ชาวเน็ตอเมริกันเทียบกรณี 'ทรัมป์' ปลด รมว.ยุติธรรม คล้ายสมัยคดี 'วอเตอร์เกท'

#MondayNightMassacre หรือ "การล้างบางในคืนวันจันทร์" กลายเป็นแฮชแท็กที่ใช้พูดถึงกรณีการสั่งปลดแซลลี เยตส์ รักษาการ รมว.ยุติธรรมของสหรัฐฯ เนื่องจากเธอต่อต้านคำสั่งพิเศษของทรัมป์ที่ห้ามคนจาก 7 ประเทศเข้าสู่สหรัฐฯ การสั่งปลดฟ้าผ่าเช่นนี้ชวนให้ชาวอเมริกันนึกถึงสมัยที่ริชาร์ด นิกสัน สั่งปลดอัยการที่ทำคดี 'วอเตอร์เกท' จนถูกเรียกว่าเป็น #SaturdayNightMassacre

 

31 ม.ค. 2560 จากกรณีที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ สั่งปลด แซลลี เยตส์ รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ด้วยข้ออ้างว่าเธอ 'ทรยศ' จากการแสดงออกต่อต้านคำสั่งห้ามพลเมืองจาก 7 ประเทศเดินทางเข้าสหรัฐฯ รวมถึงมีการสั่งแต่งตั้ง โธมัส ดี โฮแมน ขึ้นเป็นรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองและศุลกากรของสหรัฐฯ (Immigration and Customs Enforcement หรือ ICE) แทน แดเนียล แรกส์เดล ผอ. ICE คนเดิม ทำให้ผู้คนพากันเรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็น #MondayNightMassacre ซึ่งเป็นการอ้างอิงถึงเหตุการณ์อื้อฉาวคดีวอเตอร์เกทในสมัยประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ที่มีชื่อว่า #SaturdayNightMassacre

เพียงเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่เยตส์ประกาศไม่ยอมรับคำสั่งห้ามคนเข้าเมืองจาก 7 ประเทศของทรัมป์ เธอก็ถูกสั่งปลดออกจากตำแหน่ง เธอเขียนในจดหมายถึงทนายความในกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ระบุว่าตัวเธอมีความรับผิดชอบในการยึดมั่นจุดยืนที่จะทำให้สถาบันที่เธอทำงานอยู่มุ่งแสวงหาความยุติธรรมและยืนหยัดเพื่อสิ่งที่ถูกต้อง ในตอนนี้เธอมองว่าการปกป้องคำสั่งของทรัมป์ไม่ตรงกับหน้าที่ความรับผิดชอบของเธอและตัวเธอเองก็เชื่อว่าคำสั่งบริหารของทรัมป์ในครั้งนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

สื่อคอมมอนดรีมส์ระบุว่าหลังจากที่มีการประท้วงหลังรับตำแหน่ง ทรัมป์ก็ออกคำสั่งพิเศษดังกล่าวและทำให้เกิดวิกฤตทางรัฐธรรมนูญเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองบางส่วนปฏิเสธไม่ยอมทำตามคำสั่งของรัฐบาลกลางในเรื่องการส่งตัวคนกลับประเทศ ซึ่งเยตส์ได้ปฏิเสธคำสั่งและบอกให้เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมปฏิเสธคำสั่งเหล่านี้เช่นกัน

การใช้อำนาจสั่งปลดฟ้าผ่าในครั้งนี้ยังถูกสื่อและประชาชนนำไปเปรียบเทียบกับกรณีที่ริชาร์ด นิกสัน สั่งปลดอัยการพิเศษ อาร์ชิบัลด์ ค็อกซ์ และส่งผลให้ เอลเลียต ริชาร์ดสัน รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และ วิลเลียม รัคเคิลส์ฮาวส์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรมในยุคนั้นลาออกไป สาเหตุเกิดจากการที่ค็อกซ์ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่สืบสวนเรื่องอื้อฉาวคดีวอเตอร์เกท คดีที่นิกสันมีส่วนพัวพันแต่ก็ไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบเรื่องอื้อฉาวเหล่านี้ โดยกรณีนี้ถูกตั้งชื่อว่าเป็น "Saturday Night Massacre" หรือ "การล้างบางในคืนวันเสาร์" เนื่องจากนิกสันออกคำสั่งให้ริชาร์ดสันปลดค็อกซ์ในวันเสาร์ที่ 20 ต.ค. 2516 แต่ริชาร์ดสันปฏิเสธและลาออกเป็นการประท้วง จนกระทั่งต่อมานิกสันก็ปลดค็อกซ์สำเร็จผ่าน โรเบิร์ต บอร์ก รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม โดยต่อมาบอร์กก็ยื่นจดหมายลาออกไปด้วย

ย้อนกลับมาถึงกรณีของทรัมป์นอกจากเยตส์จะถูกปลดแล้ว แดเนียล แรกส์เดล หัวหน้าสำนักงานเกี่ยวกับการตรวจคนเข้าเมืองของสหรัฐฯ ยังถูกสั่งปลดแล้วแทนที่ด้วยคนใหม่โดยที่ทรัมป์ไม่ได้ให้เหตุผลใดๆ ทำให้มีผู้คนเรียกเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่าเป็น "Monday Night Massacre" หรือ "การล้างบางวันจันทร์" รวมถึงกลายเป็นแฮชแท็กในทวิตเตอร์ บางโพสต์ก็มีการสื่อถึงกรณีทรัมป์เทียบกับนิกสัน

ในถ้อยแถลงช่วงเย็นวันจันทร์ที่ผ่านมา (30 ม.ค) ระบุว่าแรกส์เดลจะยังคงทำหน้าที่เป็นรองผู้อำนวยการ ICE ต่อไป แต่โธมัส โฮแมนจะขึ้นมาเป็นผู้นำการทำงานของ ICE แทน โดยอ้างเรื่องการทำหน้าที่จับกุม คุมขัง และส่งตัว "คนเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย" รวมถึง "ผู้เป็นภัยความมั่นคงหรือเสี่ยงต่อความปลอดภัยสาธารณะ" ออกจากประเทศ

ทางด้านเยตส์ถูกแทนที่ด้วย ดานา โบเอนเต อัยการจากรัฐเวอร์จิเนีย ผู้ได้รับแต่งตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งแทน โดยแถลงการณ์ของทำเนียบขาวระบุว่าเยตส์ "ทรยศต่อกระทรวงยุติธรรม" และเป็นคนที่ได้รับแต่งตั้งสมัยรัฐบาลบารัก โอบามา ผู้ที่ "หย่อนยานในเรื่องเขตแดน" ถ้อยแถลงของทำเนียบขาวปกป้องการตัดสินใจของทรัมป์ต่อไปว่าการสั่งห้ามเข้าเมืองจาก "สถานที่อันตราย 7 แห่ง" นั้นไม่ใช่เรื่องที่สุดโต่งเกินไป แต่เป็นเรื่องที่ "จำเป็นต่อการปกป้องประเทศ"

อย่างไรก็ตามแนนซี เพโลซี ผู้แทนพรรคเดโมแครตจากแคลิฟอร์เนียออกแถลงการณ์ต่อต้านทรัมป์และกล่าวชื่นชมที่เยตส์ปฏิบัติตามสัตย์ปฏิญาณในการปกป้องคุ้มครองรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ เพโลซีประณามที่ทรัมป์ "เหยียบย่ำสิทธิของผู้ลี้ภัยและชนกลุ่นน้อยทางศาสนา" และพรรครีพับลิกันควรจะเลือกเองว่าพวกเขาจะยอมทำตามการตัดสินใจที่ "บ้าบิ่น เกรี้ยวกราด และไม่เป็นไปตามหลักการรัฐธรรมนูญ" ของทรัมป์ต่อไปหรือไม่

ฝ่ายภาคประชาสังคมอย่าง ลี เกลเลิร์นต์ รองผู้อำนวยการโครงการสิทธิผู้อพยพจากสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU) กล่าวชื่นชมการตัดสินใจของเยตส์เช่นกันและบอกว่าการสั่งปลดเยตส์เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงมากแต่พวกเขาก็จะเคลื่อนไหวไปในทางเดียวกับหลักการของเธอต่อไป

ด้าน เบอร์นี แซนเดอร์ส ส.ว. พรรคเดโมแครตที่เข้าร่วมชุมนุมกับผู้ชุมนุมที่ต่อต้านคำสั่งแบนของทรัมป์ ระบุผ่านทวิตเตอร์ว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ "ต้อนรับผู้คนกลับเข้าสู่ประเทศเสมอมา" และแน่นอนว่าก็มีกระบวนการทำให้ผู้คนที่เข้าประเทศไม่ทำอันตรายต่อผู้อยู่อาศัย แต่การบอกคนมุสลิมจำนวนมากทั่วโลกว่าเราไม่ต้อนรับพวกเขานั้นถือเป็นข้อความที่แย่มากและตรงกันข้ามกับคุณค่าความเป็นอเมริกัน

 

 

 

 

เรียบเรียงจาก

Monday Night Massacre as Trump Fires Acting AG and Replaces ICE Director, Common Dreams, 30-01-2017
http://www.commondreams.org/news/2017/01/30/monday-night-massacre-trump-fires-acting-ag-and-replaces-ice-director

Trump Replaces ICE Chief Daniel Ragsdale, Appoints Thomas Homan, The Huffington Post, 30-01-2017
http://www.huffingtonpost.com/entry/trump-fires-ice-acting-director_us_589004a0e4b02772c4e8e7db

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Saturday_Night_Massacre

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท