Skip to main content
sharethis
29 ม.ค. 2560 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ 4/60 วันจันทร์ที่ 30 ม.ค. 2560 มีวาระน่าจับตา ได้แก่ การพิจารณา(ร่าง)ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ. ... หลังจาก บอร์ด กสท. มีมติให้มีการนำ(ร่าง)ประกาศฉบับนี้ ไปรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งมีสาระสำคัญ 6 หมวด ได้แก่ บททั่วไป การส่งเสริมการรวมกลุ่มและการรับจดแจ้งองค์กร หน้าที่ขององค์กร การจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรม การจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมจริยธรรมเพื่อกำกับดูแลกันเอง การจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมจริยธรรมเพื่อกำกับดูแลกันเอง และการได้รับและการเพิกถอนการสนับสนุน รวมทั้งภาคผนวก มาตรฐานจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพกระจายเสียงและโทรทัศน์
 
“ร่างประกาศ กสทช. ฉบับนี้ จะสนับสนุนการปฏิรูปจริยธรรมสื่อผ่านกลไกการส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อการกำกับดูแลกันเองที่มีจุดยึดโยงกับ กสทช. เป็นการยกระดับการทำหน้าที่ของสื่ออย่างมีเสรีภาพ โดยเพิ่มความรับผิดชอบต่อสังคมให้มากขึ้น ทั้งนี้ มีรายละเอียดและเนื้อหาต่างจาก ร่าง พ.ร.บ.สื่อที่นำเสนอโดย สนช. ซึ่งองค์กรวิชาชีพสื่อกำลังคัดค้านในวันนี้” สุภิญญา กล่าว  
 
กสท.เตรียมพิจารณา วาระ บ.บีอีซี – มัลติมีเดีย จำกัด ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง มาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ในการชี้แจงแหล่งที่มารายได้ของช่องดิจิตอล 33 HD จากการประเมินค่าเสียโอกาส (ค่าโฆษณา+ค่าเช่าเวลา) ที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากต้องนำสัญญาณโทรทัศน์ช่อง 3 แอนะล็อกมาออกอากาศคู่ขนานช่องดิจิตอล 33 HD
 
นางสาว สุภิญญา กล่าวว่า กรณีการสอบทานอัตราค่าธรรมเนียมทุกช่องแอนะล็อกเดิมที่ได้สิทธิ์ออกผังคู่ขนานนั้นมีประเด็นมานานแล้ว ที่ผ่านมาพบว่าบางรายแสดงรายได้จากใบอนุญาตช่องแอนะล็อกเดิมทั้งนี้ ช่องแอนะล็อกได้รับการคุ้มครองไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปี ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมในเรื่องต้นทุนกับช่องดิจิตอลรายใหม่ ซึ่ง กสทช.ควรมีแนวทางกำหนดสัดส่วนการจ่ายค่าธรรมเนียมช่องคู่ขนาน ระหว่างรายได้ช่องแอนะล็อกและช่องดิจิตอลให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพื่อนำส่งรายได้เข้ารัฐอย่างถูกต้องและการแข่งขันเสรีเป็นธรรมต่อช่องใหม่ด้วย
 
นอกจากนี้ กสท. เตรียมประชุมวาระ ผลการตรวจสอบคุณสมบัติของบริษัท ซีทีเอช เคเบิล ทีวี จำกัด หลังจากได้ถูกมติเพิกถอนใบอนุญาตโครงข่าย เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2559 เนื่องจากเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตาม มติ กสท. ที่กำหนดให้จัดส่งแผนดำเนินการเยียวยาผู้ใช้บริการ ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการยกเลิกกิจการ พร้อมทั้งจัดส่งข้อมูลอื่นๆประกอบการพิจารณา ให้ กสท. ทราบก่อนยุติการให้บริการโครงข่าย จึงส่งผลให้เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 8 มาตรา 14 และมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ซึ่งในการประชุม กสท. จะพิจารณาเพื่อให้บันทึกข้อมูลบริษัทและคณะกรรมการบริษัททั้ง 5 คน ว่าเป็นนิติบุคคลและไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้ยื่นคำขอรับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พร้อมทั้งควรพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตช่องรายการ นับตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. 2559 ซึ่งประกอบด้วย ช่อง FOX, Star World, STADIUM, National Geographic Paramount Dreamworks กลุ่มช่องข่าวต่างประเทศ อาทิ  NHK World TV Channel News Asia France24 Sky News Euro News และช่องอื่นๆรวม 41 ช่อง
 
วาระอื่น ๆ น่าจับตา ได้แก่วาระแนวทางต่อกรณีผู้รับใบอนุญาตกิจการโทรทัศน์ กิจการไม่ใช้คลื่นความถี่ แสดงรายได้จากการประกอบกิจการ เป็นจำนวนเงินศูนย์บาท วาระการพักใช้ใบอนุญาตสำหรับผู้ที่ไม่ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี วาระการขอขยายระยะเวลาบันทึกความเข้าใจ เรื่องความร่วมมือในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลขององค์การกระจายเสียงแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) และวาระอื่น ๆ ติดตามในการประชุมวันจันทร์นี้
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net