Skip to main content
sharethis

หลากหลายความคิดเห็นต่อการแบ่งขั้วในสหรัฐอเมริกาจากการเลือกตั้งล่าสุด หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา รัฐ หรือแม้กระทั่งชนชั้น แต่เจฟฟรีย์ ดี แซคส์ นักวิชาการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจากยูเอ็นมองต่างออกไปว่าปรากฎการณ์โดนัลด์ ทรัมป์ ในสหรัฐฯ เป็นการแบ่งแยกทางความคิดระหว่างคนต่างรุ่น

เจฟฟรีย์ ดี แซคส์ ในที่ประชุมเวิลด์อิโคโนมิกฟอรัม ในปี 2011 (ที่มา: แฟ้มภาพ/World Economic Forum/Wikipedia)

เจฟฟรีย์ ดี แซคส์ (Jeffrey D. Sachs) เป็นศาตราจารย์ด้านด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและด้านนโยบายกับการจัดการด้านสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย รวมถึงเป็นผู้อำนวยการเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติเขาเขียนบทความเกี่ยวกับกรณีการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของสหรัฐฯ ที่กลุ่มคนยุคมิลเลนเนียล (อายุ 18-35 ปี) จำนวนมากโหวตให้ฝ่ายตรงข้ามของโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ทำให้เขาบอกว่าการแบ่งแยกทางความคิดในสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นเรื่องของคนที่อยู่ต่างรัฐกันหรือเรื่องของการแย่งแยกทางพรรคการเมือง แต่เป็นเรื่องการแบ่งแยกคนต่างรุ่น

ถึงแม้ว่าชาวอเมริกันที่มีอายุมากก็มีความแตกต่างทางความคิดด้วยเช่นกัน แซคส์มองว่าฐานเสียงของทรัมป์จะเป็นคนที่มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป และดูจากประเด็นต่างๆ แล้ว คนหนุ่มสาวจะปฏิเสธทรัมปื โดยมองว่าเขาเป็นนักการเมืองในอดีต ไม่ใช่นักการเมืองสำหรับอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าการประเมินเช่นนี้เป็นการมองโดยภาพรวมเฉลี่ยๆ ไม่ได้หมายความว่าทุกคนในช่วงอายุต่างกันจะต้านหรือหนุนทรัมป์เหมือนกันหมด

บทความในเว็บไซต์โปรเจกท์ซินดิเคทเผยแพร่เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ อ้างถึงตัวเลขจากผลเอ็กซิทโพลล์ของการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2559 ที่ระบุว่าทรัมป์ได้รับคะแนนโหวตร้อยละ 53 จากคนอายุ 45 ขึ้นไป ร้อยละ 42 จากคนอายุ 30-44 ปี และร้อยละ 37 จากคนอายุ 18-29 ปี รวมถึงผลการสำรวจปี 2557 ที่ระบุว่ามีคนยุคมิลเลนเนียลร้อยละ 31 นิยามตัวเองว่าเป็นเสรีนิยม เทียบกับร้อยละ 21 ของคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ (อายุ 50-68 ปี) และร้อยละ 18 ของคนอายุ 69 ปีขึ้นไป

ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าคนเรายิ่งแก่ตัวไปจะยิ่งเป็นอนุรักษ์นิยม แต่แซคส์ตั้งข้อสังเกตว่าคนรุ่นใหม่กว่าจะเป็นเสรีนิยมกันมากกว่าคนรุ่นก่อน สำหรับพวกเขาแล้วการที่สหรัฐฯ จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และเพศสภาพ-เพศวิถี ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร พวกเขารู้จักคุ้นเคยกับประเทศของตัวเองในฐานะที่มีทั้งคนขาว คนดำ ฮิสแปนิค และเอเชีย อยู่ร่วมกันทั้งคนที่เกิดในประเทศและคนที่อพยพเข้าประเทศ พวกเขายอมรับความหลากหลายของนิยามทางเพศไม่ว่าจะเป็นเกย์ ไบ เลสเบียน คนข้ามเพศ หรือเพศอื่นๆ ที่สิ่งเล่านี้เคยกลายเป็นอะไรที่ต้องห้ามหรือไม่เป็นที่รับรู้ในยุครุ่นปู่ย่าหรือก็คือยุคเดียวกับทรัมป์

บทความของแซคส์ชี้ให้เห็นในประเด็นต่อมาคือคนรุ่นหนุ่มสาวต้องเผชิญปัญหาความท้าทายด้านเศรษฐกิจจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงด้านข้อมูลข่าวสาร พวกเขาต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานในยุคที่ตลาดเปลี่ยนแปลงเข้าหาทุน (หุ่นยนต์, ปัญญาประดิษฐ์, และเครื่องจักรที่มีปัญญาทั่วๆ ไป) และออกจากแรงงาน ขณะที่คนแก่รวยๆ กลับได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีนี้ที่ส่งผลต่อการบูมของตลาดหุ้น

แซคส์ระบุว่าทรัมป์เสนอนโยบายลดภาษีให้กับพวกบรรษัทและอสังหาริมทรัพย์ที่จะยิ่งเป็นการให้ประโยชน์กับคนแก่รวยๆ เข้าไปอีก ซึ่งคนแก่รวยๆ เหล่านี้บางส่วนก็ยังเข้าไปร่วมในรัฐบาลทรัมป์ด้วย แต่ก็เป็นการทำให้งบประมาณขาดดุลกลายเป็นว่าคนรุ่นหนุ่มสาวต้องแบกรับภาระ โดยที่คนหนุ่มสาวต้องการนโยบายที่ตรงกันข้ามกันคือการเก็บภาษีคนแก่รวยๆ มากขึ้นเพื่อนำมาส่งเสริมการศึกษา การฝึกอบรมการงาน การสร้างโครงสร้างพื้นฐานพลังงานหมุนเวียน และการลงทุนอื่นๆ สำหรับอนาคตของสหรัฐฯ

อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องสิ่งแวดล้อม แซคส์มองว่าคนรุ่นใหม่สามารถรับรู้เรื่องภัยจากภาวะโลกร้อนได้มากกว่าคนรุ่นก่อนๆ ขณะที่ทรัมป์เอาใจคนรุ่นเก่าด้วยการสนับสนุนเชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์ ซึ่งแซคส์ระบุว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของความไม่รู้ขอคนอเมริกันรุ่นเก่ารวมถึงทรัมป์เกี่ยวกับเรื่องโลกร้อนและสาเหตุที่ทำให้เกิดโลกร้อน คนอเมริกันรุ่นเก่าไม่ได้เรียนเรื่องโลกร้อนในโรงเรียน ไม่เคยได้รับความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจก พวกเขาจึงเอาผลประโยชน์ทางการเงินเฉพาะหน้ามาก่อนภัยพิบัติที่จะเกิดกับคนรุ่นหลานของพวกเขา

จากการสำรวจเมื่อเดือน ก.ค. 2558 มีคนอายุ 18-29 ปี ร้อยละ 60 บอกว่าการกระทำของมนุษย์ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน ขณะที่คนอายุ 65 ปีขึ้นไปคิดแบบนี้เพียงแค่ร้อยละ 31 และจากการสำรวจเมื่อเดือน ม.ค. 2560 คนอเมริกันอายุ 65 ปีขึ้นไปร้อยละ 38 สนับสนุนเชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์มากกว่าพลังงานหมุนเวียน เมื่อเทียบกับคนรุ่นอายุ 18-29 ปี ที่สนับสนุนร้อยละ 19

แซคส์ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่านโยบายทางเศรษฐกิจของทรัมป์ยังเอื้อต่อคนมีอายุที่เป็นคนขาวผู้เกิดในสหรัฐฯ มากกว่า โดยที่ไม่สนใจใยดีคนที่เป็นหนี้การศึกษา 1 ล้านล้านดอลลาร์ ทรัมป์พยายามปรับความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) แทนที่จะสนใจประเด็นปัญหาที่สำคัญกว่าอย่างเรื่องหุ่นยนต์และระบบปัญญาประดิษฐ์ที่จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน

อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าเป็นเพราะทรัมป์เป็นประธานาธิบดีที่อายุมาก เพราะหนึ่งในผู้ลงแข่งขันเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตอย่างเบอร์นี แซนเดอร์ส ก็เป็นคนอายุมากที่เป็นขวัญใจชาวมิลเลนเนียลเหมือนกัน และแม้กระทั่งพระสันตะปาปาฟรานซิสที่มีอายุถึง 80 ปี ก็ได้รับความนิยมในหมู่คนหนุ่มสาวจากการที่เขาแสดงออกเป็นห่วงเป็นใยต่อประเด็นต่างๆ ที่คนหนุ่มสาวสนใจอย่างความยากจน ความยากลำบากในการหางานทำ และปัญหาจากภาวะโลกร้อน

แซคส์ย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ความต่างของเวลาแต่เป็นเรื่องของรสนิยมทางการเมืองและความเชื่อที่มีผลต่อพฤติกรรม การดำเนินนโยบายของทรัมป์ไม่ได้มองถึงปัญหาของคนรุ่นปัจจุบันเลย นโยบายต่างๆ อย่างการสั่งห้ามการเดินทาง การพยายามแข่งขันทางการค้ากับเม็กซิโกและจีนก็แทบจะไม่ได้ตรงกับความต้องการของคนยุคนี้

อย่างไรก็ตามแซคส์ระบุว่าชัยชนะทางการเมืองของทรัมป์ก็เป็นเพียงแค่อะไรที่เกิดขึ้นชั่วคราวไม่ถึงขั้นเป็นจุดเปลี่ยน ชาวมิลเลนเนียลยุคปัจจุบันจะกลายเป็นคนที่มีอิทธิพลทางการเมืองในอนาคต ขณะที่ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากเน้นพูดถึงเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพรรคแบบเดิมๆ แซคส์อยากชวนให้มองเรื่องการเปล่ยนแปลงของประชากรที่ทำให้ถึงขั้นมีการประเมินว่าแซนเดอร์สอาจจะมีโอกาสชนะการเลือกตั้งถ้าได้เข้าชิงชัยแทนฮิลลารี คลินตัน จากการที่แซนเดอร์สดึงดูดกลุ่มคนยุคมิลเลเนียมมาก

เรียบเรียงจาก

Why Millennials Will Reject Trump, Jeffrey D. Sachs, Project Syndicate, 02-02-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net