Skip to main content
sharethis

คุยเบาๆ เสาร์อาทิตย์กับคนเคยเรียนปรัชญาที่ฝรั่งเศส ทำไมคนไทยฮือฮากับการเรียน การสอนปรัชญาให้แก่เด็กๆ ของที่นั่น ตอบปรัชญาในฝรั่งเศสเริ่มจากตั้งคำถาม รู้จักคำตอบของคนอื่นก่อนหน้า พยายามตอบให้ดีกว่า ทำปรัชญาให้อยู่ในชีวิต ขณะปรัชญาในไทยเริ่มจากจำคำตอบ ถามแบบคนทำมาม่า เป็น Ultra-Pragmatism ซ้ำใช้พุทธศาสนาตอบทุกคำถาม

ถ้าทำโพลล์สำรวจนักศึกษามหาวิทยาลัยว่า วิชาพื้นฐานรหัส 101 ตัวไหนที่น่าเบื่อหน่ายและชวนหาวนอนที่สุด เป็นไปได้ว่า ถ้าปรัชญาไม่ติดอันดับ 1 ก็คงติด 1 ใน 3 ไม่หลุดไปจากนี้ ความน่าเบื่อ ความไม่รู้เรื่อง ความสลับซับซ้อนของทฤษฎีของนักปรัชญาชื่อจำยาก ความห่างไกลหลายปีแสงจากชีวิตเดินดิน ปรัชญาจึงเป็นยาขมต้องกล้ำกลืนผ่านคอ

ปรัชญาเป็นเรื่องของ ‘คำถาม’ ถามว่าปรัชญามันขมหรือการสอนปรัชญามันฝืด

ไมเคิล เจ. แซนเดล อาจารย์ด้านปรัชญา มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด นักศึกษาแทบจะแย่งกันลงเรียนคลาสปรัชญาของเขา ไม่นับหนังสือขายดีของเขา บนแผงหนังสือภาษาอังกฤษ เราเห็นหนังสือปรัชญาหนาเตอะ จนถึงปรัชญาที่หยิบเอาซุปเปอร์ฮีโร่ ซอมบี้ ความรัก เกย์ ฯลฯ มาสนทนา

หันมองชั้นหนังสือภาษาไทย ไม่ต้องนับการถูกชิงพื้นที่ให้กับหลวงปู่ครูบาในหมวดศาสนา หนังสือปรัชญาในบ้านเราถือว่าผลิตกันออกมาน้อยมาก และที่น้อยอยู่แล้วก็ดันเป็นตำรับตำราเสียมากกว่า

“ช่วงที่ผมอยู่ที่นั่น มีความพยายามที่จะให้เด็กอนุบาลเรียนปรัชญา ผมได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งของ Roger Pol-Droit ชื่อแปลเป็นไทยประมาณว่า ขอเพียงแต่กล้าพูดปรัชญากับเด็ก สิ่งที่น่าสนใจคือเวลาสอนปรัชญาให้เด็กหรือพูดเรื่องปรัชญากับเด็ก มันเป็นเรื่องธรรมชาติอยู่แล้ว เพราะเด็กมีคำถามทางปรัชญาอยู่แล้ว เช่น เด็กถามคำถามว่าทำไมเราต้องไปโรงเรียน ทำไมเราต้องกินข้าวบนโต๊ะ ทำไมต้องเชื่อฟัง เราจะเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างไร ทำไมต้องมีลูก ทำไมเด็กร้องไห้ ถ้าเราตายแล้วจะเกิดอะไรขึ้น พระเจ้าอยู่ที่ไหน ทำไมมนุษย์ทำร้ายกันเอง นี่เป็นคำถามทางปรัชญาทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการเรียนการสอนปรัชญาไม่ได้ทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกับธรรมชาติของเด็ก ตรงกันข้ามถ้าเราไม่สอนเลยจะขัดกับธรรมชาติของเด็ก”

คำบอกเล่าของรชฎ สาตราวุธ อาจารย์ภาควิชาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้ผ่านการศึกษาประกาศนียบัตรชั้นสูงด้านปรัชญาจากฝรั่งเศส

ห้วงยามที่ผ่านมา เราเห็นโพสต์และความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนการสอนปรัชญาให้แก่เด็กๆ ในฝรั่งเศส หลายความเห็นต้องการเห็นสิ่งนี้ในเมืองไทย ต้องการเห็นอุปนิสัยการตั้งคำถามและมี Critical Mind ในเด็กๆ และเยาวชนไทย ...เรื่องใหญ่กันเลยทีเดียว

เราถึงต้องสนทนากับรชฎ ถามเขาว่าฝรั่งเศสสอนปรัชญากันอย่างไร ต่างกับในเมืองไทยอย่างไร เขาตอบว่าสังคมไทยเวลาพูดถึงปรัชญาคือการคิดถึงมันในฐานะทฤษฎี ทฤษฎีอันเป็นคำตอบของคำถาม ซ้ำร้ายคือเป็นคำตอบสุดท้าย เป็นคำตอบที่ถูกต้อง และไม่อนุญาตให้ถามต่อ ตรงข้ามกับฝรั่งเศสที่มองปรัชญาเป็นคำถาม

คนฝรั่งเศสเริ่มการเรียนการสอนปรัชญาด้วยคำถามก่อน รชฎยกตัวอย่างจากหนังสือเกี่ยวกับศาสนาเล่มหนึ่งที่ชื่นชอบ คำถามของหนังสืออันว่าด้วยศาสนานี้กลับเริ่มด้วยการท้าทายศาสนาอย่างแรงว่า ศาสนามีความจำเป็นอย่างไรในเมื่อวิทยาศาสตร์ตอบคำถามทั้งหมดได้แล้ว ศาสนาจำเป็นหรือเปล่า จำเป็นอย่างไร หรือมีคำถามใดบ้างที่วิทยาศาสตร์ตอบไม่ได้

“ถ้าเริ่มแบบนี้ สนุก แต่ถ้าตำราศาสนาในไทย โดยเฉพาะการเรียนการสอน จะเริ่มต้นว่าวัตถุประสงค์ในวันนี้ต้องการให้รู้หลักนิพพาน รู้เรื่องศีลห้า ในแง่นี้เราสนใจศาสนาในแง่คำตอบ คำถามไม่สำคัญ สำคัญในแง่ที่ว่าเรามีข้อมูลคำตอบมากเท่าไหร่

“เวลาถามเรื่องปรัชญาเมือง ฝรั่งเศสถามคำถามว่า ใครควรปกครองหรือเราควรถูกปกครองโดยใคร เราต้องเชื่อผู้ปกครองจริงหรือเปล่า และที่นั่นจะดูว่าคำถามเหล่านี้ถูกตอบโดยใคร และให้เราวิจารณ์ว่าคำตอบนั้นถูกหรือเปล่าและเราคิดอย่างไร เราเข้าข้างใคร เราเข้าข้างรุสโซหรือฮอบส์ หรือคนอื่น แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ผมคิดว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ตรงกันข้าม เราเห็นฮอบส์ รุสโซ เราเห็นนักปรัชญาทุกคน แต่เราเห็นในฐานะคำตอบ เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่มีคำถามเสียแล้ว หน้าที่ของเราคือจำว่านักปรัชญาพูดอะไร แล้วก็มาเขียนตอบ จบ แต่ฝรั่งเศสไม่ใช่อย่างนั้น ฝรั่งเศสเริ่มจากคำถาม แล้วคุณตอบมันอย่างไร ผมคิดว่าตรงนี้สำคัญ”

ตลอดเวลาหลายพันปีของอารยธรรมมนุษย์ พูดกันว่าคำถามพื้นฐานต่างๆ มีคนตั้งคำถามและพยายามหาคำตอบกันมาหมดแล้ว คนฝรั่งเศสจึงเชื่อว่าสิ่งที่เราถาม ไม่ใช่เราคนเดียวที่ถาม ดังนั้น เราต้องกลับไปดูคำตอบของคนอื่นๆ ก่อนหน้า และพยายามตอบให้ดีกว่าที่คนอื่นๆ เคยตอบ จะรู้คำตอบในอดีต วิชาประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ปรัชญาจึงขาดไม่ได้

สังคมไทยเวลาพูดถึงปรัชญาคือการคิดถึงมันในฐานะทฤษฎี ทฤษฎีอันเป็นคำตอบของคำถาม ซ้ำร้ายคือเป็นคำตอบสุดท้าย เป็นคำตอบที่ถูกต้อง และไม่อนุญาตให้ถามต่อ ตรงข้ามกับฝรั่งเศสที่มองปรัชญาเป็นคำถาม คนฝรั่งเศสเริ่มการเรียนการสอนปรัชญาด้วยคำถามก่อน

อีกหนึ่งข้อสำคัญ รชฎบอกว่า ปรัชญาในฝรั่งเศสไม่ได้ตัดขาดจากเรื่องอื่นๆ ในชีวิต

“ยกตัวอย่าง ถ้าเราพูดถึงแนวคิดเรื่องเสรีภาพของนักปรัชญาอย่างฌอง ปอล ซาร์ต จะมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่มีทางเข้าใจปรัชญาของซาร์ต สิ่งที่ซาร์ตทำคือเขียนบทละครที่เกี่ยวกับปรัชญาของเขา ที่อ่านแล้วเข้าใจได้ และทรงอิทธิพล สื่อสารปรัชญากับสาธารณะด้วยวรรณคดี ดังนั้น คนฝรั่งเศสจะมีความชื่นชอบวรรณคดีสูงมาก

“ขณะที่ในประเทศไทยจะมีความสามารถในการจัดประเภทที่ชัดเจน อันนี้เป็นปรัชญา ต้องอ่านอันนี้เท่านั้น อันอื่นไม่ใช่ปรัชญา ทิ้ง ถามว่ามีข้อดีข้อเสียหรือไม่ ก็คุยกันได้ แต่ของเรามีความชัดในการจัดประเภท และเราลืมไปว่ามีของหลายอย่างในโลกที่จัดประเภทไม่ได้”

บทสนทนาชักพาสู่คำถามว่า หรือสังคมไทยเป็นประเภท Pragmatism ปฏิบัตินิยม รชฎบอกว่าไม่ใช่ แต่เป็น Ultra-Pragmatism ที่เห็นคำตอบเป็นที่ตั้งและเป็นคำตอบเดียวที่ถูก นอกจากจะตอบได้แล้ว ยังต้องปฏิบัติได้ด้วย ของที่ปฏิบัติไม่ได้ ไม่ใช่คำตอบของสังคมไทย

“สำหรับผม ผมคิดว่าความรู้ทุกอย่างในประเทศไทย คนไทยถือเป็นสิ่งหลุดลอยไปหมด คงไม่ใช่แค่ปรัชญาเท่านั้น เพราะเราถามคำถามว่ามันใช้ได้หรือเปล่า เราถามคำถามของคนทำมาม่า เราไม่ได้ถามความจริงของมัน คำถามที่เราถามมันสะท้อนจริตในการเข้าใจความรู้ของเรา

“ยกตัวอย่าง ภาคใต้มีปัญหาเรื่องราคายาง ผมยกคำถามนี้ขึ้นมาในคลาสปรัชญาการเมืองที่ผมสอน คำถามที่คนไทยถามคือจะทำอย่างไรให้ราคายางขึ้น แต่ถ้าฝรั่งเศสจะถามว่าราคายางขึ้นยุติธรรมหรือเปล่า คำถามเกี่ยวกับราคายางคือคำถามเรื่องความยุติธรรม ไม่ใช่เรื่องราคายางขึ้นหรือเปล่า และคำถามเรื่องความยุติธรรมเป็นคำถามเชิงปรัชญา”

รชฎไม่ได้เรียกร้องให้เร่งรีบสอนปรัชญาให้กับเด็กไทย เพียงเพราะอยากทำตามฝรั่งเศส แต่ควรเริ่มจากคำถาม (คำถามอีกแล้ว) ก่อนว่า เราอยากได้อะไรจากปรัชญา เราอยากให้เด็กถามคำถามอะไร และอะไรทำให้ฝรั่งเศสตัดสินใจสอนปรัชญาให้แก่เด็กๆ ฝรั่งเศสเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เขาบอกข้อควรระวังว่า สังคมไทยไม่ควรเด็ดยอดโดยไม่รู้ที่มาที่ไป เพราะมันอันตราย

“ถามว่าจะต้องสอนปรัชญาอย่างไรให้แก่เด็ก สิ่งที่ห้ามทำคือห้ามเอาคำถามทางปรัชญาไปใส่เด็กโดยทันที แต่พัฒนาคำถามที่เด็กถามให้เป็นคำถามเชิงปรัชญา ตรงนี้สำคัญ อย่าทำให้คำถามทางปรัชญาเป็นคำถามยิ่งใหญ่ แล้วเหวี่ยงใส่หัวเด็ก ให้เด็กตอบคำถามนี้โดยพลัน แต่ต้องทำให้เด็กเห็นว่าคำถามที่เขาถามนั่นแหละเป็นคำถามเชิงปรัชญา แล้วเขาจะตอบมันอย่างไร ใครตอบอะไรไว้แล้วบ้าง”

รชฎทิ้งคำถามหักมุมไว้ด้วยว่า

“เผอิญผมได้คุยกับเพื่อนชาวเดนมาร์ก เขาพูดน่าสนใจว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการที่เด็กต้องเรียนปรัชญา เพราะในสแกนดิเนเวียเด็กไม่ต้องเรียนปรัชญา เด็กไปโรงเรียนเพื่อไปเล่นอย่างเดียว คำถามคือการศึกษาในสแกนดิเนเวียดีกว่าในฝรั่งเศสใช่หรือไม่ ใช่ แต่ไม่แน่ใจว่าดีกว่าในแง่ไหน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการศึกษาของฝรั่งเศสไม่ดี เขาก็มีดีของเขา แต่ถ้าเราพยายามจะทำให้เด็กเป็นผู้ใหญ่เร็วที่สุดด้วยปรัชญา นี่คือคำถามที่เพื่อนชาวเดนมาร์กถามผม ทำไมเราต้องรีบให้เด็กเป็นผู้ใหญ่ด้วย”

นอกจากควรหาคำตอบของคำถามข้างต้นให้เจอก่อนเริ่มสร้างการเรียนรู้ปรัชญาแก่เด็กๆ แล้ว ยังมีกำแพงอุปสรรคที่สูงใหญ่กว่านั้นและน่าจะยากกว่าการตอบคำถาม ข้อแรก-จะทำอย่างไรให้สังคมไทยเห็นประโยชน์ของสิ่งที่ใช้ไม่ได้ หรือเดินออกจากแนว Ultra-Pragmatism ข้อสอง-ซึ่งยากเย็นยิ่งกว่าข้อแรกเป็นทวีคูณ...

“ในสังคมไทยมีวิธีคิดที่มีคำตอบรออยู่แล้วสำหรับคำถามเชิงปรัชญาคือศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธกลายเป็นคำตอบของคำถามเชิงปรัชญาไปหมดแล้ว ทำอย่างไรให้เราเห็นคำตอบอื่นที่ไม่ใช่พุทธ”

แต่เดี๋ยวก่อน คำถามสุดท้ายของสุดท้ายจริงของการสนทนาที่รชฎถาม ซึ่งเผลอๆ อาจเป็นคำถามที่เป็นจุดพลิกผันของทุกคำถามของการเริ่มต้นสร้างอุปนิสัยการตั้งคำถามและ Critical Mind ก็คือ

“จะทำยังไงให้ผู้ใหญ่ในสังคมเราที่ยังเป็นเด็กให้กลายเป็นผู้ใหญ่เสียที”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net