Skip to main content
sharethis

สุวิทย์ เมษินทรีย์ เผยนายกฯ เตรียมเชิญที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ คกก.ป.ย.ป.ประชุม 6 มี.ค. พร้อมเชิญคนรุ่นใหม่ร่วมงาน ด้านโฆษกกลาโหมสรุปความเห็น 6 พรรคการเมืองชี้ความขัดแย้งเกิดจาก คนขาดจริยธรรม และไม่เคารพกฎหมาย

แฟ้มภาพจาก สำนักข่าวไทย

24 ก.พ. 2560 สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) กล่าวว่า วันที่ 6 มีนาคมนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเรียกประชุมคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการแต่ละคณะคณะภายใต้ คณะกรรมการ ป.ย.ป. ที่นายกรัฐมนตรีลงนามคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวานนี้จำนวน 39 คน เพื่อมอบนโยบายและขอบคุณที่มาช่วยรัฐบาลขับเคลื่อนการปฏิรูป ซึ่งที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิจะมีความหลากหลายแต่ละสาขา โดยจะมีจำนวนมากในส่วนของคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศและเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ ขณะที่คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองมีจำนวนน้อย เพราะมีการแต่งตั้งไปแล้ว โดยรูปแบบการทำงานของที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิจะมีการลงพื้นที่รับฟังความเห็นของประชาชนด้วย เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเน้นในเรื่องของการสร้างความรับรู้และสร้างความเข้าใจ เพื่อประชาชนมีส่วนร่วม โดยจะให้กลุ่ม NGO คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศและพูดคุยกับทุกกลุ่มในภูมิภาค

ทั้งนี้ ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการแต่ละคณะ ภายใต้คณะกรรมการ ป.ย.ป.จำนวน 39 คน คือ

 คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ มีที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมด 6 ราย ได้แก่

1. กานต์ ตระกูลฮุน 2. ชาติศิริ โสภณพนิช 3. รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ 4. วิรไท สันติประภพ 5. สร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ 6. อำพล จินดาวัฒนะ

คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ มีที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมด 14 ราย ได้แก่

1. คุรุจิต นาครทรรพ 2. เด็จ อินสว่าง 3. ไชยา ยิ้มวิไล 4. เตช บุนนาค 5. เทียนฉาย กีระนันทน์ 6. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ 7. บัณฑูร ล่ำซำ 8. เบญจวรรณ สร่างนิทร 9. ประมนต์ สุธีวงศ์ 10. ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา 11. ผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ 12. มิ่งขวัญ วิชยารังสฤษดิ์ 13. ศักรินทร์ ภูมิรัตน 14. พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์

คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ มีที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมด 16 ราย ได้แก่

1. กำจร ตติยกวี 2. กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย 3. เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ 4. ชาติชาย ณ เชียงใหม่ 5. ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล 6. ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา 7. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ 8. ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ 9. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล 10. พงศ์โพยม วาศภูติ 11. วรากรณ์ สามโกเศศ 12. ศุภชัย พานิชภักดิ์ 13. สมคิด เลิศไพฑูรย์ 14. สมชัย ฤชุพันธุ์ 15. อาวุธ ศรีศุกรี 16. อุดม คชินทร
       
คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มีที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมด 3 ราย ได้แก่

1. ธงทอง จันทรางศุ 2. อัชพร จารุจินดา 3. พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ

โฆษกกลาโหมสรุปความเห็น 6 พรรคการเมืองชี้ความขัดแย้งเกิดจาก คนขาดจริยธรรม และไม่เคารพกฎหมาย

สำหรับวันนี้ ที่กระทรวงกลาโหม คณะอนุกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ได้เชิญ 3 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรครักท้องถิ่นไทย และพรรคไทยรักธรรม เข้าให้ความเห็นและข้อเสนอตามแนวทาง 10 ด้าน ที่คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) กำหนดไว้ โดยมี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

ภายหลังการหารือ พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงว่า ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากพรรคการเมืองเป็นอย่างดี โดย 6 พรรคการเมืองที่เข้าให้ความเห็นในสัปดาห์นี้ มองว่า ปัญหาความขัดแย้งเกิดจากคน มาตรฐานคุณธรรม จริยธรรมที่ไม่เคารพกฎหมายและกติกา พร้อมเสนอให้ผลักดันเรื่องการศึกษา โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาคนในระดับการศึกษาท้องถิ่น เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งไม่ให้ถูกชี้นำ รวมทั้งตรวจสอบอำนาจถ่วงดุลให้มากขึ้น ขณะที่เรื่องการปฏิรูป จำเป็นต้องทำพร้อมกันทุกภาคส่วน

โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า สำหรับการรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ต่างจังหวัดจะมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นเจ้าภาพ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค (กอ.รมน.) ทำหน้าที่เชิญภาคการเมืองท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยจะเริ่มขับเคลื่อนงานตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. นี้ มีกรอบระยะเวลาทำงาน 1 เดือน และต้องรวบรวมข้อมูลส่งมายังคณะอนุกรรมการฯ  ส่วนในวันที่ 28 ก.พ. เวลา 13.30 – 16.30 น. จะเชิญ 5 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคทวงคืนผืนป่าประเทศไทย พรรคพลังเครือข่ายประชาชน พรรคพลังสหกรณ์  พรรคมหาชนและพรรคยางพาราไทย

“วันพุธที่ 1 มี.ค. เวลา 09.00-12.00 น. จะเชิญพรรคพลังชลมาร่วมแสดงความคิดเห็น ขณะที่พรรคเพื่อไทยจะมาในวันพุธที่ 8 มี.ค. กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จะวันพุธที่ 15 มี.ค. ส่วนกลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) อยู่ระหว่างการประสาน” พล.ต.คงชีพ กล่าว

เรียบเรียงจาก: ผู้จัดการออนไลน์ , สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net