ภัยเงียบยุค 4.0 เมื่อเราเลี้ยงลูกด้วยหน้าจอ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ ในคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ได้จัดงานเสวนาหัวข้อ แนวทางการกำหนดช่วงอายุที่เหมาะสมสำหรับเด็กในการใช้สื่อออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต และในเดือนสิงหาคม คณะกรรมการฝ่ายกิจกรรมภาคประชาชน ในการประชุมวิชาการร่วมคณะแพทยศาสตร์สามสถาบัน พ.ศ. 2560 (จุฬาฯ-รามาฯ-ศิริราช) ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นเรื่อง ความร่วมมือสื่อออนไลน์กับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ขึ้น โดยในทั้งสองเวที รศ.นพ. วีระศักดิ์ ชลไชยะ สาขาวิชาพัฒนาการและการเจริญเติบโต ภาควิชาการกุมารเวชศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สรุปผลการศึกษาและข้อมูลวิชาการที่น่าสนใจ ซึ่งบ่งชี้ว่า การรับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ หรือโทรศัพท์มือถือ รวมถึงแท็บเล็ต ส่งผลให้เด็กเล็กมีความผิดปกติทางพัฒนาการและพฤติกรรมอย่างชัดเจน และหากลดการรับสื่อเหล่านั้น พฤติกรรมก็อาจกลับมาเป็นปกติได้

จากข้อมูลวิชาการที่นำเสนอ พบว่า ในสังคมไทย พ่อแม่กว่าสองในสามเชื่อว่าการที่เด็กดูโทรทัศน์จะเป็นผลดีต่อพัฒนาการด้านสังคม ภาษา และการเรียนรู้ แต่ในสหรัฐอเมริกา American Academy of Pediatrics แนะนำให้ผู้ปกครองหลีกเลี่ยงให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบรับสื่อโทรทัศน์ เพราะไม่มีหลักฐานยืนยันว่าส่งผลดีต่อเด็ก แต่กลับเพิ่มความเสี่ยงต่อเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้เด็กดูโดยตรง หรือเปิดไว้แก้เงียบขณะผู้ใหญ่ทำงานอื่นๆ หรือเปิดให้ผู้ใหญ่ดูขณะเลี้ยงเด็ก (Background Media) และในวารสารสมาคมการแพทย์อเมริกันได้ตีพิมพ์ความเห็นเกี่ยวกับประสบการณ์ในวัยเด็กที่ไม่พึงประสงค์ ที่ถูกมองข้าม แต่อาจก่อปัญหาเมื่อเติบใหญ่ ได้แก่ การเลี้ยงดูอย่างไม่เหมาะสม การไม่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง การรับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่อายุน้อย และสุขนิสัยการนอนที่ไม่ดี

จากการศึกษาผู้ปกครองและเด็กที่มาตรวจรักษาในหน่วยพัฒนาการและการเจริญเติบโตเกือบ 300 ราย พบว่า กว่าครึ่งของเด็กได้รับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่เดือนแรกของชีวิต และเกือบทั้งหมดได้รับภายในขวบปีแรก โดยกลุ่มเด็กอายุ 6 เดือนและ 12 เดือน ได้รับเฉลี่ยวันละ 4 ชั่วโมง ขณะที่กลุ่มเด็กอายุ 18 เดือนและ 24 เดือนได้รับเฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมง ส่วนใหญ่ของสื่อที่ได้รับก็คือโทรทัศน์และวิดีทัศน์ แต่บางครอบครัวก็รับสื่อจากแท็บเล็ต สมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ เนื้อหาที่ได้รับส่วนใหญ่คือรายการผู้ใหญ่ และเปิดในลักษณะ Background Media และที่สำคัญเวลาที่ได้รับส่วนใหญ่เป็นช่วงเวลาเย็นหรือก่อนนอน ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพการนอนหลับของเด็กเล็ก

ผลกระทบต่อเด็กที่ได้รับสื่อ พบว่า จำนวนชั่วโมงที่ได้รับสื่อในแต่ละวัน สัมพันธ์กับปัญหาซนและสมาธิสั้น ยิ่งได้รับนาน ยิ่งเสี่ยงมาก โดยเฉพาะรายการบันเทิงต่างๆ และหากเป็นรายการบันเทิงที่มีเนื้อหารุนแรงก็จะมีผลมาก นอกจากเรื่องซนและสมาธิสั้น หากสื่อมีเนื้อหารุนแรงจะสัมพันธ์กับพฤติกรรมก้าวร้าว ในระดับความสัมพันธ์ที่ใกล้เคียงกับบุหรี่สัมพันธ์กับมะเร็งปอด ส่วนเกมที่มีเนื้อหารุนแรงก็เพิ่มพฤติกรรมก้าวร้าวและลดพฤติกรรมการเข้าสังคม ลดความเห็นอกเห็นใจคนอื่น จากข้อมูลการดูแลเด็กกลุ่มอายุ 6 – 18 เดือนเกือบสองร้อยราย พบว่า การได้รับสื่อสำหรับผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 6 เดือน สัมพันธ์กับคะแนนพฤติกรรมหมวดออทิสติก พฤติกรรมต่อต้าน ปัญหาพฤติกรรมหมวดปฏิกิริยาทางอารมณ์ ก้าวร้าว และการแสดงออก

แม้แต่รายการสำหรับเด็กก็ไม่ใช่ว่าจะดีสำหรับเด็กทุกรายการ การศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า รายการในลักษณะแบบ Teletubbies หรือ Sesame Street กลับมีความสัมพันธ์เชิงลบกับพัฒนาการด้านภาษา ในขณะที่รายการที่มีลักษณะพูดคุยกับผู้ชม และให้โอกาสเด็กได้ร่วมตอบสนองเนื้อหา ด้วยการออกเสียงคำต่างๆ ตาม จะส่งผลบวกต่อพัฒนาการด้านภาษามากกว่า

ข้อค้นพบจากการวิจัยอย่างน้อย 15 การศึกษาพบว่า เด็กที่ได้รับสื่อผ่านจอตั้งแต่เล็กมีการพัฒนาการทางภาษาล่าช้า และไม่มีการศึกษาใดเลยที่สรุปว่าเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบที่ได้รับสื่อเพียงอย่างเดียว จะกระตุ้นการเรียนรู้ได้จริง นอกจากนี้ การได้รับสื่อตั้งแต่อายุน้อยยังสัมพันธ์กับการทำงานของสมองระดับสูง (Executive function) ที่ลดลง ควบคุมตนเองได้แย่ลง มีคุณภาพการนอนหลับที่แย่ลง แต่การศึกษาเหล่านี้มักเป็นการศึกษาระยะสั้น จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่า สื่อเป็นสาเหตุของปัญหาต่างๆ เหมือนกับที่เราสรุปได้ว่าบุหรี่เป็นสาเหตุของมะเร็งปอด

นอกจากนี้ มีข้อมูลการทดลองในลูกหนูที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการกระตุ้นในด้านแสง สี เสียง คล้ายกับการได้รับสื่อมากเกินไป แล้วนำมาทดสอบเปรียบเทียบกับลูกหนูที่เลี้ยงดูในสภาพปกติ พบว่าหนูกลุ่มที่ได้รับการกระตุ้นจะมีการเคลื่อนไหวเพิ่ม มีพฤติกรรมเสี่ยงเพิ่ม และมีความจำระยะสั้นและการใช้สติปัญญาลดลง

รศ.นพ. วีระศักดิ์ ชลไชยะ ให้คำแนะนำว่า ควรควบคุมการรับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก่อนอายุ 18 – 24 เดือน และควรจำกัดเวลาการดูหน้าจอทุกประเภท ในแต่ละวันไม่เกิน 1 ชั่วโมงในวัย 2 – 5 ปี โดยควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กอยู่กับหน้าจอแต่เพียงลำพัง และผู้ใหญ่ควรเลือกเนื้อหาที่มีคุณภาพเหมาะสมกับวัยของเด็กด้วย และควรมีช่วงเวลาปลอดหน้าจอ ซึ่งรวมถึงการใช้งานของผู้ใหญ่เองด้วย แล้วหันมาทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว เช่น การเล่น การออกกำลังกาย การอ่านหนังสือ หรืองานอดิเรกอื่นๆ อย่ายื่นหน้าจอเพื่อให้เด็กหยุดงอแงขณะรับประทานอาหารและ 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอน งดใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในห้องนอน ที่สำคัญคือต้องมีการติดตามการได้รับสื่อของเด็กให้เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ

โดยสรุป เนื้อหาวิชาการที่มีการนำเสนอในทั้งสองเวที ไม่ใช่เรื่องของความคิดเห็นหรือความกังวล แต่เป็นข้อมูลที่ค้นพบจริงจากการติดตามพัฒนาการระยะยาวของเด็กหลายร้อยคนในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นข้อมูลที่หาได้ยาก ส่วนข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญก็ไม่ได้ต้องการให้ทุกคนเลิกดูโทรทัศน์หรือเลิกใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต แต่ให้ระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดกับเด็กเล็กโดยไม่รู้ตัว เพราะผลกระทบเพียงเล็กน้อยในเด็กแต่ละคน แต่เมื่อเด็กส่วนใหญ่ถูกเลี้ยงดูในลักษณะนี้ ก็จะกลายเป็นผลกระทบวงกว้างต่อสังคม อาจทำให้เรามีนักเลงคีย์บอร์ด หรือนักเลงตามถนนหนทางมากขึ้นกว่าที่ผ่านมาก็ได้

การเลือกวิธีเลี้ยงลูกเป็นเรื่องของแต่ละครอบครัว แต่ทุกคนควรได้รับข้อมูลผลกระทบจากการเลี้ยงลูกในแบบต่างๆ อย่างครบถ้วน แล้วตัดสินใจเลือกวิธีการเลี้ยงลูกที่เหมาะสมกับตัวเอง ในปัจจุบันหลายคนใช้หน้าจอต่างๆ เลี้ยงลูก เพื่อให้ผู้ใหญ่มีเวลาหันไปทำภารกิจอื่นได้ หรือยื่นสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเพื่อให้ลูกหยุดร้องงอแง อาจต้องชั่งใจว่า กำลังทำในสิ่งที่ดีสำหรับลูกหรือดีสำหรับตัวเรากันแน่ และการให้ลูกอยู่กับหน้าจอไม่ใช่ข้อห้ามเด็ดขาด ถ้าเราเลือกเนื้อหาที่เหมาะสมและร่วมมีปฏิสัมพันธ์ไปกับลูก แทนที่จะปล่อยให้เด็กอยู่กับหน้าจอแต่เพียงลำพัง

กสทช. ในฐานะองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ก็คงต้องหามาตรการในการทำให้ข้อมูลเหล่านี้ไปถึงมือผู้รับสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวางต่อไป

เกี่ยวกับผู้เขียน: นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท