Skip to main content
sharethis
ประวิตรยันที่ทหารจะนั่งเต็ม กก.ปรองดอง เพราะเป็นกลางไม่ขัดแย้งใคร หน.กก.ปรองดอง เผยคุย 3 เดือนก่อนทำ MOU ด้าน ยิ่งลักษณ์ ยินดี พร้อมชี้ควรยึดหลักความเป็นกลางความเป็นธรรม ภูมิธรรม มองไม่ใช่เรื่องของนักการเมืองแต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ขณะที่ ปธ.สนช.เห็นด้วยรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (ที่มาภาพ แฟ้มภาพเว็บไซต์ทำเนียบฯ)

20 ม.ค. 2560 ความคือบหน้าเรื่องแนวคิดการเชิญนักการเมืองมาปรึกษาหารือและมาลงสัตยาบันร่วมกันเพื่อสร้างความปรองดองและยุติความขัดแย้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การสร้างบรรยากาศความปรองดองเป็นไปในเชิงบวก ทุกคนต้องการให้เกิดความปรองดองเพื่อให้ประเทศชาติสงบสุข ให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ ประชาชนสามารถทำมาหากินได้อย่างปกติสุข เบื้องต้นตนยังไม่ได้ติดต่อกับกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองใดๆ ตนไม่ดิวกับใครอยู่แล้ว และต้องรอรายชื่อคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองออกมาก่อน โดยจะให้ทุกกลุ่มการเมือง พรรคการเมือง ได้แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะเข้ามา เพื่อให้คณะกรรมการได้พิจารณาในภาพรวมทั้งหมด

ที่ทหารจะนั่งเต็ม กก.ปรองดอง เพราะเป็นกลางไม่ขัดแย้งใคร

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ในสัปดาห์หน้ารายชื่อของคณะกรรมการจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดเผยได้ โดยคณะกรรมการนี้จะดูว่าต้องเชิญกลุ่มการเมือง พรรคการเมืองใดบ้าง โดยจะพยายามให้ทุกกลุ่มเข้ามาพูดคุยหารือ เริ่มจากพรรคการเมืองก่อน ยืนยันว่าการที่คณะกรรมการมีแค่คนในกองทัพไม่ใช่ปัญหา เพราะกองทัพเป็นกลาง ทหารไม่มีความขัดแย้งกับใคร และคณะกรรมการก็ไม่ใช่เด็กๆ ล้วนแต่เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งนั้น
 
"ไม่เป็นไรหรอก ก็เป็นกลาง ไม่เห็นเป็นไรเลย ก็ผมบอกแล้วไงทหารเราไม่มีความขัดแย้งกับใคร และพวกที่เข้าไปนั่งก็ไม่ได้เป็นพวกเด็กๆ นะ เป็นระดับผู้ใหญ่ๆ ทั้งนั้นในกองทัพนะครับ ท่านรู้นะครับว่าท่านควรจะทำอย่างไร" พล.อ.ประวิตร กล่าวกรณีที่คณะกรรมการปรองดองจะมีทหารเข้าไปอยู่จำนวนมาก
 
ต่อกรณีคำถามว่าหากพรรคการเมืองจะขอเปิดประชุมเพื่อขอมติพรรคในเรื่องดังกล่าวจะอนุญาตหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่เห็นจำเป็นต้องประชุม ตนไม่ได้ต้องการการตัดสินใจในภาพรวมของพรรค เพียงแต่ต้องการการแสดงความคิดเห็นว่า จะทำอย่างไรให้เกิดความสงบขึ้นหลังจากมีการเลือกตั้ง ป้องกันการประท้วง การออกมาตีกัน ไม่ได้ขอมติพรรค ใครอยากเสนออะไรก็สามารถเสนอได้ ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นมติพรรค โดยเบื้องต้นได้มีการวางกรอบในการพูดคุยหารือและคำถามต่างๆ ที่เตรียมไว้สำหรับทุกฝ่ายอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านการเมือง ยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูป เป็นต้น
 
“เราจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการที่จะรับฟังข้อคิดเห็นทั้งหมด ไม่ใช่ว่ากระบวนการเสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน จากนั้นนำความคิดเห็นต่างๆ มาเผยแพร่ และเข้าสู่กระบวนการต่อไป” พล.อ.ประวิตรกล่าว

หน.กก.ปรองดอง เผยคุย 3 เดือนก่อนทำ MOU

ด้าน พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้าคณะกรรมการอำนวยการการปรองดอง กล่าวว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นฝ่ายต่างๆ ทั้งพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง จะใช้เวลา 3 เดือน โดยจะสรุปข้อเสนอทั้งหมดทำเป็นข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งยังไม่สามารถระบุกรอบเวลาที่ชัดเจนได้ ต้องรอดูข้อมูลที่จะได้รับก่อน ยืนยันการดำเนินการครั้งนี้ไม่ใช่การซื้อเวลา ไม่มีมวยล้มต้มคนดูอย่างแน่นอน

ยิ่งลักษณ์ ยินดี พร้อมชี้ควรยึดหลักความเป็นกลางความเป็นธรรม

ขณะที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการที่ คสช.และรัฐบาลออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ว่า ส่วนตัวยินดีให้การสนับสนุน ถ้าทุกอย่างเป็นประโยชน์กับประเทศ แต่ควรยึดหลักความเป็นกลางความเป็นธรรม และขอให้เป็นไปตามกฎหมาย  แต่ต้องแน่ใจว่าจะเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า หวังว่ากลไกทางภาครัฐและฝ่ายทหารจะเป็นผู้ประสานงานที่ดี   ถ้าเป็นไปได้อยากให้เชิญผู้ที่มีความเป็นกลางโดยเฉพาะนักวิชาการ หรือผู้ที่สังคมให้การยอมรับเข้ามาแลกเปลี่ยนให้ความรู้ และเป็นคณะกรรมการ  เชื่อว่าหากคณะกรรมการ ป.ย.ป.จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศคงไม่มีผู้ใดปฏิเสธ  เพราะทุกคนต้องคิดถึงส่วนรวมเป็นหลัก อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาจะต้องทราบถึงนิยามคำว่าปรองดองก่อน ทุกคนต้องยอมรับและได้รับความเป็นกลางไม่มีการเลือกปฎิบัติ เมื่อได้รับนิยามแล้วจึงจะพิจารณาที่กลไกปฎิบัติต่อไป
ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่ยไทย

ภูมิธรรม มองไม่ใช่เรื่องของนักการเมืองแต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง

ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่ยไทย กล่าวว่า ตามที่ คสช. และรัฐบาลได้ออกคำสั่งเพื่อให้มีการดำเนินการเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองโดยจะจัดให้มีคณะกรรมการรับผิดชอบขับเคลื่อนในด้านต่างๆและเรียกร้องให้นักการเมืองร่วมมือกันสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม การแก้ไขปัญหานี้ให้ประสบความสำเร็จ คงไม่ใช่ให้พรรคการเมืองมาพบกันและจัดทำเอ็มโอยูเท่านั้น เพราะปัญหาความไม่ปรองดอง ไม่ใช่เกิดจากเฉพาะพรรคการเมืองแต่ฝ่ายเดียว แต่เกี่ยวพันกับคนหลายกลุ่ม หลายฝ่าย หลายองค์กร เกี่ยวพันกับปัญหาประเทศเชิงโครงสร้างในหลาย ๆ ส่วน รวมถึงผู้มีอำนาจในปัจจุบันก็เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น

เพื่อไทยชี้คือการอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติภายใต้หลักนิติธรรม

ภูมิธรรม กล่าวว่า  ปัจจัยที่จะทำให้ความปรองดองเกิดขึ้น เป็นผลสำเร็จ ความหมายที่แต่ละฝ่ายยึดถือและเข้าใจในเรื่องความปรองดองนั้นต้องตรงกัน จึงจะสามารถเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาได้ สำหรับพรรคเพื่อไทย เข้าใจว่าการปรองดองหมายถึง การอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติภายใต้หลักนิติธรรม บนพื้นฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้นการจะสร้างความปรองดองได้ คือ การอำนวยให้เกิดความยุติธรรม และการยอมรับการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างที่แต่ละฝ่ายมี  ซึ่งพรรคเพื่อไทยมอบให้ โภคิน พลกุล ชัยเกษม นิติสิริ ชูศักดิ์ ศิรินิล จาตุรนต์ ฉายแสง พงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นผู้ดำเนินการติดตามเรื่องนี้และรายงานให้ที่ประชุมรับทราบ

ปธ.สนช.เห็นด้วยรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ

พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เปิดเผยผลการหารือร่วมกับ สุวิทย์ เมษิณทรีย์ เลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ว่า เป็นขั้นตอนก่อนที่จะตั้งคณะทำงาน 4 คณะ ตามอำนาจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีเร่งรัดให้รีบดำเนินการ ให้เห็นผลผลเป็นรูปธรรมซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยที่จะให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการหาข้อยุติ
 
พรเพชร กล่าวว่า ตนอยู่ร่วมทั้ง3 คณะ และมีรองประธานสนช. ร่วมคณะด้วยเพื่อเป็นตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งแต่ละภาคส่วนจะไปดำเนินการในส่วนที่รับผิดชอบ โดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) จะทำงานด้านปฏิรูปเป็นหลัก และเสนอแผนเข้ามา ให้สนช. เห็นชอบออกเป็นกฎหมาย ซึ่งยืนยันว่า จะสามารถคาดหวังได้ในเรื่องของการปฏิรูป ส่วนด้านยุทธศาสตร์ชาติ สนช. มีส่วนเกี่ยวข้องมากในส่วนของการออกกฎหมาย ขณะที่เรื่องความปรองดอง กฎหมายมีส่วนเกี่ยวข้องน้อย เพราะกฎหมายบังคับเรื่องความปรองดองไม่ได้ จึงต้องรอฟังข้อเสนออีกครั้งว่าแต่ละฝ่ายต้องการอย่างไร  ตนยังนึกไม่ออกว่าจะออกมาเป็นรูปแบบใด
 

ที่มา : สำนักข่าวไทย, มติชนออนไลน์ ผู้จัดการออนไลน์และโพสต์ทูเดย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net