Skip to main content
sharethis

'วัชรฤทัย' เสนองานวิจัยสิทธิการศึกษาของประเทศต่างๆ ที่ระบุใน รธน. นศ.มธ.ชี้รัฐไม่ควรมองการศึกษาเป็นเรื่องถูกหรือแพง 'ธนพงษ์' วิเคราะห์การศึกษาในฐานะความมั่นคงของมนุษย์ 'พัชณีย์' ระบุการศึกษาที่ดีไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมเผด็จการและสังคมที่มองคนแบบเหลื่อมล้ำ

 

21 ม.ค. 2560 ที่ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นั้น วิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) จัด เสวนาวิชาการ หัวข้อ "สวัสดิการการศึกษาในรัฐธรรมนูญ" โดยมี ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ อาจารย์จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย (Thai Civic Education) ธนพงษ์ หมื่นแสน สมาชิก Group of Comrades รุ่งรวิน แสงสิงห์ นักศึกษาวิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นนักศึกษาผู้กู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ปัจจุบัน และพัชณีย์ คำหนัก นักกิจกรรมแรงงาน ร่วมเสวนา

กติกาสากลกับการรับรองสิทธิการศึกษา

"ถ้าเราจะมองเรื่องการศึกษาในฐานะเป็นสิทธิมันไม่ใช่แค่สิทธิในตัวของมัน พอเราพูดถึงเรื่องการศึกษา การศึกษามันยังเป็นสิ่งที่เอื้อหรือว่าส่งเสริมให้เราได้รับสิทธิอื่นๆ ด้วย" วัชรฤทัย กล่าว

วัชรฤทัย กล่าวถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับการศึกษาตั้งแต่ ปี 2491 ด้วยว่า ทุกคนควรมีสิทธิทางการศึกษาและการศึกษาควรเป็นการศึกษาฟรี อย่างน้อยในระดับประถมซึ่งควรเป็นการศึกษาภาคบังคับแล้วก็ควรมีการจัดการศึกษาอาชีวะศึกษาและอุดมศึกษาควรเข้าได้อย่างเสมอภาคและก็ตามความสามารถ 

สำหรับสิทธิการศึกษาในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมนั้น วัชรฤทัย กล่าวว่า ได้รับการยอมรับจากสหประชาชาติปี 1966 แต่ยังบังคับใช้ในอีก10 ปี ซึ่งใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะมีกฎบังคับใช้ และต่อมาในปี 1999 ประเทศไทยถึงได้ลงนามเป็นภาคี ยอมรับข้อผูกพันตามกฎหมาย ซึ่งพูดถึงการศึกษาว่าให้รัฐต้องกำหนดการเพื่อให้การศึกษาในระดับประถมศึกษาเป็นการศึกษาบังคับที่จะให้ทุกคนไม่เสียค่าใช้จ่าย และในระดับมัธยมให้จัดการศึกษาในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งอาชีวะศึกษาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยให้ดำเนินการโดยทุกวิธีทางที่เหมาะสมที่จะจัดให้ดำเนินการที่ทุกคนเข้าถึงได้ และโดยเฉพาะให้มีความคืบหน้าในการดำเนินการศึกษาโดยไม่เสียค้าใช้จ่าย หมายความว่ารัฐควรจัดการกับการศึกษาในระดับมัธยมให้ทุกคนเข้าถึงได้

สิทธิการศึกษาในโลกที่ระบุใน รธน.

วัชรฤทัย ได้ยกงานวิจัยชิ้นหนึ่งของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยซีแอลเอ ที่สหรัฐอเมริกา ว่า ได้ศึกษารัฐธรรมนูญของ 190 ประเทศซึ่งเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ โดยดูตัวรัฐธรรมนูญถึงปี 2554 หลายๆ ซึ่งประเทศมีรัฐธรรมนูญมากกว่า 100 ปี และแต่ก็มีการแก้ไขบ้าง พบมีสิทธิการศึกษาทางรัฐธรรมนูญมีกำหนดอะไรบ้างก็พบว่า 81% ของรัฐธรรมนูญจาก 190 ประเทศคุ้มครองสิทธิการศึกษาในระดับประถม คือประถมต้องเป็นการศึกษาภาคบังคับที่จัดให้ทุกคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนในระดับมัธยมมีรัฐธรรมนูญ 37% ระบุไว้ว่ามีการคุ้มครองสิทธิทางการศึกษา ที่ระบุไว้ก็ใกล้เคียงกับระดับอุดมศึกษา 15% แต่ที่น่าสนใจนักการคุ้มครองสิทธิรัฐธรรมนูญว่าคุ้มครองแบบไหน สรุปแล้วมี 6 ประเภท มีแบบที่รัฐธรรมนูญไม่ได้พูดถึงการรับรองสิทธิการศึกษาแก่พลเมืองทุกคน มันมีรัฐธรรมนูญแบบที่แสดงเจตจํานงค์ แต่ไม่รับรองเพียงแค่แสดงเจตจํานงค์ว่าอยากจะให้มีสิทธิทางการศึกษา ก็จะใช้คำว่า "ทุกคนควรจะได้รับสิทธิทางการศึกษา" อย่างเช่นในระดับประถมศึกษา ไม่ได้บอกว่าทุกคนมีสิทธิ แต่บอกว่า "ทุกคนควรจะได้รับ" เป็นการแสดงเจตจํานงค์ว่าจะให้สิทธิ แต่ไม่ได้รับรองว่ามีสิทธิ รัฐธรรมนูญบางประเทศเขียนไว้แบบนี้ และมีรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิทางการศึกษา พูดเลยว่า "ทุกคนควรจะมีสิทธิได้รับการศึกษาในระดับประถม" หรือว่ามีรัฐธรรมนูญที่รับรองให้การศึกษาภาคบังคับใช้คำว่า "ภาคบังคับ" และก็มีรัฐธรรมนูญที่รับรองการศึกษาไม่เสียค่าใช้จ่าย บางรัฐธรรมนูญระบุเลยว่า "การศึกษาระดับประถมไม่เสียค่าใช้จ่าย" หรือ "ระดับมัธยมไม่เสียค่าใช้จ่าย" หรือ "อุดมศึกษาไม่เสียค่าใช้จ่าย" และอันสุดท้ายก็คือทั้งบอกว่าบังคับและไม่เสียค่าใช้จ่าย 

จำนวนประเทศต่อสิทธิการศึกษารูปแบบต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ

บางประเทศไม่ระบุใน รธน.แต่ก็มีนโยบาย

"ประเทศที่รับรองสิทธิ์ทางการศึกษาในรัฐธรรมนูญ จะมีนโยบายต่างๆ ที่กำหนดให้การศึกษาสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ในสัดส่วนที่สูงกว่าในประเทศที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนด ก็คือว่ากำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญดีไหม ดี เพราะว่ามันต้องออกนโยบายเพื่อให้สอดคล้อง เพราะฉะนั้นในการศึกษามันจึงมองว่ามันมีสัดส่วนที่สูงสำหรับประเทศที่บอกว่าการศึกษาฟรีอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่ที่น่าสนใจก็คืองานวิจัยชิ้นนี้เมื่อดูตัวเลขแล้วก็เห็นว่าหลายประเทศที่รัฐธรรมนูญไม่ได้รองรับสิทธิ แต่ยังมีนโยบายการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน โดยเฉพาะในระดับมัธยมและอุดมศึกษา" วัชรฤทัย กล่าว

จำนวนประเทศต่อรูปแบบนโยบายเกี่ยวกับสิทธิการศึกษาประเภทต่างๆ

รัฐไม่ควรมองการศึกษาเป็นเรื่องถูกหรือแพง 

รุ่งรวิน แสงสิงห์ นักศึกษาวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองเรื่องการกู้ยืมการศึกษา ว่า ไม่ควรเป็นเรื่องของเฉพาะคนที่ขาดทุนทรัพย์ เพราะคนทุกคนควรเข้าถึงได้สิทธิดังกล่าวได้ รุ่งรวิน ยังมองว่าค่าครองชีพที่ได้เพียงวันละ 70 บาทใน กยศ. นั้นไม่เพียงพอ สิ่งที่รัฐเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เรื่องเรียนฟรีในขั้นพื้นฐานนั้น ในความเป็นจริงก็ไม่ได้เรียนฟรีจริงเพราะตนก็ต้องกู้ยืม กยศ.ตั้งแต่สมัยมัธยม เพราะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น จ่ายให้กับครูต่างประเทศนั้น แสดงให้เห็นว่าไม่ได้ฟรีจริง

รุ่งรวิน กล่าวด้วยว่า ความยากลำบากในการเข้าถึงเงินกู้และการศึกษานั้น มันบอกเราได้ในระดับหนึ่งว่าถ้าไม่มีก็ไม่ต้องเรียน ทำให้บางคนต้องหยุดความต้องการไว้ เพราะมีปัญหาทางเลือกให้ นอกจากนี้ รุ่งรวิน ยังกล่าวด้วยว่า เงินค่าเทอมที่ กยศ. ให้นอกจากไม่เพียงพอแล้วยังดีเลย์ ทำให้เด็กบางคนต้องสำรองจ่ายไว้มากเช่นกัน สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ มันจึงใช้ถือเป็นสวัสดิการ เพราะระบบการศึกษาไม่ควรมองเป็นเรื่องที่ถูกหรือแพง มันควรเป็นสิ่งที่รัฐควรลงทุนกับเราอย่างเต็มที่เพราะมันจะเป็นผลดีกับเราในอนาคต สิทธิในการศึกษาของพวกเราควรได้รับตั้งแต่ต้นจนจบ อีกประเด็นสำหรับ กยศ. ถ้าตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่จะออกมาแสดงให้เห็นว่าเป็นเครื่องมือของรัฐที่จะผลักภาระการศึกษาไปสู่ปัจเจก

การศึกษาในฐานะความมั่นคงของมนุษย์

ธนพงษ์ หมื่นแสน กล่ววว่า ระบบและการจัดการด้านการศึกษา สะท้อนผลกระทบต่อเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ โดยประเด็นบางเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนัยยะแห่งแนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ด้านการศึกษามีดังต่อไปนี้ หนึ่ง ความเสมอภาคทางการศึกษา คือ เด็กทุกคนมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกันที่จะได้รับการเอาใจใส่และได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการคำนึงในเรื่องเพศ อายุ เชื้อชาติ สถานะทางสังคมหรือสถานะทางเศรษฐกิจ การควบคุมคุณภาพการศึกษาด้วยการสร้างสายความรับผิดชอบให้สั้น การแข่งขันและการจ่ายตรง จะทำให้เกิดความเลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น และจะขยายปัญหาความแตกต่างของชนชั้นทางเศรษฐกิจให้เลวร้ายลงไปอีก เพราะลูกของคนที่จนมากๆ แม้จะได้เงินจากรัฐเท่ากับคนอื่น แต่ก็จะไม่มีทุนของตนเองมาสมทบที่จะย้ายไปสู่โรงเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์สูงกว่า ดังนั้นจะได้การศึกษาที่มีคุณภาพต่ำกว่า จบแล้วก็ทางานที่สร้างรายได้ต่ำกว่า และมีชีวิตที่ขัดสนกว่า 

ธนพงษ์ กล่าวถึงประเด็นที่สอง ว่า คือ อิสระในการเรียนรู้ โดยที่บุคคลมีเสรีภาพที่จะเลือกในสิ่งที่ตนต้องการจะเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ และต้องการจะเรียนรู้เมื่อไร โดยมีหลักสูตรหลากหลายที่สนองตอบความต้องการของปัจเจกบุคคลได้ และการศึกษาตลอดชีวิตจะเปิดไว้ให้กับทุกคน การมีอิสระในการเรียนรู้ยังหมายความรวมถึงการที่รัฐควรจะจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแบบให้เปล่าด้วย

ธนพงษ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ สาม คือสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ที่ปลอดภัยและมั่นคง โดยสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้นั้น คือ ความปลอดภัยทางกายและความรู้สึกสำหรับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมในชั้นเรียนโรงเรียน หรือเส้นทางการเดินทางไป-กลับโรงเรียน โดยมีการวิจัยพบว่า คุณภาพในสัมพันธภาพของนักเรียนกับครูส่งผลกระทบโดยตรงและสำคัญต่อความเกี่ยวข้องในการเรียนรู้ของนักเรียนมากที่สุดสัมพันธภาพในระดับเดียวกันจะกระทบต่อสุขภาพจิตของนักเรียนอย่างเด่นชัดที่สุด โรงเรียนจึงจำเป็นจะต้องทำให้นักเรียนมีความรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจ และสี่ การจ้างงาน คือ ความเท่าเทียมในชีวิตและความผาสุก มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับรายได้ของบุคคล ทักษะเกี่ยวกับอาชีพและการศึกษาจะช่วยสนับสนุนโอกาสในเรื่องการจ้างงานโดยไม่ต้องสงสัย

การศึกษาที่ดี ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมเผด็จการ

พัชณีย์ คำหนัก กล่าวว่า การศึกษาไทยได้ทำให้เกิดโครงสร้างกำลังแรงงานที่อ่อนแอ รัฐบาลที่ผ่านๆ มา ได้ผลิตโครงสร้างกำลังแรงงานที่อ่อนแอ ทั้งในระบบอุตสาหกรรมและนอกระบบอุตสาหกรรม

พัชณีย์ กล่าวด้วยว่า การศึกษาที่ดี ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมเผด็จการ ดังนั้นนโยบายต่างๆ ที่จะลดความเหลื่อมล้ำ ที่จะสร้างระบบการศึกษาไทย เช่น ตัว กยศ. เป็นตัวชี้ว่า นโยบายของรัฐไม่มีความจริงใจ ตัวอย่าง การหักหนี้ ณ ที่จ่ายเช่นเดียวกับภาษี เมื่อจบการศึกษาแล้วต้องจ่ายหนี้ให้กับ กยศ. มันก็จะสะท้อนให้เห้นถึงวิธีการปฏิบัติต่อนักศึกษา มองเราเป็นเราในฐานที่เป็นลูกค้าหรือลูกหนี้มากกว่าเราเป็นประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

พัชณีย์ กล่าวต่อว่า กยศ. ก็เป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ที่ทำให้ประชาชนต้องพิสูจน์ความยากจน เพื่อได้รับสวัสดิการนั้น แต่ว่าสิ่งที่มีการวิจารณ์หนักคือการสงเคราะห์ของรัฐ ไม่ได้ใช้ระบบมาตรการทางภาษี ทำไมรัฐใช้กลไกสงเคราะห์ รูปแบบบริจาคทรัพย์สินมาลงทุนในการศึกษา การจัดสรรงบประมาณก็เป็นประเด็นในการจัดสวัสดิการศึกษา ในงบปริมาณแผ่นดินจัดให้งบกองทัพสองแสนกว่าล้าน ที่มากขึ้นตลอด 3 ปีที่ผ่านมา แต่ทำไม กยศ. ต้องการการใช้คืนขนาดถึงนั้น ทั้งที่มีงบจ่ายในส่วนอื่น ควรมีมาตรการภาษีมากขึ้น ความเป็นจริงเรื่องภาษีควรมีการพูดกันมากขึ้น แต่ก็ไม่สามารถพูดได้เนื่อง จากเรายังอยู่ในสังคมที่ปิดหูปิดตาประชาชน

การมองคนแบบเหลื่อมล้ำก็ไม่สามารถยกระดับการศึกษาได้

พัชณีย์ กล่าวว่า หน่วยงานของรัฐจะวัดการศึกษาในเชิงปริมาณมากกว่า แต่ว่าในเชิงคุณภาพนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง การตีความในการศึกษาการศึกษาในเชิงปริมาณมากกว่า ขณะที่บอกอยู่ตลอดว่าจะยกระดับคุณภาพการศึกษา แต่กับใช้อุดมการณ์เข้ามาจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ถ้าเป็นแนวคิดที่มองคนทุกคนเท่าเทียมกัน ก็จะมองการศึกษาละเอียดมาก การมองคนแบบเหลื่อมล้ำก็ไม่สามารถยกระดับการศึกษาได้แท้จริง การมองคนที่ไม่เท่าเทียมแล้ว นอกจากเป็นแนวคิดของอนุรักษนิยมจารีตแล้ว ยังเป็นแนวคิดเสรีนิยมด้วย ที่ผ่านมา นโยบายการศึกษาออกมาทำให้โครงสร้างกำลังแรงงานอ่อนแอ ส่วนมากมาจากพรรคนายทุนก็ไม่สามารถลงทุนกับมนุษย์ได้อย่างเต็มที่ แม้เพื่อไทยจะมีประชานิยมก็ไม่สามารถจัดสวัสดิการได้เต็มที่ รัฐบาลทหารก็ยังโยนทิ้งสวัสดิการเหล่านี้อีก ต้องเป็นคนจนเท่านั้นที่จะเข้าถึงกองทุนสงเคราะห์ต่างๆ

พัชณีย์ เสนอว่า ฝ่ายประชาชนควรมีการเมืองของเราเอง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของเรา ปัจจุบันทหารมีความเข้มแข็งขึ้น เพราะภาคประชาชนอ่อนแอ เช่น การออกกฎหมายความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์สะท้อนว่าเขามีกลไกปราบปรามเพิ่มขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net