Skip to main content
sharethis
 
ผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ ทุ่มงบกว่า 10 ล้าน ให้ ก.แรงงาน พัฒนาแรงงานทุกกลุ่มทั่วประเทศ
 
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้จัดทำยุทธศาสตร์ 20 ปีของกระทรวงที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานปฏิบัติภารกิจเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเทคโนโลยีและสถานการณ์ด้านแรงงาน ซึ่งปัจจุบันกำลังแรงงานในวัยทำงาน มีแนวโน้มลดลง แรงงานกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเตรียมพร้อมเพื่อให้มีกำลังแรงงานเพียงพอต่อความต้องการ
 
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) กล่าวว่า จากนโยบายดังกล่าว กพร. มุ่งเน้นดูแลและพัฒนาฝีมือแรงงานทุกกลุ่ม ทั้งแรงงานไร้ทักษะหรือระดับปฏิบัติการ หรือการอบรมร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ตลอดจนการฝึกยกระดับเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือ รวมถึงการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อให้แรงงานมีมาตรฐานและรับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ มีประกาศแล้ว 67 สาขา ซึ่งอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานนั้นสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอีกด้วย
 
ปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559–16 กุมภาพันธ์ 2560) กพร.ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อส่งเสริมและยกระดับฝีมือให้แรงงานไทยมีความพร้อมที่จะทำงานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในอนาคต ได้แก่ 1. มูลนิธิเรเซล ดำเนินการโดยบริษัทเรเซล ควอลิตี้เทรดดิ้ง จำกัด สนับสนุนงบประมาณจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมช่างไฟฟ้าและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เพื่อนำไปใช้จัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ มูลค่า 35,000 ยูโร รวมประมาณ 1.3 ล้านบาท ในพื้นที่ 4 จังหวัด 2. บริษัท ชไนเดอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด สนับสนุนอุปกรณ์ไฟฟ้า มูลค่า 2,485,250 บาท ในพื้นที่ 27 จังหวัด 3. บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ สนับสนุนเครื่องปรับอากาศ 15 เครื่อง มูลค่า 231,000 บาท เพื่อใช้ฝึกอบรมยกระดับ สาขาการติดตั้งเครื่องปรับอากาศภายในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก
 
4. บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) สนับสนุนผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ จำนวน 300 ตัน มูลค่า 720,000 บาท เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานช่างก่อสร้าง 5. บริษัท นิปปอนเพนต์ (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมช่างสีรถยนต์ มูลค่า 4,820,000 บาท และติดตั้งอุปกรณ์สีพ่นรถยนต์ 6. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สนับสนุนผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่อง 1,648 ลิตร มูลค่า 283,990 บาท ตามโครงการร่วมรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ และ7. บริษัท สยามอุตสาหกรรมยิปซัม (สระบุรี) จำกัด มอบผลิตภัณฑ์ผนังและฝ้าเพดานยิปซัมตราช้างมูลค่า 720,000 บาท
 
นายธีรพล กล่าวต่อไปว่า เครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงานยังให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดในพื้นที่ภาคใต้อีกด้วย อาทิ 1. บริษัท แซง-โกแบ็งเวเบอร์ จำกัด ได้มอบผลิตภัณฑ์กาวซีเมนต์และกาวยาแนวมูลค่า 206,664 บาท 2. บริษัท สยามอุตสาหกรรมยิปซัม (สระบุรี) จำกัด มอบผลิตภัณฑ์ผนังและฝ้าเพดานยิปซัมตราช้าง มูลค่า 200,000 บาท 3. บริษัท นิปปอนเพนต์เดคโคเรทีฟโคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด มอบผลิตภัณฑ์สีทาอาคาร มูลค่า 50,000 บาท 4. บริษัท เรเซล ควอลิตี้ เทรดดิ้ง จำกัดมอบอุปกรณ์ไฟฟ้าสวิตซ์ไฟฟ้าและหลอดไฟฟ้า มูลค่า 50,000 บาท 5. บริษัท ชไนเดอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด มอบอุปกรณ์ไฟฟ้า ตู้แผงจ่ายไฟฟ้า และเซอร์กิตเบรกเกอร์กันดูด จำนวน 70 ชุด มูลค่า 581,700 บาท 6. บริษัท เอ.พี.ไอ.เทค จำกัด มอบเครื่องมือวินิจฉัย (Diagnostic Tool) รุ่น Doctor APIจำนวน 14 ชุด มูลค่า 56,000 บาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น 11,704,604 บาท
 
นอกจากนี้ ยังได้รับแจ้งการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องซึ่งอยู่ระหว่างการกำหนดวันรับมอบ อาทิ บริษัท แซง-โกแบ็ง เวเบอร์ จำกัด จะสนับสนุนผลิตภัณฑ์ปูนยาแนวและปูนกาวปูกระเบื้อง บริษัท โสสุโก้ แอนด์ กรุ๊ป (2008) จำกัด จะให้การสนับสนุนผลิตภัณฑ์เซรามิคปูพื้นและบุผนัง บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด สนับสนุนรถจักรยานยนต์ จำนวน 30 คัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สนับสนุนผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่อง ตามโครงการร่วมรณรงค์ป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ นายธีรพลกล่าว
 
 
เปิดต่อใบอนุญาตทำงานครั้งสุดท้ายแรงงานประมงทะเล-แปรรูปสัตว์น้ำ
 
กรมการจัดหางานเตือนนายจ้างในกิจการประมงทะเลและกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ รีบพาแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติทั้งกัมพูชา ลาวและเมียนมา ไปต่อใบอนุญาตทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 31 มีนาคม 2560 และจะไม่เปิดจดทะเบียนอีกต่อไป หากตรวจสอบพบกระทำผิด นายจ้างจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย มีโทษปรับสูงสุดถึง 100,000 บาทต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน ส่วนคนงานถูกจับปรับติดคุกและผลักดันกลับประเทศ ปัจจุบันมีผู้มาต่อใบอนุญาตทำงานแล้ว 12,330 ราย
 
นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างในกิจการประมงทะเลและกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ รีบพาแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว และเมียนมา ไปต่อใบอนุญาตทำงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560 โดยทางกระทรวงแรงงานขอประกาศอีกครั้งว่า หากพ้นกำหนดการดังกล่าวไปแล้วจะไม่มีการเปิดจดทะเบียนใหม่อีก หากนายจ้างจำเป็นต้องจ้างแรงงานต่างด้าวขอให้
นำเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย และเป็นไปตามระบบลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) เท่านั้น
 
ด้านนายวรานนท์ ปีติวรรณ รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการต่อใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงทะเลและกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ ในกลุ่มที่ใบอนุญาตหมดอายุวันที่ 31 มกราคม 2560 และวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งเปิดดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์-31 มีนาคม 2560 โดยใบอนุญาตทำงานที่ต่อให้จะหมดอายุในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 เท่ากันทุกคน
 
"ขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวมาต่อใบอนุญาตทำงานแล้ว 12,330 คน แบ่งเป็นแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงทะเล 8,042 คน มีสัญชาติเมียน มา 6,017 คน กัมพูชา 1,844 คน และลาว 181 คน โดยมีนายจ้าง 1,310 ราย และในส่วนของแรงงานต่างด้าวในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ 4,288 คน มีสัญชาติเมียนมา 4,182 คน กัมพูชา 76 คน และลาว 30 คน โดยมีนายจ้าง 276 ราย" นาย วรานนท์กล่าว
 
สำหรับแรงงานประมงที่ไม่สามารถเข้าฝั่งได้ทันตามกำหนด ให้นายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าว ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล ภายในกำหนดก่อน และเมื่อแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับเข้าฝั่งให้ไปตรวจสุขภาพ ประกันสุขภาพ รายงานตัว และขออนุญาตทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หากพ้นกำหนดแล้ว ตรวจสอบพบการจ้างแรงงานต่างด้าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจะถูกดำเนินคดี มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน ขณะที่แรงงานต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมผลักดันส่งกลับประเทศต้นทางต่อไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694.
 
 
กทม.สั่งออกแบบชุดพนักงานรักษาความสะอาดใหม่เพิ่มความปลอดภัย มองเห็นชัดขึ้น
 
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า จากกรณีพนักงานรักษาความสะอาดของ กทม.ถูกคนขับรถชนเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ ตนได้สั่งให้สำนักสิ่งแวดล้อมออกแบบชุดพนักงานรักษาความสะอาดใหม่ เพื่อให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นหากอยู่ในที่แสงสว่างน้อย หรือทำงานช่วงกลางคืนและเช้ามืด เดิมชุดเป็นสีกรมท่า และมีเสื้อสะท้อนแสงใส่อีกชั้นหนึ่ง ทั้งนี้ สีกรมท่าอาจจะทึบเกินไปเมื่ออยู่ในที่มืด การออกแบบชุดใหม่จึงควรเป็นสีสว่าง เช่น สีขาว และสีสะท้อนแสงอื่นๆ ในส่วนนี้ยังคงเสื้อคลุมสะท้อนแสงเช่นเดิม พร้อมกันนี้ให้พิจารณาด้ามไม้กวาด หมวก ให้มีส่วนที่สะท้อนแสงด้วย อย่างไรก็ตาม การออกแบบและจัดซื้อชุดอุปกรณ์การทำงานต่างๆ ต้องให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต สำรวจความต้องการพนักงานว่าต้องการหรือไม่ รวมถึงหากเจ้าหน้าที่ พนักงานต้องการอุปกรณ์การทำงานใดเพิ่มเติมเพื่อความอำนวยความสะดวกในการทำงานและความปลอดภัย ให้เสนอมายังเขต เพื่อพิจารณาดำเนินการจัดซื้อ
 
"พนักงานรักษาความสะอาดมีความสำคัญในการทำหน้าที่รักษาความสะอาดของบ้านเมือง บางครั้งต้องทำงานบนความเสี่ยง กทม.มีความเป็นห่วงและจะต้องดูแลให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่" นายจักกพันธุ์กล่าว
 
สำหรับการออกแบบชุดทำงาน ตั้งเป้าให้สำนักสิ่งแวดล้อมเสนอแบบภายในเดือน มี.ค.นี้ เพื่อพิจารณาของบประมาณจัดซื้อในปี 2561 โดยปกติพนักงานรักษาความสะอาดจะได้รับชุดทำงานใหม่ปีละ 2 ชุด
 
 
กทม.สั่งออกแบบชุดพนักงานรักษาความสะอาดใหม่เพิ่มความปลอดภัย มองเห็นชัดขึ้น
 
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า จากกรณีพนักงานรักษาความสะอาดของ กทม.ถูกคนขับรถชนเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ ตนได้สั่งให้สำนักสิ่งแวดล้อมออกแบบชุดพนักงานรักษาความสะอาดใหม่ เพื่อให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นหากอยู่ในที่แสงสว่างน้อย หรือทำงานช่วงกลางคืนและเช้ามืด เดิมชุดเป็นสีกรมท่า และมีเสื้อสะท้อนแสงใส่อีกชั้นหนึ่ง ทั้งนี้ สีกรมท่าอาจจะทึบเกินไปเมื่ออยู่ในที่มืด การออกแบบชุดใหม่จึงควรเป็นสีสว่าง เช่น สีขาว และสีสะท้อนแสงอื่นๆ ในส่วนนี้ยังคงเสื้อคลุมสะท้อนแสงเช่นเดิม พร้อมกันนี้ให้พิจารณาด้ามไม้กวาด หมวก ให้มีส่วนที่สะท้อนแสงด้วย อย่างไรก็ตาม การออกแบบและจัดซื้อชุดอุปกรณ์การทำงานต่างๆ ต้องให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต สำรวจความต้องการพนักงานว่าต้องการหรือไม่ รวมถึงหากเจ้าหน้าที่ พนักงานต้องการอุปกรณ์การทำงานใดเพิ่มเติมเพื่อความอำนวยความสะดวกในการทำงานและความปลอดภัย ให้เสนอมายังเขต เพื่อพิจารณาดำเนินการจัดซื้อ
 
"พนักงานรักษาความสะอาดมีความสำคัญในการทำหน้าที่รักษาความสะอาดของบ้านเมือง บางครั้งต้องทำงานบนความเสี่ยง กทม.มีความเป็นห่วงและจะต้องดูแลให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่" นายจักกพันธุ์กล่าว
 
สำหรับการออกแบบชุดทำงาน ตั้งเป้าให้สำนักสิ่งแวดล้อมเสนอแบบภายในเดือน มี.ค.นี้ เพื่อพิจารณาของบประมาณจัดซื้อในปี 2561 โดยปกติพนักงานรักษาความสะอาดจะได้รับชุดทำงานใหม่ปีละ 2 ชุด
 
 
"กอช." เสนอระดับนโยบายพิจารณาเพิ่มเงินสมทบจากฝั่งรัฐบาลเป็น 2,500 บาท จาก 1,200 บาทต่อคนต่อปี หวังจูงใจยอดสมาชิกกองทุนเพิ่มเป็น 1 ล้านคน
 
นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการกองทุนเงินออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยว่า ได้เสนอระดับนโยบายพิจารณาเพิ่มเงินสมทบฝ่ายรัฐบาลเป็น 2,500 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปัจจุบัน เพื่อผลักดันให้ยอดสมาชิกกอช.เพิ่มขึ้นในระดับ 1 ล้านคน หรือ เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปัจจุบัน
 
“กอช.ได้เสนอเพิ่มแรงจูงใจในการออมดังกล่าว ให้กระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาแก้ในกฎกระทรวง จากปัจจุบันที่รัฐบาล จะช่วยสมทบเงินให้แก่สมาชิก ที่ออมเงิน สูงสุดไม่เกิน 1,200 บาทต่อคนต่อปี เป็น 2,500 บาทต่อคนต่อปี โดยภาครัฐมีภาระสูงสุดประมาณปีละ 2.5 พันล้านบาท ทั้งนี้ในปีที่แล้ว รัฐใส่เงินสมทบแล้วประมาณ 200-300 ล้านบาท”
 
ปัจจุบันเงินที่รัฐบาลสมทบให้แก่สมาชิก ยังขึ้นอยู่กับช่วงอายุของสมาชิกด้วย กล่าวคือ สมาชิกอายุตั้งแต่ 15 ปี จนถึง 30 ปี รัฐบาลสมทบให้ไม่เกิน 50% ของเงินออม แต่สูงสุดไม่เกิน 600 บาทต่อคนต่อปี
ส่วนสมาชิกที่มีอายุมากกว่า 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี สมทบให้ 80% ของเงินออม แต่สูงสุดไม่เกิน 960 บาทต่อคนต่อปี และสมาชิกที่มีอายุมากกว่า 50 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี สมทบให้ 100% ของเงินที่ออม แต่ไม่เกิน 1,200 บาทต่อคนต่อปี
 
การแก้ไขแรงจูงใจด้านเงินสมทบของรัฐบาลดังกล่าว จะยังคงสัดส่วน เงินสมทบที่เป็นเปอร์เซ็นต์ คือ 50% 80% และ 100% ตามช่วงอายุดังกล่าวไว้ แต่สมาชิกทุกช่วงอายุ สามารถได้รับเงินสมทบสูงสุดที่ 2,500 บาทต่อคนต่อปี กรณีที่มีการออมในอัตราที่สูง เช่น สมาชิก อายุ 15 ปี ออมปีละ 5 พันบาท จากเดิมจะได้เงินสมทบที่ 600 บาท แต่การแก้ไขใหม่ จะได้ถึง 2,500 บาท
 
ในปัจจุบัน กอช. มีสมาชิก 5.25 แสนราย มีเงินกองทุนรวม 1.96 พันล้านบาท เพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิกให้เป็นไปตามเป้าหมายในปีนี้ที่ 1 ล้านคน และเงินกองทุนเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 พันล้านบาทในสิ้นปีนี้ กอช.จะร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อให้เป็นหน่วยรับเงินออมเพื่อนำส่งต่อให้แก่ กอช. ซึ่งจะเป็นการเพิ่มหน่วยรับเงินออมในแต่ละหมู่บ้าน จากปัจจุบันที่ให้ ธกส.,ออมสิน, กรุงไทย และ ธอส. ที่มีสาขารวม 3 พันกว่าสาขา เป็นหน่วยรับเท่านั้น
 
สำหรับการลงทุนของกองทุนนั้น ในช่วงปีที่แล้ว ได้ลงทุนในตราสารที่มีความมั่นคงสูง คือ พันธบัตรของ ธปท. พันธบัตรของกระทรวงการคลัง และหุ้นกู้ภาคเอกชน โดยได้ผลตอบแทนที่ Mark to market เมื่อสิ้นปีที่แล้วที่ 2% ในปีนี้ กอช.กำลังพิจารณาที่จะนำเงินกองทุนส่วนหนึ่งไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะว่าจ้าง บลจ.มาช่วยบริหารหรือจะบริหารด้วยตัวเอง
 
ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธาน กอช. กล่าวว่า แม้การเพิ่มเงินสมทบของรัฐบาล จะเป็นการเพิ่มภาระภาครัฐ แต่ในระยะยาวแล้ว จะช่วยลดภาระทางการคลังของรัฐบาลในการดูแลคนสูงอายุที่ปัจจุบันมีภาระงบประมาณราว 6-7 แสนล้านบาทต่อปี หากไม่ทำอะไรในอีก 10-15 ปีข้างหน้า อาจกลายเป็นวิกฤตการคลังของรัฐบาลได้
 
“ผมอยากให้คนที่อายุน้อยๆ โดยเฉพาะที่ยังเป็นนักเรียน นักศึกษา ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป เข้าออมใน กอช.ให้มากขึ้น โดยกำลังพิจารณาว่า กรณีที่เด็กเหล่านี้ เป็นสมาชิก กอช.ตั้งแต่ยังไม่ได้ทำงาน และเมื่อทำงานแล้ว และเป็นสมาชิก กองทุนประกันสังคม หรือ กบข. รัฐจะหยุดส่งเงินสมทบ เพื่อจูงใจให้คนกลุ่มนี้ที่ออมตั้งแต่เด็ก กระทรวงกำลังพิจารณาว่า อาจจะเสนอให้รัฐสมทบต่อเนื่อง แม้ว่าเขาหรือเธอเหล่านั้น เป็นสมาชิกประกันสังคม หรือ กบข.ด้วยก็ตาม อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากเป็นการเพิ่มภาระงบประมาณ”
 
 
เสนอ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่เพิ่มสิทธิลูกจ้างได้เงินชดเชย
 
ที่โรงแรมเจ้าพระยา ปาร์ค นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวภายหลังเปิดโครงการสัมมนาไตรภาคีเพื่อรับฟังความคิดเห็น เรื่อง ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่…) พ.ศ… ว่า ที่ผ่านมากรมฯได้มีการหารือร่วมกับหลายภาคส่วนจนจัดทำเป็น ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่…) พ.ศ… ขึ้น ซึ่งปรับปรุงมาจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการจึงได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นขึ้นว่า จะมีการปรับเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง ซึ่งหลังจากนี้ก็ต้องมีการรวบรวมทั้งหมดและเสนอต่อ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณา คาดว่ากระบวนการดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 60 วัน จากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ก่อนประกาศใช้ ซึ่งลูกจ้าง แรงงานทุกคนจะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น
 
นายสุเมธ กล่าวอีกว่า จริงๆ ตัวร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการกำหนดให้เกิดความชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะการลาคลอดของแรงงานหญิง ซึ่งกำหนดให้มีสิทธิลาคลอด 90 วัน แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นการลาหลังคลอดเพื่อเลี้ยงดูบุตร ซึ่งกฎหมายใหม่จะกำหนดให้มีสิทธิลาคลอดได้ตั้งแต่ก่อนคลอด คือ ลาเพื่อไปตรวจครรภ์ ตรวจสุขภาพก่อนคลอด เป็นต้น และนายจ้างจะต้องให้ค่าจ้าง นอกจากนี้ ที่มีการเพิ่มเติมอีกคือ กรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบการ หรือย้ายลูกจ้างไปยังสาขาอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของลูกจ้าง เช่น เดิมอยู่สาขาใหญ่ที่ กทม. แต่ถูกย้ายไป จ.สระบุรี หากเป็นกฎหมายเดิมจะไม่มีการชดเชยใดๆ หากลูกจ้างไม่สะดวก และขอลาออก แต่ร่างกฎหมายใหม่ให้สิทธิลูกจ้างที่ไม่สะดวก หาหลักฐานข้อเท็จจริงความจำเป็นต่างๆ และไปยื่นร้องขอค่าชดเชยพิเศษได้
 
นายสุเมธ กล่าวว่า สำหรับค่าชดเชยพิเศษจะได้รับตามมาตรา 118 คือ หากลูกจ้างทำงาน 120 วันขึ้นไปแต่ไม่เกิน 1 ปี จะได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างจำนวน 30 วัน หากทำงาน 1 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง 3 ปี จะได้รับเงินชดเชย 90 วัน หากทำงาน 3 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง 6 ปีจะได้รับเงิน 180 วัน และหากทำงานเกิน 10 ปีขึ้นไปจะได้รับไม่เกิน 300 วัน แต่ล่าสุดได้เพิ่มกรณีลูกจ้างทำงานเกิน 20 ปีขึ้นไป จะได้รับชดเชย 400 วัน เทียบเท่ากับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดนั่นเอง ซึ่งในร่างพ.ร.บ.นี้ ยังมีมาตราอื่นๆอีก อาทิ ให้ลูกจ้างมีสิทธิลากิจไม่น้อยกว่าปีละ 3 วัน ซึ่งลากิจจะเป็นการลาตามความจำเป็น โดยขึ้นอยู่กับการพิจารณาของนายจ้าง อาทิ พ่อแม่ป่วย หรือลาไปทำทุรกรรม หรือทำบัตรต่างๆ ที่ต้องเป็นตัวบุคคลไปยืนยัน เป็นต้น
 
ล่าสุดพล.อ.ศิริชัย ยังมอบหมายให้กรมสวัสดิฯ ไปดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีกว่า 20 ล้านคนให้ได้รับการดูแลจากภาครัฐด้วย จากเดิมจะดูแลเพียงผู้รับงานมาทำที่บ้าน และภาคการเกษตร แต่ครั้งนี้ให้รวมทุกกลุ่ม ซึ่งต้องใช้เวลาในการแยกกลุ่มอาชีพ จะมีทั้งผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้รับใช้ในบ้าน ซึ่งให้การดูแลทั้งเรื่องการรักษาพยาบาล อุบัติเหตุจากการทำงาน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรวมรวมข้อมูลเพื่อจัดทำร่างกฎหมายแรงงานนอกระบบต่อไป
 
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับเรื่องการจ้างแรงงานเด็ก โดยในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานเด็ก ที่มีการเพิ่มโทษหากพบว่า มีการจ้างแรงงานเด็กผิดกฎหมาย โดยเดิมโทษปรับเริ่มต้นที่ 200,000 บาทต่อการจ้างแรงงานเด็กผิดกฎหมาย 1 คน ซึ่งเพิ่มเป็นมีโทษปรับ 400,000–800,000 บาทต่อคน
 
 
เครือข่ายแรงงานเตรียมเข้าพบปลัดแรงงาน เสนอเพิ่มตรวจสุขภาพช่องปาก–ตรวจครรภ์ฟรี เพิ่มเติมจากสิทธิค่าบริการทันตกรรม 900 บาทไม่ต้องสำรองจ่าย 
 
นายมนัส โกศลประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 63(2) พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 เครือข่ายฯ เห็นว่าควรมีการเพิ่มเติมในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้วย ซึ่งจากการประชุมร่วมเครือข่าย ฟ. ฟันสร้างสุข กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายแรงงานอื่นๆ เห็นว่า ควรมีการเพิ่มการตรวจช่องปากประจำปี นอกเหนือจากการให้สิทธิค่าบริการทันตกรรม 900 บาทต่อปี รวมทั้งให้สิทธิการตรวจครรภ์ ฝากครรภ์ แก่ผู้ประกันตนหญิง ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับคู่มือสิทธิการตรวจสุขภาพ ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะมีการเสนออย่างไรเพิ่มเติม โดยเครือข่ายฯ จะขอเข้าพบกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้ เพื่อขอแลกเปลี่ยนข้อมูลว่า สิทธิการตรวจสุขภาพของผู้มีสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทองเป็นอย่างไร
 
นายมนัส กล่าวว่า วันที่ 22 ก.พ. เครือข่ายฯ ได้ขอเข้าพบปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ด สปส. เพื่อขอขอบคุณและขอแสดงความชื่นชมต่อการทำงานของ สปส. โดยเฉพาะเรื่องทันตกรรม และการพัฒนาระบบการบริหารจัดการเบิกจ่ายตรงด้านค่ารักษาทันตกรรม โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ซึ่งถือว่าเดินมาถูกทาง และขอให้ในอนาคตมีการพัฒนาด้านทันตกรรมสำหรับผู้ประกันตนเพิ่มเติม โดยเฉพาะการตรวจสุขภาพช่องปากประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยให้ไปอยู่ในระบบการตรวจสุขภาพฟรีตามมาตรา 63(2)
 
ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเรียกร้องมาตรา 63 (7) เรื่องการออกกฎหมายลูกการเยียวยาผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการบริการทางการแพทย์ นายมนัส กล่าวว่า เครือข่ายฯ ยังคงติดตามเรื่องนี้ เบื้องต้น สปส.ระบุว่า อยู่ระหว่างส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา เนื่องจากยังมีประเด็นที่อาจซ้ำซ้อน อย่าง สปสช.มีมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยมีทั้งการพิการ และเสียชีวิต ซึ่งส่วนนี้มีกฎหมายเยียวยาผู้ทุพพลภาพในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นจากการทำงาน หรือจากการรับบริการ ดังนั้น ต้องให้เกิดความชัดเจนก่อน
 
 
“ลูกจ้าง” ย้ายไปทำงาน ตจว.ไม่ได้ จนต้องลาออก กม.ใหม่บังคับ “นายจ้าง” จ่ายค่าชดเชย
 
(21 ก.พ.) ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กทม. นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเปิดงานสัมมนาไตรภาคีเพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่อง ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ว่า ขณะนี้ กรมฯ จัดทำร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว จึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องขึ้น ทั้งฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้าง ซึ่งการปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองแรงงานก็เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศไทยและโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเป็นการแก้ไขเพื่อสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างโดยเฉพาะ เช่น การเกษียณเท่ากับการเลิกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย การเพิ่มค่าชดเชยตามอายุงาน จากเดิมกำหนดเพียงอายุงานเกิน 10 ปีขึ้นไป ได้รับการชดเชย 300 วัน ก็เพิ่มเป็นอายุงานเกิน 20 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชย 400 วัน รวมไปถึงสิทธิลาคลอดจำนวน 90 วัน ซึ่งปกติจะใช้หลังคลอด กำหนดชัดเจนว่า สามารถใช้ก่อนคลอดได้ เพื่อไปตรวจครรภ์หรือฝากครรภ์ โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่อายุครรภ์เกิน 28 สัปดาห์ขึ้นไป โดยยังได้รับค่าจ้างเช่นเดิม
 
“นอกจากนี้ ยังเพิ่มสิทธิกรณีถูกผู้ประกอบการสั่งให้ย้ายไปประจำพื้นที่ปฏิบัติงานอื่น ทำให้ได้รับความเดือดร้อน ก็จะได้รับเงินค่าชดเชยเท่ากับการเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดในอัตราใหม่ เช่น เดิมทำงานอยู่ในสถานประกอบการพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อถูกนายจ้างสั่งย้ายไปปฏิบัติหน้าที่สาขา จ.สระบุรี และลูกจ้างมีความจำเป็นไม่สามารถย้ายไปได้ ซึ่งที่ผ่านมา เมื่อย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้และขอลาออก ดังนั้น หากมีกฎหมายนี้ก็จะช่วยเหลือลูกจ้างกลุ่มที่ถูกย้ายไปปฏิบัติงานที่สาขาอื่นแล้วได้รับความเดือดร้อน ไปปฏิบัติงานไม่ได้ ให้หาหลักฐานข้อเท็จจริงความจำเป็นต่างๆ และไปยื่นร้องขอค่าชดเชยพิเศษได้ ก็จะได้รับค่าชดเชยตามอายุงาน รวมไปถึงกรณีการใช้แรงงานเด็กผิดกฎหมาย จากเดิมโทษจะอยู่ที่ 2 แสนบาทต่อกรณี แต่ร่างกฎหมายใหม่จะเพิ่มโทษเป็น 4 - 8 แสนบาทต่อราย คือ ไม่ว่ากรณีดังกล่าวจะมีเด็กกี่คนก็จะนับความผิดตามจำนวนเด็ก ซึ่งในงานสัมมนาก็ได้มีการชี้แจงในเรื่องนี้ด้วย” อธิบดี กสร. กล่าว
 
นายสุเมธ กล่าวว่า หลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้ว จะทำการประมวลปรับแก้ไข ก่อนเสนอ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะกรรมการกฤษฎีกา และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม นอกจากการปรับปรุงร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพื่อดูแลคุ้มครองแรงงานทั่วไปซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 กว่าล้านคน แล้ว พล.อ.ศิริชัย ยังกำชับให้ กสร. เร่งออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 ล้านคนด้วย ซึ่งที่ผ่านมาจะมีเพียงการคุ้มครองเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เช่น กลุ่มคนรับใช้ในบ้าน แรงงานภาคการเกษตร และกลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน แต่การออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบจะดูแลทั้งหมด ซึ่งแรงงานนอกระบบนั้นมีจำนวนหลายกลุ่ม ดังนั้น โดยหลักการก็จะเป็นการออกกฎหมายแบบกว้างๆ แล้วค่อยออกกฎหมายลูกคุ้มครองแต่ละกลุ่มต่อไป เช่น กลุ่มคนขับวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งในกรุงเทพฯ ก็มีอยู่ประมาณหลายแสนคน เป็นต้น โดยจะดูแลในเรื่องของสิทธิประโยชน์ต่างๆ การประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน รวมถึงเรื่องของการเจ็บป่วย ซึ่งก็จะได้รับการดูแลที่มากขึ้น
 
 
กระทรวงแรงงาน ปัดนำเข้าคนเวียดนามป้อนงานบริการโรงแรม-ท่องเที่ยว ยันไปเจรจานำเข้าแรงงานประมง-ก่อสร้าง ทดแทนขาดแคลนนับแสน
 
วันที่ 22 ก.พ. 60 นายวรานนท์ ปีติวรรณ รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาการตำแหน่งอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวถึงผลการเจรจานำเข้าแรงงานเวียดนาม เพื่อทดแทนความขาดแคลนแรงงานภาคบริการ ว่า การเดินทางไปเวียดนามเมื่อวันที่ 20-21 ก.พ. ที่ผ่านมา เป็นการไปเจรจาตามคำเชิญของทางการเวียดนาม มีการพูดคุยกับอธิบดีกรมการส่งเสริมคนงานไปทำงานต่างประเทศของเวียดนามว่า ไทยต้องการนำเข้าแรงงานภาคประมงและก่อสร้าง เพราะธุรกิจประมงไทยต้องใช้แรงงานประมงประมาณ 1.1 แสนคน ขณะนี้ ยังมีความขาดแคลนมาก ที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ
 
ขณะที่ งานก่อสร้างภายใน 2 ปี ก็ต้องมีการใช้แรงงาน 1-2 แสนคน เป็นการไปเจรจาใน 2 อาชีพนี้เท่านั้น ซึ่งจะเป็นการนำเข้าตามเอ็มโอยู ส่วนที่ว่าจะนำเข้าแรงงานเวียดนาม เพื่อมาทำงานภาคบริการทั้งการโรงแรมและด้านท่องเที่ยว เพราะคนไทยหันไปทำอาชีพอิสระมากขึ้นจนขาดแคลนแรงงาน ขอยืนยันว่า ยังไม่มีการนำเข้าภาคบริการในขณะนี้แน่นอน
 
นายวรานนท์ กล่าวว่า นอกจากสองอาชีพที่เสนอตามความต้องการของไทย ทางเวียดนามยังอยากส่งแรงงานมาทำงานภาคอุตสาหกรรม งานบริการ และการท่องเที่ยว แต่ยังเป็นเรื่องของอนาคต เพราะไทยยังต้องการเพียงงานก่อสร้างและประมงเท่านั้น
 
ส่วนที่ห่วงว่าแรงงานเวียดนามที่นำเข้าจะลักลอบไปทำอาชีพอื่น เหมือนแรงงานเมียนมา กัมพูชา และลาว ที่ลักลอบไปทำอาชีพค้าขาย หรืออาชีพที่ไม่ได้รับอนุญาต มีการตรวจจับทุกวันอยู่แล้ว และจะตรวจเข้มต่อไป ถ้าผิดก็จับดำเนินคดี ส่งกลับประเทศต้นทาง คนเวียดนามมาเที่ยวไทยปีละ 9 แสนคน ส่วนหนึ่งอยู่เกินกำหนด ลักลอบทำงาน คาดว่าหลายหมื่นคน เจ้าหน้าที่เร่งปราบปรามจับกุมส่งกลับประเทศ เหมือนแรงงาน 3 สัญชาติ ที่ผ่อนผันให้ทำงานในประเทศ หากพบทำงานที่ไม่ได้อนุญาตก็ต้องจับ ให้ไปสู่ระบบที่ถูกต้อง หลังจากนี้ จะเข้ามาทำงานผ่านระบบเอ็มโอยูเท่านั้น ไม่มีการเปิดจดทะเบียนอีก แรงงานจะได้สิทธิคุ้มครองตามกฎหมาย แต่การให้สิทธิหรือการดูแลต่างๆ ทั้งที่อยู่อาศัย สาธารณสุข การศึกษา หรือเข้าระบบประกันสังคม อย่าไปมองว่าเป็นการอุ้มแรงงานต่างด้าว เพราะไทยยังจำเป็นต้องใช้คนกลุ่มนี้
 
"ปัญหาคนเวียดนามลักลอบทำงานในไทย จะได้รับการแก้ไข ต่อไปจะมีการนำเข้ามาตามระบบเอ็มโอยูเท่านั้น ส่วนที่ลักลอบก็ต้องจับดำเนินคดีส่งกลับไป เช่นเดียวกับแรงงาน เมียนมา กัมพูชา และลาว 1.3 ล้านคน ที่ยังอยู่ระหว่างพิสูจน์สัญชาติ ต่อไปคนที่ทำงานถูกต้อง ก็ต้องได้รับความคุ้มครอง ได้หลักประกันที่ดี เหมือนคนไทย โดยไม่เลือกปฏิบัติ อย่ามองว่าทำไมต้องไปแบกรับคนต่างด้าว เพราะเรายังจำเป็นต้องใช้ทำงาน ก็ต้องดูแลให้ชีวิตมีคุณภาพ ที่ผ่านมาปล่อยปละละเลยมามากแล้ว ต้องไม่ให้เป็นภาระสังคม ส่วนที่หวั่นว่าแรงงานประมงจะลอบขึ้นฝั่งไปทำงานอื่น นายจ้างต้องมีสิ่งดึงดูดใจให้อยู่ทำงาน มีสวัสดิการ ถ้าหายไปก็ต้องรีบแจ้ง อย่าเงียบเฉยแล้วไปหาคนใหม่มาทำงานแทน ปัญหามันจะไม่จบ"
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการศึกษาของกระทรวงแรงงาน ในหัวข้อทำอย่างไรให้แรงงานต่างด้าวได้รับสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมจากกองทุนประกันสังคม ระบุว่า มีแรงงานต่างด้าวในระบบเอ็มโอยู และผ่านการพิสูจน์สัญชาติกว่า 1.5 ล้านคน และอยู่ระหว่างรอการพิสูจน์สัญชาติเกือบ 1.2 ล้านคน
 
หากในปี 2560 จะมีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้สิทธิเข้าสู่ระบบประกันสังคม 2.6 ล้านคน มีการพยากรณ์ โดยตั้งสมมติฐานแรงงานต่างด้าวเข้าระบบ 3 ล้านคน จะได้สิทธิประโยชน์ 7 กรณีเท่าคนไทย มีการประมาณการจำนวนเงิน ที่ต้องจ่ายสิทธิประโยชน์ในปี 2560 จำนวน 32,280 ล้านบาท แบ่งเป็นสิทธิประโยชน์ 6 กรณี 1,680 ล้านบาท โดยบำเหน็จชราภาพ ต้องจ่ายก้อนใหญ่ที่สุด 21,600 ล้านบาท
 
 
กรมการจัดหางาน เปิดช่องทางร้องเรียน/ร้องทุกข์ให้กับแรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ผ่านทางเว็บไซต์ www.doe.go.th/helpme
 
กระทรวงแรงงาน โดยนายวรานนท์ ปีติวรรณ รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทน อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานเพิ่มช่องทางการร้องเรียน/ร้องทุกข์เกี่ยวกับการทำงานของแรงงานต่างด้าวผ่านระบบ “DoE Help Me” ทางเว็บไซต์ www.doe.go.th/helpme รวมทั้งยังให้บริการแก่นายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวหรือประชาชนทั่วไปสามารถแจ้งปัญหาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจ้างแรงงานต่างด้าวได้อีกด้วย ซึ่งให้บริการ 6 ภาษา คือ ภาษาไทย อังกฤษ กัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม สามารถใช้งานผ่านทางคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล แท็ปเล็ต และโทรศัพท์มือถือ โดยเลือกหัวข้อการแจ้งปัญหาได้ 8 หัวข้อ คือ 1.การพบเห็นการทุจริตของเจ้าหน้าที่ 2.การพบเห็นการจ้างงานเถื่อน 3.การใช้แรงงานเด็ก 4.นายจ้างค้างจ่ายหรือจ่ายค่าจ้างไม่ครบถ้วน 5.นายจ้างทารุณ 6.การค้ามนุษย์ 7.การค้าประเวณี และ8.ปัญหาอื่นๆ ทั้งนี้ เมื่อแจ้งปัญหาพร้อมลงรายละเอียดอย่างชัดเจนแล้ว ระบบจะแจ้งเลขที่รับเรื่องให้กับผู้ใช้บริการเพื่อการติดตามผลการดำเนินการต่อไป
 
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า บริการนี้นับเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มีความสะดวกและรวดเร็วในการแจ้งปัญหาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจ้างแรงงานต่างด้าว นอกเหนือจากการโทรแจ้งผ่านทางสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 ซึ่งเชื่อว่าบริการนี้จะเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยให้ได้รับการคุ้มครองตามมาตรฐานสากล ซึ่งกรมการจัดหางานได้ประชาสัมพันธ์ให้แรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยผ่านระบบ MOU ได้ทราบถึงการให้บริการรับเรื่องร้องทุกข์ผ่านระบบ Doe Help me ในช่วงการอบรมที่ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างซึ่งตั้งขึ้นใน 3 จังหวัด คือ ตาก หนองคาย และสระแก้ว
 
ที่มา: กรมการจัดหางาน, 23/2/2560
 
เตือน ! อย่าหลงเชื่อบริษัทจัดหางาน อ้างส่งทำงานเรือสำราญในต่างประเทศ
 
กรมการจัดหางาน เตือนคนหางานไม่ให้หลงเชื่อบริษัทหรือกลุ่มบุคคลที่โฆษณาชักชวนคนหางานผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือเฟสบุ๊คและไลน์ ให้สมัครงานกับตน โดยอ้างว่าสามารถส่งไปทำงานบนเรือสำราญในประเทศต่าง ๆ ได้ เนื่องจากตรวจสอบพบว่าเป็นการรับสมัครงานโดยผิดกฎหมายและโฆษณาเกินความเป็นจริง
 
กระทรวงแรงงาน โดย นายวรานนท์ ปีติวรรณ รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางาน โดยกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน ได้ประสานกับสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 และเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลบางนาเข้าร่วมตรวจสอบบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 101/1 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะเข้าตรวจสอบได้พบคนหางานสตรีจำนวน 47 คน กำลังรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับโอกาสในการไปทำงาน บนเรือสำราญที่ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้นยังได้พบคนต่างด้าวอีก 5 คน กำลังทำงานอยู่ภายในบริษัท เจ้าหน้าที่จึงบันทึกปากคำคนหางานและพนักงานของบริษัทไว้เป็นหลักฐานพร้อมทั้งควบคุมตัวคนต่างด้าว จำนวน 5 คน ส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางนา ดำเนินคดีในข้อหา ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 4 คน และทำงานต่างท้องที่ ที่ได้รับอนุญาต จำนวน 1 คน รวมทั้งร้องทุกข์กล่าวโทษผู้บริหารของบริษัทฯ ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ในข้อหา “จัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ” และข้อหา“เป็นนายจ้างหรือตัวแทนทำการรับสมัครเพื่อหาลูกจ้างในประเทศไทยด้วยตนเองเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยมิให้สำนักงานจัดหางานหรือกรมการจัดหางานจัดหาให้”ส่วนผู้โพสต์ข้อความโฆษณาชักชวนคนหางานผ่านเฟสบุ๊ค ก็จะถูกแจ้งความดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2559 ตามมาตรา 14 (1) ข้อหา “โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จ” เนื่องจากทราบว่า การรับสมัครงานดังกล่าวเป็นการรับสมัครคนหางานไปฝึกงานบนเรือสำราญในประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น มิใช่รับสมัครเพื่อส่งไปทำงานบนเรือสำราญตามที่เฟสบุ๊คดังกล่าวได้กล่าวอ้าง
 
กรมการจัดหางาน จึงขอเตือนคนหางานอย่าหลงเชื่อผู้ใดที่ชักชวนให้ลักลอบเดินทางเข้าไปทำงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะการชักชวนผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟสบุ๊ค หรือไลน์ ทั้งนี้ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกรมการจัดหางานทุกครั้งก่อนตัดสินใจสมัครงานหรือจ่ายเงินค่าบริการ โดยสามารถสอบถามข้อมูลหรือร้องทุกข์ แจ้งเบาะแสการหลอกลวงคนหางาน ได้ที่ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน โทร. 02-245-6763 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
 
 
ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงงานเผยเตรียมศึกษาเปลี่ยนชื่อกระทรวงให้เข้ากับงานในอนาคต
 
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2560 ที่กระทรวงแรงงาน พล.อ.เจริญ นพสุวรรณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่ากการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายอารักษ์ พรหมณี ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน ,นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงฯ รวมหารือพูดคุยกับสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ครั้งแรก
 
พล.อ.เจริญ เปิดเผยว่า ในวาระการปฏิรูปของกระทรวง ขณะนี้มีแนวคิดศึกษาที่จะเปลี่ยนชื่อกระทรวงแรงงาน เป็นชื่ออื่นเพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า ที่จะต้องทำให้คนงานไทยเป็นแรงานที่ต้องใช้ทักษะสมองมากขึ้น แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาชื่อที่เหมาะสม
 
อย่างไรก็ตามช่วงที่ผ่านมาภายในกระทรวงแรงงาน มีกระแสพูดถึงประเด็นเรื่องการเปลี่ยนชื่อกระทรวงแรงงานแล้ว อาทิ ชื่อกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ หรือกระทรวงคุ้มครองแรงงาน เป็นต้น
 
ขณะที่แนวทางการดูแลแรงงานนอกระบบ และแรงงานต่างด้าวของสำนักงานประกันสังคม ขณะนี้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ดูแลแรงงานนอกระบบ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ซึ่งจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจาก 9 กระทรวง อาทิ กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพ ดำเนินการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำประชาพิจารณ์โดยจะเน้นดูแล 3 เรื่องหลักคือ การส่งเสริม การคุ้มครอง และการพัฒนา ซึ่งจะต้องส่งเสริมการสร้างรายได้และตลาดการจำหน่ายสินค้า ส่วนผลการทำประชาพิจารณ์ยุทธศาสตร์การดูแลแรงงานนอกระบบ ยังพบว่าที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ฉะนั้นจะมีการปรับแก้ไข เช่น เรื่องการรวมกลุ่มสร้างอาชีพ การสร้างรายได้ที่เข้มแข็งที่ต้องเน้นการสร้างผู้นำในระดับพื้นที่ เพื่อให้เข้าไปช่วยขับเคลื่อนงาน ซึ่งมองว่าอาจนำอาสาสมัครแรงงานมาพัฒนาให้เป็นผู้นำในระดับชุมชน ปริมาณแรงงานนอกระบบเข้าสู่การเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40
 
ขณะที่ความคืบหน้าการศึกษาเพื่อที่จะนำกลุ่มงานคนรับใช้ในบ้าน เข้าระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 นั้น ฝ่ายผู้แทนสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ชี้แจงว่า จากที่ให้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าไปทำการศึกษาวิจัย พบปัญหาเรื่องการเข้าถึงข้อมูลยังไม่ได้รับความร่วมมือจากกนายจ้าง และนายจ้างไม่พร้อมแปรสภาพบ้านให้เป็นสถานประกอบการ ดังนั้น สปส.จึงมีทางเลือกให้เป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 40 และควรมีการกำหนดกรอบให้ลูกจ้างในการคุ้มครองในอนาคตโดยนายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ปัจจุบันมีแรงงานนอกระบบสมัครเป็นผู้ประกันตนเพียง 2.2 ล้านคน จากจำนวนผู้ประกันตนกว่า 21 ล้านคน อีกทั้ง สปส.อยู่ระหว่างการออกแบบรูปแบบสิทธิประโยชน์ให้ตรงกับความต้องการของแรงงานนอกระบบมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างกฎหมายประกันสังคม และคาดว่าในปีนี้ สปส.จะพิจารณาออกรูปแบบสิทธิประโยชน์แล้วเสร็จและนำเสนอตามขั้นตอนต่อไปได้
 
ด้าน นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ย้ำว่า วันนี้เป็นวันแรกที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2560 เริ่มมีผลบังคับใช้ โดยในกฎหมายได้เพิ่มอัตราโทษสำหรับความผิดเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กให้สูงขึ้น คือ กฎหมายเดิมระบุว่า หากพบมีการจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จะมีโทษปรับ 2 แสนบาทบาท/การจ้างแรงงานเด็กผิดกฎหมาย 1 ราย ได้เพิ่มเป็นปรับตั้งแต่ 4-8 แสนบาท/การจ้างแรงงานเด็กผิดกฎหมาย 1 ราย ขณะเดียวกันหากเด็กได้รับอันตราย ก็มีโทษปรับสูงขึ้น 8 แสน - 1.2 ล้านบาท ดังนั้น ขอเตือนนายจ้างอย่ามีการจ้างเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีทำงาน หากตรวจพบจะเอาผิดอย่างถึงที่สุด นอกจากนี้ทาง รมว.แรงงาน ได้สั่งให้ กสร.พิจารณาเรื่องของการคุ้มครองแรงงานนอกระบบให้มากยิ่งขึ้น โดยในปี 60 นี้ คาดว่า กสร. จะสามารถมีการพิจาณราออก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานนอกระบบนำมาบังคับใช้ได้ ควบคู่กับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งการออกกฎหมายจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะแรงงานในกลุ่มนี้มีการทำงานที่หลากหลาย โดยเฉพาะ กลุ่มงานภาคการเกษตร และกลุ่มผู้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองที่ครอบคลุม
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net