ภาคประชาชนเรียกร้องให้การกระจายอำนาจตำรวจไปให้จังหวัดโดยตรง

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจออกแถลงการณ์เรื่องการปฏิรูปตำรวจโดยเร่งด่วนที่สุด เรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจตำรวจไปให้จังหวัดโดยตรง ให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลต้องโอนไปสังกัด กทม. ภูมิภาคต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจลงโทษรวมทั้งพิจารณาให้ความดีความชอบ สามารถแต่งตั้งโยกย้ายภายในจังหวัดได้ 
 
12 ก.พ. 2560 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจออกแถลงการณ์เรื่องการปฏิรูปตำรวจโดยเร่งด่วนที่สุด เรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจตำรวจไปให้จังหวัดโดยตรง เพื่อปฏิรูปตำรวจในระยะยาว กองบัญชาการตำรวจนครบาลต้องโอนไปสังกัดกรุงเทพมหานคร ภูมิภาคต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจลงโทษข้าราชการตำรวจที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจเกินขอบเขต รวมทั้งพิจารณาให้ความดีความชอบสามารถแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจภายในจังหวัดได้ 
 
โดยรายละเอียดทั้งหมดของแถลงการณ์มีดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) (Police Watch)
เรื่องการปฏิรูปตำรวจโดยเร่งด่วนที่สุด
 
วันนี้ ครบรอบ 1 ปีการเสียชีวิตของ พ.ต.ท.จันทร์ ชัยสวัสดิ์ พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ สน.เทียนทะเล เลขาธิการสหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ เราขอไว้อาลัยและขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีอย่าให้ความสูญเสียนี้สูญเปล่า เร่งดำเนินการปฏิรูปตำรวจโดยการแยกอำนาจสอบสวนและกระจายอำนาจตำรวจแห่งชาติโดยเร็วที่สุด
 
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) เกิดจากความร่วมมือภาคประชาชนหลายองค์กรภายหลังจัดงานประชุมเสวนาเรื่อง “ทิศทางและความหวังการปฏิรูปตำรวจ” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา โดยมีคณะกรรมการและคณะที่ปรึกษาจากภาคีเครือข่ายองค์กรต่างๆ เพื่อทำงานติดตามการปฏิรูปตำรวจด้วยกัน เบื้องต้นประกอบด้วย นายสมชาย หอมลออ อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย นายนคร ชมพูชาติ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการปฏิรูปตำรวจ นางสมศรี หาญอนันทุสุข กรรมการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) นายปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร บรรณาธิการหนังสือโรดแมปปฏิรูปตำรวจ นายเดชา รินทพล ผู้จัดการวิทยุครอบครัวข่าว นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.) และเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ฯลฯ
 
ปัจจุบันมีบทเรียนซ้ำซากจากปัญหากระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ โดยเฉพาะจุดเริ่มต้นที่กระบวนการของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีอำนาจสืบสวนและสอบสวนในมือ ส่งผลให้ระบบการบังคับใช้กฎหมายไม่มีระบบตรวจสอบ ถ่วงดุล จึงถึงเวลาต้องทบทวนและปฏิรูปครั้งใหญ่ ตั้งแต่ต้นธารกระบวนการยุติธรรม ตำรวจ จนกระทั่งอัยการ และระบบศาล เพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนในคดีอาญา และพัฒนาระบบงานตำรวจให้มีประสิทธิภาพ มีความเป็นธรรม และเป็นอิสระอย่างแท้จริงเพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เลือกปฏิบัติ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police Watch) จึงมีข้อเสนอการปฏิรูปตำรวจเบื้องต้น ดังนี้
 
1.การปฏิรูปตำรวจอย่างเร่งด่วนที่สุด และเฉพาะหน้านี้ รัฐบาลจะต้องดำเนินการแยกอำนาจงานสอบสวนออกจากตำรวจโดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นหน่วย งานอิสระ และควรให้อำนาจอัยการเป็นพนักงานสอบสวนได้ด้วยในการสอบสวนผู้ต้องหา เพราะปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นองค์กรผูกขาดการสอบสวนทั้งหมด แต่เต็มไปด้วยสายบังคับบัญชาและชั้นยศเช่นเดียวกับกองทัพ กระบวนการยุติธรรมจึงถูกเลือกปฏิบัติมาโดยตลอด รวมทั้งระบบชั้นยศและสายบังคับบัญชาในปัจจุบัน ทำให้พนักงานสอบสวนไม่มีอิสระอย่างแท้จริงในการทำงาน ในการทำงานตามกฎหมาย เนื่องจากผู้บังคับบัญชาสามารถใช้อำนาจสั่งการให้ทำการสอบสวนโดยมิชอบก็ได้ ทั้งนี้ การแก้ไขกฏหมายให้พนักงานอัยการมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาแต่ชั้นเริ่มคดีรับคำร้องทุกข์ของทุกหน่วยงานในคดีสำคัญหรือที่ได้รับการร้องเรียน จะสร้างหลักประกันให้การสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนได้กระทำและถูกบันทึกไว้อย่างครบถ้วน ไม่ละเลยหรือบิดเบือนไม่ว่าจะด้วยเจตนาทุจริตหรือเหตุอื่นใด ซึ่งจะทำให้การสอบสวนมีหลักประกันเรื่องความสุจริตและมีประสิทธิภาพในการนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมชั้นศาลต่อไป
 
2.ในกระบวนการสอบสวนผู้ต้องหาตามกฎหมายนั้น จะต้องให้มีการบันทึกภาพและเสียงในระหว่างการสอบสวน ที่ห้องสอบสวนทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศ เพื่อใช้ประกอบในการพิจารณาคดีในชั้นศาลต่อไปหากมีข้อสงสัย เพื่อป้องกันการซ้อมทรมาน การบังคับขู่เข็ญให้รับสารภาพ การสร้างหลักฐานเท็จเพื่อกลั่นแกล้ง แจ้งข้อหา หรือสอบสวนทำลายพยานหลักฐานเป็นสำนวนไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดเสนออัยการเพื่อสั่งงดสอบสวน หรือแม้กระทั่งบิดเบือนพยานหลักฐานช่วยผู้กระทำผิดทางอาญาให้สั่งไม่ฟ้องก็ได้
 
3.ขอเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจตำรวจไปให้จังหวัดโดยตรง เพื่อปฏิรูปตำรวจในระยะยาว กองบัญชาการตำรวจนครบาลต้องโอนไปสังกัดกรุงเทพมหานคร ภูมิภาคต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจลงโทษข้าราชการตำรวจที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจเกินขอบเขต รวมทั้งพิจารณาให้ความดีความชอบสามารถแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจภายในจังหวัดได้ 
 
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร) จะติดตามการปฏิรูปตำรวจของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดเพื่อผลักดันการปฏิรูปตำรวจซึ่งคือการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง รวมถึงการตรวจสอบระบบงานตำรวจในปัจจุบันหากเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อยไม่ได้รับความเป็นธรรมในระบบงานตำรวจให้ร้องเรียนมาได้ หลักเกณฑ์การแต่งตั้งที่รองนายกฯ วิษณุ ร่างอยู่ในขณะนี้ จะต้องมีความเป็นธรรม ใช้ระบบคุณธรรมและระบบอาวุโสในการครองตำแหน่ง ทั้งนี้จะเชิญองค์กรภาคประชาชนต่างๆ ที่สนใจเข้าร่วมติดตามการปฏิรูปตำรวจร่วมจับตา Police Watch ร่วมกัน เพื่อผลักดันการปฏิรูปตำรวจคู่ขนานไปกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีการเขียนไว้ให้มีคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจต่อไป
 
ปฏิรูปตำรวจเพื่อให้เป็นตำรวจอย่างแท้จริง
12 กุมภาพันธ์ 2560
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท