ความรักที่ถูกขวางกั้น เมื่อนโยบายสั่งห้ามเดินทางของสหรัฐฯ ทำคู่รักพลัดพราก

คำสั่งพิเศษห้ามการเดินทางเข้าประเทศของโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งผลให้วิวาห์ล่มหลายคู่ บ้างถึงขั้นพลัดพรากไม่อาจเดินทางเข้าหรือออกจากประเทศได้ มีบางคู่ที่กลับมาเจอกันได้สำเร็จหลังศาลอนุมัติให้ระงับคำสั่งชั่วคราว แต่หลายคู่ยังเผชิญกับความเอาแน่เอานอนไม่ได้

10 ก.พ. 2560 นิวยอร์กไทมส์รายงานเกี่ยวกับเรื่องคู่รักที่เกือบจะต้องพลัดพรากไม่ได้พบเจอกันจากนโยบายสั่งห้ามการเดินทางเข้าประเทศของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากที่ซาฮาร์ ฟาดุล คนรักและคู่หมั้นของออสมาน นัสเรลดิน ถูกคุมขังเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาหลังจากเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติดัลเลส

ซาฮาร์ ฟาดุล เดินทางจากบ้านของพ่อแม่เธอในซูดานมายังสหรัฐฯ เพื่อพบกับคนรักของเธอแต่ก็ถูกควบคุมตัวและถูกส่งตัวกลับประเทศ วีซ่าของเธอที่ใช้เวลานาน 1 ปีกว่าจะได้มาถูกปั้มตราสีม่วงว่า "ยกเลิก" แต่ ออสมาน นัสเรลดิน ก็ต่อสู้เรียกร้องโดยอาศัยความช่วยเหลือจากทนายความ มีการร้องขอกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจนกระทั่งผ่านไป 11 วัน เขาก็ได้คนรักคืนมา หลังจากที่มีการระงับคำสั่งห้ามคนเข้าเมืองจาก 7 ประเทศ ซึ่งเป็นการระงับโดยชั่วคราว

ฟาดุลกับนัสเรลดินได้พบกันในยามบ่ายอันอ่อนโยนที่โคโลราโดพร้อมกับคนเดินทางคนอื่นๆ ที่ใช้โอกาสที่มีการระงับคำสั่งชั่วคราวนี้ในการเดินทางเข้าสหรัฐฯ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวนี้เป็นคำสั่งห้าม 7 ประเทศที่เป็นสังคมชาวมุสลิม อย่างไรก็ตามถึงแม้คู่ฟาดุลกับนัสเรลดินจะได้พบกัน แต่คู่รักคู่อื่นๆ อีกหลายคู่ยังคงอยู่ภายใต้การคุมขัง

นัสเรลดินเป็นคนทำงานด้านอนามัยทันตกรรมที่เกิดในซูดาน เขาบอกว่า "มันจะมีความหมายอะไรถ้าคุณอยู่บนสวรรค์แต่อยู่โดยปราศจากคนที่คุณรัก"

นิวยอร์กไทมส์ระบุว่า สำหรับผู้มีสัญชาติอื่นที่ต้องเผชิญกับระบบตรวจคนเข้าเมืองของสหรัฐฯ คำสั่งพิเศษของทรัมป์และความวุ่นวายที่ตามมาส่งผลให้ชีวิตคู่ของพวกเขาอยู่ในภาวะโกลาหล เช่นคู่รักที่เป็นคนเชื้อสายผสมอิหร่านและอเมริกันมีแผนการสร้างชีวิตด้วยกันในประเทศก็ต้องคิดแผนการเดินทางใหม่ มีการยกเลิกงานหมั้นและคืนชุดวิวาห์ แม้ว่าต่อมาคำสั่งพิเศษจะถูกระงับชั่วคราวก็ตาม ส่วนคู่ของนัสเรลดินกับฟาดุลก็หวังว่าพวกเขาจะได้อยู่ด้วยกันแม้ว่าผลคำตัดสินกรณีการสั่งห้ามจะออกมาเป็นแบบใดก็ตาม

หลายคู่ในที่นี้คุ้นเคยกับความสัมพันธ์ทางไกลและพบเจอกันผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ออนไลน์ การเดินทางเพื่อดำเนินธุรกิจ หรือการเดินทางพบปะกันระหว่างประเทศ ถึงแม้เส้นทางรักของพวกเขาจะมีอุปสรรคแต่พวกเขาก็หวังว่าวันหนึ่งจะผ่านด่านคนเข้าเมืองของสหรัฐฯ จนได้อยู่ร่วมกัน 

กาย อาร์ โครตู จิตแพทย์ในบอสตัน พบเจอคู่รักของเขาผ่านเฟซบุ๊ก ผู้ที่เป็นชาวเกย์ในอิหร่านนามสมมุติว่า "เอ็ม" (ที่ปกปิดนามเพราะห่วงเรื่องความปลอดภัยในฐานะชาวเกย์ในประเทศอิหร่าน) เอ็มได้รับวีซ่าคู่หมั้นที่ใช้ได้ถึงเดือน ก.ค. แต่ในตอนนี้พวกเขาก็ไม่แน่ใจว่าคำสั่งพิเศษจากประธานาธิบดีจะส่งผลอะไรหรือไม่จึงยังคงรั้งรอในการเดินทางเข้าสหรัฐฯ

อีกคู่หนึ่งคือโอลิเวียร์ ครอส ที่วิดีโอแชทกับสามีชาวอิหร่านของเธอ ยาห์ยา อะเบดี พวกเขาแต่งงานกันแล้วและมีรูปถ่ายคู่ตอนแต่งงานในอพาร์ทเมนต์ของอะเบดี คู่นี้แต่งงานกันเมื่อเดือน ก.พ. 2559 ในประเทศจอร์เจีย พวกเขาพยายามหาหนทางผ่านกระบวนการวีซ่าหลังจากที่ทรัมป์ประกาศคำสั่งพิเศษ อิหร่านก็โต้ตอบด้วยการขู่ว่าจะปิดกั้นไม่ให้ชาวอเมริกันเดินทางเข้าประเทศพวกเขาบ้าง แล้วเรื่องนี้ก็ส่งผลต่อแผนการกลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้งในเดือน พ.ค. ของคู่นี้ ครอสบอกว่าเธอรู้สึกเหมือนถูกปิดกั้นไปหมดทุกหนทาง พวกเธอแค่อยากใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันเท่านั้น

คู่ต่อมาคือมิเชลล์ แบรนดี กับสามีเธอที่เป็นคนทำงานบรรเทาทุกข์ผู้เกิดในซูดานและกำลังพักรักษาตัวอยู่ในโปแลนด์หลังผ่าตัดหัวใจ แต่ แจด ลูกชายของพวกเขาที่อายุ 21 เดือน ได้เห็นหน้าพ่อผ่านหน้าจอพิกเซลเท่านั้น พอหลังจากจบการติดต่อทางวิดีโอแล้วลูกชายของพวกเขาก็พยายามค้นหาพ่อในคอมพิวเตอร์ แบรนดีบอกว่าแจดจะร้องไห้และอารมณ์เสียที่ไม่เห็นพ่ออยู่ในนั้น และตัวเธอก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถให้สามีกลับมาอยู่ด้วยกันได้หรือไม่

แม้กระทั่งคนที่ไม่ได้แยกกันอยู่ คำสั่งของทรัมป์ก็ส่งผลให้พวกเขาต้องยกเลิกงานแต่งงานและงานหมั้น เพราะไม่รู้ว่าญาติๆ ของพวกเขาในอิหร่านหรือซีเรียจะเข้าร่วมงานได้หรือไม่ และคู่ผู้อพยพบางคู่ก็ลังเลเกี่ยวกับการเดินทางกลับไปฉลองที่บ้านเกิดตัวเอง เช่นกรณีของ อราช อัฟชินนิค แพทย์ด้านระบบประสาทของหน่วยไอซียูผู้แต่งงานในแคลิฟอร์เนียเมื่อ 3 สัปดาห์ที่แล้ว เขาวางแผนจะบินไปอิหร่านเพื่อจัดงานแต่งอีกครั้งหนึ่งกับครอบครัวฝ่ายเจ้าสาว นอกจากพวกเขาจำต้องคืนชุดแต่งงานแล้วยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากนโยบายคนเข้าเมืองของทรัมป์ด้วย

อีกรายหนึ่งเป็นแพทย์ชาวซีเรียที่เป็นที่รู้จักดีในหมู่คนทำงานบรรเทาทุกข์ชื่อ คาเล็ด อัลมิลาจิ เขาเคยอาศัยอยู่ในตุรกีโดยปัจจุบันคอยทำงานช่วยเหลือชีวิตผู้คนอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งในซีเรีย เขาเคยจีบเยฮาน มูห์เซน ผู้เป็นนักศึกษาอยู่ในมอนเตเนโกรด้วยการส่ง "ถังดอกไม้" ไปให้ พวกเขาแต่งงานกันเมื่อกลางปีที่แล้วและตั้งหลักถิ่นฐานกันที่โรดไอส์แลนด์ อัลมิลาจิได้รับทุนศึกษาระดับปริญญาโทด้านสาธารณสุขที่มหาวิทยาลัยบราวน์โดยใช้วีซ่านักศึกษา เขาอยากนำทักษะความรู้ที่ได้เรียนกลับไปช่วยเหลือฟื้นฟูประเทศตัวเอง ส่วนคนรักของเขาก็ตื่นเต้นที่ใช้ชีวิตร่วมกับเขาในที่สุด

แต่ตอนนี้อัลมิลาจิกลับต้องติดอยู่ในตุรกีหลังจากที่กลับไปเพื่อจัดการธุระส่วนตัวและเรื่องหน้าที่การงาน วีซ่ากลับประเทศชุดเดิมของเขาไม่ผ่าน ทำให้เขาต้องไปเอาวีซ่าใหม่ที่สถานกงสุลสหรัฐฯ ในอิสตันบูลเมื่อวันที่ 20 ม.ค. แต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับ

มูห์เซนต้องลี้จากความเดียวดายที่อพาร์ทเมนต์ของพวกเขาในโปรวิเดนซ์ไปอยู่กับเพื่อนของเธอที่นิวยอร์กซิตี้ เธอเรียนเพื่อสอบเข้าแพทยสภาและต้องต่อสู้กับอาการแพ้ท้อง มูห์เซนมีรากเหง้ามาจากมอนเตเนโกร แต่เธอกับอัลมิลาจิโตมาด้วยกันในเมืองอเลปโป ประเทศซีเรีย พวกเขาวางแผนว่าจะกลับประเทศตัวเองสักวันหนึ่ง

อัลมิลาจิเป็นแพทย์ที่เคยสร้างระบบตรวจพบว่ามีโรคโปลิโอกลับมาแพร่หลายในซีเรียอีกครั้งในช่วงที่อยู่ภายใต้สงครามกลางเมืองปี 2556 เขาดำเนินการหาวัคซีนให้กับเด็กชาวซีเรียราว 1 ล้านคน ถึงแม้ว่างานของเขาจะได้รับการสนับสนุนจากองค์กรใหญ่ๆ หลายองค์กรอย่างยูนิเซฟ องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID) องค์การอนามัยโลก รวมถึงมูลนิธิบิลล์แอนด์เมลินดาเกตต์ แต่พวกเขาก็ช่วยเหลืออะไรอัลมิลาจิไม่ได้มากในตอนนี้

ในช่วงต้นๆ ที่เกิดสงครามกลางเมืองในซีเรีย อัลมิลาจิเคยถูกจับ ถูกทารุณกรรม และถูกคุมขัง เป็นเวลา 6 เดือน โดยรัฐบาลซีเรีย แต่อัลมิลาจิบอกว่าในตอนนี้เขารู้สึกไร้พลังยิ่งกว่าเดิมที่รู้ว่าภรรยาของเขาต้องทนทุกข์จากการพลัดพรากเพราะการกระทำของรัฐบาลสหรัฐฯ

 

เรียบเรียงจาก

Love, Interrupted: A Travel Ban Separates Couples, New York Times, 08-02-2017

https://www.nytimes.com/2017/02/08/us/love-interrupted-a-travel-ban-separates-couples.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท