Skip to main content
sharethis

เสียงสะท้อน ‘คดีสุภัคสรณ์’ หรือนี่คืออาชญากรรมจากความเกลียดชังผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศที่เป็นทอม? ฟ้าสีรุ้งระบุอาชญากรรมที่เกิดกับทอมมีทุกพื้นที่ พบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทำกลุ่มหญิงรักหญิงไม่กล้าออกนอกบ้านตอนกลางคืน นักวิชาการชี้ ‘แก้ทอมซ่อมดี้’ เป็นวาทกรรมที่นำสู่ความรุนแรง แนะสังคมไทยเร่งทำความเข้าใจ Hate Crime

 

เหตุอาชญากรรมสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างปีถูกเปิดเผยออกมาไม่นานก่อนหน้านี้ ผู้ตายคือสุภัคสรณ์ พลไธสง หรือหญิง ซึ่งมีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นทอม ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจมุ่งไปที่ประเด็นชู้สาวเป็นหลัก ซึ่งคาดว่าสังคมน่าจะรับรู้ที่มาที่ไปของคดีนี้ไปบ้างแล้ว

แต่ลักษณะการสังหารที่ค่อนข้างทารุณทำให้กรณีนี้เป็นประเด็นที่สังคมชวนตั้งคำถามว่า อาชญากรรมครั้งนี้ ส่วนหนึ่งจะเกิดขึ้นจากความเกลียดชังต่ออัตลักษณ์ทางเพศของผู้ตายหรือไม่ หรือที่เรียกว่า Hate Crime อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง

‘ทอม’ มักตกเป็นเป้าของความเกลียดชังอันเกิดจากอคติ เห็นได้จากความคิดเห็นต่างๆ ที่พรั่งพรูในโลกโซเชียล มีเดีย กรณีสุภัคสรณ์อาจต้องรอการสืบสวนให้มากกว่านี้จึงจะสามารถฟันธงได้ว่า ส่วนผสมของแรงจูงใจในการก่ออาชญากรรมนี้เกิดจากความเกลียดชังด้วยหรือไม่ แต่ผลจากข่าวนี้ก็ทำให้ทอมจำนวนหนึ่งรู้สึกหวาดกลัว หรืออดไม่ได้ที่คนรอบข้างทอมเองจะรู้สึกเป็นห่วง ดังที่พริษฐ์ ชมชื่น นักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ ทอมทรานส์ กล่าวในวงเสวนาสาธารณะ ‘อุ้ม ซ้อมทรมาน ฆาตกรรม: อาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง “ทอม” และความหลากหลายทางเพศ’ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2560 ที่โรงเรียนเอเชีย ว่า หลังเกิดเหตุการณ์ ทอมจำนวนหนึ่งถูกขอให้ ‘เลิก’ เป็นทอมก่อน เนื่องจากคนในครอบครัวกลัวจะไม่ปลอดภัย

อาจฟังเป็นเรื่องขำขันเมื่อได้ยินครั้งแรก แต่เมื่อปล่อยให้เนื้อสารตกตะกอนก้องในความนึกคิด มันเป็นเรื่องเศร้าที่สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยยังขาดความเข้าใจต่อความหลากหลายทางเพศในระดับฉุกเฉินเพียงใด และชักพาให้ผิดประเด็น เพราะไม่ว่าจะมีอัตลักษณ์ทางเพศอย่างไรก็ไม่มีผู้ใดมีสิทธิมาทำร้ายได้หรือละเมิดเนื้อตัวร่างกายผู้อื่นได้

คดีสุภัคสรณ์กลายเป็นข่าวใหญ่เพราะบิดาของผู้ตายเข้าแจ้งความ แล้วตัวผู้ต้องหาก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่นี่เป็นเพียงปลายยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ยังมีฐานของภูเขาน้ำแข็งขนาดมหึมาที่ซุกซ่อนอยู่ใต้ผิวน้ำที่ไม่ถูกมองเห็น

"วาทกรรมแก้ทอมซ่อมดี้ ชายจำนวนหนึ่งเชื่อว่าสามารถซ่อมทอมดี้ได้ ที่น่ากลัวคือทำอยู่บนความเชื่อว่ากำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง...ไม่ได้คิดว่าทำอาชญากรรม สิ่งที่เกิดขึ้นในคดีนี้ สำหรับดิฉันถือเป็นความรุนแรงต่อหญิงที่มีอัตลักษณ์เป็นทอม สังคมไทยเชื่อว่าจู๋สามารถแก้ได้...มันแสดงให้เห็นว่าเรื่องเพศในสังคมไทยนอกจากไม่คุยกันแล้ว ความรู้ความเข้าใจยังอ่อนแอมาก”

ทิพย์อัปสร ศศิตระกูล ผู้จัดการโครงการลดการตีตรา การเลือกปฏิบัติ การละเมิดสิทธิในหญิงรักหญิง กะเทย สาวประเภทสอง สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย บอกเล่าถึงประสบการณ์การทำงานว่า พบเจอกรณีการทำร้ายร่างกาย ข่มขืน ไปจนถึงการฆ่า ผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นหญิงรักหญิงบ่อยครั้ง บางกรณีเกิดจากคนในครอบครัวเพราะคิดว่าจะสามารถ ‘แก้ทอม ซ่อมดี้’ ได้ด้วยความรุนแรงทางเพศ หรือในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีกรณีที่ทอมถูกเจ้าหน้าที่รัฐข่มขืนและฆ่า เพียงแต่ไม่ถูกนำเสนอเป็นข่าว หลายกรณีผู้เสียหายเลือกที่จะเงียบเพราะความอับอายและหวาดกลัว

“จากที่ทำงานลงพื้นที่มาสองปี จะได้ยินเหตุการณ์แบบนี้ปีละครั้งต่อหนึ่งภาค ตัวอย่างที่เราไปทำงานด้วย ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มันทำให้กลุ่มหญิงรักหญิงในพื้นที่ไม่กล้าไปไหนตอนกลางคืน ต้องหลบๆ ซ่อนๆ นัดเจอกันตามบ้านเพื่อน”

นอกจากนี้ คดีสุภัคสรณ์ยังดูเหมือนซ้อนทับกับการอุ้มฆ่าโดยเจ้าหน้าที่รัฐด้วย ซึ่งในความเห็นของพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า

“ในเคสนี้ ในทางสิทธิมนุษยชนเป็นการอุ้มฆ่าหรือไม่ อุ้มหายกับอุ้มฆ่าเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐในฐานที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วย ต้องสืบสวนด้วยว่าเกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานหรือไม่ ซึ่งดูเหมือนไม่ใช่สำหรับกรณีนี้ เป็นแค่อาชญากรรมปกติ เพียงแต่ผู้กระทำเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ อยู่ในเครือข่ายเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะการนำศพไปทำลายไม่ใช่เรื่องเล็ก”

ทั้งหมดนี้ กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า ในกรณีของการอุ้มฆ่า-อุ้มหาย ยังถือเป็นจุดอ่อนของสังคมไทย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจต่อประเด็นนี้และไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง อีกทั้งจุดใหญ่ก็คือเจ้าหน้าที่รัฐอาจกำลังเชื่อว่าการอุ้มฆ่า-อุ้มหายของตนเป็นการกระทำที่ถูกต้อง

“อย่างวาทกรรมแก้ทอมซ่อมดี้ ชายจำนวนหนึ่งเชื่อว่าสามารถซ่อมทอมดี้ได้ ที่น่ากลัวคือทำอยู่บนความเชื่อว่ากำลังทำสิ่งที่ถูกต้องเหมือนกับคดีอุ้มฆ่าที่เจ้าหน้าที่รัฐคิดว่าเขาทำถูก ไม่ได้คิดว่าทำอาชญากรรม สิ่งที่เกิดขึ้นในคดีนี้ สำหรับดิฉันถือเป็นความรุนแรงต่อหญิงที่มีอัตลักษณ์เป็นทอม สังคมไทยเชื่อว่าจู๋สามารถแก้ได้ ในสังคมตะวันตกก็เป็น เพราะคิดว่าถ้าเจอของจริงแล้วจะหาย ซึ่งไม่เกี่ยวกันเลย มันแสดงให้เห็นว่าเรื่องเพศในสังคมไทยนอกจากไม่คุยกันแล้ว ความรู้ความเข้าใจยังอ่อนแอมาก”

กฤตยา เสนอว่า ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องทำความเข้าใจอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง แสวงหาคำนิยาม และวางกฎกติกา เช่นที่ในตะวันตกมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ผู้เข้าร่วมฟังเสวนาคนหนึ่งตั้งคำถามว่า เราสามารถสรุปได้แน่ชัดแล้วหรือว่านี่คืออาชญากรรมจากความเกลียดชัง เพราะแรงจูงใจในการก่อเหตุอาจเป็นได้หลายทาง แม้บางคนจะยังไม่มีการฟันธง แต่ข้อสรุปที่ดูจะได้คำตอบชัดเจนก็คือความเกลียดชังผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างนั้นดำรงอยู่จริง และผู้ที่ก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชังมองเห็นความเป็นมนุษย์ในตัวผู้ที่ถูกเกลียดชังนั้นน้อยกว่าตน

 

หมายเหตุ เนื่องจากมีการทักท้วงว่าภาพที่นำมาประกอบข่าวมีความไม่เหมาะสมและเป็นการผลิตซ้ำความรุนแรง ทางประชาไทจึงขอนำรูปประกอบออกจากเนื้อหาข่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net