Skip to main content
sharethis

อภิสิทธิ์ ระบุได้เตือนคณะกรรมการปรอดอง อย่ายึดติดคำสัญญาว่าจะไม่มีการชุมนุม เพราะถ้ามีเหตุ และไม่มีกลไกรับฟังประชาชน ก็จำเป็นต้องชุมนุม ยกตัวอย่างทหารบอกไม่ทำรัฐประหาร แต่ก็ทำ ย้ำเข้าใจว่าทหารก็ไม่อยากผิดคำพูดเหมือนกัน ด้านเพื่อไทยระบุ ได้หนังสือเชิญคุยแล้ว

ภาพจากสำนักข่าวไทย

17 ก.พ. 2560 ที่กระทรวงกลาโหม อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังนำคณะเข้าชี้แจงและให้ข้อเสนอแนะต่อคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ว่า พรรคได้ตอบคำถามของคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 10 ข้อ และเน้นให้เกิดความปรองดองและสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ยั่งยืน โดยเคารพสิทธิของกันและกัน เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม ควบคู่ไปกับการยึดหลักนิติธรรม ขจัดการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตของคนที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะนักการเมืองควรน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ ไม่สุดโต่งมาใช้ และร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันจากความเสี่ยงไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นทางการเมือง

อภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ได้เตือนคณะอนุกรรมการฯ ด้วยว่าในการสร้างความปรองดองอย่าผูกติดเรื่องการมีข้อตกลง สัตยาบัน หรือสัญญาใด ๆ เพราะสุดท้ายไม่ใช่คำตอบ และแม้ลงนามไป แต่หากไม่ปฏิบัติตาม ก็ไม่มีผลอะไร ขณะเดียวกัน แม้ไม่ลงนาม แต่ถ้าทุกคนอยู่ร่วมกันได้ น่าจะถือเป็นความสำเร็จมากกว่า ดังนั้นการปรองดองที่จะเกิดขึ้นต้องไม่ปรองดองเฉพาะคนที่ให้ข้อมูลหรือนักการเมือง แต่ควรทำความเข้าใจกับประชาชนว่าต่อไปนี้จะอยู่ร่วมกันอย่างไร บนความเห็นที่แตกต่าง โดยยึดกระบวนการยุติธรรมเป็นหลัก ไม่มีการนิรโทษกรรม ยกเว้นกรณีของประชาชนที่ไปชุมนุมและทำผิดกฎหมายพิเศษกับความผิดที่เป็นความผิดเล็กน้อย

“ใครจะไปรับรองถึงเหตุการณ์ สถานการณ์ในวันข้างหน้า ผมต้องขออภัยด้วย ยังยกเป็นตัวอย่างเลยว่าทหารก็เคยบอกว่าไม่ปฏิวัติรัฐประหาร แต่ถึงวันที่ท่านตัดสินใจ ผมเชื่อว่าท่านก็ไม่อยากผิดคำพูด ดังนั้นการจะมาบอกว่าพรรคการเมือง ประชาชน อย่าไปชุมนุมนะ อยู่เฉย ๆ ก็คงไม่ไปชุมนุมกัน แต่ถ้ามีเหตุ แล้วไม่มีกลไกอะไรเลยที่เขาสามารถแสดงออกถึงสิทธิความเป็นธรรมได้ เขาก็ไปชุมนุม จะไปพูดล่วงหน้า คงไม่มีประโยชน์อะไร” อภิสิทธิ์ กล่าว

อดีต ส.ส. ชาติไทยพัฒนา ระบุตอนนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่การเลือกตั้ง หากอีก 10 ปีข้างยังขัดแย้งอีกก็ยังไม่ต้องรีบเลือกตั้ง

ขณะที่ วราวุธ ศิลปอาชา พร้อมด้วย ภราดร ปริศนานันทกุล รวีร์ ปริศนานันทกุล และสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ อดีต ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา แถลงข่าว ภายหลังร่วมประชุมคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน เมื่อวานนี้  (16 ก.พ.)

วราวุธ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่คำว่าการเลือกตั้ง แต่คือการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเทศ อีกทั้งหากอีก 10 ปีข้างหน้า ยังต้องมาคุยเรื่องปรองดองกันอีก ก็ยังไม่ต้องการให้รีบมีการเลือกตั้งโดยเร็ว โดยเรื่องนี้ ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจเอง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้ยังมีคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ยังไม่ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมของพรรค ดังนั้น การให้ความเห็นต่อคณะอนุกรรมการฯ จึงไม่ใช่มติของพรรค แต่เป็นความเห็นส่วนตัว โดยหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาได้เสนอความเห็นตามหลัก 4 ด้าน คือ การสร้างความปรองดองต้องอาศัยหลักนิติธรรม คุณธรรม ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งต้องมีความจริงใจในการทำงาน

ขณะที่ ภราดร กล่าวว่า หากมองย้อนไปในอดีต จะเห็นปัญหาเรื่องการตรากฎหมายที่เกิดข้อผิดพลาด จนทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัยเรื่องการดำเนินการอย่างสองมาตรฐาน ซึ่งฝ่ายหนึ่งอาจคิดว่าได้ประโยชน์เนื่องจากอยู่ฝั่งขั้วอำนาจ และอีกฝ่ายหนึ่งคิดว่าตนเองอยู่ฝั่งตรงข้ามและรู้สึกเสียผลประโยชน์ ดังนั้นการสร้างความปรองดองต้องอาศัยหลักนิติธรรมและหลักคุณธรรมควบคู่กัน การดำเนินการต้องไม่สองมาตรฐาน ส่วนการออกระเบียบหรือกฎหมายต้องเท่าเทียมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย นอกจากนี้ ต้องทำให้ประชาชนรู้สึกว่ามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างความปรองดอง ไม่ใช่แค่เพียงฝ่ายผู้มีอำนาจไกล่เกลี่ยกับคู่กรณีเท่านั้น เพราะการสมประโยชน์ของคู่กรณี อาจสร้างผลกระทบต่อประชาชน จึงต้องเปิดกว้างให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น ต้องให้คู่ขัดแย้งได้มีประเด็นที่ตกลงและหารือร่วมกัน ขณะเดียวกัน ในกระบวนการต้องเป็นรูปแบบที่ยืดหยุ่นกับประชาชนทุกฝ่ายด้วย

ด้าน สิริพงศ์ ยังกล่าวถึงประเด็นเรื่องการนำเสนอแนวทางด้านความเหลื่อมล้ำว่า ทางพรรคได้เสนอเรื่องที่ทำกินเพื่อเกษตรกร ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน และเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีเจ้าภาพหลักที่แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพในการแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ ขณะที่ประเด็นเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ดิน แม้จะแก้ปัญหาได้บ้างแต่ก็ไม่ทั้งหมด  และอาจจะยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้ ดังนั้นรัฐบาลควรหันมามองว่าที่ดินที่เป็นของนายทุนนั้น จะนำมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ส่วนการบริหารจัดการน้ำและไฟฟ้าเพื่อการเกษตร ต้องดูความต้องการของแต่ละพื้นที่และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจขนาดเล็ก

ส่วน รวีร์ กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นนับหนึ่ง ซึ่งถือเป็นบรรยากาศแลกเปลี่ยนที่ดี ยอมรับว่า ดีใจที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพหลักสร้างสมานฉันท์ ทั้งนี้ การรับฟังความเห็นของประชาชนในแต่ละภูมิภาคนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี และเชื่อว่าเป็นจังหวะที่ดีที่รัฐบาลและ คสช.เป็นเจ้าภาพหลักในขณะนี้ เนื่องจากหากพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดมาเป็นเจ้าภาพ จะมีคำครหาจากสังคมหรือฝ่ายตรงข้ามว่าทำเพื่อจุดประสงค์ใด ดังนั้นพรรคชาติไทยพัฒนาจึงพร้อมสนับสนุนกระบวนการสร้างความปรองดองครั้งนี้ พร้อมเชื่อว่า คสช.จะสามารถสร้างความปรองดองได้สำเร็จ เพราะมีเครื่องมือ กฎหมาย และกฎระเบียบ รวมถึงความร่วมมือจากประชาชน

เพื่อไทย ระบุ ได้รับหนังสือเชิญคุยปรองดองแล้ว

ด้าน ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ได้รับจดหมายเชิญจากกระทรวงกลาโหมเรียบร้อยแล้วเมื่อเวลา 12.15 น. วันที่ 17 ก.พ. โดยผู้นำส่งมาจากสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ชื่อ ร.ท.เดชา ดีเด่น อย่างไรก็ตาม สำนักเลขาธิการพรรคจะประสานงานให้คณะผู้บริหารและแกนนำของพรรคทราบและจะดำเนินการมอบหมายและจัดนัดหมายคณะบุคคลจำนวน 10 ท่าน เพื่อหารือแนวทางการคุยเรื่องการปรองดองและทางออกของประเทศ และเพื่อประสานงานกับสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเพื่อนัดหมายวันพบปะหารือร่วมกันต่อไป

เรียบเรียงจาก : สำนักข่าวไทย 1 , 2 , ,มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net