Skip to main content
sharethis


ภาพจากเพจ iLaw

เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2560 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) จัดงานเปิดตัวหนังสือชื่อ ห้องเช่าหมายเลข 112 ที่ร้านหนังสือ  Writer Secret โดยหนังสือดังกล่าวเป็นการรวบรวมเรื่องราวชีวิตจริงและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 หรือที่เรียกกันว่า คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ภายในงานมีผู้สนใจเข้าร่วมจนแน่นร้านประมาณ 40 คน รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาสังเกตการณ์ด้วย ผู้จัดงานระบุว่า เงินที่ได้รับจากการจำหน่ายหนังสือในวันเปิดตัวหนังสือนี้จะสมทบทุนเข้ากองทุนเพื่อการเข้าถึงความยุติธรรมของนักโทษการเมือง และสมาคมเพื่อเพื่อน

อานนท์ ชวาลาวัลย์ เจ้าหน้าที่จาก iLaw หนึ่งในผู้ร่วมเขียนหนังสือ กล่าวถึงที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนี้ ว่า  งานของ ilaw เป็นงานที่ติดตามเกี่ยวกับคดีเสรีภาพ ทีมงานเน้นการไปสังเกตการณ์คดีต่างๆ ที่เกี่ยวกับการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกที่ศาล และได้มีโอกาสเจอจำเลยคดี 112 จำนวนมาก ในเบื้องต้นคนทำงานจะไปติดตามคดีโดยมุ่งดูว่า เขาพูดอะไรหรือทำอะไรถึงโดนจับ แต่เมื่อคุยไปเรื่อยๆ สิ่งที่พบไม่ใช่เพียงมิติของคดี แต่มีมิติชีวิต มิติของผลกระทบต่างๆ บางครั้งหากไม่ได้คุยกับเจ้าตัวเพราะส่วนใหญ่อยู่ในคุกไม่ได้รับการประกันตัว ก็จะอาศัยคุยกับคนที่เกี่ยวข้อง และมีความรู้สึกว่ามีเรื่องราวอีกมากมายที่สังคมยังไม่ได้รับรู้ เวลาเรื่องเหล่านี้ปรากฏในสื่อก็จะเป็นการพาดหัวว่าคนนี้หมิ่นสถาบัน สังคมก็จะตัดสินไปแล้วทันทีที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา ไม่ว่าเขาจะทำหรือไม่ หรือสิ่งที่เขาทำนั้นผิดหรือไม่ สังคมรับฟังทันทีกับสิ่งที่ตำรวจเอามาแถลงข่าว

อานนท์ กล่าวต่อว่า เนื่องจากคดีนี้เกี่ยวกับความรู้สึกทำให้ผู้คนเข้าใจว่าเขาผิด สิ่งที่ต้องการจากการทำหนังสือเล่มนี้คือให้ทุกคนหยุดความคิดหยุดอุดมการณ์ของตัวเองไปก่อน แล้วพิจารณาด้วยความรู้สึกว่าเขาเป็นคนมากขึ้น อยากให้คนมองเขาเป็นคนมากขึ้น เราไม่ต้องการให้คนต้องมาเห็นด้วยและออกมาเรียกร้องการปรับปรุงการใช้กฎหมายมาตรา 112 กับเรา หนังสือเล่มนี้แค่อยากให้มองเขาเป็นคนก่อน และต้องการสื่อสารว่าการดำเนินคดีประเภทนี้ผู้ต้องหาควรจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกับคดีอื่นๆ เราอาจกล่าวได้ว่าพวกเขาเป็นนักโทษการเมืองกลุ่มที่บอบบางที่สุด สังคมลืม สังคมตราหน้า ฉะนั้นจึงมีความสำคัญที่เราจะต้องทำให้ตัวตนความเป็นคนของเขาปรากฏขึ้นมา ไม่อย่างนั้นเขามีความเสี่ยงที่จะถูกซ้ำเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการยุติธรรมไทยก็มีส่วนของแพะเข้ามาด้วย

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw หนึ่งในผู้ร่วมเขียนหนังสือ กล่าวว่า ในบางครั้งตัวเขาเองก็รู้สึกท่วมท้นในการทำหนังสือเล่มนี้ มีประสบการณ์ทำงานนี้มา 7-8 ปี แต่ช่วงปีที่ 3-4 เมื่อไปศาลแล้วได้มีโอกาสเจอเรื่องแบบนี้ก็รับไม่ได้เหมือนกัน บางทีก็รู้สึกอัดแน่นจนทำอะไรไม่ได้ แต่ก็เลือกวิธีการระบาบออกโดยระหว่างที่รู้สึกมากๆ ก็จะเขียน เมื่อได้เขียนแล้วก็จะนิ่งขึ้น ไม่ได้คิดถึงขนาดว่างานเขียนของเราจะเปลี่ยนแปลงสังคมเพียงอยากให้สังคมได้รับรู้แง่มุมที่เราพบเจอบ้าง ตั้งแต่ปี 2553 ขึ้นศาลในคดีเหล่านี้แล้วรู้สึกอึดอัดที่จะต้องเจอกับอะไรแบบนี้ พอมาช่วงหลังปี 2557 รู้สึกว่า มันเจ็บปวดจนชิน และเราก็ไม่รู้ว่าต้องเจ็บปวดแบบนี้อีกนานเท่าไร

ยิ่งชีพกล่าวต่อว่า เรื่องการบังคับใช้กฎหมายมาตรา112 ทั้งในชั้นตำรวจ อัยการ ทหาร ล้วนมีทัศนคติอยู่เบื้องหลัง ไม่ใช่การบังคับใช้กฎหมายตามกระบวนการของกฎหมาย มันมีทัศนคติที่ว่าคนบังคับใช้กฎหมายต้องการตอบสนองอุดมการณ์ บางอย่างโดยที่มีประชาชนจำนวนมากสนับสนุนอุดมการณ์นั้นด้วย ถ้าข้อความไม่ได้ชัดเจนว่า ดูหมิ่น หมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้ายก็ไม่ควรถูกดำเนินคดี แต่ทุกวันนี้ตำรวจก็ไม่กล้า อัยการก็ไม่กล้าที่จะไม่สั่งฟ้อง กลัวโดนด่า ศาลเองก็ไม่กล้าเช่นกัน กลัวยกฟ้องแล้วโดนด่า ถ้าเรามามองกันใหม่ ไม่ได้มองจากอุดมการณ์บางอย่างที่ต้องการรักษา แต่มาบอกว่าให้มองเรื่องความเป็นคนเป็นหลักจะดีกว่า สังคมโดยรวมคิดว่าคนที่โดนคดีเป็นหัวรุนแรง แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่

นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตนักศึกษาที่สนใจประเด็น 112 เคยทำหนังสั้นเรื่อง Mr.Zero สะท้อนชีวิตบัณฑิต อานียา และเป็นผู้ร่วมเขียนหนังสือเล่มนี้ กล่าวว่า ตอนแรกที่สนใจเกี่ยวกับประเด็น 112 เป็นเรื่องของศศิวิมล ผู้ต้องขังคดีนี้ที่เชียงใหม่ อ่านข้อมูลแล้วไม่รู้ว่าเขาผิดหรือไม่แต่ต้องเข้าคุกกว่า 20 ปี พอตอนเรียนปี 4 ต้องทำธีซิสจึงเข้ามาที่ iLaw และได้คำแนะนำให้ไปหาคุณบัณฑิต อานียา เริ่มแรกก็เพียงไปสัมภาษณ์แบบอัดวีดีโอและไปถ่ายสารคดีที่บ้าน ทำให้ได้รับรู้เรื่องราวชีวิตอันขมขื่นของเขาว่า สมัยเด็กถูกพ่อตี ถูกแม่เลี้ยงใช้งาน แม่ตัวเองก็ถูกกดขี่ข่มเหงจากพ่อและแม่เลี้ยง เรารับรู้ได้ว่าค่อนข้างมีอะไรในใจมากมาตั้งแต่เด็ก จึงเข้าใจว่าทำไมเขาถึงเลือกที่จะไม่หยุดพูดแม้จะมีคดีกี่รอบก็ตาม จากนั้นได้รับการติดต่อจาก iLaw ให้ร่วมเขียนหนังสือเล่มนี้ก็รู้สึกดีใจที่ได้เขียน หลังจากทำหนังเสร็จก็เอาความรู้สึกในช่วง 5 เดือนที่อยู่กับลุงบัณฑิตซึ่งมีความประทับใจที่ได้รับมาออกมาแล้วได้เขียนซึ่งรู้สึกอบอุ่น

วรรณกมล บุตรสาวของสิรภพ ผู้ต้องขังคดี 112 ซึ่งปัจจุบันถูกคุมขังในเรือนจำมาแล้วกว่า 2 ปีและอยู่ระหว่างต่อสู้คดีในศาลทหาร กล่าวถึงผลกระทบหลังจากที่พ่อถูกดำเนินคดีว่า มีผลกระทบจากคนรอบข้าง แต่เลือกที่จะไม่สนใจมากกว่า และไม่ค่อยเล่าให้ใครฟังเพราะมีผลกระทบหลายอย่างเรื่องงาน

วรรณกมล กล่าวถึงสิรภพว่า พ่อของเธอเป็นคนตรง แข็ง ไม่ยอมใคร และค่อนข้างเข้มงวดกับลูก เมื่อโดนคดีนี้เธอเคยคิดให้พ่อรับสารภาพไปเพื่อให้รีบจบเรื่อง แต่พ่อบอกว่าไม่สามารถรับสารภาพได้ เวลาผ่านมา 2 ปี ก็เริ่มรู้สึกดีขึ้นเพราะเริ่มชินและต้องอยู่ไปแบบนี้ เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้แล้ว พ่อได้บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ยุติธรรม มันไม่สมควร และเธอกลายเป็นเสาหลักของชีวิตของพี่น้องทั้งสามคน พอไม่มีพ่ออยู่ก็ต้องปรับตัว ต้องทำงาน ต้องดูแลน้องในฐานะพี่คนโต เมื่อเสาหลักที่ต้องพักพิงหายไป ความรู้สึกท้อก็เข้ามาเรื่อยๆ และแอบร้องไห้คนเดียวบ่อยครั้ง แต่ก็ยังมีแต่ความหวังอยากให้พ่อกลับมา

ผู้สนใจติดต่อสั่งซื้อได้ที่ เพจ iLaw

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net