มาซายะ นาคามูระ เจ้าของบริษัทเกมผู้ให้กำเนิด Pac-Man เสียชีวิตแล้ว

จากเจ้าของกิจการม้าไม้ 2 ตัว และขยายทำลานรถแข่งเด็กเล่นในห้างที่ญี่ปุ่น ช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของอุตสาหกรรมเกม 'มาซายะ นาคามูระ' ก่อตั้งบริษัท Namco ซึ่งคิดค้นเกม Pac-Man ในปี 1980 และฮิตไปทั่วโลก

ผู้ซึ่งเล่นเกมวันละ 23 ชั่วโมงในช่วงทดสอบเกมก่อนจำหน่าย เคยเตือนคนหนุ่มให้ระวัง "โรคติดจอ"

นัมโคยังคงพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับวิดีโอเกม มีเกมแนวต่อสู้อย่าง "Tekken" ของค่ายก็มีชื่อเสียงและผลิตออกมาหลายภาค แต่ก็ยังไม่มีเกมใดอีกทีเทียบความสำเร็จได้ในระดับของ "แพคแมน"

นอกจากนี้บริษัท Namco ก็ขยายธุรกิจไปยังกิจการอื่นๆ รวมทั้งซื้อกิจการสวนสนุก ซึ่งส่วนมากจบลงด้วยการปิดกิจการหรือขายกิจการต่อ ในปี 1993 Namco ได้ซื้อบริษัท Nikkatsu ซึ่งเป็นสตูดิโอผลิตภาพยนตร์แนวซามูไรและหนังโป๊แบบซอฟต์คอร์

ในปี 2005 Namco ควบรวมบริษัทกับ Bandai เป็น Bandai Namco โดยรายงานภาษีในปีนั้นชี้ว่านาคามูระมีทรัพย์สินติดอันดับที่ 68 ของญี่ปุ่น

ผู้ได้รับฉายาว่าเป็นบิดา Pac-Man เสียชีวิตด้วยวัย 91 ปี เมื่อ 22 มกราคมนี้ ทั้งนี้จากการเปิดเผยของบริษัท Bandai Namco ซึ่งเป็นการแจ้งภายหลังพิธีศพซึ่งจัดภายในครอบครัวของเขาเสร็จสิ้น

โดย Bandai Namco ซึ่งนาคามูระมีตำแหน่งสุดท้ายเป็นที่ปรึกษาอาวุโสให้คำมั่นว่า จะยึดมั่นปรัชญาของผู้ก่อตั้งด้วยการมุ่งมั่น "สร้างความสนุก ต่อไป

มาซายะ นาคามูระ ผู้ก่อตั้งบริษัท Namco และเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของ Bandai Namco (ที่มาของภาพประกอบ JACE/Pac Man/Wikia)

มาซายะ นาคามูระ (Masaya Nakamura) ผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตเกมและของเล่นนัมโค (Namco) ซึ่งมีชื่อเสียงจากการสร้างเกม "แพคแมน" (Pac-Man) และกลายเป็นเกมที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา รวมอายุ 91 ปี

ข่าวการเสียชีวิตของนาคามูระ ได้รับการเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (30 ม.ค.) โดยบริษัทบันไดนัมโค (Bandai Namco) (อ่านจดหมายแจ้งข่าวมรณกรรม) ซึ่งเขามีตำแหน่งสุดท้ายคือที่ปรึกษาอาวุโส ทั้งนี้บนิษัทไม่เปิดเผยสาเหตุการเสียชีวิตและระบุุสถานที่เสียชีวิต

บริษัทระบุว่า ด้วยความประสงค์ของนาคามูระ พิธีศพจึงถูกจัดขึ้นโดยญาติใกล้ชิด และให้แจ้งต่อสาธารณชนเมื่อพิธีเสร็จสิ้นแล้ว การจัดพิธีรำลึกถึงนาคามูระอยู่ระหว่างการวางแผนและจะแจ้งต่อไป

จากประวัติย่อที่เผยแพร่โดยบริษัทบันไดนัมโค นาคามูระเกิดที่โยโกฮามา เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1925 เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติโยโกฮามา โดยเรียนด้านการต่อเรือ

ในจดหมายแจ้งข่าวมรณกรรมของบริษัทบันได นัมโค ระบุว่าบริษัทจะยึดมั่นปรัชญาของผู้ก่อตั้งที่จะให้ความสุข ด้วยการอำนวยความฝันให้กับผู้คน ยึดมั่นความรับผิดชอบและความภูมิใจในการสร้าง "ความสนุก" ที่เป็นงานของพวกเรา"

รายงานในนิวยอร์กไทม์ ระบุด้วยว่า บริษัทไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลว่าทายาทของนาคามูระเป็นใคร ระบุแต่เพียงว่าเป็นความประสงค์ของครอบครัวที่ต้องการให้เป็นเรื่องส่วนตัว

 

เริ่มต้นจากม้าไม้ 2 ตัว - ลานรถแข่งเด็กเล่นในห้าง และเข้าสู่อุตสาหกรรมเกม

ข่าวในนิวยอร์กไทม์ เล่าถึงประวัติทางธุรกิจของเขาว่า นาคามูระเริ่มต้นธุรกิจที่ตอบสนองความบันเทิงมาตั้งแต่ ค.ศ. 1955 หนึ่งทศวรรษหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเริ่มฟื้นฟูและกลับสู่ภาวะสดใส ในขณะที่ความโศกเศร้าหลังยุคสงครามโลกก็ค่อยๆ ถอดถอนออกไป ในเวลานั้นญี่ปุ่นพร้อมที่จะสนุกและเล่นเกมอีกครั้ง

กิจการแรกของนาคามูระคือ ติดตั้งของเล่นม้าไม้ 2 ตัว สำหรับให้เด็กๆ ขี่ ในพื้นที่ด้านบนของห้างสรรพสินค้า ซึ่งเรียบง่ายแต่ก็นำไปสู่ความสำเร็จอย่างพอประมาณ

ในช่วงต้นทศวรรษ 1960 เขาประสบความสำเร็จในการเจรจาธุรกิจกับ มิตสุโคชิ (Mitsukoshi) ห้างสรรพสินค้าชั้นนำของญี่ปุ่น เพื่อติดตั้งเครื่องเล่นสำหรับเด็ก คราวนี้เป็นรถจำลองที่วิ่งในสนามแข่ง โดยอยู่ชั้นบนของห้างมิตสุโคชิสาขาดังของโตเกียว และเมื่อได้รับความนิยม ห้างมิสุโคชิก็ขยายแผนกสวนสนุกไปยังสาขาอื่นด้วย

ชื่อเสียงของนาคามูระเริ่มต้นขึ้นในยุควิดีโอเกม โดยเขาเป็นคนแรกๆ ที่เชื่อในศักยภาพของวิดีโอเกมในทศวรรษ 1970s เขาจ้างวิศวกรซอฟแวร์และเริ่มบริหารบริษัทของเขา "นาคามูระ แมนูแฟคเจอริง" (Nakamura Manufacturing) ต่อมาใช้ชื่อว่า "นัมโค" (Namco) เพื่อใช้เป็นชื่อสำหรับการพัฒนาเกมในแนวตู้เกม โดยเกมแรกที่สร้างชื่อก็คือ Galazian ซึ่งเป็นเกมแนวตลุยอวกาศ ซึ่งขายให้กับบริษัทในสหรัฐอเมริกาคือ Midway Games ในปี ค.ศ. 1979 และในปีต่อมาเกมแพคแมน (Pac-Man) ก็ได้ถือกำเนิด

เกมแพคแมนสำหรับเครื่องเล่นแบบ Arcade ในปี 1980

มนุษย์เงินเดือนในบริษัทนัมโคผู้คิดค้น Pac-Man

เกมแพคแมนคิดขึ้นมาโดยพนักงานของบริษัทวัย 25 ปีในเวลานั้น คือ โทรุ อิวาตานิ (Toru Iwatani) โดยได้ไอเดียมาจากชิ้นพิซซาที่แหว่งไปจากถาด คำว่า "Pac" มาจากคำว่า "Pakku" ในภาษาญี่ปุ่นที่แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่าเคี้ยวหรือกลืนกิน โดยในเกมผู้เล่นเกมจะต้องสวมบทบาทแพคแมนจะกินเม็ดสีที่เรียงกันกันอยู่ในทางวกวน ให้ไวที่สุดเท่าที่จะกินได้

สำหรับอิวาตานิผู้สร้างแพคแมน (อ่านเรื่องของเขาในวิกิพีเดีย) ต่อมาได้ลาออกจากตำแหน่งประจำของบริษัทในเดือนมีนาคมปี 2007 และได้เป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยโตเกียวโปลิเทคนิค และในเดือนมิถุนายนปี 2010 ก่อนเดินทางไปเยือนเทศกาลเกมที่เนเธอร์แลนด์ อิวาตานิได้ถ่ายรูปคู่กับภาพสเก็ตของแพ็คแมน ซึ่งเป็นการเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในเรื่องการดีไซน์แคแรคเตอร์ของแพคแมน

ในการให้สัมภาษณ์กับ VH-1 Game Break interview ในเดือนมิถุนายนปี 2007 อิวาตานิกล่าว่า เขาไม่ได้กำไรเป็นการส่วนตัวจากการให้กำเนิดเกมแพคแมน โดยเขาระบุว่า "ความจริงก็คือไม่มีรางวัลใดๆ สำหรับผม อันเนื่องมาจากความสำเร็จของแพคแมน ผมเป็นแค่พนักงานคนหนึ่ง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของเงินเดือน ไม่มีโบนัส ไม่มีการอ้างถึงผมอย่างเป็นทางการในรูปแบบใด"

ทั้งนี้อิวาตานิ ยังคงมีส่วนเป็นผู้ออกแบบและทีมงานของเกม Pac-Man Championship Edition ซึ่งผลิตโดยบริษัทบันไดนัมโค และเผยแพร่ในเดือนมิถุนายนปี 2007 สำหรับเล่นกับเครื่อง Xbox

ในภาพยนตร์ Pixels เดนิส อาคิยามา รับบท "ศาสตราจารย์อิวาตานิ" ผู้สร้างแพคแมน

ส่วนศาสตราจารย์โทรุ อิวาตานิ ตัวจริง มารับบทช่างซ่อมเครื่องเกม Arcade ในเรื่อง Pixels แทน

ส่วนในภาพยนตร์ Pixels ในปี 2015 เดนิส อาคิยามาเล่นบท "ศาสตราจารย์อิวาตานิ" ผู้สร้างแพคแมน (ชมฉากในภาพยนตร์) และในภาพยนตร์เรื่องนี้ อิวาตานิตัวจริงก็มีบทแสดงด้วย โดยเขารับเล่นเป็นตัวประกอบในบทบาทช่างซ่อมเครื่องเกม Arcade ในเรื่องแทน (ชมฉากในภาพยนตร์)

เพลง Pac-Man Fever ในปี 1982

Pac-Man ในวัฒนธรมป็อบ

อนึ่ง นาคามูระให้สัมภาษณ์ในปี ค.ศ. 1983 หลังเกมแพคแมนฮิตไปทั่วโลกว่า "ผมไม่คิดมาก่อนว่าเกมจะดังขนาดนี้" เขากล่าวด้วยว่า "คุณรู้จักเบสบอลใช่ไหม? ดีละ, ผมคิดว่า น่าจะวิ่งได้สัก 1 ฐาน แล้วผมก็คิดว่าอาจจะได้สัก 2 ฐาน ที่ไหนได้ผมได้โฮมรันเลย"

เกมแพคแมนยังแตกไลน์ออกไปหลายผลิตภัณฑ์ ทั้งการ์ตูนฉายในโทรทัศน์ และสินค้าหลากหลายรูปเแบบ นอกจากนี้ศิลปินเพลง "Buckner and Garcia" ก็ร้องเพลง "Pac-Man Fever" และได้รับความนิยมติดอันดับ 9 ในบิลบอร์ดชาร์ตปี ค.ศ. 1982

แพคแมนยังอยู่ในวัฒนธรรมป็อบหลายแบบ รวมทั้งในภาพยนตร์ซิตคอม "Family Guy" ซึ่งมีตัวละคร "แพคแมน" ปรากฏในฉากด้วย หรือภาพยนตร์ Scott Pilgrim vs. the World ในปี 2010

นอกจากนี้ยังอยู่ในนิยายวิทยาศาสตร์ขายดีของเอิร์นเนส คลิน (Ernest Cline) "Ready Player One" และในปี 1999 บิลลี มิตเชล (Billy Mitchell) ก็เป็นนักเล่นเกมคนแรกที่สามารถทำคะแนนแบบเพอร์เฟกเกมได้สำเร็จ

ในรอบหลายทศวรรษที่มีการเผยแพร่เกมแพคแมน ก็เป็นยุคที่วิดีโอเกมเติบโต ทั้งยังมีเกมที่มีเนื้อหาที่รุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น แต่เกมแพ็คแมนยังคงเป็นเกมที่เหมาะสำหรับเด็ก เข้าถึงง่าย และมีความท้าทายในเกม ทั้งนี้เกมแพ็คแมนอยู่ในทุกแพลตฟอร์มเกม และสามารถเล่นได้ออนไลน์ และในปี 2010 ชั่วโมงทำงานนับล้านชั่วโมงก็หมดไปกับเกมแพคแมนที่กูเกิลนำมาเผยแพร่แบบ "Google Doodle" ที่หน้าแรกของเว็บ

ทั้งนี้นับตั้งแต่เผยแพร่เกมแพคแมนมา 36 ปี คาดหมายว่าเกมนี้ถูกเล่นไปแล้ว 1 หมื่นล้านครั้ง สถาบันสมิธโซเนียนและพิพิธภัณฑ์โมเดิร์นอาร์ทในสหรัฐอเมริกาได้จัดแสดงเครื่องเล่นเกมแพ็คแมนในส่วนจัดแสดงด้วย

 

เคยเล่นเกมวันละ 23 ชั่วโมงในช่วงทดสอบเกมก่อนวางตลาด

แม้นาคามูระจะไม่ใช่นักออกแบบเกม ซึ่งต่างจากคู่แข่งผู้มีชีวิตร่วมสมัยกับเขาคือ ฮิโรชิ ยามาอูชิ (Hiroshi Yamauchi) ประธานบริษัทนินเทนโด (Nintendo) ซึ่งเคยกล่าวว่าไม่เคยเล่นเกม แต่นาคามูระทดสอบเกมของค่ายนัมโคด้วยตัวเองอย่างเข้มข้น พนักงานหลายคนกล่าวว่า เขาเล่นเกมถึงวันละ 23 ชั่วโมงทีเดียวก่อนที่เกมจะออกวางตลาด

และด้วยพฤติกรรมเช่นนั้น หรือบางทีอาจจะเป็นเพราะการเล่นเกมยาวนานเช่นนั้น เขาจึงเตือนในเรื่องที่เรียกกันว่า "โรคติดจอ"

"ผมมีความกังวลเล็กน้อย ถึงวิถีของคนรุ่นหนุ่มที่เล่นเกมมากไปหน่อย" นาคามูระเคยกล่าวครั้งหนึ่งในช่วงที่เกมแพคแมนกำลังดัง "เมื่อมาถึงจุดที่เกินปกติ สิ่งนี้ไม่ดีสำหรับคนรุ่นหนุ่ม"

นัมโคยังคงพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับวิดีโอเกม มีเกมแนวต่อสู้อย่าง "Tekken" ของค่ายก็มีชื่อเสียงและผลิตออกมาหลายภาคระหว่างปี 1994 ถึง 2011 แต่ก็ยังไม่มีเกมใดอีกทีเทียบความสำเร็จได้ในระดับของ "แพคแมน"

นอกจากนี้บริษัทนัมโคก็ขยายธุรกิจไปยังกิจการอื่นๆ รวมทั้งสวนสนุกธีมอาหารในญี่ปุ่น ซึ่งส่วนมากจบลงด้วยการปิดกิจการหรือขายกิจการ ในปี 1993 นัมโคได้ซื้อสตูดิโอผลิตภาพยนตร์นิคคัตสึ (Nikkatsu) ซึ่งมักผลิตภาพยนตร์แนวซามูไรและหนังโป๊แบบซอฟต์คอร์

นาคามูระบริหารนัมโคจนถึงปี 2002 ซึ่งหลังจากนั้น เขาเริ่มมีบทบาทในทางพิธีของบริษัทมากกว่า และเมื่อนับโคควบรวมกับบริษัทคู่แข่งที่ผลิตของเล่นและเกมอย่าง บันได (Bandai) ในปี 2005 โดยรายงานภาษีในปีนั้นชี้ว่านาคามูระรวยติดอันดับที่ 68 ของญี่ปุ่น

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Masaya Nakamura, Whose Company Created Pac-Man, Dies at 91, The New York Times, By JONATHAN SOBLEJAN. 30, 2017

Masaya Nakamura (Namco), Wikipedia

Obituary, BANDAI NAMCO, 17-01-30

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท