ธรรมกายกับวิกฤติสังคมไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

แฟ้มภาพเหตุการณ์หน้าวัดพระธรรมกายเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2560 (ที่มาของภาพประกอบ: Banrasdr)

ผมมีคำถามว่าเราจะเข้าใจธรรมกายอย่างไรภายใต้สถานการณ์วิกฤติของสังคมไทย1ผมคิดว่าส่วนหนึ่งธรรมกายไม่ได้เกิดมาอากาศธาตุแล้วสร้างตัวยิ่งใหญ่อย่างที่คนในปัจจุบันเข้าใจ ส่วนหนึ่งที่ธรรมกายเกิดขึ้นมาจากรากฐานของความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยหลังทศวรรษ 2500 ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมไทยเข้าสู่การปรับตัวทางเศรษฐกิจขนานใหญ่ผ่านการแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และภายใต้การปรับโครงสร้างทางสังคมนั้นก่อให้เกิดคนหลายกลุ่มที่ถูกทิ้งไว้บนหนทางของการพัฒนานั้น ส่วนคนอีกกลุ่มสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนานั้น ประสบความสำเร็จบ้างไม่ประสบความสำเร็จบ้าง ซึ่งคนกลุ่มหลังนี้ เป็นสานุศิษย์กลุ่มใหญ่ที่เข้าไปเป็นสาวกของธรรมกาย

คนที่เข้าไปในกระบวนการพัฒนานี้ภายใต้การเบียดขับ แย่งชิง แข่งขัน ฯลฯ อันนำมาสู่ภาวะตึงเครียดของชีวิตวัดธรรมกายจึงเป็นพื้นที่ปลดปล่อยของคนหลาย ๆ กลุ่ม รวมถึงเกิดพุทธทางเลือกขึ้นมากมาย2

นอกจากนี้การที่ทำให้ธรรมกาย รวมถึงวัดอื่น ๆ ใหญ่โตจนเสมือนหนึ่งภัยคุกคามต่อรัฐ ก็เพราะรัฐ และพุทธศาสนิกเอง ที่ไม่สามารถควบคุมวัด พระสงฆ์ได้ พระและวัดบางพื้นที่จึงเสมือนหนึ่งพื้นที่ยกเว้น/อิสระภายในชุมชน ถ้าเราไม่สามารถควบคุม กำกับได้ก็จะเกิดกรณีแบบธรรมกายอีกหลาย ๆ กรณี ไม่นับว่าการปกครองพระสงฆ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐก็มีปัญหาไม่น้อย (ดูงานของท่านอื่น เช่น สุรพศ ทวีศักดิ์ ไม่คิดจะพูดในที่นี้) และจากการอ่านงาน "ศาสนทัศน์ของชุมชนเมืองสมัยใหม่ศึกษากรณีวัดพระธรรมกาย ของอภิญญา เฟื่องฟูสกุล"3 และคิดเร็ว ๆ ได้เรื่องธรรมกายได้อยู่ 4 - 5 ประเด็น คือ 

(หนึ่ง) ที่เล่าๆ กันของผู้ที่โจมตีธรรมกายว่าเหล่าสาวกธรรมกาย คือ ควายแดง/คนไร้ความรู้ ซึ่งจากงานชิ้นนี้ และเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง ข้อกล่าวหานี้ออกจะไม่จริง เพราะเท่าที่เห็นคนที่นับถือธรรมกาย ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางถึงสูง มี "ความรู้และฐานะดี" ไม่ได้อย่างที่ว่า ๆ กัน การทำลายธรรมกายของรัฐบาลทหาร อาจทำลายฐานมวลชนเสื้อเหลืองมากกว่าเสื้อแดง

(สอง) ธรรมกายที่เติบใหญ่ ขยายกิ่งก้านสาขาอย่างกว้างขว้าง เกิดภายใต้ความเน่าเฟะของ "พุทธศาสนา/พุทธธรรมแบบไทยๆ" ที่ไม่สามารถให้ทางออกแก่ชีวิตผู้คนได้ ซึ่งธรรมกายได้เข้ามาทำหน้าที่นี้แทน และดึงดูดกลุ่มสานุศิษย์ได้อย่างกว้างขวาง ไม่นับว่าเกิดพุทธทางเลือกอื่นอีก เช่น สวนโมกข์ สันติอโศก วัดป่าต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งล้วนเกิดขึ้นท่ามกลางการเสื่อมทรุดของพุทธกระแยสหลักแทบทั้งสิ้น

รวมถึงพุทธศาสนิกที่อ้างว่าเป็น “พุทธแท้” ก็มิได้มีวัตรปฏิบัติที่ดีเด่นกว่าธรรมกาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพุทธพาณิชย์ที่เสกเป่า สะเดาะเคราะห์ สร้างเหรียญ ฯลฯ ที่เกิดบนฐานความเชื่อแบบไทย ๆ ก็ไม่ได้แตกต่างจากธรรมกายแต่ประการใด เราจึงไม่อาจเอาข้อกล่าวหาแบบพุทธพาณิชย์โยนใส่หัวธรรมกาย แล้วให้สานุศิษย์เปลี่ยนใจได้ เพราะพุทธแบบอื่น ๆ ในสังคมไทยก็มีพฤติกรรมไม่ต่างกัน

(สาม) สิ่งที่ธรรมกายมีมากกว่า “พุทธไสยศาสตร์” แบบอื่น ๆ คือ การสร้างเครือข่ายการเผยแพร่อย่างกว้างขวางมีการระบบเครือข่ายแบบแม่ข่ายลูกข่าย เพื่อชักนำศาสนิกมาเข้าวัดได้เป็นจำนวนมาก ไม่นับว่ามีการจัดงานอีเวนท์ลักษณะต่าง เช่น การธุดงควัตรในเมือง โครงการเจริญพุทธมนต์ 5 ธันวามหาราช จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2546 ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2556 โครงการมุทิตาสักการะพระภิกษุ–สามเณรเปรียญธรรม 9 ประโยค เริ่มปี พ.ศ. 2530 จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนสิงหาคม นับถึงปี พ.ศ. 2556 เป็นครั้งที่ 26 โดยมีพระเปรียญธรรม 9 ประโยค ร่วมรับถวายมุทิตา จำนวน 1,132 รูป รวมมอบทุนการศึกษากว่า 7,924,000 บาท โครงการมอบทุนการศึกษาสำหรับพระภิกษุ–สามเณร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ถึงปัจจุบัน มีผู้รับทุนไปแล้วกว่า 100,000 รูป โครงการสอบตอบปัญหาศีลธรรมเพื่อสันติภาพโลก สำหรับบรรพชิต (World – PEC for Monk) จัดสอบครั้งแรกในวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 มีพระสงฆ์เข้าสอบจำนวน 48,060 รูป และถวายรางวัลเพื่อนำไปพัฒนางานเผยแผ่พระพุทธศาสนากว่า 15 ล้านบาท โครงการถวายมหาสังฆทาน เริ่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2545 เริ่มต้นจากจำนวน 1,000 วัด แล้วเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 วัด, 3,000 วัด, 5,000 วัด, 10,000 วัด, 20,000 วัด และ 30,000 วัด ทั่วประเทศ เป็นลำดับ และจัดอย่างตลอดต่อเนื่องในวันที่ 22 เมษายน ของทุกปี4

รวมถึงมีการสร้างเครือข่ายการสื่อสารเผยแพร่ความคิดความเชื่อผ่านสื่อสมัยใหม่ เช่น DMC (Dhammakaya Media Channe) ช่องรายการธรรมะที่เผยแพร่ทั่วโลกทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมถึงพระหลายองค์ในธรรมกาย ทั้งธัมมชโย ทัตชีโว นพดล ฯลฯ ล้วนได้รับการศึกษาที่สูง และสามารถสื่อสารคำสอนให้สอดคล้องกับโลกในยุคปัจจุบัน

เราจะเห็นได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาธรรมกายได้สร้างรากฐานในสังคมไทยผ่านโครงการต่าง ๆ ทั้งในระดับโลกและระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะพระสงฆ์สามเณรซึ่งล้วนแล้วแต่ได้รับความช่วยเหลือจากธรรมกายไม่มากก็น้อย เราจึงเห็นว่าช่วงธรรมกายวิกฤตถูกปิดล้อมมีพระสงฆ์ตามหัวเมืองและต่างประเทศออกมาเรียกร้องปกป้องธรรมกายจำนวนมาก5 ไม่นับเหล่าสาวกที่ยินดีร่วมต่อสู้กับธรรมกาย

โครงการของธรรมกายในแง่นี้จึงเป็นการกระจายโภคทรัพย์ซึ่งศาสนาในโลกสมัยใหม่หลาย ๆ แห่งก็ทำกัน ซึ่งต่างจากพุทธอื่น ๆ ได้ทำในแง่นี้มากน้อยแค่ไหน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าธรรมกายปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ได้ดีกว่าสำนักพุทธอื่น ๆ แม้เราจะรังเกียจธรรมกายอย่างไรก็ตาม

(สี่) คำถามต่อธรรมกายเรื่องความจริงแท้ พุทธแท้พุทธเทียม คำสอนเรื่อง “อัตตา” “อนัตตา”6 ที่เป็นข้อกล่าวหาต่อธรรมกาย ไม่สู้เป็นที่สนใจของเหล่สานุศิษย์ หรือผู้ที่อ้างว่าเป็น “พุทธแท้” ที่โจมตีธรรมกาย เพราะเขาเหล่านั้นต่างก็ไม่ได้สนใจการหลุดพ้นมากกว่าความเข้าใจในโลกปัจจุบัน

การกล่าวหาธรรมกายส่วนใหญ่จึงเกี่ยวกับวัตรปฏิบัติของธัมมชโย เจ้าสำนัก การเรี่ยไรบริจาคทรัพย์ มากกว่าแก่นแกนของพุทธศาสนา ซึ่งคนที่โจมตีธรรมกายก็ไม่ได้เข้าใจเรื่องนี้มากน้อยไปกว่าเหล่านสานุศิษย์ธรรมกาย

(ห้า) ศาสนา/คำสอนของธรรมกายเป็นคำสอนเพื่อโลกนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายทางธรรมและทางโลกในชีวิตนี้มากกว่าโลกหน้า จึงเป็นที่ต้องใจของ "คนสมัยใหม่" ภายใต้โลกของทุนนิยม รวมถึงโครงสร้างการจัดการที่ดึงดูดใจ เครือข่ายที่กว้างขวาง ธรรมกายจึงแข็งแกร่งเกินกว่าที่รัฐบาลทหารชุดปัจจุบันจะทำอะไรได้ ต่อให้ปราบ/ยุบวัด/จับธัมมชโยได้ในวันนี้ ธรรมกายก่อไม่ตาย และอาจมีธรรมกายสอง สาม สี่ ตามมา ตราบใดที่ความเชื่อแบบธรรมกายยังสนองตอบต่อเหล่าสานุศิษย์ผู้ศรัทธา

ท้ายที่สุด ภัยพุทธศาสนาไม่ได้มีแต่กรณีธรรมกาย แม้แต่สังฆมณฑลโดยรวม ก็ร้อนร้ายไม่แพ้กัน มีการเล่นพรรคเล่นพวก ใช้เงินซื้อตำแหน่ง ไม่ต้องพูดถึงว่ารักษาพระธรรมวินัยครบ 227 ข้อหรือไม่ เพราะนั้นเป็นสิ่งที่พระปัจจุบันห่างไกลสุดกู่ พระไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของประชาชนแล้ว พระ/วัดกลายเป็นพื้นที่อิสระในหมู่บ้านชุมชน การรวมศูนย์การปกครองพระในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้พระหลุดลอยจากความสัมพันธ์กับสังคม ความศรัทธาปะสาทะต่อพระในสังคมปัจจุบันก็มิได้เหมือนในอดีต คนที่เรียกว่า "พระ" บางทีก็รู้เรื่องราวทางโลก/ทางธรรมน้อยกว่าคนธรรมดาเสียอีก การเอ่ยอ้างว่าพระเป็น "หนทางทางปัญญา" "ผู้นำทางปัญญา" ในปัจจุบันมีกี่คนที่เชื่ออย่างหมดจิตหมดใจ นอกจากผู้นำทางพิธีกรรมที่เป็นฐานที่มั่นสุดท้าย

ท้ายของท้ายที่สุด ผมคิดว่าเราควรวิพากษ์ศาสนาได้ทั้งพุทธแท้ พุทธเทียม พุทธปลอม หรือพุทธอื่น ฯลฯ ควรให้ประชาชนผู้คนตรวจสอบ ไม่ปล่อยให้วัด พระสงฆ์องค์เจ้า หลุดไปจากการควบคุมของสังคม เพราะนั้นหมายถึงวัดวาต่าง ๆ เป็นพื้นที่อิสระในสังคม และผมคิดว่ากรณีธรรมกายเป็นการท้าทายสังคมไทย ในแง่ความเข้าใจต่อหลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนา และการปฏิรูปพุทธศาสนา

ผมคิดว่าเรารู้ เห็น เข้าใจตรงกันว่าไม่ว่าพุทธแบบธรรมกาย พุทธทั่วไป ต่างตกอยู่ในภาวะวิกฤติศรัทธา ดูได้จากข่าวในแต่ละวัน แต่สิ่งที่เราทำในปัจจุบันคือ การสร้างข้อรังเกียจและให้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมแบบมาตรา 44 เข้าไปจัดการกับธรรมกายด้วยความสะใจ ซึ่งจะกลายเป็นบรรทัดฐานต่อไปว่า “อำนาจอะไรก็ได้” ถ้าเข้าไปจัดการสิ่งที่เราไม่ชอบถือว่า “ชอบธรรม” แล้วเราจะอยู่กันได้อย่างไร เรายินดีอยู่กับสังคมแบบนี้หรือครับท่านทั้งหลาย

 

เชิงอรรถ

1 งานชิ้นนี้แม้จะเกิดบนฐานของการอ่านงานของท่านอื่น ๆ ที่อ้างไปแล้ว แต่ความรับผิดชอบย่อมเป็นของผุ้เขียนแต่เพียงผู้เดียว และคนที่เขาออกมาพูดเรื่องธรรมกายนี้ เขาไม่ได้คิดว่าธรรมกายดีเด่นอะไรหรอกนะ (ควรด่า/วิพากษ์มากๆ ด้วยซ้ำ รวมถึงพระอื่น ๆ ด้วย) แต่ที่เขาออกมาพูดเย้ว ๆ นี้ เพราะเขาคิดว่ากระบวนการที่ทำกับธรรมกายนี้มันไม่ชอบธรรม ต่อให้ทำแบบนี้กับพุทธอิสระที่เรารังเกียจ เขาเหล่านั้นก็ออกมาพูดแบบนี้ เพราะเขาเชื่อในหลักการประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ แลหัวใจของความเป็นคน

2 ดูเพิ่มใน, พระไพศาล วิสาโล. (2546). พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์.

3 อภิญญา เฟื่องฟูสกุล. (2541). ศาสนทัศน์ของชุมชนเมืองสมัยใหม่ศึกษากรณีวัดพระธรรมกาย. ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (อ่านงานวิจัย)

4 โครงการอื่นเช่น โครงการตอบปัญหาทางก้าวหน้าพระแท้ ครั้งที่ 1 วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2542 และครั้งที่ 2 วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2544 มีพระภิกษุร่วมเข้าสอบ รวมจำนวนกว่า 200,000 รูป โครงการอบรมสัมมนาพระกัลยาณมิตร เริ่มปี พ.ศ. 2543 จนถึง 25 มีนาคม พ.ศ. 2552 มีพระภิกษุจากทั่วประเทศผ่านการอบรมแล้ว 80 รุ่น เป็นจำนวน 10,278 รูปการจัดงานต่างๆ อย่างยิ่งใหญ่ ฯลฯ

5 ดู "คณะสงฆ์เชียงใหม่ส่วนหนึ่งรวมตัวที่ศาลากลาง-ขอให้เลิก-ม44" CM108 หรือ Mediastudio หรือ Kapook หรือ ข่าวสด

6 ดูเพิ่มใน, พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี. (2546). บทบาทในการรักษาพระธรรมวินัยของพระธรรมปิฏก (..ประยุตฺโต) : ศึกษาเฉพาะะกรณีธรรมกาย. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท