3 นักสิทธิฯ ขอความเป็นธรรมหลังพนักงานสอบสวนสั่งฟ้อง กรณีเปิดรายงานซ้อมทรมานในชายแดนใต้

3 นักสิทธิฯ ผู้เปิดรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย จ.ชายแดนใต้ ปี 57-58 เข้ายื่นหนังสื่อขอความเป็นธรรมกับอัยการจังหวัดปัตตานี และอัยการสูงสุด หลังพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง คดีหมิ่นประมาท กอ.รมน.ภาค 4

ภาพจาก Noi Thamsathien

21 ก.พ. 2560 ที่สำนักงานอัยการ จังหวัดปัตตานี เวลา 14.00 น. สมชาย หอมลออ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ นักสิทธิมนุษยชนทั้งสามได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ กรณีที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง คดีที่ กอ.รมน.ภาค 4 แจ้งความหมิ่นประมาทเนื่องจากจัดพิมพ์และแจกจ่าย   “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีฯ ในจังหวัดชายแดนใต้  ปี 2557 – 2558” และนำรายงานฯ ดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทำให้ กอ.รมน. ได้รับความเสียหาย

เพื่อขอให้พนักงานอัยการอำนวยความยุติธรรม และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยในการปฏิบัติหน้าที่พนักงานอัยการในการสั่งคดี ขอให้พนักงานอัยการสั่งตามที่เห็นสมควรให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนพยานบุคคลสำคัญเพิ่มเติม รวมทั้งพิจารณาถึงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ว่าคดีดังกล่าวเป็นการฟ้องร้องข้อหาที่นิติบุคคลอาจไม่มีอำนาจฟ้อง โดยที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เป็นหน่วยงานของรัฐ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีการปฏิบัติหน้าที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนโดยทั่วไปได้ จึงเป็นหน่วยงานที่สามารถถูกตรวจสอบได้โดยประชาชน อีกทั้งประมวลกฎหมายอาญาที่กำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลไม่ให้ถูกละเมิด มิได้มุ่งที่จะคุ้มครองนิติบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานของรัฐจากการถูกตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้น กอ.รมน.จึงมิใช่ผู้เสียหายแต่อย่างใด

โดยหลังยื่นหนังสือแล้วพนักงานอัยการ ได้นัดนักสิทธิทั้งสามคนมารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 21 มี.ค. 2560 เวลา 14:00 น. ณ สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เห็นว่า การจัดทำรายงาน “สถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีฯ ในจังหวัดชายแดนใต้  ปี 2557 – 2558”   ได้มีการจัดเก็บข้อมูลตามหลักวิชาการที่มุ่งประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยที่การนำเสนอเป็นไปเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานราชการตรวจสอบกรณีการกระทำทรมานฯ รวมทั้งการเปิดเผยการทรมานฯที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ การจัดทำรายงานยังเป็นการสร้างหลักประกันสิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชน สร้างความเข้มแข็งให้แก่หลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรม การดำเนินคดีต่อนักสิทธิมนุษยชนทั้งสามนี้ จึงไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ และอาจเป็นการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการและการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนเป็นการขัดขวางการทำหน้าที่ของพลเมือง ปิดปากไม่ให้ดำเนินการตรวจสอบและรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน

สุรพงษ์  กล่าวต่อว่า การกระทำทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และถือเป็นความผิดทั้งตามกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ แต่การกระทำทรมานฯ ยังคงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในจังหวัดชายแดนภาคใต้  ตลอดระยะเวลา 13 ปีนับแต่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2547 เป็นต้นมา โดยที่รัฐบาลไทยไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง รวมทั้งไม่ได้ปฎิบัติตามพันธกรณีกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ค.ศ 1984”  ที่กำหนดกรอบการป้องกันการกระทำทรมานฯ การชดใช้เยียวยาผู้เสียหาย และการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด 

การที่พนักงานสอบสวนทำการส่งตัวบุคคลทั้งสามให้พนักงานอัยการในครั้งนี้ได้สร้างความกังวลเป็นอย่างมากแก่องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่มีบทบาทในการส่งเสริม คุ้มครอง ปกป้องสิทธิมนุษยชนและต่อต้านความรุนแรงในทุกรูปแบบ รวมทั้งตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานรัฐ โดยวันนี้ได้มีผู้แทนจากสถานฑูต องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศและระหว่างประเทศ องค์การข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ นักวิชการ นักกฎหมาย รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่ มาสนับสนุนและให้กำลังใจนักสิทธิมนุษยชนทั้งสามในครั้งนี้ด้วย

ที่มาของคดี

เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี กลุ่มด้วยใจ และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้จัดทำ “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีฯ ในจังหวัดชายแดนใต้  ปี 2557 – 2558”  โดยรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้ที่อ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ทรมานฯ จำนวน 54 ราย และเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2559 ได้ส่งรายงานดังกล่าวให้แก่ กอ.รมน.ภาค 4 และ พลเอก อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข เพื่อให้ตรวจสอบข้อกล่าวอ้างดังกล่าว และเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2559  ได้เผยแพร่ในที่ประชุมสัมมนาทางวิชาการแห่งหนึ่งในจังหวัดชายแดนใต้

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2559 กอ.รมน. ภาค 4 ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.ปัตตานี ให้ดำเนินคดีนักสิทธิมนุษยชนทั้งสาม ในข้อหาหมิ่นประมาทและละเมิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ในฐานะที่เป็นกองบรรณาธิการจัดทำรายงานฉบับดังกล่าว โดยระบุเหตุผลที่ต้องแจ้งความว่าการกล่าวหาในรายงานเป็นการทำลายชื่อเสียงของกอ.รมน. และที่ผ่านมานักกิจกรรมเหล่านี้ไม่ให้ความร่วมมือกับทางการเมื่อมีการขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีทรมานฯที่ถูกพูดถึงในรายงาน  นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่บางคนยังกล่าวอ้างว่า หลังจากได้รับรายงานแล้ว เจ้าหน้าที่ได้ขอเวลา 3 เดือนในการตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะโดยทันทีที่กอ.รมน.ภาค 4  ได้รับรายงาน โฆษก กอ.รมน. ภาค 4 และ โฆษก กอ.รมน. ส่วนกลาง ได้ออกมาตอบโต้  โดยกล่าวหาว่ารายงานดังกล่าวเป็นเท็จ จัดทำขึ้นเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของหน่วยงานรัฐ และเพื่อขอทุนจากต่างชาติ และตั้งคำถามต่อความชอบธรรมขององค์กรภาคประชาสังคมในการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่

สมชาย หอมลออ เป็นที่ปรึกษาอาวุโสและอดีตประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม พรเพ็ญ  คงขจรเกียรติ เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดเก็บและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และสนับสนุนการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้เสียหาย ด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายและดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนขอความเป็นธรรม พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ยังได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการบริหารองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เมื่อเดือน มิ.ย. 2559 ด้วย ส่วน อัญชนา หีมมิหน๊ะ เป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการกลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นภาคประชาสังคมที่ทำงานกับครอบครัวของเหยื่อของการทรมานฯและดำเนินการเพื่อให้มีการฟื้นฟูเยียวยาผู้เสียหายในจังหวัดชายแดนใต้

ก่อนหน้านี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ เคยได้รับหมายเรียกให้เข้าพบพนักงานสอบสวนเมื่อเดือน ส.ค. 2557 ภายหลังที่เจ้าหน้าที่ได้แจ้งความกล่าวหาว่า มูลนิธิฯ โดยพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ทำลายชื่อเสียงของกองทัพบก จงใจบิดเบือนความจริง และเผยแพร่ข้อมูลเท็จต่อสาธารณะ เนื่องจากเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกเมื่อปลายเดือน เม.ย. 2557 เรียกร้องให้ทางการไทยสอบสวนเกี่ยวกับกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐทรมานผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ แต่พนักงานอัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องในคดีดังกล่าวเมื่อเดือน ก.ย. 2558

นับตั้งแต่การรัฐประหาร ยึดอำนาจโดยกองทัพตั้งแต่ต้นปี 2557 เป็นต้นมา นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทยจำนวนมาก ได้ถูกคุกคามและถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทและข้อหาต่างๆ จากการจัดกิจกรรมตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร รวมทั้งได้เรียกร้องให้มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเยียวยาผู้เสียหาย 

การใช้ข้อหาหมิ่นประมาทต่อผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐ เป็นการละเมิดพันธกรณีของไทยที่จะต้องเคารพและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้กระตุ้นให้รัฐต่างๆ พิจารณายกเลิกโทษอาญาในคดีหมิ่นประมาท เพื่อประกันว่ารัฐสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีของตนโดยไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท