ย้อนดูตัวเลข 10 ปี เงินคงคลัง หลัง 'เดชรัต' ขยี้ 2 ปีกว่า คสช.ลดลงไป 4.2 แสนล้าน

หลัง พล.ท.สรรเสริญ ปัดรัฐบาลถังแตก เดชรัต ขยี้ 2 ปีกว่า คสช. เงินคงคลังลดลงไป 4.2 แสนล้าน ย้อนเปิดตัวเลข 10 ปี เงินคงคลัง สูง 6 แสนล้านในปี 56 ด้านพท.สอนมวย 'รัฐบาล' เช็คข้อมูลก่อน

 

6 ก.พ. 2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินภายในประเทศในทำนองว่า รัฐถังแตกจึงต้องไปรีดภาษีสูงขึ้น ว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะจากข้อมูลฐานะการคลังของรัฐบาล ณ เดือน ธ.ค.2559 ยังมีเงินคงคลัง ซึ่งเป็นตัวเลขที่หักลบรายได้และรายจ่ายแล้วคงเหลือทั้งสิ้น 74,907 ล้านบาท

เดชรัต ขยี้ 2 ปีกว่า คสช. เงินคงคลังลดลงไป 4.2 แสนล้าน

ต่อมาวันเดียวกัน (4 ก.พ.60) เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Decharut Sukkumnoed' ในลักษณะสาธารณะ ถึงการออกมาชี้แจงของ พล.ท.สรรเสริญ ดังกล่าวระบุว่า “ขออนุญาตช่วยท่านโฆษกชี้แจงเพิ่มเติมนะครับ ตอนเดือนกันยายน 2557 หลังจากรัฐบาล คสช.เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ตอนนั้นรัฐบาลมีเงินคงคลัง 495,747 ล้านบาท (หรือเกือบห้าแสนล้านบาท) ผ่านไป 2 ปีกว่า เงินคงคลังของรัฐบาล เหลืออยู่ 74,907 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาครับ เพราะฉะนั้นรัฐบาลยังไม่ถังแตกครับ แค่มีเงินคงคลังลดลงไป 420,840 ล้านบาทเท่านั้นเอง ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมว่าในระหว่างเดือน ก.ย.57 จนถึง ธ.ค.59 รัฐบาล คสช.ได้กู้ยืมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีก 744,187 ล้านบาทครับ นึกไม่ออกเลยจริงๆ ว่า ถ้าได้รับโอกาสบริหารประเทศไปอีก 15 ปี ฐานะการคลังของประเทศจะเป็นอย่างไร เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้”
 

เปิดตัวเลข 10 ปี เงินคงคลัง สูง 6 แสนล้านในปี 56 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบ ดุลการคลัง ตามระบบกระแสเงินสด จาก กรมบัญชีกลางและสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่จัดทำโดย สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พบว่า เงินคงคลังปลายปี (Closing Treasury Reserve) 74,907  ล้านบาท ขณะที่ปี 59 อยู่ที่ 441,300 ล้านบาท ปี 58 อยู่ที่ 426,182  ล้านบาท ปี 57 อยู่ที่ 495,747 ล้านบาท ปี 56 อยู่ที่ 605,052 ล้านบาท ปี 55 อยู่ที่ 561,270 ล้านบาท ปี 54 อยู่ที่ 521,294 ล้านบาท ปี 53 อยู่ที่ 429,026 ล้านบาท ปี 52 อยู่ที่ 293,807 ล้านบาท ปี 51 อยู่ที่ 229,024 ล้านบาท และปี 51 อยู่ที่ 142,704 ล้านบาทฯลฯ
 

ที่มา สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และดูตารางขนาดใหญ่ได้ที่นี่่

มติชนออนไลน์ รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังด้วย โดยแหล่งข่าวดังกล่าวชี้แจงเรื่องนี้เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ว่า ยอมรับว่าเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 มีจํานวน 74,907 ล้านบาท ถือว่าต่ำสุดในรอบหลายปี ปกติสิ้นเดือนธันวาคมช่วง 4-5 ปีก่อนหน้านี้ เงินคงคลังเฉลี่ยจะอยู่ระดับกว่า 2 แสนล้านบาท มีบางปีพุ่งสูงถึง 3 แสนล้านบาท และบางปีอาจต่ำมาอยู่ในระดับ 1.7 แสนล้านบาท แต่ยังไม่เคยต่ำถึง 7 หมื่นล้านบาทมานานหลายปี ถ้าดูสถิติย้อนหลังก่อนเกิดรัฐประหาร เดือนธันวาคม 2556 เงินคงคลังอยู่ในระดับ 3.24 แสนล้านบาท หลังเกิดรัฐประหารในเดือนธันวาคม 2557 เงินคงคลังอยู่ที่ 1.79 แสนล้านบาท ในเดือนธันวาคม 2558 เงินคงคลัง 3.86 แสนล้านบาท

“แต่เงินคงคลังในเดือนธันวาคม 2559 ลดต่ำลงมาก เกิดจากเงินรายได้รับ ในช่วงนี้ต่ำกว่าช่วงเดียวกับปีที่แล้วถึง 5.6 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 22.7% ขณะที่การเบิกจ่ายสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้วถึง 7.4 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 26.2% น่าสงสัยว่าในเดือนมกราคมไม่มีจัดส่งข้อมูล ซึ่งปกติกระทรวงการคลังต้องแถลงข่าวเงินคงคลัง แต่ถึงตอนนี้กระทรวงการคลังยังไม่ระบุการแถลงข่าว” แหล่งข่าวกล่าว
 
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม-ธันวาคม 2559) รัฐบาลมีการจัดเก็บรายได้รวม 5.53 แสนล้านบาท ขณะที่มีรายได้ 9.69 แสนล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุล 4.15 แสนล้านบาท มีการขาดดุลเงินนอกงบประมาณอีก 5.5 หมื่นล้านบาท ส่งให้รัฐบาลขาดดุล 4.7 แสนล้านบาท สาเหตุหลักมาจากไถ่ถอนตั๋วเงินคลังสุทธิ 6 หมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลบริหารเงินสดด้วยการกู้มาชดเชยการขาดดุล 1.04 แสนล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด หลังจากกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล ยังอยู่ในภาวะขาดดุล 3.66 แสนล้านบาท ขณะที่เงินคงคลังปลายงวดลดฮวบเหลืออยู่เพียง 7.4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
 

พท.สอนมวย 'รัฐบาล' เช็คข้อมูลก่อน

Voice TV รายงานวันนี้ (6 ก.พค.60)ด้วยว่า อนุตตมา อมรวิวัฒน์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ตามที่คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยได้ออกมาเตือนมาโดยตลอดว่าการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศหดหายตั้งแต่มีการรัฐประหาร แต่รัฐบาลได้ออกมาปฏิเสธโดยอ้างว่ามีการลงทุนมากขึ้น ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาแถลงแล้วว่าการลงทุนจากต่างประเทศในปี 2559 ได้ลดลงอย่างหนักถึง 63% เมื่อเทียบกับปี 2558 มียอดรวมเพียง 1.15 แสนล้านบาทเท่านั้น ซึ่งปี 2558 ก็การลงทุนก็ลดลงมาหนักอยู่แล้ว ดังนั้นจึงอยากให้ผู้นำรัฐบาลได้มีการเช็คข้อมูลก่อนที่จะพูด เพราะจะยิ่งทำให้ความมั่นใจนักลงทุนยิ่งหายไป เพราะเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้สนใจข้อมูลเศรษฐกิจอย่างจริงจังและนำมาแก้ไขแต่พูดเพียงเพื่อแก้ตัวเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่อง อีกทั้งเงินคงคลังก็ลดลงอย่างรวดเร็ว จากสี่แสนกว่าล้านบาทเหลือเพียง 7.5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น อีกทั้งรัฐบาลมีแผนจะใช้งบประมาณขาดดุลเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้มียอดขาดดุลกว่า 2.33 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นยอดขาดดุลงบประมาณมากที่สุดในทุกรัฐบาลที่ผ่านมา นี่เป็นสาเหตุหรือไม่ที่รัฐบาลต้องเร่งเก็บภาษีต่างๆเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นภาษีที่ดินและทรัพย์สิน และภาษีอื่นๆ  โดยล่าสุดมีการขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน ซึ่งทำให้ตั๋วเครื่องบินโลว์คอสเพิ่มขึ้นอีก 

อย่างไรก็ตามคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยเห็นว่ามีผลกระทบต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันการเดินทางโดยเครื่องบินโลว์คอสมีราคาไม่สูงนัก มีประชาชนทุกระดับรายได้ใช้กันอย่างมาก และไม่ได้เป็นเรื่องฟุ่มเฟือยแต่อย่างใด การเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินทำให้ค่าตั๋วเพิ่มขึ้น เท่ากับเป็นการซ้ำเติมค่าครองชีพของประชาชน ที่มีการอ้างว่าใช้ในการปรับปรุงสนามบินก็ไม่เป็นความจริงเพราะบริษัทการท่าอากาศยานที่มีรายได้จากสายการบินต่างๆ และมีกำไรอย่างมากเป็นผู้รับผิดชอบดังกล่าวอยู่แล้ว 

ขณะที่ในภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่รัฐบาลไม่ควรจะเพิ่มภาษีไม่ว่าจะเป็นภาษีอะไร เพราะจะเป็นการเพิ่มภาระแก่ประชาชนและยิ่งทำให้เศรษฐกิจไม่ฟื้น โดยควรจะต้องลดภาษีด้วยซ้ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนที่หลายๆประเทศทำกัน เช่นประเทศสหรัฐที่ประกาศจะลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงอยากให้รัฐบาลได้ศึกษาแนวคิดที่ถูกต้องประชาชนจะได้ไม่ลำบาก

พิชิตอธิบาย เงินคงคลัง เหมือน เงินสดในลิ้นชัก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อเวลา 20.42 น. ที่ผ่านมา พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะเพื่ออธิบายเรื่อง "เงินคงคลัง" กับ "รัฐบาลถังแตก?" โดย พิชิต อธิบายว่า เงินคงคลัง เป็นบัญชีเงินฝากของ กระทรวงการคลัง ก็เสมือน "เงินสดในลิ้นชัก" ร้านโชวห่วย เป็นเงินสำรองจากกระแสเงินเข้า-ออกรายวัน เงินเข้าคือรายรับบวกเงินกู้ เงินออกคือรายจ่ายบวกเงินใช้หนี้ รัฐบาลนี้ขาดดุลงบ 58-59 ปีละกว่า 3 แสนล้านบาท ทำให้ขาดดุลเงินสดปีละกว่า 3 แสนล้านเช่นกัน ถ้าจะไม่ให้เงินคงคลังลดลง ก็ต้องเก็บภาษีเพิ่มหรือกู้เพิ่ม ซึ่งรัฐบาลนี้ทำทั้งสองอย่าง โดยงบปี 58-59 สองปี รัฐบาลนี้กู้รวมกัน 6.7 แสนล้านบาท ทำให้เงินคงคลัง ณ สิ้น ก.ย. 59 ยังสูงที่ 4.4 แสนล้านบาท

"แต่แล้ว แค่สามเดือน ณ สิ้น ธ.ค.59 เงินคงคลังฮวบเหลือแค่ 7.5 หมื่นล้านบาท ต่ำสุดในรอบหลายปี เกิดอะไรขึ้น? สาเหตุคือ ช่วงสามเดือนนั้น รายได้รัฐหดหายไป 5.2% แต่ใช้จ่ายเพิ่ม 6% (เฉพาะธ.ค. 59 เดือนเดียว รายได้รัฐหายไป 22.7%) แต่รัฐบาลกลับกู้สุทธิเพิ่มแค่ 5 พันล้านบาทเท่านั้น ผลคือในสามเดือน รัฐบาลขาดดุลเงินสดสูงถึง 3.7 แสนล้านบาท จนเงินคงคลังเหลือแค่ 7.5 หมื่นล้านบาท" พิชิต โพสต์
 
พิชิต อธิบายต่อว่า ทั้งหมดนี้เพราะ กระทรวงการคลังบริหารเงินสดเข้า-ออกผิดพลาด รายรับลดฮวบเกินคาด และไม่ได้เตรียมกู้สำรอง หรือเป็นตามที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอ้างว่า มีนโยบายเก็บเงินสดไว้น้อย ๆ ไม่กู้เงินมากองไว้ จะได้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย และที่ขึ้นภาษีน้ำมันเครื่องบินก็ไม่เกี่ยว เป็นอย่างไหนผู้อ่านก็คิดดูเอาเองแล้วกัน แต่รัฐบาลมีรายรับเดือนละ 1.5-3.0 แสนล้านบาท รายจ่ายเดือนละ 2-4 แสนล้านบาท เฉพาะเงินเดือนค่าจ้างพนักงาน-ข้าราชการก็ปาเข้าไปเดือนละ 5 หมื่นล้านบาทแล้ว ฉะนั้น เงินในลิ้นชักแค่ 7.5 หมื่นล้านบาท มันจะฉิวเฉียดมากไปหรือเปล่าครับท่าน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท