อมาคุดาริ: อื้อฉาวเรื้อรัง ข้าราชการระดับสูงญี่ปุ่นใช้เส้นเข้ารับตำแหน่งต่อใน บ.เอกชน

25 ก.พ. 2560 กรณี 'อมาคุดาริ' หรือประเด็นเกี่ยวกับการที่ข้าราชการญี่ปุ่นเกษียณอายุราชการแล้วก็ได้รับตำแหน่งงานในบริษัทเอกชนต่อ เคยกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวครั้งล่าสุดเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา เมื่อหน่วยงานตรวจสอบของรัฐบาลญี่ปุ่นพบว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการรายหนึ่งเมื่อเกษียณอายุแล้วก็ได้งานใหม่ที่มหาวิทยาลัยวาเซดะโดยทันที เรื่องนี้ทำให้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่นนั่งไม่ติดเก้าอี้

เจฟฟ์ คิงสตัน ผู้อำนวยการเอเชียศึกษาที่มหาวิทยาลัยเทมเพิลวิทยาเขตญี่ปุ่นเขียนถึงเรื่องนี้ในเว็บไซต์อีสต์เอเชียฟอรัม ระบุว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการคนดังกล่าวถูกจัดการให้ดำรงตำแหน่งต่อโดยตัวกลางที่เป็นอดีตเจ้าหน้าที่ทางการเหมือนกัน มีหลักฐานของเรื่องนี้ปูดออกมาทางกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นพยายามปกปิดเรื่องนี้ด้วย

อมาคุดาริ มีความหมายโดยตรงในภาษาญี่ปุ่นว่า "ลอยลงมาจากสวรรค์" ซึ่งเป็นการอุปมาผ่านแนวคิดของศาสนาชินโตที่ "สวรรค์" สื่อถึงเหล่าคนชั้นสูงในวงราชการที่ลอยลงมาสู่ผืนดินคือบริษัทเอกชน

โดยที่ 'อมาคุดาริ' ในปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในญี่ปุ่น คิงสตันระบุว่าแค่การละเมิดกฎหมายนี้ก็แย่พออยู่แล้ว แต่กระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นยังพยายามปกปิดไม่ให้มีการเผยแพร่เรื่องนี้ออกไปทำให้เมื่อถูกเปิดโปงว่ามีการกระทำเช่นนี้ไปทั่วก็ทำให้ผู้คนต่างแสดงความไม่พอใจแล้วก็กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวทางการเมือง 

นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ พยายามจัดการวิกฤตนี้ด้วยการให้มีการสืบสวนสอบสวนในวงกว้างและสัญญาว่าจะดำเนินการบางอย่างหลังตรวจสอบพบ แต่คิงสตันระบุว่าเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่แค่ปัญหาของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการอย่างเดียวเท่านั้น รัฐมนตรีอื่นๆ ของญี่ปุ่นก็เคยถูกตำหนิด้วยเรื่องนี้มาก่อนเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะทำให้รองรัฐมนตรีศึกษาธิการลาออกซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงพิธีการในการแสดงความรับผิดชอบและการชดเชยความผิดแล้ว แต่ก็ยังคงมีการกดดันให้มี "การล้างบ้าน" ในรัฐบาลญี่ปุ่นหนักขึ้นจนอาจจะทำให้เกิดผลสะท้อนทางการเมืองในการกระทำที่ชวนให้คลางแคลงใจได้

คำถามคือ อมาคุดาริถือเป็นเรื่องที่แอบซ่อนไว้หรือปรากฏให้เห็นง่ายๆ แต่มองไม่ออกเองกันแน่ คิงสตันระบุว่าสำหรับมหาวิทยาลัยแล้ว อมาคุดาริ เช่นนี้เป็น "ราคาที่ต้องจ่าย" ในการทำธุรกิจของพวกเขาและก็ไม่ได้เป็นความลับแต่อย่างใดสำหรับคนที่ให้ความสนใจในเรื่องนี้

อมาคุดาริถูกสั่งห้ามตั้งแต่ปี 2550 หลังจากที่สภาล่างของญี่ปุ่นแก้ไขกฎหมายบริการสาธารณะแห่งชาติห้ามไม่ให้ข้าราชการล็อบบี้ช่วยหาตำแหน่งว่างที่ไม่ต้องทำงานอะไรมากให้กับเพื่อนร่วมงานของตนเอง มีการออกข้อห้ามนี้เพราะเกิดความสงสัยว่าจะมีการทำ อมาคุดาริ เกิดขึ้นทั่วไปในญี่ปุ่นซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณ 

คิงสตันระบุว่า การสั่งห้ามอมาคุดาริจะเป็นการไปขัดผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ทางการที่วางแผนรับตำแหน่งงานหลังเกษียณ และบางครั้งอมาคุดาริก็กลายเป็นสิ่งที่ทำลายการตรวจสอบถ่วงดุลด้วยเมื่อฝ่ายตรวจสอบบางคนอาจจะยอมปล่อยให้ผู้ถูกตรวจสอบไม่ต้องรับผิดแลกกับการที่ฝ่ายตรวจสอบเองจะได้รับตำแหน่งงานหลังเกษียณ หรือบางกรณีก็เป็นกรณีที่ฝ่ายผู้จัดหางานให้จะพยายามเรียกร้องได้รับการปฏิบัติที่ดี เข้าถึงข้อมูลพิเศษหรือได้รับความได้เปรียบเหนือคู่แข่งตัวเอง

ในญี่ปุ่นมีกรณีอมาคุดาริหลายกรณีมากและมีหลายครั้งที่พยายามจะสั่งห้ามการกระทำเช่นนี้แต่ก็ไม่มีการสั่งห้ามครั้งใดเลยที่เป็นผล ในแง่ที่ไม่อันตราย อมาคุดาริ จะถูกอ้างว่าเป็นการทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างรัฐกับภาคเอกชนจนทำให้เกิดสื่อสารระหว่างกันที่ดีขึ้น แต่จากกรณีอื้อฉาวที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้ข้ออ้างดังกล่าวดูเป็นข้ออ้างที่พวกระบบราชการจะใช้หาผลประโยชน์เข้าตัวเท่านั้น 

แล้วอะไรที่ทำให้ อมาคุดาริ ยังคงอยู่ในสังคมญี่ปุ่นแม้จะมีการพยายามสั่งห้ามหลายครั้งแล้ว

ชาลเมอร์ส จอห์นสัน ปัญญาชนอเมริกันผู้เคยร่วมก่อตั้งศูนย์วิจัยประเทศญี่ปุ่นเคยบอกไว้ว่าสิ่งที่เป็นช่องโหว่ใหญ่ที่สุดที่ทำให้เกิดอมาคุดาริคือการละเลยการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงระบบพวกพ้องความสัมพันธ์ในวงการราชการญี่ปุ่นที่ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องยอมตามคนในองค์กรจนปฏิเสธข้อเสนอของคนในองค์กรเดียวกันไม่ได้ คิงสตันระบุว่า ในกรณีอื้อฉาวล่าสุดในญี่ปุ่นก็อาศัยช่องโหว่กฎหมายเช่นเดียวกัน โดยที่พวกเขาอาศัยอดีตข้าราชการที่เกษียณไปตั้งแต่ปี 2552 เป็นคนคอยติดต่อระหว่างมหาวิทยาลัยกับฝ่ายบุคคลของกระทรวงให้ ซึ่งในกฎหมายเกี่ยวกับอมาคุดาริของญี่ปุ่นในปัจจุบันห้ามแค่เจ้าหน้าที่ที่ยังทำงานอยู่เท่านั้นแต่ไม่ได้ห้ามเจ้าหน้าที่เกษียณอายุแล้วด้วย

บทความของคิงสตันระบุว่าตั้งแต่ปี 2556 ก็มีการดำเนินการเป็นตัวกลางสร้างเส้นสายสู่งานหลังเกษียณอย่างเป็นระบบมากขึ้นเรื่อยๆ ทางมหาวิทยาลัยเองก็ปฏิเสธไม่ยอมรับพวกเขาได้ยากเนื่องจากทางมหาวิทยาลัยยังต้องพึ่งพางบประมาณจากเจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการอยู่ รวมถึงการวิจัย การตั้งภาควิชาใหม่ การได้ทุนเกื้อหนุน และนักศึกษาจำนวนหนึ่งก็ยังต้องผ่านการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นด้วย

ทางรัฐบาลญี่ปุ่นจะนำเสนอรายงานเกี่ยวกับการสืบสวนเรื่องอื้อฉาวล่าสุดนี้ภายในปลายเดือน มี.ค. ที่จะถึงนี้ คิงสตันประเมินว่าฝ่ายค้านจะฉวยโอกาสนี้ดิสเครดิตรัฐบาลอาเบะและกดดันให้ทางการปราบปรามการทุจริตแบบที่มีการพยายามทำมาหลายครั้งแล้ว ยังไม่รู้ว่าเรื่องอื้อฉาวนี้จะทำให้อาเบะสูญเสียการสนับสนุนหรือไม่ อาจจะมีคนถูกขุดขึ้นมาแฉเพิ่ม แต่คิงสตันก็มองว่า อมาคุดาริ จะยังมีอยู่ในสังคมญี่ปุ่นต่อไปเพราะมันฝังรากลึกและให้ประโยชน์กลุ่มที่ครอบครองผลประโยชน์ไว้อย่างหนาแน่นในญี่ปุ่น

การกระทำแบบ 'อมาคุดาริ' ไม่ได้มีอยู่แต่เฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น ปัญหาที่รัฐและเอกชนมีการเอื้อประโยชน์ต่อกันโดยบุคคลระดับสูงภาครัฐเข้าไปทำงานในภาคเอกชน และคนในภาคเอกชนเข้ามาทำงานด้านนโยบายในภาครัฐ มีคำเรียกว่า "ปัญหาประตูหมุน" (Revolving door) 

 

 

เรียบเรียงจาก

Scandal rocks Japan’s Ministry of Education, Jeff Kingston, East Asia Forum, 14-02-2017
http://www.eastasiaforum.org/2017/02/14/scandal-rocks-japans-ministry-of-education/

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Revolving_door_(politics)
https://en.wikipedia.org/wiki/Chalmers_Johnson

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท