Skip to main content
sharethis

กองบัญชาการตำรวจนครบาลประกาศเริ่มใช้กล้องถ่ายรูปจับคนผิดกฎจราจร ทั้ง 88 สน. หลังอบรมตำรวจจราจรใช้กล้อง ชี้พฤติกรรมผิดกฎหมาย-ก่อให้เกิดปัญหาจราจรโดนทั้งหมด หากที่ไหนมีปัญหามากส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำการ-ออกตรวจได้ตามคำสั่งรองผกก.จราจร

1 ก.พ.2560 พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล งานจราจร กล่าวว่า วันนี้กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ประกาศเริ่มโครงการใช้กล้องถ่ายรูปตรวจจับผู้กระทำผิดกฎจราจรเป็นวันแรก โดยตนได้สั่งการให้รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล1-9 (รองผบก.น.1-9) ซึ่งดูแลงานจราจรกำชับตำรวจราจรทั้ง  88 สน. ดำเนินการใช้กล้องถ่ายรูปผู้ทำผิดกฎจราจร ก่อนหน้านี้ บช.น.ได้เตรียมความพร้อมให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจราจร ไม่ว่าจะเป็นการอบรมการใช้กล้องถ่ายรูป และกล้องตรวจจับแบบอัตโนมัติ รวมทั้งการใช้ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อออกใบสั่ง ซึ่งถือได้ว่า มีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมและบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายจราจร

เบื้องต้นได้กำชับให้เจ้าหน้าที่กวดขันข้อหาอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น ขับรถบนทางเท้า ขับรถย้อนศร ไม่สวมหมวกกันนอค ขับมอเตอร์ไซค์ในช่องทางด่วน หรือหากเป็นรถยนต์จะมีการถ่ายภาพรถที่กระทำความผิด เช่น ปาดเบียดคอสะพาน แซงเส้นทึบ รวมทั้งพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหาการจราจร เช่น จอดรถในที่ห้าม จอดซ้อนคันกีดขวางการจราจร เป็นต้น

พล.ต.ต.จิรพัฒน์ กล่าวต่อว่า ในการถ่ายรูป จะต้องให้เห็นบริบทแวดล้อมว่าเจ้าของรถหรือผู้ขับขี่กระทำความผิดในจุดใดเพื่อลดปัญหาการโต้แย้ง เมื่อได้ทะเบียนรถแล้ว สน.ท้องที่จะส่งใบสั่งไปยังที่อยู่ เพื่อให้เดินทางหรือส่งไปรษณีย์มาจ่ายค่าปรับ

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจราจรจะประจำการในบริเวณที่ประชาชนฝ่าฝืนเป็นจำนวนมาก และสามารถขับรถจักรยานยนต์สายตรวจออกตรวจได้ ภายใต้การสั่งการและควบคุมของรองผกก.จราจร

นอกจากนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เทศกิจทั้ง 50 เขตกวดขันรถที่วิ่งและจอดบนทางเท้าในกรุงเทพฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้ทางเท้าและทำให้ทางเท้าเสียหาย มีความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง โทษปรับในอัตราไม่เกิน 5,000 บาท ขั้นต่ำ 500 บาท โดยทุกสำนักงานเขตได้นำป้ายเตือนไปติดตั้งบริเวณทางเท้าในย่านชุมชนที่มีการฝ่าฝืนมาก และเริ่มมีการยกรถกวดขันจับปรับในหลายพื้นที่

พ.ต.อ.พิชัย เกรียงวัฒนศิริ รองปลัดกรุงเทพมหานครกล่าวว่า การจับปรับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ กรณีขับขี่หรือจอดรถจักรยานยนต์ รถยนต์ ล้อเลื่อนต่างๆ บนทางเท้านั้น หากพบผู้กระทำความผิด พนักงานเจ้าหน้าที่ จะต้องนำผู้กระทำผิดไปดำเนินการจับปรับที่สำนักงานเขต แต่หากพบรถจอดบนทางเท้า โดยไม่พบตัวเจ้าของรถ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตามกฎหมายในการเคลื่อนย้ายรถมาไว้ที่สำนักงานเขต เพื่อให้เจ้าของมาชำระค่าปรับ โดยกรณีที่เป็นรถยนต์ก็จะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดำเนินการบังคับล็อคล้อ

โดยขณะนี้ กทม.ยังอยู่ระหว่างติดตั้งนวัตกรรม เอส -การ์ด (S-GUARD) ซึ่งเป็นแท่งเหล็กความสูงประมาณ 1 เมตร ที่ติดตั้งเป็นกลุ่มบริเวณทางลาดที่พาดขึ้นบนทางเท้าทุกแห่ง เพื่อป้องกันไม่ให้รถจักยานยนต์ใช้ทางเท้า แต่ผู้ใช้วีลแชร์ยังสามารถได้งานใช้ได้ โดยเลี้ยวผ่านช่องทางรูปตัวเอส รัศมีของแท่งเหล็กจะกีดขวางรถจักรยานยนต์ที่มีความยาวมากกว่าวีลแชร์ โดยขณะนี้เริ่มติดตั้งแล้วหลายเขต เช่น เขตคลองเตย เขตดินแดง


เอส การ์ดบริเวณด้านหน้าอาคารอาร์เอส ทาวเวอร์ ถนนรัชดาภิเษก
ที่มาภาพ กุลพันธ์ ศิริพิมพ์อัมพร

อีกฝากหนึ่งที่กองบังคับการตำรวจราจร (บก.จร.) พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) เข้าร่วมประชุมแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง  กรมทางหลวงชนบท กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมประชุม มีเนื้อหาว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ตำรวจตรวจภาพรวมการจราจรในพื้นที่ กทม.มีว่าปัญหาติดขัดเพิ่มขึ้นหรือไม่ หากพบปัญหาก็ต้องเร่งแก้ไข

จากการติดตามผลของนโยบายต่างๆ ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.)ได้ดำเนินการ เช่น ระบายการจราจรในถนน 21 สายหลัก โดยให้ตำรวจราจรเข้าพื้นที่เร็วขึ้น และการประสานกับตำรวจภูธร พบว่า ช่วงเช้าทำความเร็วได้เร็วขึ้น 36 นาทีโดยเฉลี่ย ช่วงเย็นทำความเร็วได้เร็วขึ้น 49 นาที ภาพรวมแล้วการจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานครถือว่าดีขึ้น แม้ว่าบางจุดจะมีการก่อสร้างพื้นผิวถนน

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้เจ้าหน้าที่กวดขันวินัยการจราจรโดยเฉพาะการจอดรถบนผิวการถนนในเวลาห้ามจอด หากพบเห็นจะต้องใช้มาตรการล็อคล้อ หรือยกรถ พร้อมทั้งให้ใบสั่งทุกรายไม่มีข้อยกเว้น โดยเฉพาะในถนนสายหลัก 21 เส้นทางซึ่งเป็นสำคัญเข้า-ออกเมือง และได้ขอความร่วมมือหน่วยงานที่ทำการก่อสร้างสาธารณูปโภคบนถนนแจ้งรายละเอียดวันเวลาดำเนินการที่ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร(บก.02)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net