Skip to main content
sharethis

วิษณุ ไม่ทราบปม ‘สนช.’ตั้งทีมศึกษาแก้’กม.สงฆ์’ห้ามพระ’รับมรดก-ปัจจัยมูลค่าสูง’ และควรให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของวัด  พร้อมโนคอมเม้นท์หวั่นขยายความขัดแย้งธรรมกาย แต่ให้การบ้าน สนง.พระพุทธศาสนาแห่งชาติดูเรื่องวัดถือครองที่ดิน 

(แฟ้มภาพ)

23 ก.พ. 2560 จากการณี วานนี้ (22 ก.พ.60) พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวถึงข้อเสนอแก้ไขร่างพ.ร.บ.สงฆ์ (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2535 จำนวน 2 มาตรา เกี่ยวกับการห้ามพระสงฆ์รับมรดกจากบรรพบุรุษและห้ามรับปัจจัยที่มีมูลค่ามาก โดยควรให้ตกเป็นทรัพย์สินของวัดแทนว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะมีการแก้ไขหรือไม่ เป็นเพียงข้อเสนอจากนายจรัญ ภักดีธนากุล คณะทำงานปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา สนช. ส่งให้กมธ.ศาสนาฯ พิจารณา จึงตั้งคณะทำงานไปศึกษาความเป็นไปได้ โดยมี สมพร เทพสิทธา รองประธานกมธ.ศาสนาฯ เป็นประธาน ซึ่งจะนำข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณาข้อดีข้อเสีย ตลอดจนรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน อาทิ พระสงฆ์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รัฐบาล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส ขณะนี้อยู่ระหว่างการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษา ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมาย และยืนยันข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้เป็นผลมาจากปัญหาวัดพระธรรมกาย

ขณะที่วันนี้ (23 ก.พ.60) ที่ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีมีสมาชิก สนช. เสนอให้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.สงฆ์ เกี่ยวกับการห้ามพระรับมรดก ห้ามรับปัจจัยที่มีมูลค่าสูง และควรให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของวัด ว่าตนไม่ทราบรายละเอียดเรื่องดังกล่าว จึงไม่ขอให้ความเห็น อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้พูดคุยกับคณะสงฆ์เกี่ยวกับข้อเสนออย่างอื่นในประเด็นการบริจาคที่ดินให้แก่วัด ในอดีตเคยมีปัญหามาแล้วอย่างกรณีของพระธัมมชโย ที่ถือครองที่ดินจนนำไปสู่การถูกดำเนินคดีและอัยการก็ถอนฟ้องในที่สุด ส่วนปัญหาที่ดินวัดทั่วไป คือ เมื่อประชาชนอยากบริจาคที่ดินให้แก่วัด แต่ติดเงื่อนไขกฎหมายที่กำหนดว่าวัดสามารถถือครองที่ดินได้จำนวนเท่าไหร่ ถ้าถือเกินต้องแจ้งไปยังกรมที่ดิน ถ้าจะนำที่ดินดังกล่าวมาใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น การขาย ต้องขออนุญาต เป็นเรื่องยุ่งยาก ถ้ารีบนำที่ดินไปขายแล้วนำเงินให้วัดบางกรณีก็ได้ราคาต่ำ จึงแก้ปัญหาด้วยการบริจาคที่ดินให้แก่พระสงฆ์ แต่ก็มีข้อเสียเสี่ยงที่จะเกิดการยักยอกเอาไว้เป็นส่วนตัวและเกิดปัญหาในทางพระวินัย ตนจึงให้การบ้านไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติให้ไปศึกษาเรื่องดังกล่าว แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป
       
ต่อคำถามว่าการนำประเด็นนี้ออกมาพูดขณะที่วัดพระธรรมกายกำลังเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่จะเสี่ยงทำให้ความขัดแย้งขยายวงกว้างขึ้นหรือไม่นั้น วิษณุกล่าวว่า ถ้าตนพูดจะเป็นการขยายความขัดแย้ง ดังนั้น ขอไม่พูดอะไร ปล่อยให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมต่อไป แต่รัฐบาลก็จะทำในส่วนที่รับผิดชอบ ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปก็จะบอกกับสังคม รับรองว่าจบเรื่องแล้วจะชี้แจงให้ทราบ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในมาตรา 77 กำหนดว่าจะทำกฎหมายใดต้องรับฟังความเห็นจากประชาชน 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net