Skip to main content
sharethis

รัฐนิวยอร์ก แมสซาชูเซตส์ เวอร์จิเนีย และวอชิงตัน ร่วมกันฟ้องร้องรัฐบาลกลาง ในกรณีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามคำสั่งห้ามพลเมือง 7 ประเทศมุสลิมเข้าสหรัฐ ที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในสนามบินเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว

(ซ้าย) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ลงนามคำสั่งประธานาธิบดีซึ่งมีผลห้ามพลเมืองจาก 7 ประเทศ และผู้อพยพเข้าสหรัฐอเมริกา เมื่อ 27 มกราคม (ขวา) ผู้ประท้วงคำสั่งทรัมป์ ที่สนามบินนานาชาติเคนเนดีในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (ที่มา: The White House/VOA)

2 ก.พ. 2560 โดยจากเดิมที่มีแต่รัฐวอชิงตัน ที่ท้าทายคำสั่งพิเศษนี้ และมีการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยเว็บไซต์ขายของออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon ก็ร่วมสนับสนุนการฟ้องร้องในครั้งนี้ด้วย

ต่อมาในวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมาก็มีรัฐอื่นๆ ร่วมต่อต้านคำสั่งพิเศษของทรัมป์เพิ่มรวมเป็น 4 รัฐ หลังจากที่ผู้คนที่เดินทางแบบมีเอกสารเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายถูกกักตัวไว้หรือส่งกลับประเทศหลังจากที่เดินทางข้ามประเทศมาแล้ว

รัฐนิวยอร์กเข้าร่วมต่อต้านในเรื่องนี้หลังจากมีการผลักดันของภาคประชาสังคมอย่างกลุ่มทนายความของสหภาพเสรีภาพลเมืองอเมริกัน (ACLU) ศูนย์เพื่อความยุติธรรมชาวเมือง (Urban Justice Center) และกลุ่มอื่นๆ อิริค ชไนเดอมาน อัยการสูงสุดรัฐนิวยอร์กบอกว่าคำสั่งพิเศษของทรัมป์ "ไม่เป็นไปตามหลักการรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และโดยพื้นฐานแล้วไม่เป็นอเมริกัน"

ทางรัฐเวอร์จิเนียก็กลายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องในกรณีเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่พี่น้องชาวเยเมน 2 คน เดินทางมาที่สนามบินดัลเลสพร้อมทั้งกรีนการ์ดผู้อยู่อาศัยเพื่อจะได้อาศัยอยู่กับพ่อในมิชิแกนเมื่อวันที่ 28 ม.ค. แต่ถูกสกัดกั้นจากเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามคำสั่งพิเศษห้ามคนเดินทางจาก 7 ประเทศ แล้วนำตัวพวกเขาส่งกลับประเทศต้นทาง การฟ้องร้องในครั้งนี้เป็นการเรียกร้องสิทธิในการอพยพย้ายถิ่นของทั้ง 2 พี่น้องคู่นี้และของกรณีอื่นๆ อีก 60 ราย ที่ประสบชะตากรรมเดียวกันในสนามบินดัลเลสเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

นอกจากนี้การเคลื่อนไหวของรัฐเวอร์จิเนียยังมุ่งหวังที่จะแสดงให้เห็นว่าคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีในครั้งนี้ไม่เป็นไปตามหลักการกฎหมายและคุกคามสุขภาวะและสภาพความเป็นอยู่ทั้งทางร่างกายและสภาวะทางเศรษฐกิจของผู้ที่อยู่อาศัยในรัฐนี้ โดยเฉพาะกับสถานศึกษาของรัฐ จากที่นักศึกษาและคณาจารย์อาจจะได้รับผลกระทบจากคำสังพิเศษนี้

รัฐแมตซาชูเซตส์ก็ดำเนินการฟ้องร้องแบบเดียวกันกับกรณีที่ผู้โดยสารถูกกีดกันที่สนามบินโลแกนจากคำสั่งของทรัมป์ มีกรณีหนึ่งเป็นนักวิชาการชาวอิหร่าน 2 ราย จากมหาวิทยาลัยแมตซาชูเซตส์ ดาร์ตมัธ

อัยการสูงสุดของรัฐแมสซาชูเซตส์ เมารา เฮียลีย์ เปิดเผยว่าทางรัฐยังยื่นคำร้องเพิ่มเติมให้ยกเลิกคำสั่งพิเศษของทรัมป์ด้วยโดยเธอบอกว่าคำสั่งนี้เป็นอันตราย มีการเหมารวมกีดกันทางสัญชาติและศาสนา รวมถึงไม่เป็นไปตามหลักการรัฐธรรมนูญ โดยเธอหวังว่าการต่อสู้เพื่อหลักการผ่านคดีความในครั้งนี้จะช่วยให้สหรัฐอเมริกา เป็นแสงนำทางแห่งความหวังและเป็นตัวแทนเสรีภาพของโลก มีนักวิชาการและผู้นำจากแขนงต่างๆ ทั้งนักกิจกรรม นักธุรกิจและสายการแพทย์ร่วมแถลงข่าวสนับสนุนเฮียลีย์ ชาร์ลี เบเกอร์ ผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ก็ออกแถลงการณ์แสดงการสนับสนุนเฮียลีย์ด้วย

คำสั่งพิเศษห้ามผู้คนจาก 7 ประเทศเดินทางเข้าสหรัฐฯ เป็นเวลา 90 วัน มีออกมาอย่างกระทันหันเมื่อเวลา 16.30 น. ของวันที่ 27 มกราคมตามเวลาท้องถิ่น โดยสัญชาติที่ถูกแบนคือ ซีเรีย อิหร่าน อิรัก ลิเบีย โซมาเลีย ซูดาน และ เยเมน รวมถึงประชาชนที่ถือสองสัญชาติเป็นชาติใดชาติหนึ่งในจำนวนนี้ ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้คนจำนวนที่เดินทางจะเข้าสู่สหรัฐอเมริกา ถูกกักตัวตามสนามบินต่างๆ รวมถึงทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านคำสั่งนี้ตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

เมลิสซา คีนนีย์ จากศูนย์กฎหมายการอพยพแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวว่าการที่รัฐต่างๆ ออกมาฟ้องร้องรัฐบาลกลางในกรณีคำสั่งพิเศษนี้ถือเป็นการยืนหยัดเพื่อชุมชนและเป็นปฏิบัติการที่ทรงพลัง

 

เรียบเรียงจาก

Four states sue Trump administration over 'un-American' travel ban, The Guardian, 01-02-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net