตอนหลังก็ไม่ได้เป็นนาอินทรีย์เพราะคงทำยาก และต้องให้เกษตรตำบล เกษตรอำเภอมาเป็นผู้จัดการ คิดว่าประเด็นคือปัญหาในเชิงจัดการ ดีอย่างเดียวคือดอกเบี้ยร้อยละ 0.01

"ถ้านาแปลงใหญ่เน้นประสิทธิภาพการผลิต ซื้อรถดำนามา 3 คัน มี 50 ไร่ กว่าจะดำได้ครบทุกแปลง ผมว่าแปลงแรกเกี่ยวแล้ว แปลงสุดท้ายยังไม่ได้ดำเลย เพราะคุณต้องรอเพาะข้าว ไม่งั้นคุณต้องมีฐานเพาะข้าวจำนวนมหาศาลซึ่งก็ไม่คุ้ม เกษตรตำบลเกษตรอำเภอที่ผมได้คุยอยู่บ้างก็พูดว่าอย่าไปทำเลย ถ้าเจ๊งใครจะรับผิดชอบ" ประภาสกล่าว

เรื่องจำนำยุ้งฉางก็ไม่ได้มีความแตกต่างจากนโยบายที่ผ่านมาสักเท่าไหร่ เป็นเรื่องของการให้ฟรีส่วนหนึ่ง และปัจจุบันก็จะมีเรื่องค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพไร่ละ 1,200 บาท ค่าการรักษาคุณภาพข้าวในยุ้งตันละ 1,500 บาท

กระบวนการเชิงนโยบาย

เรากำลังสร้างวัฒนธรรมใหม่เชื่อมโยงกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่จะมีองค์กรเข้ามาตรวจสอบกำกับสิ่งที่เขาเรียกกันว่านโยบาย ‘ประชานิยม’ ต่างๆ

ประภาสตั้งคำถามว่า นโยบายปัจจุบันเปลี่ยนเรื่องกระบวนการกำหนดนโยบาย การมีส่วนร่วมของผู้คนโดยเฉพาะชาวนาอย่างไรบ้าง โดยโครงสร้างนโยบายมีชาวนาอยู่ตรงไหนบ้าง มีอำนาจการต่อรองอย่างไร เช่น นโยบายพืชเศรษฐกิจ (ส่งเสริมให้ปลูกพืชบางชนิดจนอาจกลายเป็นกีดกันพืชอีกชนิด และส่งผลให้พืชชนิดนั้นๆ ล้นตลาด) หรือการเดินชุมนุมให้เปิดประตูน้ำตอนนี้ก็ทำไม่ได้ ทหารห้าม ชาวนาไม่สามารถต่อรองให้ได้มาซึ่งปัจจัยการผลิตที่พอ

มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความอยู่รอดของชาวนา กระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายจึงสำคัญ ซึ่งอยากพูดวกไปถึงเรื่องนโยบายจำนำข้าว อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล ได้ให้สัมภาษณ์ใน way magazine ออนไลน์ น่าจะเป็นความเห็นที่ดีที่สุดที่ให้ข้อสังเกตว่ามันไปมีผลต่อการปรับโครงสร้างนโยบายสาธารณะที่สำคัญมาก รวมถึงอาจารย์ทามาดะ (ยูชิฟูมิ ทามาดะ) พูดไว้ในประชาไท ในเชิงของการตัดสินใจเชิงนโยบายในการเข้าไปกำกับการดำเนินการของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใน นโยบายสาธารณะ มันมีมิติที่สำคัญ ซึ่งมันจะดีหรือไม่ก็ถกเถียงกันไป

เดิมรัฐบาลประกาศนโยบายนำไปสู่การปฏิบัติและการตรวจสอบกำกับซึ่งขึ้นอยู่กับประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง อำนาจในการตรวจสอบกำกับก็อยู่ที่ประชาชน ทำดีไม่ดีก็ต้องถูกถอดถอนหรือไม่ได้รับเลือก ตรงนี้ข้อสังเกตของอาจารย์ปรีชาและอาจารย์ทามาดะจึงเป็นเรื่องที่ว่า เรากำลังสร้างวัฒนธรรมใหม่เชื่อมโยงกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่จะมีองค์กรเข้ามาตรวจสอบกำกับสิ่งที่เขาเรียกกันว่านโยบาย ‘ประชานิยม’ ต่างๆ

มันเป็นประเด็นที่น่าถกเถียงว่าในการกำกับตรวจสอบโดยประชาชนแบบเก่าที่ดำเนินกันมาในหลักการแบบเก่า มันอาจมีปัญหาพอสมควรในตัวมัน แต่ผมพยายามจะชี้ว่าช่วงนโยบายจำนำข้าวมีอยู่ช่วงหนึ่งที่รัฐบาลก็พยายามจะเลิก เพราะมีการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก มีข้อมูลยืนยัน ตอนหลังรัฐบาลก็ไม่เลิกแต่ลดเพดาน นั้นหมายความว่าประสิทธิภาพในการตรวจสอบที่ให้อำนาจอยู่ที่ประชาชนมันทำงานได้ แต่พอมีประเด็นทางการเมืองด้วย รัฐบาลยุคนั้นเลยต้องดำเนินนโยบายต่อไป

"ผมไม่ได้พยายามสรุปว่าอะไรดีไม่ดีแต่ชี้ให้เห็นว่าอะไรเป็นประเด็นที่ควรถกเถียงกัน อำนาจการตรวจสอบแบบใหม่จะยึดโยงกับอำนาจของประชาชนอย่างไร" ประภาสกล่าว 

ข้อสรุปบางประการ

ประภาสเห็นว่าการอุดหนุนชาวนายังจำเป็น แต่จะเลือกวิธีอย่างไรที่ไม่ให้เกิดต้นทุนในการบริหารจัดการ การเก็บไว้ในยุ้งฉางถามว่ามีใครไปไถ่ถอนบ้าง ข้าวขึ้นราคาไปหรือเปล่า ตรงนี้ยังไม่เห็นว่ามีใครจัดการ

หมายความว่ารัฐบาลนี้ก็จะมีปัญหาเรื่องบริหารจัดการข้าวที่อยู่ในยุ้งฉาง แล้วต้องจับนายกไปติดคุกรึเปล่า หมายความว่านโยบายนี้คงขาดทุนแน่ การเจ๊งแค่ไหนก็น่าสนใจ แล้วจะอธิบายยังไงว่าไอ้นั่นเจ๊งมากไอ้นี่เจ๊งน้อย ก็บอกว่าทุจริตบาทเดียวก็ต้องติดคุกเหมือนกัน

ประภาสกล่าวต่อว่า แน่นอนว่าด้วยพื้นที่ประเทศเรามาก ชาวนาส่วนใหญ่ยังปลูกข้าวแบบเดิม (ข้าวแข็ง ข้าวเคมี ตวงข้าวขายพ่อค้า ราคาข้าวที่อิงกับตลาดโลก ฯลฯ) ซึ่งรัฐเป็นผู้พาชาวนาเข้าสู่ระบบนี้อยู่รอดยาก ดังนั้น ต้องพิจารณานโยบายที่เปลี่ยนมาสู่ชาวนาผู้ประกอบการ ข้าวอินทรีย์ ข้าวสี ข้าวปลอดสาร ซึ่งยังมีจำนวนน้อย การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเฉพาะถิ่น การพัฒนาให้สามารถปลูกแบบข้าวไม่ไวแสงแต่คงรสชาติ กลิ่น ฯลฯ แบบข้าวพื้นถิ่น เพื่อเพิ่มข้าวเชิงคุณภาพที่สามารจำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรงได้กว้างขึ้น

ข้อเสนอบางประการ

ในระยะสั้นช่วงเปลี่ยนผ่านนโยบายการอุดหนุนสำหรับชาวนาในระบบเดิมยังมีความจำเป็น แต่ควรแสวงหาทางเลือกนโยบายที่เหมาะสม และให้ความสนใจกับขั้นตอนการนำนโยบายไปปฏิบัติ

- Smart Farmer / Young Smart Farmer เป็นทิศทางสำคัญที่จะเป็นทางเลือกในความอยู่รอด แต่เป็นทางเลือกที่ยังแคบมากในการรองรับวิกฤตชีวิตชาวนา

- มาตรการหนุนเสริมในมิติการตลาด การรับซื้อจำนำ อุดหนุนข้าวอินทรีย์ (ยังไม่เคยมี)

- มาตรการด้าน logistic เช่น การลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง การขายตรงสู่ผู้บริโภค ฯลฯ

- ช่องทางรายได้และหลักประกันชีวิตในมิติชีวิตที่หลากหลายของชาวนา

- นโยบายการหนุนเสริมทางเลือกบางประการ เช่น มาตรการหนุนเสริมในการปรับเปลี่ยนระบบการผลิต หนุนเสริมในด้านเทคโนโลยี เครื่องจักร ฯลฯ การพัฒนาให้มีราคาถูก ผ่อนแรง/ลดการใช้แรงงาน

 

นาแปลงใหญ่ เป็นนโยบายในยุคคสช. คือโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิต ส่งเสริมให้เกษตรกรประสบผลสำเร็จในการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต และพัฒนาคุณภาพข้าวให้เหมาะสมกับพื้นที่และชุมชน พร้อมกับขยายผลเทคโนโลยีการผลิตข้าวแปลงใหญ่ การกำหนดเขตพื้นที่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวในแต่ละชนิดพันธุ์ ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิต ส่งเสริมให้ชุมชนมีการบริหารจัดการผลิตและการตลาดอย่างมีส่วนร่วม รวมถึงการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุน อนุมัติเงินกู้จาก ธ.ก.ส. สำหรับกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่วงเงินกลุ่มละ 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ระยะเวลา 3 ปี (2560-2562) สำหรับเป็นเงินหมุนเวียนในการดำเนินงานและจัดหาวัสดุอุปกรณ์ในการผลิต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท