นักเศรษฐศาสตร์ชี้ ‘ยิ่งลักษณ์’ หนี เป็นการถอดชนวนความขัดแย้งรุนแรงเฉพาะหน้า

'อนุสรณ์ ธรรมใจ' ชี้ผลการตัดสินคดีรับจำนำข้าวมีความชัดเจนในส่วนของการขายข้าวจีทูจีทำให้ระบบนิติรัฐเข้มแข็งขึ้น ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในอนาคตน่าจะลดลงบ้าง การหนีศาลอาจเท่ากับการถอดชนวนความขัดแย้งรุนแรงเฉพาะหน้าได้ ลดความเสี่ยงจากวิกฤตความขัดแย้ง แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนถึง ‘ตุลาภิวัฒน์’ อย่างชัดเจน
 
27 ส.ค. 2560 อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวให้ความเห็นผลกระทบจากการตัดสินคดีรับจำนำข้าวว่า ผลการตัดสินคดีรับจำนำข้าวมีความชัดเจนในส่วนของการขายข้าวจีทูจี (กรณีบุญทรงและพวก) ทำให้ระบบนิติรัฐเข้มแข็งขึ้น ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในอนาคตน่าจะลดลงบ้าง นักการเมืองต้องโปร่งใสมากขึ้น ตอกย้ำถึงกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ ขณะที่ความซับซ้อนของความขัดแย้งหลักระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายประชาธิปไตยยังดำเนินต่อไปท่ามกลางความขัดแย้งในมิติอื่นๆ ความขัดแย้งจะจัดการได้ดีที่สุดภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีคุณภาพและมีความเป็นธรรมอย่างแท้จริง ความเป็นกลาง เป็นธรรม และอุเบกขาของศาลจะเป็นหลักประกันสู่สันติสุขอย่างยั่งยืน
 
ความชัดเจนของการตัดสินคดีในระดับหนึ่งและมีความเรียบร้อย (ไม่มีเหตุรุนแรง) ในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว เป็นผลบวกต่อการลงทุนในตลาดการเงินและผลดีต่อภาคการลงทุนซึ่งยังกังวลกับความไม่แน่นอนทางการเมือง เงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้นอีก ตลาดหุ้นน่าจะฟื้นตัว เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะขยายตัวได้ในระดับเดียวกับครึ่งปีแรก โดยจะมีการชะลอตัวในไตรมาส 3 เล็กน้อยจากปัญหาน้ำท่วมในภาคอีสานและปัญหาการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเร่งตัวขึ้นช่วงปลายปีโดยเฉพาะในภาคการลงทุนและการท่องเที่ยว อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปีน่าจะมีโอกาสเกิน 4% โดยมีช่วงของการคาดการณ์อัตราการเติบโตของจีดีพีอยู่ที่ 3.6-4.2% 
 
กรณีอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ไม่ไปฟังคำพิพากษาของศาลนั้น ในเบื้องต้นตนไม่เชื่อว่า อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะหนีศาล เพราะไม่ผลดีต่อใครเลย และแสดงถึงความไม่รับผิดชอบทางการเมืองจากการดำเนินนโยบายรับซื้อข้าว 15,000 บาท ดังกล่าว และจะทำให้การดำเนินนโยบายสาธารณะเพื่อประชาชนในบางลักษณะประสบความยากลำบากในอนาคต การหนีศาลอาจสะท้อนถึงความไม่มั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากระบบศาลยุติธรรมของไทยและไม่มั่นใจต่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพในที่คุมขัง เพราะที่ผ่านผู้ต้องหาหลายรายได้เสียชีวิตอย่างน่าสงสัย ขณะเดียวกันการหนีศาลอาจเท่ากับการถอดชนวนความขัดแย้งรุนแรงเฉพาะหน้าได้ การปล่อยให้หนีของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินจึงเป็นการลดความเสี่ยงจากวิกฤตความขัดแย้งในเรื่องดังกล่าว แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนถึง 'ตุลาภิวัฒน์' อย่างชัดเจน
 
โดยที่กรณีนี้อาจทำให้ คสช. ถูกวิจารณ์ได้ว่า 'ปล่อยให้หลบหนี' และรัฐบาลและ คสช. ต้องหาผู้กระทำความผิดและผู้รับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าวด้วย ขณะนี้ตนยังคงเชื่อว่า อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางมาศาลในวันที่ 27 ก.ย. รับฟังผลการพิพากษาด้วยความกล้าหาญและการยืนหยัดต่อสู้เพื่อความถูกต้องและยืนยันในความบริสุทธิ์ความตัวเอง และศาลต้องตัดสินใจไปตามข้อเท็จจริง ตามหลักความเป็นธรรม เป็นกลาง อุเบกขา โดยไม่ปล่อยให้มีอำนาจภายนอกมาแทรกแซง หากทุกอย่างดำเนินไปตามที่ตนกล่าว ประเทศไทยจะกลับมามีอนาคตที่ดี รุ่งเรือง และสงบสุขสมตามความตั้งใจของรัฐบาล โดยเฉพาะทีมงานเศรษฐกิจที่มีความตั้งใจในการแก้ปัญหาของประเทศอย่างดียิ่ง หากอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ หนีศาลจริง จะทำให้ความขัดแย้งและการต่อสู้ทางการเมืองในระยะต่อไปขยับสู่เรื่องของหลักการ อุดมการณ์มากกว่าตัวบุคคลยิ่งขึ้น และหากความขัดแย้งและการต่อสู้ทางการเมืองอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย จะมีปัญหาต่อประเทศน้อยที่สุด หากอยู่นอกระบอบประชาธิปไตย การใช้กำลังรุนแรงหรือการกดขี่ด้วยกำลังที่เหนือกว่าจะมีให้เห็นโดยทั่วไป
 
กรณีข้อกล่าวหาต่ออดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ เรื่องการดำเนินนโยบายและปล่อยปละละเลยก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันนั้นยังไม่ทราบผลตอนนี้ มีความไม่ชัดเจนและยังไม่มีการเผยแพร่คำพิพากษาของศาลเป็นลายลักษณ์อักษรและให้มีการการรับฟังผลการตัดสินของศาลอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 27 ก.ย. 2560 (อาจผิดมาตรา 157 จะส่งผลต่อการดำเนินการนโยบายสาธารณะของรัฐบาลในอนาคตอย่างมาก และการดำเนินนโยบายจะต้องมีความระมัดระวังและต้องมีฐานการวิจัยและข้อมูลมากขึ้น) ความไม่แน่นอนดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคการลงทุนไม่มากนัก เนื่องจาก คสช. และรัฐบาลสามารถรักษาความสงบเรียบร้อยได้ดีและมวลชนสนับสนุนอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยก็ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย มีการชุมนุมอย่างสงบและให้ความร่วมมือกับทางการเป็นอย่างดี และมีความมุ่งหมายให้ประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อย มีการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยเพื่อประชาชน โดยประชาชน ของประชาชนอย่างแท้จริง บ้านเมืองจะรุ่งเรืองและชีวิตของประชาชนจะดีขึ้นอย่างชัดเจนภายใต้ระบอบดังกล่าว
 
“ผมอยากเห็นระบบกฎหมายและสังคมไทยตั้งอยู่บนความเป็นธรรม ปรองดองสมานฉันท์ ไม่ทำร้ายกันและใช้ความรุนแรงต่อกันอย่างไร้เหตุผล คนไทยไม่ว่ายากดีมีจน ต้องได้รับความเสมอภาค มีสิทธิเสรีภาพ มีวิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้านโดยไม่ถูกปิดกั้นและครอบงำโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง”
 
อนุสรณ์ ธรรมใจ ในฐานะอดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงอีกว่า มาตรการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรและการรับจำนำข้าวเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เป็นวิธีการแก้ปัญหาราคาตกต่ำของราคาสินค้าเกษตรและราคาข้าวได้รวดเร็วที่สุด ต้องยอมรับภาระทางการคลังหรือการเกิดหนี้เนื่องจากการแทรกแซงหากเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและประชาชน เม็ดเงินที่ใช้ไปไม่ใช่ความเสียหายต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการที่ต้องจ่าย
 
หากผลการตัดสินในวันที่ 27 ก.ย. 2560 ออกมาว่านายกรัฐมนตรีมีความผิดจากการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าว (รับซื้อข้าว 15,000 บาท) ซึ่งไม่เกี่ยวกับประเด็นทุจริต จะส่งผลต่อการดำเนินการนโยบายสาธารณะของรัฐบาลในอนาคตอย่างมาก ต่อการทำงานของกลไกระบบราชการ ต่อเศรษฐกิจ ต่อการเมือง สังคม และต่อสันติสุข รวมทั้งเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราทุกคน แน่นอนจะส่งผลต่อความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง ซึ่งต้องเสนอทางเลือกนโยบายหลากหลายให้ประชาชนเลือกตั้ง
 
ไม่ว่าผลการตัดสินจะออกมาแบบไหนก็ตาม มาตรการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรหรือนโยบายรับจำนำสินค้าเกษตรรวมทั้งการจำนำข้าวยังเป็นคงเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการบรรเทาความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรที่กระทบกับเกษตรกร และยังคงเป็นนโยบายสาธารณะที่จำเป็นสำหรับประเทศและประชาชนในอนาคตอย่างยากที่จะยกเลิกได้ 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท