แสนยานุภาพจีนศตวรรษที่ 21 และบทบาทในระดับนานาชาติ: จุลชีพ ชินวรรโณ

ใช้ทูตทหารประจำสถานทูตนับร้อยแห่ง ใช้ทหารซ้อมรบร่วมเป็นเครื่องมือการทูต กำลังปฏิรูปเพิ่มอำนาจบังคับบัญชาสู่ศูนย์กลาง คาด ช่วงปรับผังโครงสร้างคงยังไม่ใช้กำลังบนพื้นที่พิพาท เพียงโชว์แสนยานุภาพให้ยำเกรง

 

คลิปการนำเสนอของจุลชีพ ชินวรรโณ หัวข้อ “แสนยานุภาพทางทหารและบทบาทของกองทัพจีนในกิจการระหว่างประเทศ”

19 มิ.ย. 2560 ศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานเสวนาวิชาการ Direk’s Talk ในหัวข้อ “ทิศทางการเมืองโลก การเมืองไทย และนโยบายสาธารณะ” มีการจัดเสวนาวิชาการหลายเวที หลายประเด็น หนึ่งในนั้นมี ศ.จุลชีพ ชินวรรโณ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และกีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ มาพูดในประเด็น “แสนยานุภาพทางทหารและบทบาทของกองทัพจีนในกิจการระหว่างประเทศ”

บทบาทกองทัพในการต่างประเทศมีสูง คาดช่วงปฏิรูปใช้ทหารแค่ข่มขู่

จุลชีพ ชินวรรโณ

บทบาทของกองทัพจีนในกิจการระหว่างประเทศมีค่อนข้างมาก ดังที่เห็นว่าจีนส่งทูตทหารประจำตามสถานทูตต่างๆ ด้วย จากเดิมมีเพียงไม่กี่ประเทศ ตอนนี้จีนส่งทูตทหารไปประจำอยู่ตามสถานทูตร้อยกว่าแห่งทั่วโลก โดยทูตทหารส่วนใหญ่เป็นสายงานข่าวกรอง

ภารกิจอีกอันหนึ่งคือภารกิจการเยือนระดับสูง มีการส่ง รมว. กระทรวงกลาโหม หรือคณะทหาร ประธานเสนาธิการทหาร มีการวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกัน มีการเผยแพร่ข้อมูลให้แก่กัน กับไทยก็มีการซ้อมรบทางบกตั้งแต่เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ต่อมาก็มีการซ้อมรบทางเรือและทางอากาศ นอกจากนั้นยังมีการซ้อมรบกับอาเซียนและขายอาวุธให้กับมิตรประเทศเช่นกัน จีนยังส่งกองกำลังหลายพันคนไปร่วมกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ และผนึกกำลังกับนานาชาติในการต่อต้านโจรสลัดในโซมาเลียด้วย

จุลชีพตั้งข้อสงสัยว่า แล้วจีนจะใช้กำลังทหารในพื้นที่พิพาทของจีนกับชาติอื่น ได้แก่ ช่องแคบไต้หวัน คาบสมุทรเกาหลี ทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนตอนใต้หรือไม่ โดยสรุปว่า เมื่อเดือน ธ.ค. 2015 จีนมีการปรับโครงสร้างกองทัพใหม่หลังปรับอาวุธยุทโธปกรณ์ บุคลากรและหลักนิยมใหม่ไปแล้ว โดยปรับใหม่ทั้งหมด ด้วยการให้คณะกรรมาธิการทหารส่วนกลางมีอำนาจสูงสุด แล้วสร้างเหล่าทัพขึ้นมาใหม่เป็นทัพบก เรือ อากาศ จรวด และหน่วยสนับสนุน เป็นการแบ่งงานเพื่อลดอำนาจของกองทัพบก โดยใช้วิธีการ Joint Operation หรือปฏิบัติการร่วมแบบสหรัฐฯ ที่ใช้ตัวแบบนี้กับกองทัพที่มีทั่วโลก จีนต้องการลอกแบบสหรัฐฯ ที่ยุบมณฑลทหารที่ยึดกับกองทัพบกออกไป แล้วแยกเป็นยุทธภูมิทั้ง 5 ได้แก่ เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก และส่วนภาคกลาง

อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ระบุว่า นโยบายต่างประเทศจีนในยุคประธานาธิบดีสีจิ้นผิงมีลักษณะเชิงรุกมากขึ้น แม้ทางการจีนบอกว่าจีนต้องการการพัฒนาอย่างสันติ แต่สีจิ้นผิงก็ได้ระบุเพิ่มเติมว่า การพัฒนาอย่างสันตินั้น ไม่ใช่ว่าจีนจะต้องประนีประนอมเรื่องอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนซึ่งเป็นคุณค่าหลักที่สำคัญของจีน

จีนให้ความสำคัญกับกองทัพมากขึ้น บทบาทของจีนที่มีความขัดแย้งกับไต้หวัน ญี่ปุ่น บางประเทศในอาเซียนตอนใต้ สรุปได้ว่า ปฏิรูปกองทัพจีนทำให้อำนาจศูนย์กลางมากขึ้น การปราบคอร์รัปชัน นำไปสู่การเพิ่มอำนาจทหารในมือ ในส่วนของนโยบายต่างประเทศจะใช้กำลังมากขึ้นในเชิงการป้องปราม ไม่ใช้กำลังเอาชนะแต่เพื่อแสดงแสนยานุภาพให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ ไม่เหมือนชาติตะวันตกที่คิดว่าต้องใช้กำลังอย่างไรถึงจะชนะ

กำลังปรับเปลี่ยนโครงสร้างกองทัพ ใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี ให้การปฏิบัติการร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่นไร้รอยตะเข็บ ในห้วงนี้เชื่อว่าจีนคงยังไม่ใช้กำลัง จะใช้ก็เพียงแสดงแสนยานุภาพเป็นนัยในเรื่องที่สำคัญกับจีน

เปิดปฏิรูปกองทัพจีน 4 ด้านทันสมัย

กองทัพจีนหรือกองทัพปลดแอกประชาชนถูกก่อตั้งในปี 1 สิงหาคม 1928 โดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนเพื่อทำสงครามปฏิวัติ แต่โครงสร้างกองทัพมีการเปลี่ยนแปลงในปี 2015 หลังจากปี 1945 เพื่อทำให้มีความทันสมัยมากขึ้น ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดี เติ้งเสี่ยวผิง ตัดสินใจทางยุทธศาสตร์ให้เศรษฐกิจมาก่อน เพราะไม่มีงบประมาณเพียงพอ

การพัฒนาเกิดในหลังยุคสงครามเย็น ด้วยปัจจัยหลายประการ ภายนอก ได้แก่การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจการเมืองในยุโรปตะวันออก หลังคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกล่มสลายในปี 1989 ทำให้จีนกังวลว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อการมีเสถียรภาพของจีนภายใต้บริบทที่อเมริกามีอิทธิพลบนเวทีโลกสูง และมีแสนยานุภาพทางทหารที่ยิ่งใหญ่เป็นเอกอัครมหาอำนาจ ผนวกกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียตที่รับหน้าที่เป็นตัวคานอำนาจกับสหรัฐฯ ทำให้กองทัพจีนต้องมีการพัฒนาให้ทันสมัยขึ้น

ปัจจัยภายในได้แก่ ความล้าหลังของขีดความสามารถในการรบ การรบที่ชายแดนกับเวียดนามเป็นการพิสูจน์ได้อย่างดีถึงข้อด้อยดังกล่าว ประการที่สอง จีนมีรายได้เพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจได้รับการปฏิรูปตามนโยบาย 4 ทันสมัยประสบความสำเร็จ ประการที่สาม ผู้นำจีนได้รับการยอมรับจากบรรดานายพลทั้งหลายในยุคของเจียงเจ๋อหมินผ่านการสนับสนุนงบประมาณทหาร บรรจุนายพลขึ้นมา ประการสุดท้าย ผลประโยชน์แห่งชาติของจีนเปลี่ยนไปในกลางทศวรรษที่ 1990 โดยขยายออกไปพร้อมการค้า การลงทุนที่กระจายไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วโลก ทำให้ผลประโยชน์มีลักษณะข้ามชาติมากขึ้น ผู้นำจีนจึงต้องตัดสินใจพัฒนากองทัพจีน โดยเน้น 4 ด้าน ได้แก่ หลักนิยม อาวุธ โครงสร้างและบุคลากรให้ทันสมัย

ในด้านการพัฒนาหลักนิยมใหม่ หลักนิยมสมัยก่อนคือสงครามประชาชน ตั้งรับแบบแข็งขัน หรือตั้งรับแบบรุก คือตั้งรับแบบเป็นผู้กระทำ เพื่อให้สภาพทางยุทธศาสตร์เป็นประโยชน์กับตนเอง มีการปรับยุทธศาสตร์เกือบทุกๆ 10 ปี เริ่มมีการปรับให้เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทพัฒนากองทัพมากขึ้น

จีนซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากจากหลายชาติ โดยซื้อแล้วเอามาศึกษา ทำ Reverse Engineering ถอดประกอบ สร้างใหม่ แล้วพัฒนาซึ่งจีนสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว จนตอนนี้จีนปล่อยเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 2 ที่ทำจากเทคโนโลยีของจีนเอง และกำลังสร้างลำที่ 3 และ 4 โดยลำที่ 4 ที่จะสร้างในอีก 5 ปีข้างหน้า เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ จะเห็นว่าจีนมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในทุกลำ ปัจจุบันสหรัฐฯ มีเรือบรรทุกเครื่องบิน 11 ลำ อีก 10 ปีคงจะมีเพิ่มอีกหนึ่งลำ แต่จีนมีใหม่ทุก 5 ปี

ด้านแสนยานุภาพของทหารอากาศหรือนภานุภาพก็ได้รับการพัฒนา ปัจจุบันจีนใช้เครื่องบินรุ่นที่ 4 ที่ใช้ระบบดิจิตัลเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน และตอนนี้ก็ได้พัฒนาเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ Stealth Bomber คือเครื่องบินที่ตรวจจับด้วยเรดาร์ลำบาก โดยทางจีนกำลังปรับปรุงให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น

ทางด้านนิวเคลียร์ จีนพัฒนาขีปนาวุธหลายรูปแบบทั้งระยะใกล้ กลาง ไกล พัฒนาขีดความสามารถทางสารสนเทศทั้งงานข่าวกรอง การสอดแนม และได้ส่งจานดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศได้แล้ว ขณะนี้ จีนมีความพร้อมมากขึ้นที่จะใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการสนับสนุนสงครามถ้ามีความจำเป็น

งบประมาณทางทหารของจีนเพิ่มขึ้นจากปี 1994-1995 อย่างต่อเนื่อง นักวิชาการตะวันตกเชื่อว่ามีมากกว่านั้น โดยวิเคราะห์ว่า ความแตกต่างในการประเมิน เพราะจีนและตะวันตกมีระเบียบทางงบประมาณไม่เหมือนกัน หรืออาจเป็นเพราะจีนทำตัวเลขให้ดูไม่สูงและไม่ต่ำจนเกินไปเพื่อลดความหวาดระแวงในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านและมหาอำนาจ

แนวโน้มในอนาคตพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะพัฒนากองทัพใช้ในกิจการระหว่างประเทศมากขึ้น เป็นเครื่องมือในการป้องปราม และเป็นการทูตเชิงบังคับด้วยการสาธิตอำนาจ มากกว่าจะใช้กำลังปฏิบัติการ เพราะตะวันตกมักคิดว่าใช้กำลังอย่างไรจึงจะชนะ แต่จีนมีหลักการว่าจะชนะอย่างไรโดยไม่ต้องใช้กำลัง

นอกจากนี้จีนกำลังขยายขีดความสามารถ เป็นมหาอำนาจทางทะเล จากมหาอำนาจหนึ่งมหาสมุทรคือมหาสมุทรแปซิฟิก ไปสู่มหาอำนาจสองมหาสมุทรคือมุ่งสู่มหาสมุทรอินเดียด้วย จะเห็นได้จากการตั้งฐานทัพเรือในพม่าและปากีสถาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท