Skip to main content
sharethis

นักวิชาการนิเทศค้านกฎหมายคุมสื่อ ไม่ว่ารัฐคุมหรือสื่อคุมกันเอง ชี้ไม่จำเป็นต้องออกเป็นกฎหมาย แต่องค์กรวิชาชีพต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลกันเอง ไม่ใช่ดึงรัฐเข้ามา กลายเป็นเตะหมูเข้าปากหมา เชื่อสื่อกำลังอิงอำนาจรัฐเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ ขณะที่สื่อบางคนแปลงสภาพเป็นล็อบบี้ยิสต์และมีวาระการเมืองส่วนตัว

แรงกดดันจากองค์กรสื่อ 30 องค์กร ทำให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ต้องยอมถอยร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ.... ออกไปก่อน โดยวันนี้คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน จะประชุมหารือกันว่าจะดันต่อหรือไม่

ข้อใหญ่ใจความหลักที่องค์กรวิชาชีพคัดค้านกฎหมายฉบับนี้คือการที่มันเปิดช่องทางให้รัฐเข้ามาควบคุมและแทรกแซงการทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระของสื่อ โดยเฉพาะประเด็นสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ 13 คน ซึ่งจะมีสื่อเพียง 5 คน ที่เหลือเป็นข้าราชการระดับปลัดกระทรวงและบุคคลที่เลือกโดยภาครัฐ ที่เรียกได้ว่าเป็นจุดแตกหักที่องค์กรสื่อไม่สามารถยอมรับได้ พร้อมกับเรียกร้องให้ สปท. กลับไปทบทวนร่างกฎหมายฉบับนี้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

แต่หากดูร่างกฎหมายทั้งของ สปท. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และขององค์กรวิชาชีพรวม 4 ฉบับ จะพบจุดที่เหมือนกันอยู่ประการหนึ่งคือการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อกำกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ความต่างจึงอยู่ที่ว่าจะให้รัฐเข้ามาช่วยคุมด้วยหรือสื่อจะคุมกันเอง แน่นอนว่าไม่ใช่ทางเลือกแรก แต่แน่ใจหรือว่าหนทางที่ 2 คือหนทางที่ควรเดิน

การกำกับดูแลกันเองของสื่อซึ่งเป็นเรื่องประเด็นที่องค์กรวิชาชีพสื่อยืนยันมาโดยตลอด แต่สังคมมองว่ายังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เหตุนี้จึงนำอำนาจบังคับทางกฎหมายมาใส่มือ นั่นอาจตอบคำถามเรื่องประสิทธิภาพและการบังคับให้เกิดการปฏิบัติ แต่คมอีกด้านจะหมายถึงคณะกรรมการชุดนี้จะเป็นผู้ผูกขาดความเป็นสื่อและมาตรฐานจริยธรรมหรือไม่

สำหรับพิจิตรา สึคาโมโต้ หัวหน้าภาควารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตามหลักการไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายออกมาควบคุมสื่อ เนื่องจากสามารถใช้กฎหมายอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วได้ ขณะที่ในรัฐธรรมนูญก็ระบุเรื่องความมั่นคงที่เปิดโอกาสให้รัฐตีความได้กว้างขวางมากอยู่แล้ว นอกจากนี้ เวลารัฐจะควบคุมอะไรต้องชั่งน้ำหนักว่าจะกระทบระบบนิเวศของอุตสาหกรรมหรือไม่

ไม่ต้องมี กม.คุมสื่อ

“เราผ่านบทเรียนที่มีความขัดแย้งในประเทศค่อนข้างสูง มีการใช้สื่อกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่สร้างให้เกิดความขัดแย้งก็คือกลุ่มการเมืองที่ใช้แพลตฟอร์มของสื่อในการสร้างฐานมวลชนและสร้างเนื้อหาที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง เรามีสื่อที่ถูกใช้สร้างเฮทสปีชเยอะมาก นำเสนอข้อมูลเท็จ เสนอโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งก็ต้องมีการควบคุม แต่ต้องให้น้อยที่สุด”

ขณะที่เหตุผลด้านมาตรฐานจริยธรรมที่มีการหยิบยกขึ้นมาอ้าง พิจิตรากล่าวว่าเป็นสิ่งที่สื่อต้องมีอยู่แล้วและต้องมีกลไกควบคุม แต่ไม่ควรเป็นระดับกฎหมาย รัฐต้องเข้าใจว่าตนเองมีบทบาทหน้าที่ระดับไหน เพราะเมื่อรัฐกระโดดเข้ามาในพื้นที่ศีลธรรมและตัดสินดี-ไม่ดี เท่ากับรัฐกำลังทำสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ของตน

เตะหมูเข้าปากหมา

แต่ที่ผ่านมาการควบคุมกันเองของสื่อกลับไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้สื่อบางส่วนเห็นว่าการกำกับกันเองไม่ทำงาน จึงต้องการให้อำนาจรัฐเข้ามาช่วย เกิดเป็นสถานการณ์ที่พิจิตราเรียกว่าเตะหมูเข้าปากหมา รัฐจึงถือโอการลงมาคุมเอง พิจิตราเล่าประสบการณ์ว่า

“สื่อใหญ่ในบ้านเราโตขึ้นจากระบบอุปถัมภ์ที่อิงอำนาจรัฐอยู่แล้ว เวลาเราทำวิจัย ทำการวิเคราะห์เนื้อหา อย่างตอนรัฐประหารปี 2549 สื่อหัวสีค่อนข้างให้ภาพบวกกับทหาร คือเขาก็เปลี่ยนสีเพื่อความอยู่รอดและเขาจะต้องดูโทนของสังคมด้วยจะได้เลือกข้างถูก ในมุมหนึ่ง สื่อเป็นองค์กรที่ต้องหากำไรและอยู่ได้ในทางธุรกิจ แล้วอยู่ในเมืองไทยก็จะต้องมีการอิงอำนาจรัฐ

“ตัวเองอยู่ในสภาวิชาชีพนักข่าววิทยุ โทรทัศน์ พบว่ามันไม่ทำงานเลย เพราะการที่จะควบคุมกันเองได้ต้องเป็นองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือและมีระบบการบริหารจัดการที่ดีระดับหนึ่ง อย่างเรื่องความน่าเชื่อถือ เวลามีรายใดถูกร้องเรียน แล้วจะเข้าไปตรวจสอบ รายที่ถูกร้องเรียนก็ลาออก ไม่ให้ตรวจสอบ กับการบริหารจัดการ ดิฉันนั่งอยู่ในสภาเห็นเลยว่า เงินที่วิ่งอยู่ในองค์การวิชาชีพมีจำนวนน้อยมาก อีกทั้งคณะกรรมการก็ไปแบบไม่ได้เตรียมพร้อมอะไร เป็นบอร์ดที่ให้ความเห็นเฉยๆ แต่ทำงานไม่ได้ตามหน้าที่ ฝ่ายเลขาฯ ก็ไปอิงกับสมาคมนักข่าว ใช้เลขาฯ คนเดียวกัน ถ้าจะให้ตัดสินจริงๆ จะต้องมีทีมเลขาฯ ที่เข้มแข็ง มีการเก็บข้อมูลสถิติ แต่ตอนนี้ทำงานเหมือนพาร์ทไทม์ จะไปเอาเงินองค์กรเอกชนก็ไม่ได้ เพราะอาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้การกำกับดูแลกันเองไม่สามารถแสดงบทบาทได้เต็มที่

“ขณะที่ กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ก็เอาเงินไปใช้อะไรก็ไม่รู้ แทนที่จะเอามาสนับสนุนตรงนี้ แต่ก็ไม่ได้มองว่าเงินคือคำตอบทั้งหมด เพียงแต่เงินจะช่วยทำให้ทีมเลขาฯ เข้มแข็ง เวลามีข้อร้องเรียนจะได้มีข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ

“แต่เมื่อทุกคนทำงานพาร์ทไทม์ หลายคนที่เข้ามาก็อาจจะมีวาระของตัวเอง เข้ามาอย่างน้อยช่องฉันไม่โดน อย่างช่องวอยซ์ถูกถอดรายการก็ไม่เห็นมีใครปกป้องเขาเลย คือมันมีอคติอยู่ ดิฉันก็เห็น การบริหารจัดการและความน่าเชื่อถือยังไม่พร้อม ทำให้การกำกับดูแลกันเองมีช่องว่างอยู่”

นอกจากนี้ยังมีประเด็นการกำกับดูแลควบคุมไปถึงระดับสื่อตัวบุคคล ซึ่งพิจิตราเห็นว่าไม่ควรมี โดยให้เหตุผลว่าอาชีพสื่อต้องมีหลักจรรยาบรรณ แต่อาชีพนี้จำเป็นถึงขั้นต้องมีใบอนุญาตในการทำงานหรือไม่ คิดว่าไม่จำเป็น แล้วในยุคนี้ที่ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ ในทางปฏิบัติจะนิยามอย่างไรว่าใครเป็นสื่อ จึงการเหมือนถอยหลังกลับ

“จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เรามีกฎหมายที่คอยควบคุมสื่อมาโดยตลอดอยู่แล้ว แต่จะควบคุมในลักษณะองค์กร อันนี้จะเป็นครั้งแรกที่จะควบคุมระดับตัวบุคคล เป็นการควบคุมที่ค่อนข้างลงลึกและเบ็ดเสร็จ ส่วนตัวคิดว่ายิ่งทำยิ่งเป็นการทำลายอุตสาหกรรม การสร้างเกณฑ์แบบนี้จะยิ่งทำให้อุตสาหกรรมีคุณภาพมากยิ่งขึ้นหรือ เห็นหรือไม่ว่ายิ่งเข้าไปควบคุมมาก กำหนดศีลธรรมอันดีต่างๆ เนื้อหาที่ผลิตออกมาเริ่มแห้งไปเรื่อยๆ คนก็เปลี่ยนแพลตฟอร์ม อุตสาหกรรมมีสิทธิล้มได้”

สื่อบางรายเสนอว่า การกำกับดูแลกันเองอาจเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นอีกแล้วในยุคนี้ เพราะมันอาจหมายถึงการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อ แต่ควรปล่อยให้เกิดการแข่งขันโดยมีตลาดและประชาชนเป็นฝ่ายควบคุมสื่อ พิจิตรากล่าวถึงประเด็นนี้ว่า แม้ว่าการควบคุมกันเองของสื่อจะไม่มีประสิทธิภาพ แต่ยังควรต้องมีระบบการตรวจสอบกันเอง เพียงแต่องค์กรวิชาชีพอาจจะต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นการทำงานเชิงบวกหรือเชิงส่งเสริมมากขึ้น เช่นการให้ความรู้ การฝึกอบรม

เชื่อสื่ออิงรัฐเพื่อความอยู่รอด ส่วนสื่อล็อบบี้ยิสต์มีเป้าหมายทางการเมือง

พิจิตรา วิเคราะห์ว่า ท่าทีและการเคลื่อนไหวของสื่อในปัจจุบันอาจมองแยกได้เป็น 2 ประเด็น หนึ่งคือสื่ออยากเป็นผู้คุมกฎ คงมีสื่อที่คิดอย่างนั้นและคิดว่าตัวเองมีศักยภาพที่จะทำ กับสองคือตัวสื่อเองอาจจะเล่นเกมกับขั้วอำนาจที่เปลี่ยนไป สื่ออาจมองว่าเมื่อจะมีคณะกรรมการควบคุมสื่อ การที่ไม่เข้าไปอาจทำให้อำนาจการต่อรองลดลง แล้วการปล่อยให้คนที่ไม่รู้จักสื่อมาควบคุมสื่อ สื่อบางส่วนจึงเห็นว่าต้องเข้าไปอยู่เป็นส่วนหนึ่ง อย่างน้อยก็เพื่อล็อบบี้ไม่ให้กฎหมายไม่แรงเกินไปหรือเกิดการถ่วงดุล เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมสื่อด้วยกัน ถือเป็นเกมการเมืองอย่างหนึ่ง

“สื่อใหญ่ในบ้านเราโตขึ้นจากระบบอุปถัมภ์ที่อิงอำนาจรัฐอยู่แล้ว เวลาเราทำวิจัย ทำการวิเคราะห์เนื้อหา อย่างตอนรัฐประหารปี 2549 สื่อหัวสีค่อนข้างให้ภาพบวกกับทหาร คือเขาก็เปลี่ยนสีเพื่อความอยู่รอดและเขาจะต้องดูโทนของสังคมด้วยจะได้เลือกข้างถูก ในมุมหนึ่ง สื่อเป็นองค์กรที่ต้องหากำไรและอยู่ได้ในทางธุรกิจ แล้วอยู่ในเมืองไทยก็จะต้องมีการอิงอำนาจรัฐ

“คิดว่าตัวเขาเองไม่ได้มองว่าจะมาคุมเพื่อนๆ สื่อ แต่ผลประโยชน์ระยะสั้นก็แค่เข้าไปอิงให้ธุรกิจของตนมีตำแหน่งแห่งที่ เพราะยังต้องทำการค้า รัฐอยากได้อะไรตอนนี้ก็พยายามทำให้ คือดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง”

แต่พิจิตราทิ้งท้ายว่า ยังมีคนในวงการสื่ออีกระดับหนึ่งที่อาจมีวาระทางการเมืองของตนเอง

“สภาวิชาชีพสื่อที่ดิฉันนั่งอยู่ คนในสภาคือระดับ บ.ก. ทุกคนต้องทำงาน คนเหล่านี้ยังเป็นระดับคนทำงาน แต่เราจะเห็นอีกระดับหนึ่งที่ไม่ใช่ บ.ก. หรือนักข่าว แต่จะเป็นพวกที่มีตำแหน่งที่ไม่ต้องนั่งทำงานในองค์กรของตนเองแล้ว คนกลุ่มนี้เป็นล็อบบี้ยิสต์ เป็นนักการเมืองไปแล้ว คนกลุ่มนี้อาจจะมีวาระของตนเองที่อยากขับเคลื่อนและมีเป้าหมายทางการเมือง”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net