Skip to main content
sharethis

กลุ่มคัดค้านฯ โรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวล โดนผู้ว่าราชการ จ.อำนาจเจริญ เรียกคุย หลังทราบเรื่องกลุ่มฯ เตรียมเดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านฯ การก่อสร้างโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้า ต่อนายกรัฐมนตรี พรุ่งนี้ ขณะมาตรวจราชการในพื้นที่ อ.ราศีไศล จ.ศรีสะเกษ

23 ก.พ. 2560 เมื่อเวลา เวลา 10.30 น. สิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมด้วย ผบ.กกล.รส.จ.อจ. ผู้แทนผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอำนาจเจริญ ได้เชิญ อิสรา แก้วดี แกนนำพร้อมด้วยกลุ่มคัดค้านโรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวล หรือกลุ่มรักบ้านเกิดตำบลน้ำปลีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเรียกแกนนำชาวบ้านเข้าพูดคุยในวันนี้สืบเนื่องจาก กลุ่มรักบ้านเกิดตำบลน้ำปลีก ได้เตรียมการที่จะไปยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่ ต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางมาตรวจราชการในพื้นที่ อ.ราศีไศล จ.ศรีสะเกษ ในวันพรุ่งนี้ (24 ก.พ.)

โดยในวันนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ได้ชี้แจงทำความเข้าใจ ในข้อกังวลต่างๆ ของชาวบ้าน พร้อมขอให้ยื่นหนังสือคัดค้านฯ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญโดยตรง และได้ทำความเข้าใจให้กลุ่มคัดค้านฯ ได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งมีกำหนดประชุมจัดทำ EIA ในวันที่ 10  มี.ค. 2560

อย่างไรก็ตาม ผู้คัดค้านฯ ยังไม่ตัดสินใจที่จะเดินทางไปยื่นหนังสือฯ ต่อนายกรัฐมนตรี ที่ อ.ราศีไศล จ.ศรีสะเกษ ในวันที่ 24 นี้หรือไม่ โดยระบุว่าจะมีการหารือกันอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มคัดค้านฯ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือให้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2559 โดยก่อนเดินทางไปยื่นหนังสือได้มีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ปลัดจังหวัด ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มาสอบถามกับแกนนำชาวบ้านว่า จะ ไปยื่นหนังสือที่หน่วยงานใดบ้าง ยื่นเรื่องอะไรและเดินทางไปจำนวนกี่คน พร้อมชี้แจงกับชาวบ้านว่าการเดินทางไปยื่นหนังสือกับส่วนกลางไม่มีประโยชน์ เพราะอย่างไรหนังสือก็ต้องถูกส่งกลับมาที่จังหวัดอยู่ดี

สำหรับพื้นที่ที่จะมีการดำเนินการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล นั้นอยู่ใกล้กับลำน้ำเซบาย ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาย่อยของแม่น้ำมูนมีต้นกำเนิดที่อำเภอเลิงนกทา ไหลผ่าน จังหวัด ยโสธร อำนาจเจริญ และไหลลงสู่แม่น้ำมูนที่อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี มีความยาวประมาณ 200 กิโลเมตร ชุมชนในท้องถิ่นต่างใช้ประโยชน์ทั้งด้านประมง เกษตรกรรม อุปโภค

การดำเนินการเพื่อเตรียมการก่อสร้าง ยังอยู่ในกระบวนการขออนุญาตตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ จากการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ครั้งที่ 1 ชาวบ้านในพื้นที่ได้ให้ข้อมูลว่า ในเวทีไม่มีการนำเสนอข้อกังวลใจของประชาชนต่อที่ประชุม และกระบวนการดำเนินโครงการตั้งแต่เริ่มต้นของโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้า ทางบริษัทไม่ชี้แจงให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับรู้ข้อมูลที่เป็นจริง อีกทั้งยังไม่การพูดคุยถึงเรื่องผลกระบที่อาจจะเกิดขึ้น

ขณะที่ ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำลำเซบายตำบลเชียงเพ็ง ซึ่งเป็นอีกกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งชาวบ้านกังวลว่า อาจจะได้รับผลกระทบ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2559 มีทีมงานมวลชนสัมพันธ์ของบริษัทมาแจกผ้าห่มแก่ชาวบ้าน ในตำบลเชียงเพ็ง แต่ชาวบ้านไม่รับไว้โดยให้เหตุผลว่าการที่บริษัทนำผ้าห่มมาแจกเพื่อหวังผลประโยชน์ในการตั้งโรงงานเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม และวันที่ 15 ก.พ. 2560 มีทหารสามคนเข้ามาในพื้นที่ ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร สอบถามชาวบ้านว่า มีกลุ่มใดได้เข้ายื่นหนังสือคัดค้านบ้าง

เรียบเรียงบางส่วนจาก: มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net