ควรให้เด็กเรียนปรัชญาหรือไม่?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ในระยะหลังๆมานี้เห็นมีหลายคนพูดว่าเด็กๆควรเรียนปรัชญา จริงอยู่ การเรียนปรัชญาเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน ขอแค่อย่าไปทำลายความอยากรู้อยากเห็น และการตั้งคำถามของเด็กก็เป็นพระคุณอันล้นเหลือแล้ว การทำอย่างนี้ได้ก็ต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมด้วย ถ้าผู้ใหญ่ยังหลงใหลอำนาจนิยมอยู่ เรียนปรัชญาไปก็เหมือนเรียนความคิดโบราณที่ตายไปแล้ว

การคิดใหม่ตีความใหม่ การตั้งคำถามใหม่ หาแง่มุมใหม่ เพื่อเติมเต็มศักยภาพของตนต่างหาก คือการเติมลมหายใจให้กับความคิดทางปรัชญา และเงื่อนไขที่จะนำไปสู่สิ่งนี้ได้ก็คือการมีอิสระทางความคิด การเรียนรู้สมัยนี้ควรสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เติมเต็มศักยภาพของปัจเจกบุคคล ขณะเดียวกันก็มุ่งมองไปยังสถาบันทางการเมืองที่เป็นธรรม อย่าไปหวังพึ่งพา "ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ" มากนัก

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ผ่านก็บ่งชี้อะไรบางอย่างได้ หากลองติดตามนักวิชาการปรัชญาอเมริกันจำนวนหนึ่ง ก็ได้เห็นอาการพลิกตำราไม่ทัน อาการฟูมฟาย คับแค้น บางคนตัดพ้อว่าจะสอนการใช้เหตุผลไปหาสวรรค์วิมานอะไร ถ้าผลที่ได้เป็นแบบนี้ บางคนวางแผนสอนปรัชญาการเมืองกันใหม่ นักปรัชญาผู้เชี่ยวชาญแนวคิดของอิมมานูเอล ค้านท์ ท่านหนึ่งเปรยว่า ถ้าทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี นั่นหมายความว่าสหรัฐฯไม่คู่ควรกับประชาธิปไตย คำวินิจฉัยนี้ออกจะแรงเกินไป แต่ก็สะท้อนอะไรบางอย่างได้ดี

เรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่า ความรู้เฉพาะทางหรือความเห็นของผู้เชี่ยวชาญก็ใช่ว่าจะเป็นที่พึ่งให้เราได้เสมอไป และมันจะมีความหมายเต็มที่ก็ต่อเมื่อสามารถเติมเต็มศักยภาพการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องได้

ในหนังสือ Only a Promise of Happiness: The Place of Beauty in a World of Art ของอเล็กซานเดอร์ นีส์มาซ์ (Alexander Nehemas) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ที่พูดถึงเรื่องความงาม มีตอนหนึ่งที่เขาพูดถึงแนวคิดของออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) นักประพันธ์ชาวไอริช เขาเห็นว่า ไวลด์ (Wilde) ก็ไม่ได้โหดร้าย (wild) เกินไปนัก เมื่อเขากล่าวว่า การสร้างงานศิลปะขึ้นมาใหม่ก็คือการวิจารณ์แบบหนึ่ง เพราะการสร้างสรรค์ใหม่ก็คือการตอกย้ำถึงสิ่งที่งานชิ้นเดิมยังไม่มี ไวลด์มองว่าเราไม่ควรไปเอาเกณฑ์ของตัวเองไปครอบคนอื่นให้ทำหรือคิดอย่างตัวเอง การทำเช่นนั้นไม่ใช่ความรัก หากแต่เป็นความเห็นแก่ตัว

หากเรานำใช้กับความสัมพันธ์กับคนบ้างก็น่าสนใจยิ่ง บางครั้งบางที คนเรามักจะกะเกณฑ์ให้คนอื่นเหมือนตัวเอง แสดงออกและคิดเหมือนกัน แสดงความรักเหมือนกัน แสดงความโศกเศร้าเหมือนกัน นั่นเท่ากับเป็นการทำลายความงดงามของความหลากหลาย

ย้อนมองสังคมเรา เราอยากให้เด็กๆได้ฝึกคิดวิพากษ์ มีทัศนะเชิงวิจารณ์ ใช้เหตุผลเป็น แต่ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้แสดงออกเหมือนๆ กัน เหมาเอาว่าเราควรทำแบบเดียวกัน ถ้าพูดภาษาออสการ์ ไวลด์แล้ว ก็คงต้องบอกว่า นั่นคือการใช้เกณฑ์ของตัวเองไปครอบคนอื่น

สำหรับคำถามที่ว่า เราควรจะให้เด็กๆได้เรียนปรัชญาหรือไม่ คงจะตอบได้ว่าปรัชญาเป็นสิ่งที่สำคัญ มิใช่เพียงการคิดเชิงวิพากษ์เท่านั้น หากยังจะช่วยเกื้อหนุนให้เราคิดถึงความเป็นไปได้ต่างๆที่หลากหลาย แต่กระนั้น การเรียนปรัชญาก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน เพราะหากเราเข้าใจความหมายของปรัชญาในความหมายที่กว้างที่สุด นั่นคือการตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กๆได้คิดอย่างแท้จริงต่างหากที่สำคัญ

ยกตัวอย่างคำถามที่ว่า ทำไมคนเราต้องตาย หากเด็กตั้งคำถามนี้ขึ้นมา ผู้ใหญ่ไม่น้อยคงเคยประสบพบว่าตอบอย่างไรก็ไม่จุใจเด็ก ประเด็นคำถามนี้ทำให้นักเขียนชาวอเมริกันอย่าง นาตาลี แบ็บบิต เขียนวรรณกรรมเยาวชนในรูปของนวนิยายเรื่อง Tuck Everlasting เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม นักประพันธ์ท่านนี้ไม่ได้ตอบคำถามนี้อย่างตรงไปตรงมา เพราะคำถามว่าทำไมคนเราต้องตายเป็นคำถามที่ซับซ้อน แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ยังเข้าใจได้ยาก ผู้แต่งจึงแปลงคำถามเสียใหม่ว่า หากคนเราไม่ตายจะเกิดอะไรขึ้น ตัวละครในเรื่องได้ดื่มน้ำอมฤต ทำให้ไม่ป่วยไม่ตาย ถ้าอยากรู้ว่าชีวิตที่ไม่ตายเป็นอย่างไร ขอแนะนำให้ลองหานวนิยายเล่มนี้มาอ่านดู ฉบับแปลเป็นภาษาไทยที่หาอ่านได้ง่ายคือฉบับที่ สุริยฉัตร ชัยมงคล แปล โดยใช้ชื่อว่า ชั่วนิรันดร์

สิ่งที่น่าคิดจากตัวอย่างข้างต้นคือ อย่างแรก วิธีคิดทางปรัชญา หรือการตั้งคำถามทางปรัชญา ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปของข้อความทางปรัชญาหรือการเรียนวิชาปรัชญาเท่านั้น เราสามารถคิดประเด็นเหล่านี้ได้ผ่านศิลปะหรือวรรณกรรม อย่างที่สอง ตัวอย่างข้างต้นเป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างสิ่งแวดล้อมหรือเงื่อนไขสำหรับการบ่มเพาะการคิด น่าสงสัยว่าสังคมเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด

ข้อสังเกตของออสการ์ ไวลด์ สามารถนำมาพิจารณากับเรื่องการเรียนรู้ได้ การวิจารณ์ไม่ใช่แค่เพียงการวิพากษ์โดยใช้เกณฑ์ของตนเองไปครอบคนอื่น การสร้างสรรค์ใหม่ก็ถือเป็นการวิจารณ์ในความหมายที่ลึกซึ้ง หากเราเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้ตามศักยภาพของตนเองที่มีความแตกต่างหลากหลาย เราก็พอหวังได้ว่ามันอาจจะนำไปสู่การเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่การเห่อวิธีการเรียนการสอนบางแบบแค่ชั่วครั้งชั่วคราวอย่างที่เคยเป็นมา

ถึงที่สุดแล้ว การแสดงออกซึ่งความรักทำได้หลายแบบ หลายวิธี เพราะการสร้างสรรค์ใหม่ย่อมมีความหลากหลายได้ ความรักจะทำให้สิ่งที่เรารักเผยตนออกมาให้เป็นที่ประจักษ์ ส่วนความเกลียดแสดงออกได้ไม่กี่วิธี เพราะมันเป็นวิถีแห่งการทำลายล้าง และนำไปสู่เถ้าธุลีที่ห่มคลุมซากปรักหักพังอันชวนหดหู่สิ้นหวัง

เกี่ยวกับผู้เขียน: คงกฤช ไตรยวงค์ เป็นอาจารย์ประจำ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท