Skip to main content
sharethis
 
ยาสูบกำไรพุ่งสูงเฉียด 9 พันล้าน แจกโบนัส 7 เดือน
 
นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการยาสูบ เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของโรงงานยาสูบในรอบปี2559 ที่ผ่านมามีกำไรกว่า 8,863 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ที่มีกำไร 7,105 ล้านบาท จากผลประเมินของสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)โรงงานยาสูบอยู่ในระดับที่ดีมาก ส่งผลให้ปีนี้สามารถจ่ายโบนัสให้พนักงานถึง 7 เดือนค่อนข้างสูงกว่าเมื่อเทียบกับรัฐวิสาหกิจอื่นในกลุ่มเดียวกัน และสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาด เป็น77.08% จากปีที่ผ่านมา 76.17%
 
นางสาวดาวน้อย กล่าวว่า ผลกำไรที่เพิ่มขึ้นไม่ได้มาจากการรายได้จากการจำหน่ายบุหรี่ เพราะปริมาณการผลิตลดลง แต่เป็นผลกำไรจากประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานและผู้บริหารโรงงานยาสูบ โดยสามารถลดต้นทุนวัตถุดิบจากการบริหารจัดการและควบคุมค่าใช้จ่ายด้านในการผลิตบุหรี่ เช่น ซอง ก้นกรอง และสารปรุง ลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต การบริหารงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ ลดการทำงานล่วงเวลา การเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการตลาด/ การขายทำให้โรงงานยาสูบสามารถแย่งส่วนแบ่งจากบุหรี่ต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ต้นทุนการซื้อใบยาลดลง ซึ่งโรงงานยาสูบใช้ใบยาต่างประเทศลดลงโดยใช้ใบยาในประเทศที่มีคุณภาพสูงทดแทนการนำเข้า ทำให้ต้นทุนโดยรวมลดลง
 
นางสาวดาวน้อย กล่าวว่า ในปี2560 ตั้งเป้าหมายผลประกอบการไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยในปีงบประมาณ 2560โรงงานยาสูบ มีความมุ่งมั่นที่จะต้องเร่งผลักดันเรื่องต่างๆ ที่สำคัญทั้งที่เป็นเรื่องนโยบายของรัฐ และการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยเฉพาะในเรื่องการปรับสถานะองค์กรเป็นนิติบุคคล ล่าสุดร่างพระราชบัญญัติการยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ. … ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาคาดว่ากฎหมายจะผ่านสภานิติบัญญัติ(สนช.) และมีผลบังคับใช้ในปีนี้
 
นางสาวดาวน้อย กล่าวต่อว่า การเป็นนิติบุคคลจะเปิดโอกาสให้โรงงานยาสูบร่วมทุนกับต่างประเทศได้ ขณะนี้มีบริษัทยาสูบ ในประเทศ จีน ญี่ปุ่น สนใจที่จะเข้ามาร่วมทุนกับโรงงานยาสูบ โดยจีนติดต่อผ่านกระทรวงการคลัง และขณะนี้เริ่มเจรจากับโรงงานยาสูบบ้างแล้ว โดยเขาพร้อมจะรอกฎหมายนิติบุคคล เนื่องจากมั่นใจในกระบวนการผลิตของโรงงานยาสูบ คาดว่าการร่วมทุนจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท
 
ทั้งนี้ในการ่วมทุนโรงงานยาสูบตั้งเงื่อนไขการร่วมทุนคือ ไม่ใช่การผลิตเพื่อขายในประเทศ การผลิตยังเป็นของคนไทย และต้องใช้ใบยาสูบไทยไม่น้อยกว่า 70% นอกจากนี้ยังมีประเทศพม่า สิงคโปร์ สนใจจะมาจ้างผลิต แต่ต้องรอกฎหมายนิติบุคคลเช่นกัน
 
นางสาวดาวน้อย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในปี2560 โรงงานยาสูบเริ่มขยายตลาดไปต่างประเทศ โดยในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้จะไปเปิดตัวศูนย์กระจายสินค้าที่ประเทศ ลาว หลังจากนั้นเตรียมวางแผนจะไปเปิดตัวที่ประเทศฟิลิปปินส์ และวางเป้าหมายเปิดตัวปีละประเทศ ในแถบประเทศอาเซียน ซึ่งในการไปทำตลาดต่างประเทศนี้จะใช้ยี่ห้อเดิมที่โรงงานยาสูบผลิตอยู่แล้ว ส่วนจะเป็นยี่ห้อใด ขอไปสำรวจความต้องการของผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ ก่อน
 
นางสาวดาวน้อย กล่าวต่อว่า ยาสูบให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา เพื่อพัฒนาหรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เป็นมาตรฐานและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เตรียมนำกัญชง มาปลูกเพื่อนำมาใช้ในกระบวนการผลิตยาสูบ คาดว่าจะเริ่มปลูกมนปี2561 โดยครม. อนุมัติให้ปลูกกัญชงนำร่อง 6 จังหวัด 15 อำเภอ ในเขตภาคเหนือ ถ้าทำได้สำเร็จดีจะเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มรายได้ให้โรงงานยาสูบ และรัฐอย่างมหาศาล เพราะเมล็ดกัญชงมีราคาสูงมากเป็นล้านบาทต่อกิโลกรัม
 
 
กรณี 21 หญิงไทย รัฐตื่นเชื่อมข้อมูลแรงงานป้องกันทำผิดซ้ำ
 
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เร่งประชาสัมพันธ์เตือนประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะหญิงสูงอายุ ไม่ให้หลงเชื่อคำชักชวนของนายหน้า ไปทำงานผิดกฎหมายในประเทศมาเลเซีย เพราะจะถูกจับกุมดำเนินคดี มีโทษถึงจำคุก
 
คลิปวิดีโอที่จัดทำโดย ศอ.บต. เพื่อประชาสัมพันธ์ไม่ให้ประชาชนในพื้นที่ข้ามแดนไปทำงานแบบผิดกฎหมายในมาเลเซีย และอย่าเชื่อคำชักชวนของนายหน้า เพราะมีโทษสถานหนัก ถึงขั้นสูญสิ้นอิสรภาพ หากใครต้องการไปทำงานจริงๆ ควรปรึกษาสำนักงานจัดหางานจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสายด่วน ศอ.บต. 1880 ตลอด 24 ชั่วโมง การเผยแพร่คลิปวีดีโอนี้ เกิดขึ้นหลังมีเหตุการณ์หญิงสูงอายุจากชายแดนใต้ถูกทางการมาเลเซียจับกุมมากกว่า 200 คนตามหัวเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศ เพราะเข้าไปทำงานผิดกฎหมาย และตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ โดยมีการดำเนินคดีนายหน้าซึ่งเป็นคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย 2 คน ขณะที่ในฝั่งไทย เจ้าหน้าที่เพิ่งตื่นตัวออกหมายจับและดำเนินคดีกับขบวนการนายหน้ากลุ่มนี้
 
เมื่อวันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ ศอ.บต.ได้จัดประชุมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนกลาง ทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กรมการจัดหางาน กรมประชาสัมพันธ์ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยมี พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ ศอ.บต.เป็นประธาน เพื่อหารือแนวทางป้องกันปัญหาการข้ามแดนไปทำงานผิดกฎหมายในมาเลเซีย
เบื้องต้น ที่ประชุมเห็นชอบให้เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ เช่น การติดป้าย การจัดทำเอกสาร และการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลแรงงาน เพื่อไม่ให้บุคคลที่เคยกระทำความผิดในมาเลเซียแล้ว เดินทางกลับเข้าไปกระทำผิดซ้ำอีก ตลอดจนจัดกิจกรรมตลาดนัดพบแรงงานเพื่อส่งเสริมการมีอาชีพในพื้นที่ และการฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงาน
 
 
เร่งดึงแรงงานสัญชาติเมียนมา-ลาว-กัมพูชาเข้าระบบสุขภาพ
 
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน ทำให้มีการเคลื่อนย้ายประชากรอย่างเสรี โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ตาก กาญจนบุรี ตราด สระแก้ว นครพนม หนองคาย มุกดาหาร นราธิวาส และสงขลา เพราะฉะนั้น การดูแลด้านสุขภาพแรงงานต่างด้าว ต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไป ทั้งการลงทะเบียน การกำหนดสิทธิประโยชน์ การเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการ ระบบการเงินกองทุนหลักประกันตนคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว เพื่อให้การดูแลเป็นไปตามสิทธิประโยชน์ การบริหารจัดการกองทุนแรงงานต่างด้าว ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551
 
ดังนั้น เพื่อให้การดูแลสุขภาพแรงงานต่างด้าวครอบคลุมตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง 10 จังหวัด ส่งข้อมูลแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาวและกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานในลักษณะไป - กลับ หรือตามฤดูกาล ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ทุกเดือน พร้อมผลการตรวจสุขภาพและการประกันสุขภาพ ซึ่งผู้ที่เข้ามาทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษต้องตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในสถานบริการของรัฐ และมีการประกันสุขภาพในช่วงระยะเวลาไม่น้อยกว่าระยะเวลาที่ให้ทำงานในประเทศไทย
 
รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติให้ สธ.บริหารจัดการแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ในกลุ่มที่มีบัตรสีชมพู และกลุ่มที่มีเอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้ โดยจากการตรวจสัญชาติหรือพิสูจน์สัญชาติทุกกลุ่ม รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานต่างด้าวที่อายุไม่เกิน 18 ปี มีเอกสารหนังสือเดินทางที่เคยมีใบอนุญาตทำงานแล้ว ระหว่างวันที่ 1 เมษายน-29 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา มีแรงงานต่างด้าว ผู้ติดตามและคนต่างด้าวเข้ารับการตรวจสุขภาพและซื้อบัตรประกันสุขภาพ จำนวน 1,527,204 คน ประกอบด้วย สัญชาติเมียนมา 929,964 คน ลาว 96,558 คน กัมพูชา498,550 คน และสัญชาติอื่นๆ 2,132 คน
 
 
รวมตัวประท้วง พนักงานจุดเอ็กซเรย์สนามบินสุวรรณภูมิร้องขอเพิ่มค้าจ้าง
 
เมื่อเวลา 23.30 น. วันที่ 5 ก.พ. 60 ผู้สื่อข่าวเดินทางเข้าตรวจสอบ บริเวณ คอร์ท A 3 หน้าที่ทำการบริษัท asm ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หลังมีข้อมูลว่า พนักงานจุด X-Ray ราว 200 คน ที่ทำงานในสนามบินสุวรรณภูมิ รวมตัวประท้วงบริษัท เพื่อขอเพิ่มค่าแรงและสวัสดิการอื่น เมื่อไปถึงพบพนักงานบางส่วนยืนจับกลุ่มคุยกัน โดยมีเเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คอยดูแลความสงบเรียบร้อย
 
จากการสอบถามตัวแทนพนักงานหญิง อายุ 25 ปี รายหนึ่ง กล่าวว่า วันนี้พวกตนซึ่งเป็นพนักงานของ บริษัทรักษาความปลอดภัยเอเอสเอ็มแมเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ล็อกซเล่ย์ ทำงานในตำแหน่ง X-Ray อยู่บริเวณจุดตรวจค้นสัมภาระบริเวณอาคารผู้โดยสารขาออก และก่อนขึ้นเครื่องบิน ได้รวมตัวกัน ตั้งแต่เวลาประมาณ 20.30 น. ยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทเพื่อขอเพิ่มสวัสดิการ ทั้งในส่วนของ อัตราค่าจ้างทั้งรายวันและรายเดือน รวมถึงสิทธิ์ต่างๆ ของพนักงาน เช่น ขอปรับฐานเงินเดือนขึ้น จากเดิม 9,000 บาท เพิ่มอีก 310 บาท เป็น 9,310 บาท ก่อนรวมกับค่าทักษะ/ค่าล่วงเวลา 3 ชม. รายเดือนขอให้คิดต่อเดือน ส่วนรายวันคิดตามรายวันปกติ/โบนัสปีละ 1 เดือน/ควรให้มีวันหยุดนักขัตฤกษ์เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด 11 หรือ 13 วัน และมีกองทุนเลี้ยงชีพสำรอง
 
ทั้งนี้พวกตน จะทำงานกันวันละ 12 ชม.ต่อวัน แต่หากวันไหนต้องควบกะเท่ากับว่าต้องทำ 24 ชม. แต่เมื่อเงินเดือนออกพบว่า ค่ากะ ที่ทำเกินไปนั้นไม่ได้เงินแต่อย่างใด ซึ่งหลังจากที่พวกตนมานั่งรวมตัวเพื่อยื่นข้อเรียกร้อง ก็มีระดับผู้บริหารของ ASM มาเจรจาแต่เหมือนไม่ได้รับการดำเนินการใด ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้ยื่นข้อเรียกร้องนี้มาแล้ว 1 ครั้ง แต่เหมือนกับทางผู้บริหารบริษัทเลี่ยงไม่ให้คำตอบ และหากไม่ได้คำตอบตามที่เสนอ ในวันที่ 6 ก.พ. นี้ก็จะนัดรวมตัวขอความเป็นธรรมอีกครั้ง
 
ด้านเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดเผยว่า หลังเกิดปัญหาว่า มีพนักงานในตำแหน่งดังกล่าวบางส่วนหยุดงานทำให้ขาดกำลังคน จึงประสานขอเจ้าหน้าที่จากสนามบินใน ทอท.มาช่วยเสริม เนื่องจากบริษัทดังกล่าวเป็นผู้รับเหมาจาก ทอท.อีกทอดหนึ่ง ทั้งนี้เบื้องต้นพบว่าการให้บริการผู้โดยสารยังคงดำเนินการได้ตามปกติ
 
 
คน อปท.ส่อแววลำบาก งบฯค่ารักษาพยาบาลมีเหลือจ่ายถึงแค่ เม.ย.นี้
 
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) โดยนพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการแทนเลขาธิการ สปสช. กล่าวรายงานที่ประชุมวาระเร่งด่วนเรื่องงบประมาณ ว่า ในปีงบประมาณ 2561 มีผู้มีสิทธิรักษาตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง 48.797 ล้านคน ซึ่งได้เสนอของบประมาณเหมาจ่ายรายหัวรวมจำนวน 141,155.925 ล้านบาท โดยไม่รวมเงินเดือนของบุคลากรสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แต่สำนักงบประมาณได้เสนอรายงานไปยังพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ระบุงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวสปสช.อยู่ที่ 128,020.626 ล้านบาท แม้จะมากกว่างบประมาณเหมาจ่ายรายหัวปี 2560 อยู่ 4,554.98 ล้านบาท แต่น้อยกว่าที่สปสช.ทำคำของบประมาณอยู่ถึง 13,135.1624 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การหักเงินเดือนของบุคลากรปี 2561 สูงกว่าปี 2560 อยู่มาก ซึ่งจะมีปัญหาต่องบฯเหมาจ่ายรายหัวที่จะได้น้อยลง ทั้งนี้ จะประสานไปยังสำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอปรับลดการหักเงินเดือนลง
 
นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสปสช. นำเสนอเรื่องงบประมาณค่ารักษาพยาบาลสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของพนักงานหรือลูกจ้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ปีงบประมาณ 2559 -2560 ที่ไม่เพียงพอ ว่า ตามที่สปสช.ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับอปท.ในการบริหารจัดการกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของพนักงาน/ลูกจ้างอปท.และมีข้อตกลงว่าในปีใดที่งบประมาณจากอปท.ไม่เพียงพอให้สปสช.ทดลองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปพลางก่อนและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะดำเนินการชดเชยให้ในปีถัดไป ซึ่งปัจจุบันพบว่า อปท.มีจำนวน 7,851 แห่ง มีผู้ใช้สิทธินี้ 613,650 คน โดยข้อมูลการรับบริการสิทธิ อปท.ปีงบประมาณ 2557-2559 พบว่า ปี 2557 มีจำนวนเงินจ่าย 3,421 ล้านบาท เฉลี่ยคนละ 5,913 บาท ปี 2558 มีจำนวนเงินจ่าย 4,659 ล้านบาท เฉลี่ยคนละ 7,612 บาท และปี 2559 มีจำนวนเงินจ่าย 5,596 ล้านบาท เฉลี่ยคนละ 9,096 บาท แต่ในปีงบประมาณ 2560 พบว่าจะมีปัญหาการใช้จ่ายเงิน เนื่องจากมีจำนวนเงินเหลือ 3,403 ล้านบาท หากเบิกจ่ายเฉลี่ยเดือนละ 466 ล้านบาท งบนี้จะใช้ได้ถึงเดือนเมษายน 2560 เท่านั้น ซึ่งจากการประมาณการปี 2560 จะขาดเงินสำหรับจ่ายค่ารักษาพยาบาลของอปท. 2,648 ล้านบาท ดังนั้น ปีงบประมาณ 2561 ต้องใช้เงิน 9,046 ล้านบาท
 
ศ.เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวถึงเรื่องงบประมาณปี 2561 ว่า ตนจะประสานเพื่อหารือกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.ร.อ.ณรงค์ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่แท้จริงของงบประมาณในการให้สิทธิรักษาพยาบาลของผู้ถือสิทธิบัตรทอง ซึ่งปัจจุบันการบริหารตามงบประมาณที่ได้รับอยู่ก็เป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว เนื่องจากประชาชนมีอายุสูงขึ้น มีโรคมากขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีในการรักษาพยาบาลก็ทันสมัยมากขึ้น อายุยืนยาวขึ้น จำเป็นต้องใช้งบประมาณหลักประกันสุขภาพขึ้นด้วย ส่วนเรื่องงบฯค่ารักษาพยาบาลอปท.ตนจะหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.)อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการปรับบันทึกความร่วมมือระหว่างสปสช.กับท้องถิ่นเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้น รวมทั้งให้สปสช. จัดทำหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการเงินค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของพนักงาน/ลูกจ้าง อปท.ใหม่ด้วย
 
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวเพิ่มเติมเรื่องค่ารักษาพยาบาลของอปท.ว่า ในกรณีที่งบประมาณจะหมดลงเดือนเมษายนนี้ สปสช.ก็จะต้องหยุดการบริหารจัดการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้มีสิทธิดังกล่าว ส่วนการวางแผนในระยะยาวตนจะขอเข้าหารือกับคณะกรรมการกระจายอำนาจ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเกี่ยวกับงบประมาณที่จะมาสนับสนุนสิทธินี้ต่อไป ซึ่งจะดำเนินการให้ทราบรายละเอียดว่ามีแนวทางการดำเนินการอย่างไรก่อนเดือนเมษายน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้รับบริการ
 
 
เตือนไปทำงานเมืองนอกระวังถูกหลอกทางสื่อออนไลน์
 
เมื่อวันที่ 7 ก.พ.60 นายสิงหเดช ชูอำนาจ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า เมื่อเดือน ธ.ค.59-ม.ค.60 มีคนไทยไปทำงานและฝึกงานในต่างประเทศรวม 14,133 คน ในจำนวนนี้เดินทางไปทำงานในไต้หวัน 4,772 คน รองลงมาประเทศเกาหลีใต้ 1,839 คน และประเทศอิสราเอล 1,641 คน และมีผู้ที่ถูกระงับการเดินทางเพราะมีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานต่างประเทศ 259 คนโดยจะเดินทางไปประเทศเกาหลีใต้ 216 คน รองลงมาเป็นบาร์เรน จำนวน 21 คน ดังนั้น ผู้ที่สนใจต้องการจะไปทำงานในต่างประเทศควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ เพื่อป้องกันการถูกหลอกโดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ ดังนั้น หากบุคคลใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการไปทำงานต่างประเทศ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน 02-248-4792 หรือ สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694
 
 
ธอส. เตรียมสินเชื่อทำให้คนไทยมีบ้าน ไตรมาส 1-2 รองรับลูกค้าทุกสาขาอาชีพ อัตราดอกเบี้ยปีแรกเริ่มต้นร้อยละ 2.75 ต่อปี
 
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ปี 2560 ธนาคารเตรียมกรอบวงเงิน 41,200 ล้านบาท จัดทำสินเชื่อทำให้คนไทยมีบ้าน ไตรมาส 1 และไตรมาส 2 เพื่อลูกค้าทุกสาขาอาชีพ ประกอบด้วย สินเชื่อสำหรับกลุ่มลูกค้าสวัสดิการหน่วยงานของรัฐ วงเงิน 6,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 เท่ากับร้อยละ 3 ต่อปี ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.50 ต่อปี ปีที่ 3 จนถึงตลอดอายุสัญญากู้ อัตราดอกเบี้ย MRR-1.00 ต่อปี สินเชื่อสำหรับกลุ่มลูกค้าสวัสดิการธุรกิจเอกชน วงเงิน 8,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 เท่ากับร้อยละ 3.25 ต่อปี ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.50 ต่อปี ปีที่ 3 จนถึงตลอดอายุสัญญากู้ อัตราดอกเบี้ย MRR-1.00 ต่อปี สินเชื่อสำหรับกลุ่มลูกค้ากลุ่มลูกค้ารายย่อยทั่วไป วงเงิน 5,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 เท่ากับร้อยละ 3.50 ต่อปี ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.75 ต่อปี ปีที่ 3 จนถึงตลอดอายุสัญญากู้ อัตราดอกเบี้ย MRR-0.50 ต่อปี สินเชื่อสำหรับกลุ่มลูกค้าโครงการจัดสรรที่เข้าร่วมโครงการ วงเงิน 20,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 เท่ากับร้อยละ 2.75 ต่อปี ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.75 ต่อปี ปีที่ 3 จนถึงตลอดอายุสัญญากู้ กรณีลูกค้าสวัสดิการ อัตราดอกเบี้ย MRR-1.00 ต่อปี สินเชื่อโครงการสินเชื่อบ้าน ธอส. เพิ่มสุข ปี 2560 วงเงิน 2,000 ล้านบาท สำหรับลูกค้าธนาคารที่มีประวัติการผ่อนชะระดีสม่ำเสมอไม่น้อยกว่า 36 เดือน ให้กู้เพิ่มเพื่อซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกฯ อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-3 เท่ากับ MRR - 2.76 และ สินเชื่อสำหรับกลุ่มลูกค้าโครงการ ธอส. โรงเรียนการเงิน วงเงิน 200 ล้านบาท สำหรับผู้ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ ธอส. โรงเรียนการเงิน และปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขที่โครงการกำหนด อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-3 เท่ากับ MRR - 2.25 ต่อปี โดยประชาชนสามารถยื่นคำขอกู้และทำนิติกรรมได้แล้วตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2560 หรือภายใต้กรอบวงเงินที่ธนาคารกำหนด ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th
 
 
รมว.แรงงาน ลงนามประกาศกระทรวง จ่ายเงินทดแทนในกรณีว่างงาน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ให้ลูกจ้างที่ประสบเหตุอุทกภัย รับเงินทดแทนไม่เกิน 180 วัน
 
วันที่ 8 ก.พ. 60 นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ตามที่เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อขอให้เร่งประกาศกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. ... โดยเฉพาะกรณี 12 จังหวัดภาคใต้ประสบอุทกภัย เมื่อช่วงที่ผ่านมานั้น
 
ล่าสุด พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน ได้ลงนามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 134 ตอนที่ 7 ก ลงวันที่ 17 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว กำหนดให้ลูกจ้าง ซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ตามมาตรา 79/1 จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทน ในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน เนื่องจากประสบเหตุอุทกภัย โดยกรณีนี้จะได้รับเงินทดแทนไม่เกิน 180 วัน ซึ่งทั้งหมดจะต้องผ่านการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าได้รับผลกระทบจากอุทกภัย หรือกรณีเหตุสุดวิสัยอื่น ๆ
 
นายสุรเดช กล่าวอีกว่า ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ได้มีการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งขึ้นอยู่กับนายจ้างว่าสามารถจ่ายเงินทดแทนให้ลูกจ้างในอัตราร้อยละ 75 ได้หรือไม่ หากนายจ้างไม่สามารถจ่ายได้ นายจ้างก็จะต้องทำหนังสือแจ้งมาทางสำนักงานประกันสังคมว่าไม่มีความสามารถที่จะจ่ายได้ จากนั้นเมื่อทางสำนักงานประกันสังคมได้รับหนังสือแล้ว ตามระยะเวลาดำเนินการจะใช้เวลาไม่เกิน 3-7 วันก็จะสามารถจ่ายเงินทดแทนให้ลูกจ้างได้ โดยจะโอนเงินจำนวนนั้นๆ ให้แก่ลูกจ้างตามบัญชีธนาคาร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประกันตนทั้ง 12 จังหวัดที่ประสบอุทกภัย โดยสำนักงานฯ จะเข้าช่วยเหลือลูกจ้างโดยที่นายจ้างไม่จำเป็นต้องเลิกจ้างบุคคลเหล่านี้
 
 
ครม.ไฟเขียว เพิ่มค่ารักษาให้ลูกจ้างเจ็บป่วยจากงาน สูงเกินกว่า 1 ล้าน
 
เลขาธิการ สปส. เผย ที่ประชุม ครม. เห็นชอบเพิ่มสิทธิการรักษาพยาบาล เมื่อลูกจ้างประสบอันตราย-เจ็บป่วยจากการทำงาน อัตราค่ารักษาพยาบาลสูงเกินกว่า 1 ล้านบาทคาดบังคับใช้เดือน มี.ค.
 
วันที่ 7 ก.พ. 60 นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ได้เห็นชอบกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาล ที่ให้นายจ้างจ่าย (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยร่างกฎหมายกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลฯ ดังกล่าว ได้กำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาล เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน และการบาดเจ็บมีความรุนแรง มีอัตราค่ารักษาพยาบาลสูงเกินกว่า 1 ล้านบาท กรณีเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษา โดยกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นจนสิ้นสุดการรักษา
 
ส่วนกรณีลูกจ้างมีความจำเป็น หรือมีเหตุผลสมควรที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรก แต่ภายหลังได้เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐ ก็ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริง จนสิ้นสุดการรักษา โดยขั้นตอนต่อจากนี้จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา และเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานลงนามประกาศใช้ คาดว่าในเดือนมีนาคมจะสามารถบังคับใช้ได้
 
นายสุรเดช กล่าวอีกว่า ในการเสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย (ฉบับที่...) พ.ศ. ... สืบเนื่องจากอัตราค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายให้ตามกฎกระทรวงเดิม ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ลูกจ้างให้ได้รับการรักษาจนหายดี
 
 
กระทรวงกลาโหมเตรียมจัดโซนนิ่งพื้นที่แรงงานต่างด้าว นำร่องสมุทรสาคร-ระนอง
 
วันนี้ (8ก.พ.60) พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม (รมว.กห.) กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ครั้งที่ 2/2560 ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (รมว.กห.) เป็นประธานการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีการรายงานความก้าวหน้าในการบริหารจัดการแบะควบคุมแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ โดยมีผลการทำงานที่คืบหน้าไปมาก ปัจจุบันมีแรงงานด้าวในไทย 2.63 ล้านคน ซึ่งจำเป็นต้องรักษาแรงงานกลุ่มนี้ไว้ในประเทศไทย เพราะเป็นกลุ่มที่ประกอบอาชีพที่คนไทยไม่ทำ ขณะเดียวกันมีแรงงานที่ไม่ถูกต้องตามกฏหมายอยู่ระหว่างรอพิสูจน์สัญชาติประมาณ 1.34 ล้านคน ซึ่งได้มีการกำหนดมาตราการสำหรับกลุ่มนี้ไว้ 2 มาตรการ ได้แก่ กลุ่มแรงงานประมงหลังสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผัน 15 วันในเดือนพฤศจิกายน 2560 จะส่งแรงงานกลุ่มดังกล่าวกลับประเทศโดยไม่ถือเป็นความผิด ส่วนแรงงานที่ทำถูกต้องตามกฏหมายจะได้รับการผ่อนผัน 8 ปีคือ ปี 2557-2565 ซึ่งจะมีการทำใบอนุญาตในรูปแบบสมาร์ทการ์ดที่มีข้อมูลครบถ้วนไม่สามารถปลอมแปลงได้ จากนั้นจะใช้แอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือเพื่อตรวจพิสูจน์แรงงานต่างด้าวได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี
 
นอกจากนี้ จะมีการจัดระเบียบโซนนิ่งพื้นที่กลุ่มแรงงานต่างด้าว โดยนำร่อง 2 จังหวัดคือจังหวัดสมุทรสาครและระนอง ก่อนจะขยายเพิ่มเติมอีก 13 จังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวในพื้นที่เกิน 5 หมื่นคน โดยเชื่อว่าจะช่วยปลดล็อคปัญหาต่างๆ ใหห้คลี่คลาย อาทิ ปัญหาการกีดกันสินค้าจากต่างประเทศ ปัญหาการค้ามนุษย์และปัญหาอื่นๆ ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าว่าในปี 2565 จะไม่มีแรงงานต่างด้าวผิดกฏหมาย แต่เข้ามาอยู่ในระบบทั้งหมด
 
การรายงานความคืบหน้าการทำประมงผิดกฏหมาย (IUU) ที่ไทยได้ส่งรายงานการดำเนินงานในรอบ 6 เดือนให้สหภาพยุโรป หรือ อียูไปแล้วนั้น โดยพล.อ.ประวิตร ได้กำชับว่า อียูยังมีข้อกังวลเรื่องการแก้ไขกฏหมายจึงขอให้เร่งรัดปรับแก้กฏหมายให้เป็นไปตามหลักสากล พร้อมเน้นย้ำการควบคุมเรือประมงนอกน่านน้ำ ซึ่งขณะนี้มีเรือไทยจำนวน 14 ลำออกไปทำประมงนอกน่านน้ำในพื้นที่สุ่มเสี่ยงทำผิดกฏ IUU จึงได้เรียกเรือไทยทั้ง 14 ลำกลับมาแล้ว
 
นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน ว่าวันที่ 30 มิ.ย. 2560 จะมีการตรวจภายใน 10 สายการบิน และจะมีการยืนยันความพร้อมเพื่อให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาตรวจสอบได้ภายในเดือนก.ค.2560 อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าไทยจะสามารถปลดธงแดงการแก้ปัญหา ICAO ได้ภายในปี 2560 นี้
 
 
ก.แรงงาน ยกระดับมาตรฐานช่างทำฟันปลอม
 
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.)เปิดเผยหลังเข้าตรวจเยี่ยมสถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ในวันนี้ (วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560) ที่บริษัท เอ็กซา ซีแลม จำกัด เพื่อส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานในภาคอุตสาหกรรม และเตรียมความพร้อมให้แก่แรงงานในการก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0
 
บริษัท เอกซา ซีแลม จำกัด เป็นบริษัทฯ ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตฟันปลอมและงานทันตกรรมจัดฟัน ผลิตงานทันตกรรมครบวงจรมากว่า 19 ปี มีพนักงานรวมทั่วประเทศกว่า 600 คน ให้บริการทั้งภายในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในฐานะ“เจ้าพ่อโคลนนิ่งฟันปลอม”สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ต.สันพระเนตร อ.สันทราย จังหวัดเชียงใหม่ บริษัทฯ ได้เข้าร่วมโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 กับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูง ภาคเหนือตอนบน 1 เชียงใหม่ เพื่อพัฒนาทักษะและยกระดับความรู้ของพนักงาน ให้มีความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และต้องการลดการสูญเสียในวงจรการผลิต
 
นายธีรพล กล่าวต่อไปว่า โครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ที่กพร.ดำเนินการนั้น เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มุ่งเน้นเพิ่มผลิตภาพแรงงาน พร้อมสู่ไทยแลนด์ 4.0 ด้วย เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมีเป้าหมายในการRe-skillแรงงานไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะสูง ได้มาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยเน้นการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์ และองค์ความรู้ด้านการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน โดยเฉพาะการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ให้กับพนักงาน ตามแนวทางSTEM Workforceให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดการสูญเสียในวงจรการผลิตหรือบริการ เพื่อลดต้นทุนที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม และนำไปเป็นต้นแบบในสายการผลิตอื่นต่อไปด้วย
 
ปัจจุบัน คณะที่ปรึกษาโครงการและผู้ควบคุมงานของโครงการเพิ่มผลิตภาพ ได้ให้คำปรึกษาแก่บริษัท และดำเนินการอยู่ในช่วงที่ 2 คือการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะให้กับพนักงานให้มีความรู้เกี่ยวกับการเพิ่มผลิตภาพ โดยให้แนวคิดการผลิตแบบ LEAN มาใช้ลดการสูญเสียของกระบวนการผลิต
 
นายอภิชัย มีเกียรติชัยกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอกซา ซีแลม จำกัด กล่าวว่า นอกจากบริษัทฯ จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าวแล้ว ยังร่วมกันจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพ“สาขาช่างทันตกรรม ระดับ 1”ด้วย ซึ่งในการจัดทำมาตรฐานฯ ดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ในการคัดเลือกบุคลากรเข้าทำงาน สามารถนำมาตรฐานฯ ไปใช้วัดระดับความรู้ความสามารถ ทักษะฝีมือ รวมถึงทัศนคติต่อการทำงานของพนักงาน หรือใช้ในการวางแผนการพัฒนาทักษะให้กับพนักงานให้สูงขึ้น หรือเลื่อนตำแหน่งงานให้กับพนักงาน ช่วยลดปัญหาความขัดแย้ง
 
"อีกทั้งเป็นการเพิ่มคุณภาพของสินค้าและการบริการ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และที่สำคัญพนักงานเองก็จะได้ทราบระดับทักษะฝีมือและข้อบกพร่องของตนเอง และรับค่าจ้างค่าที่เป็นธรรมอีกด้วย"นายอภิชัย กล่าว
 
 
“จ๊อบไทย” เปิดโผ ขาย-ช่างเทคนิค-บริการ มาแรงรับต้นปี 60 พร้อมเผยกลุ่มอาชีพอนาคตสดใส ยังโตต่อเนื่อง
 
จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) เว็บไซต์หางาน สมัครงาน อันดับ 1 ของประเทศไทยเปิดเผยสถานการณ์ด้านแรงงานต้นปี 2560 พบว่า จากฐานข้อมูลของเว็บไซต์มีอัตราความต้องการแรงงานทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 1.6 %เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 โดยแบ่งเป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 60,548 อัตรา ภาคตะวันออก จำนวน 9,400อัตรา ภาคกลาง จำนวน 3,177 อัตรา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 2,280 อัตรา ภาคเหนือ จำนวน 1,036 อัตรา และภาคใต้ จำนวน 986 อัตรา ส่วนกลุ่มสาขาอาชีพที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ งานขาย จำนวน 18,313 อัตรา งานช่างเทคนิคสายต่างๆ-ซ่อมบำรุง จำนวน 8,090 อัตรา งานวิศวกรรม จำนวน 6,564 อัตรา งานผลิต-ควบคุมคุณภาพ จำนวน 5,996 อัตรา และงานบริการ จำนวน 5,571 อัตรา ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประจำเดือนธันวาคม 2559 พบว่าความต้องการแรงงานด้านการขาย การบริการ และการซ่อมบำรุง ทั่วประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 1.7 แสนคน
 
นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการเว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) กล่าวว่า สถานการณ์แรงงานไทยในช่วงปลายปีจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติที่สำรวจเมื่อเดือนธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้มีงานทำประมาณ 37 ล้านคน โดยจำนวนของผู้มีงานทำนั้นได้กระจายการทำงานอยู่หลากหลายสาขาอาชีพ นอกจากนี้ยังพบว่าสาขาอาชีพที่มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มการขาย การบริการ และการซ่อมบำรุง ที่มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นจำนวนกว่า 1.7 แสนคน (ที่มา: ผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนธันวาคม ปี 2559สำนักงานสถิติแห่งชาติ)
 
จากข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับฐานข้อมูลของเว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอมที่มีผู้ลงทะเบียนใช้งานกว่า 1.2 ล้านคน รวมถึงบริษัทและองค์กรชั้นนำอีกมากมาย พบว่าความต้องการแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีจำนวนงานอยู่ที่ 60,548อัตรา รองลงมาคือภาคตะวันออก จำนวน 9,400 อัตรา ภาคกลาง จำนวน 3,177 อัตรา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 2,280 อัตราภาคเหนือ จำนวน 1,036 อัตรา และภาคใต้ จำนวน 986 อัตรา ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 เพิ่มขึ้น 1.6 %ส่วนสาขาอาชีพที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ งานขาย จำนวน 18,313 อัตรา งานช่างเทคนิคสายต่างๆ-ซ่อมบำรุง จำนวน 8,090 อัตรา งานวิศวกรรม จำนวน 6,564 อัตรา งานผลิต-ควบคุมคุณภาพ จำนวน 5,996 อัตรา และงานบริการ จำนวน 5,571 อัตรา
 
นอกจากนี้ จ๊อบไทยดอทคอม ยังได้วิเคราะห์ทิศทางการเติบโตของสาขาอาชีพในช่วงระหว่างปี 2557-2560 พบว่าอาชีพที่มีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ งานผลิต-งานควบคุมคุณภาพ คิดเป็น 33% งานด้านบริการ คิดเป็น 17% งานโยธา-สถาปนิก คิดเป็น 14% งานการตลาด คิดเป็น 6% และงานวิศวกรรม คิดเป็น 3% ส่วนกลุ่มงานที่มีแนวโน้มการเติบโตลดลง ได้แก่ กลุ่มงานด้านภูมิศาสตร์ ลดลง 68% งานสื่อสิ่งพิมพ์ ลดลง 57% งานอัญมณี-เครื่องประดับ ลดลง 45% และงานนักเขียน-บรรณาธิการ ลดลง 32% ตามลำดับ
 
ทั้งนี้ การที่กลุ่มงานผลิตและบริการมีอัตราความต้องการแรงงานเฉลี่ยเติบโตเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาคการผลิตได้รับปัจจัยสนับสนุนมาจากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวก็มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริการขยายตัวดีตามไปด้วย ส่วนกลุ่มงานสื่อสิ่งพิมพ์ มีอัตราการเติบโตลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะคนเริ่มถูกแทนที่ด้วยวิวัฒนาการของเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต รวมถึงการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ในการบริโภคข่าวสารในชีวิตประจำวันมากขึ้นนั้นเอง นางสาวแสงเดือน กล่าวเสริม
 
อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ผู้ว่างงานของไทยประจำเดือนธันวาคม ปี 2559 ที่มีจำนวนกว่า 3 แสนคน (ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ) อาจเป็นตัวเลขที่ดูค่อนข้างน่าตกใจ แต่ภาวะการว่างงานจะเป็นไปตามกลไกของระบบเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งเมื่อตลาดความต้องการแรงงานในประเทศไทยเปลี่ยนไป ตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดย่อมเปลี่ยนตามไปด้วย ดังนั้น ไม่อยากให้คนที่กำลังมองหางานรู้สึกวิตกกังวลจนเกินไป เพราะบางตำแหน่งงานมีแนวโน้มเติบโตและเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นเช่น กลุ่มงานขาย ที่มีจำนวนความต้องการแรงงานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ฉะนั้น หากแรงงานไทยมีการพัฒนาด้านทักษะที่เกี่ยวข้องกับสาขาอาชีพที่กล่าวมา รวมถึงติดตามความต้องการของตลาดแรงงานอยู่ตลอดเวลาก็จะช่วยเสริมโอกาสในการได้งานที่มากขึ้นเช่นกัน นางสาวแสงเดือน กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) โทรศัพท์ 02-353-6999 หรือเข้าไปที่ www.jobthai.com
 
 
แรงงานต่างด้าวลำพูนกว่า 30 คนถูกหลอกต่อพาสปอร์ต สูญคนละเกือบหมื่น
 
(9 ก.พ.) ร.ต.อ.พัสกร ปรุงเครื่อง พนักงานสอบสวนเวร สภ.นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ลำพูน ได้รับแจ้งจากกลุ่มแรงงานต่างด้าวชาวไทใหญ่ สัญชาติพม่ากว่า 10 คนว่า ตนเป็นแรงงานที่มารับจ้างในโรงงานอบลำไยที่อำเภอป่าซาง เข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมายและขึ้นทะเบียนแล้วเรียบร้อย ต่อมาพาสปอร์ตพวกตนหมดอายุ จึงไปติดต่อเพื่อขออนุญาตทำงานต่อ และมีนายวิท ไม่ทราบนามสกุลเปิดสำนักงานอยู่ย่านศูนย์ราชการแรงงาน ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน มาชักชวนให้พวกตนต่อใบอนุญาตทำงานและรับทำพาสปอร์ตให้ หรือรับเป็นนายหน้าให้พวกตนในการดำเนินการอำนวยความสะดวกทุกอย่างในการเดินเรื่องยื่นเรื่องเอกสารต่างๆ โดยขอเงินในการดำเนินการคนละ 8,000 บาท
 
พวกตนเห็นว่าสะดวกสบายไม่ต้องเดินทางไปดำเนินการให้ยุ่งยากจึงยินยอมจ่ายเงินให้ไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 59 จนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับการต่อพาสปอร์ตแต่อย่างใด สอบถามก็บ่ายเบี่ยงมาตลอดหลอกว่าจะมารับไปด่านชายแดนเพื่อไปเซ็นหนังสือหลายครั้งก็รอเก้อ จนทนไม่ไหวเพราะพวกตนก็กลัวโดนตำรวจจับจึงรวมตัวกันมาแจ้งความ และทราบว่ายังมีเพื่อนแรงงานด้วยกันอีกกว่า 30 รายก็โดนหลอกแบบเดียวกันอีกด้วย
 
หลังได้รับแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประสานเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดลำพูนมาดำเนินการต่อ และจะติดตามตัวบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างถึงและที่มีพฤติกรรมดังกล่าวมาสอบสวนหาข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
 
 
แบงก์หั่นเป้าวัด KPI พนง.ขายประกัน ล้อมคอกปัญหายัดเยียดขายลูกค้า-ลดข้อร้องเรียน
 
แบงก์เพิ่งตื่นปรับระบบวัดผลงานพนักงานขายประกัน หวังลดปัญหาข้อร้องเรียนยัดเยียดขายประกันให้ลูกค้า ล่าสุดค่าย "ไทยพาณิชย์" โละระบบ KPI หันมาเป็นวัดผลงานพนักงานขายประกัน 50% จากอดีตวัด 100% ลดแรงกดดันตั้งเป้ายอดขาย ฟาก "ทหารไทย" งัดวิธีวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าก่อนขาย ลดขายซ้ำซ้อน-หยุดปัญหาซื้อประกันพ่วงบัตรเอทีเอ็ม ส่วน "กรุงไทย" เข้มพนักงานบริการไม่ดีมีสิทธิ์ถูกหักคะแนน KPI
 
นางกิตติยา โตธนะเกษม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ในปีนี้ธนาคารจะให้ความสำคัญต่อการวางแนวทางการขายประกันมากขึ้น โดยหวังว่าจะช่วยลดข้อร้องเรียนด้านการยัดเยียดขายประกันจากพนักงานของธนาคาร ตามคาดหวังของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องการให้ทั้งระบบธนาคารลดข้อร้องเรียนจากการขายประกัน
 
ทั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ปรับปรุงกระบวนการขายประกันของพนักงาน โดยเปลี่ยนแปลงการวัดผล หรือการประเมินผลงานของพนักงาน (KPI) ใหม่ เป็นวัดจากคะแนนหรือผลงานจากการขายประกันของพนักงานเพียง 50% ขณะที่อีก 50% เป็นการวัดคะแนนจากความพึงพอใจของผู้ซื้อประกันว่าพึงพอใจหรือไม่ หลังจากนั้นจะนำมาคำนวณเป็นคะแนน เพื่อนำไปวัด KPI ซึ่งต่างจากในอดีตที่วัด KPI ของพนักงานจากยอดการขายประกันเกือบเต็ม 100%
 
ดังนั้น เมื่อปรับเปลี่ยนวิธีการวัดผล KPI ด้านการขายประกันของพนักงานธนาคารแล้ว น่าจะสามารถลดแรงกดดันพนักงานในการขายประกันลดลง ทำให้พนักงานไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การทำยอดขายประกันเพียงอย่างเดียว แต่จะหันมาปรับปรุงประสิทธิภาพการขายประกันเพื่อให้เข้าถึงความต้องการและสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าได้อย่างแท้จริงโดยหวังว่าจะสามารถลดการร้องเรียนเกี่ยวกับการยัดเยียดการขายประกันจากพนักงานธนาคารได้ในที่สุด
 
นายปิติตัณฑเกษมประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจธนาคารทหารไทย(TMB) กล่าวว่า บริษัทได้วางแผนเพื่อลดปัญหาจากข้อร้องเรียนด้านการขายประกันของพนักงานธนาคาร ด้วยการวางแนวทางการปฏิบัติให้แก่พนักงาน โดยกำหนดให้มีการพิจารณาข้อมูลลูกค้าก่อนที่จะเสนอขายได้แก่ ฐานเงินเดือน เงินฝาก และกรมธรรม์ที่ลูกค้าธนาคารถืออยู่ เป็นต้น
 
ยกตัวอย่าง เช่น หากดูจากธุรกรรมทางการเงินแล้วพบว่า ลูกค้าเป็นลูกค้าที่มีศักยภาพในการซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือซื้อประกันได้ พนักงานก็สามารถแนะนำแก่ลูกค้าธนาคารได้ แต่ต้องไม่เสนอขายสำหรับลูกค้าธนาคารที่มีกรมธรรม์ประกันอยู่แล้ว ทั้งประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ โดยกลุ่มนี้ให้พนักงานลดการแนะนำการขายประกันลง และหันไปเน้นธุรกรรมอย่างอื่นแทนที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เช่น เงินฝากประจำแบบสะสมทรัพย์ หรือการลงทุนรูปแบบอื่น ๆ
 
"สิ่งสำคัญคือไม่ควรขายซ้ำซ้อน ไม่ใช่ว่าเห็นลูกค้ามีเงินฝากเยอะ และมีประกันอยู่แล้ว 2-3 ประกันก็ยังเสนอขายอีก อันนี้ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ หรือแนะนำให้ซื้อประกันพ่วงเอทีเอ็ม แล้วบอกว่าบัตรหมด อันนี้ต้องทำให้พนักงานหมดข้ออ้าง โดยการสื่อสารกับลูกค้าตลอดว่าแบงก์มีบัตรที่ไม่พ่วงประกันเพียงพอ" นายปิติกล่าว
 
นายเชิดชัย ชมภูนุกูลรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน สายงานเครือข่ายธุรกิจขนาดเล็กและรายย่อยธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาธุรกิจการขายประกันผ่านธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันซ์) ในส่วนของธนาคารไม่มีการร้องเรียนมากนัก เพราะมีการพูดคุยกับพนักงานให้ไม่มีการบังคับขายประกัน หากลูกค้าไม่มีความต้องการ
 
โดยหลายปีมานี้ ทางธนาคารได้ปรับระบบ KPI ให้มี 2 ส่วน คือ 1.KPI ของสาขา ว่าในเชิงของเบี้ยประกันรับรวม และ 2.KPI ส่วนความพึงพอใจของลูกค้า ว่ามีการแนะนำได้ตรงความต้องการของลูกค้าหรือไม่
 
"ปัจจุบันพนักงานเราไม่มีการบังคับขายประกันอยู่แล้วเรื่องร้องเรียนจึงน้อยมากเพราะเราเน้นเรื่องความพึงพอใจของลูกค้าเป็นหลักซึ่งเราจะมีKPI ด้านความพึงพอใจเสมอ เช่น ลูกค้ามาใช้บริการธนาคาร เราก็จะมีบริษัทวิจัยโทร.ไปสอบถามความพึงพอใจกับตัวลูกค้าโดยตรง ถ้าพนักงานเราบริการไม่ดี ก็จะถูกหักคะแนน KPI เช่นกัน" นายเชิดชัยกล่าว
 
 
กระทรวงแรงงาน เร่งแก้ปัญหาสินค้าไก่ส่งออก ดำเนินคดีฟาร์มไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ปรับเป็นเงินกว่า 2 แสนบาท
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีประเทศเยอรมนีระงับการนำเข้าสินค้าไก่สดและแปรรูปของไทย ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2559 โดยมีสาเหตุมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานของนายจ้าง ส่งผลให้ไทยสูญเสียรายได้จากการส่งออกถึงปีละกว่า 4 พันล้านบาท
 
"พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยในปัญหาดังกล่าว เนื่องจากอุตสาหกรรมสัตว์ปีกของไทยโดยเฉพาะไก่สดและไก่แปรรูปเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 4 ของโลก สามารถทำรายได้เข้าประเทศสูงถึงปีละ 8 หมื่นล้านบาท"นายสุเมธ กล่าว
 
นายสุเมธ กล่าวอีกว่า รมว.แรงงาน จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้ความสำคัญกับการจ้างงานแบบมีธรรมาภิบาล กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในฐานะหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลบังคับใช้กฎหมายได้ดำเนินการตรวจแรงงานในอุตสาหกรรมฟาร์มไก่อย่างเข้มข้น เพื่อให้แรงงานได้รับความเป็นธรรมจากการจ้าง
 
"ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 กสร.ได้ดำเนินคดีนายจ้าง ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จำนวน 4 แห่ง โดยเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 204,616 บาท และตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึงธันวาคม 2559 ได้ดำเนินการตรวจฟาร์มชำแหละ แปรรูป และแช่แข็งไก่ จำนวน 217 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 4,039 คน พบการกระทำผิดและออกคำสั่งให้ปฏิบัติให้ถูกต้องจำนวน 43 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 1,064 คน"อธิบดี กสร.กล่าว
 
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ควบคู่ไปกับการตรวจบังคับใช้กฎหมาย กสร.ได้ดำเนินการส่งเสริมให้ฟาร์มเลี้ยงไก่นำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี(Good labour Practices : GLP) ไปปรับใช้เพื่อให้เกิดสภาพการจ้าง การทำงานที่เป็นธรรม แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ฟาร์มไก่และสถานที่ฟักไข่สัตว์ปีกได้ให้ความร่วมมืออย่างดี ปัจุบันมีฟาร์มฯที่เข้าร่วมแล้ว 3,435 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้องจำนวน 24,505 คน
 
 
การบินไทยยืนยันพนักงานไม่ประท้วงหยุดงาน
 
นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวพนักงานการบินไทยนัดหยุดงานนั้น จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น ยืนยัน ว่าจะไม่มีเหตุการณ์นัดหยุดงานหรือเหตุการณ์ใดๆ ที่จะส่งผล กระทบต่อการให้บริการของการบินไทย เนื่องจากบริษัทได้มีการประชุมกับพนักงาน และสหภาพแรงงานพนักงานการบินไทยอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อวันที่ 9 ก.พ.มีการประชุมกับพนักงานครั้งล่าสุด และมีผู้แทนสหภาพแรงงานฯ เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งพนักงานทุกฝ่ายเข้าใจถึงสถานการณ์ของบริษัท ในประเด็นการขึ้นเงินเดือนประจำปี 2559 อยู่ในกรอบ 6% ซึ่งเป็นที่ยุติแล้ว ส่วนประเด็นเงินเพิ่มพิเศษตามผลการปฏิบัติงาน ยังจำเป็นต้องรอผลประกอบการประจำปี 2559 ซึ่งต้องผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายเดือน ก.พ. นี้
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net