Skip to main content
sharethis

ในช่วงปิดการประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 "เคร็ก เรย์โนลด์ส" เสนอว่าการประชุมไทยศึกษาครั้งนี้มีความเป็นการเมืองมากที่สุดเท่าที่เขาเคยเข้าร่วม มีผู้คนมากมายในการประชุมไทยศึกษาครั้งนี้ที่พยายาม "พูดความจริงกับผู้มีอำนาจ" พร้อมโชว์ "วัตถุมงคล" อันใหม่คือ "หมุดคณะราษฎร" ที่แต่เดิมมีแค่ชิ้นเดียว แต่หลังจากหมุดหาย ตอนนี้หมุดมีเป็นร้อยในรูปแบบวัตถุมงคล

ในการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ครั้งที่ 13 (ICTS13) "Globalized Thailand?" Connectivity, Conflict, and Conundrums of Thai Studies" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม 2560 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ (CMECC) จ.เชียงใหม่นั้น

ในวันสุดท้ายซึ่งมีพิธีปิดการประชุม มีการเชิญ เคร็ก เรย์โนลด์ส นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากวิทยาลัยเอเชียและแปซิฟิก มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เป็นตัวแทนนักวิชาการที่ร่วมการประชุม กล่าวอภิปรายเพื่อสะท้อนสิ่งที่ได้จากการประชุม โดยในช่วงแรกเขากล่าวขอบคุณ ชยันต์ วรรธนะภูติ ประธานฝ่ายวิชาการของการประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 และคณะทำงานทุกฝ่ายที่ทำให้การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จ

คลิปการอภิปรายปิดท้ายโดยเคร็ก เรย์โนลด์ส เพื่อสะท้อนการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ (CMECC) จ.เชียงใหม่

 

โดยตอนหนึ่ง เคร็กกล่าวว่าการประชุมไทยศึกษาปี 2017 มีข้อเรียกร้องให้บอยคอตการประชุม แต่ธงชัย วินิจจะกูลเป็นคนหนึ่งในอีกหลายคนที่ให้เหตุผลว่าเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ว่าทำไมจึงมีคนต้องการบอยคอตการประชุม แต่ก็มีเหตุผลที่ดีหลายข้อที่เราไม่ควรบอยคอตการประชุม และหลายคนก็เห็นด้วยกับเหตุผลนั้น

หัวข้อในการประชุมไทยศึกษาครั้งนี้ มีการนำเสนอประเด็นด้านความขัดแย้ง มีผู้นำเสนอเรื่องของชาวบ้านที่ยังคงยืนหยัดประท้วงการก่อสร้างเขื่อน การเผชิญหน้าระหว่างชาวบ้านและรัฐบาล เรื่องเหล่านี้มีการอภิปรายในการประชุมไทยศึกษา

"แต่ประเด็นหลักที่อยากสะท้อนก็คือนี่เป็นการจัดสัมมนาไทยศึกษาที่มีความเป็นการเมืองมากที่สุดเท่าที่เคยร่วมประชุม" โดยเขาให้เหตุผลว่า เหตุผลประการแรก องค์ปาฐกในช่วงปาฐกถาต่างๆ พูดถึงประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นการเมือง อย่างปาฐกถาของดันแคน แมคคาร์โก อาจารย์รัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ ที่พูดถึงการรัฐประหารที่มีแง่มุมน่าสนใจ

ในการประชุมไทยศึกษาครั้งนี้ยังมีหัวข้อนำเสนอจำนวนหนึ่งที่พูดถึงเรื่องที่ดิน การเวนคืนที่ดินโดยรัฐ กรณีอื้อฉาวของนายทุน แม้แต่ประเด็นที่ไม่ค่อยพูดกันบ่อยอย่างเช่น ครอบครัวที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการจัดการมรดก และแน่นอนบางหัวข้อนำเสนอเป็นหัวข้อที่ไม่อาจละเลยได้ต่อไปอีกแล้ว เพราะเงื่อนไขทางการเมืองและปัจจัยที่เปลี่ยนไป

เหตุผลประการต่อมาก็คือ เหตุการณ์ในปี ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ยังไม่กระจ่างชัด โดยองค์ปาฐกทั้งแคเธอรีน บาววี ซึ่งนำเสนอเรื่องครูบาศรีวิชัย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ตอนหนึ่งก็กล่าวถึงเหตุการณ์ช่วงนี้ และดันแคน แมคคาร์โก ก็พูดถึง "หมุดคณะราษฎร" ที่ถูกติดตั้งที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ค.ศ. 1932 ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า "...คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ" แต่เมื่อไม่กี่เดือนก่อนหมุดคณะราษฎรก็สูญหายไป ซึ่งเขากล่าวว่า "หมุดคณะราษฎร" นี้มีลักษณะคล้ายกับ "วัตถุมงคล" เป็นวัตถุพิเศษเป็นสัญลักษณ์แทนถึงสิ่งหนึ่ง ความทรงจำถึงเหตุการณ์ดังกล่าวก็ถูกเฉลิมฉลองหลากหลายรูปแบบ และนั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีหมุดคณะราษฎรหายไป โดยเป็นความพยายามที่จะปฏิเสธความทรงจำนี้

"มีอยู่อีกห้องเสวนาหนึ่งที่ผมเข้าร่วม เป็นห้องเกี่ยวกับกองทัพ ซึ่งมีผู้นำเสนอว่าเหตุการณ์ ค.ศ. 1932 สะท้อนถึงจุดผกผันทางประวัติศาสตร์ (watershed event) ข้อเสนอนี้พูดในวงเสวนาเกี่ยวกับกองทัพ ซึ่งมีคนเข้าฟังไม่มากซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าเป็นเพราะอะไร แต่ห้องเสวนานี้น่าสนใจเพราะมีการพูดถึงเหตุการณ์ ค.ศ. 1932 ในช่วงถาม-ตอบ มีผู้เข้าร่วมเสวนาคนหนึ่งเสนอสิ่งที่น่าสนใจซึ่งผมชอบข้อเสนอนี้มาก ก็คือทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง กองทัพในเวลานี้เป็นอิสระจากนายกรัฐมนตรี และสามารถที่จะทำอะไรก็ได้ตามที่ต้องการอย่างที่พวกเราเห็นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายหลัง ค.ศ. 1932 แต่ในขณะเดียวกันสิ่งนั้นก็ไม่พอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นับว่าเหตุการณ์นี้ยังมีความคลุมเครือ และเราพยายามที่จะทำความเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1932 มีหลายอย่างเกี่ยวกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองที่ยังคงดำเนินต่อไปและเรายังคงพยายามทำความเข้าใจ รวมทั้งเรื่องหมุดคณะราษฎรที่หายไปด้วย"

"เหตุผลประการที่สามก็คือ ในหัวข้อที่เป็นการภาพยนตร์โดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และก้อง ฤทธิ์ดี ซึ่งมีการเสวนาหลังฉายภาพยนตร์ ผมควรจะกล่าวว่าเป็นบทสนทนาที่นุ่มนวลมาก ทั้งสองท่านพูดอย่างแผ่วเบา ช้าๆ ทั้งนี้ก่อนเริ่มการเสวนาพวกเขาก็สอบถามกันว่าจะใช้ภาษาอะไร และคำตอบก็คือใช้ภาษาอังกฤษ นี่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการประชุมไทยศึกษา ทั้งนี้ภาษาอังกฤษได้ให้พื้นที่กับประเด็นที่สามารถนำมาสนทนาในภาษาอังกฤษ แต่ไม่สามารถพูดได้ในภาษาไทย แต่ก็มีหัวข้อเสวนาหนึ่งที่เขาเข้าฟังเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาแบบอิสลามในชายแดนใต้ซึ่งเสวนาด้วยภาษาไทย แต่ก็ต้องขอบคุณผู้จัดการประชุมที่บริการระบบแปลภาษาด้วย"

เคร็กกลับมากล่าวถึงหัวข้อที่มีการฉายภาพยนตร์ โดยมีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจเป็นเรื่องของการยืนเคารพธงชาติ แต่ไม่มีเสียงเพลงชาติในภาพยนตร์แต่กลับเป็นเสียงอื่น มีภาพยนตร์ที่ทลายกำแพงระหว่างผู้กำกับภาพยนตร์และทหาร ซึ่งในช่วงเสวนาระหว่างอภิชาติพงศ์และก้องก็มีการพูดคุยกันบอกว่า ผู้กำกับถ่ายทำเรื่องนี้เพื่อเยียวยาตัวของผู้กำกับเอง และก็มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่เป็นแนวต้นทุนต่ำ ใช้งบประมาณ 6,000 บาทเท่านั้น เป็นภาพยนตร์ที่ผู้กำกับถ่ายทำเพื่อทำความเข้าใจตัวเขาเอง แน่นอนจุดมุ่งหมายในการผลิตภาพยนตร์ก็มีเป้าหมายทางการเมือง เป็นการตั้งคำถามกับสิ่งที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์

เขากล่าวต่อไปว่า "ในบทสนทนาระหว่างก้อง ฤทธิ์ดี และอภิชาติพงศ์ ซึ่งอภิชาติพงศ์กล่าวว่าเขาชอบการไปถ่ายทำภาพยนตร์ที่โคลอมเบีย เพราะที่นั่นมีศิลปะทางการเมืองอยู่มาก สำหรับเมืองไทยบางครั้งศิลปะทางการเมืองก็อยู่ในภาวะยากลำบาก และบางทีศิลปะทางการเมืองในโคลอมเบียก็มีมากไป ส่วนเมืองไทยก็มีน้อยเกินไป"

"ส่วนก้อง ฤทธิ์ดี ยังพูดถึงศิลปะที่อิหร่าน สิ่งที่เขากล่าวนับว่ามีความสำคัญต่อสถานการณ์ปัจจุบัน เขากล่าวว่า เมื่อนึกถึงอิหร่านจะนึกถึงที่ซึ่งมีสถานการณ์ดำเนินมาอย่างยาวนาน เป็นที่ซึ่งผู้กำกับภาพยนตร์และศิลปินพยายามเข้ามาทำความเข้าใจ และพวกเขาก็รู้ว่าอะไรคือเกมนี้ สิ่งที่ผมเรียนรู้จากทั้งก้อง ฤทธิ์ดี และอภิชาติพงศ์ก็คือ นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ คนไทยพยายามที่จะดีลกับสถานการณ์เช่นนี้"

และสาเหตุประการสุดท้ายที่ว่าทำไมสัมมนาไทยศึกษาครั้งนี้จึงมีความเป็นการเมืองมากที่สุด ก็เพราะเงื่อนไขในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้ว สิ่งที่พูดกันในปี 2014 ในปี 2011 หรือในปี 2008 ถ้านำมาพูดกันในเวลานี้ ก็มีความแตกต่างไปพอสมควร

เคร็กอ้างถึงคำกล่าวของอภิชาติพงศ์ที่ว่า "เราติดอยู่ในกับดักของการแบ่งออกเป็นสองขั้ว (polarization) เราติดหล่ม เราไม่รู้จะไปที่ไหน จะคืบไปข้างหน้าได้อย่างไร มองอนาคตเป็นแง่ลบ เราอยู่ในวังวนของฝันและฝันร้าย เราขาดความสามารถที่จะแสดงออกถึงประสบการณ์ส่วนตัว เราจะเป็นต้องเรียนคำศัพท์ใหม่ๆ แต่ความกลัวปรากฏตัวอยู่ทุกที่"

สุดท้ายเคร็กพูดถึงการพบกับ สุลักษณ์ ศิวรักษ์เมื่อปีก่อน ซึ่งเขามอบหนังสือของเขาที่มีชื่อว่า "พูดความจริงกับผู้มีอำนาจ" ซึ่งเคร็กกล่าวว่าผู้คนมากมายพยายามทำเช่นนี้ในการประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 นั่นคือ "พูดความจริงกับผู้มีอำนาจ"

เขากล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า "เพื่อนๆ ของผมต่างรู้ว่าผมชอบ "วัตถุมงคล" และมักจะมอบให้กับผมเสมอ ซึ่งล่าสุดที่ผมได้สิ่งนี้มา 3 ชิ้นแล้ว สิ่งนี้เป็นตัวอย่างของสิ่งที่เคยถูกกดเอาไว้ แต่ต่อมาก็พลิกกลับไปอยู่ในที่สักแห่งหนึ่ง เดิมมี "หมุด" นี้แค่อันเดียว และตอนนี้มันมี "หมุด" เป็นร้อย" (นำสร้อยที่เป็นเหรียญที่ระลึกรูปหมุดคณะราษฎรมาสวม)

"และนี่คือวัตถุมงคลอันใหม่ของผม"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net