Skip to main content
sharethis

สนง.ประกันสังคม ส่ง จม.ถึงประชาไท แจงกรณี ม. 39 ม.40 คนพิการ และปฏิเสธแรงงานข้ามชาติ โต้บทความ "ย้อนปี 59 กับ 10 แพ็กเกจ ก.แรงงาน “สร้างความทุกข์ สกัดความสุข ไม่หยุดยั้งการละเมิดสิทธิ” 

19 ม.ค.2560 บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท ได้รับจดหมายชี้แจงจาก ลักขณา บุญสนอง รองเลขาธิกร รักษาการแทนเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ลงวันที่ 12 ม.ค. 60 เรื่อง ชี้แจงข่าว "ย้อนปี 59 กับ 10 แพ็กเกจ ก.แรงงาน “สร้างความทุกข์ สกัดความสุข ไม่หยุดยั้งการละเมิดสิทธิ” (บทความดังกล่าวเขียนโดย บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา URL http://prachatai.org/journal/2017/01/69480)

จดหมายชี้แจงของ สนง.ประกันสังคม ระบุว่า ตามที่อ้างถึง เว็บไซต์ประชาไท เสนอข่าวที่มีผลกระทบต่อสำนักงานประกันสังคม ดังนี้ 1. ผู้ประกันตนมาตรา 39 พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ไม่สามารถชำระเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ณ ที่ทำการสำนักงานประกันสังคมต่าง ๆ ได้ 2. ผู้ประกันตนที่เป็นผู้พิการต่อเนื่องจากบาดเจ็บในงานตามมาตรา 33 พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ถูกบังคับให้ย้ายสิทธิไปอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผลจากคำสั่ง คสช. ที่ 58/2559

3. ประโยชน์ทดแทนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ถูกละเลยจากกรรมการประกัยสังคมในการพิจารณาปรับสิทธิ์ประโยชน์เพิ่มขึ้น และ 4. สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐมปฏิเสธแรงงานข้ามชาติเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนแม้มีสถานะเป็น “ลูกจ้าง” ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1558/2558

สำนักงานประกันสังคม ชี้แจ้งข้อเท็จจริง ดังนี้ 1. กรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ไม่สามารถชำระเงินสมทบที่สำนักงานประกันสังคมต่าง ๆ ได้นั้น เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการกระจายอำนาจให้ประชาชนเข้าถึงบริการของหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย และสอดคล้องตามยุทธศาสตร์กระทรวงแรงงานในการสร้างความโปร่งใส ประกอบกับรองรับการก้าวเข้าสู่การให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จึงเพิ่มช่องทางการรับจ่ายเงินเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสำนักงานนายจ้าง ผู้ประกันตน และการดำเนินการจ่ายประโยชน์ทดแทนแก่ผู้ประกันตนโดยได้พัฒนาช่องทางการให้บริการของผู้ประกันตนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมิต้องเดินทางมาติดต่อ ณ สำนักงานประกันสังคม ทั้งนี้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สามารถชำระเงินสมทบผ่านธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารธนชาติ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม พร้อมรับใบเสร็จเงินทันที และช่องทางเคาน์เตอร์เซอร์วิส เคาน์เตอร์ทำการไปรษณีย์ เคาน์เตอร์เซ็นแพทย์ ซึ่งมีร้านสาขาในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล จำนวน 22 สาขา โดยค่าธรรมเนียมเพียงรายการละ 10 บาท

2. กรณีผู้ประกันตนที่เป็นผู้พิการเนื่องจากบาดเจ็บในงานถูกบังคับให้ย้ายสิทธิไปอยู่ในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 58/2559 ลงวันที่ 14 ก.ย. 2559 เรื่องการรับบริการสาธารณสุขของคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนคนพิการ เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา

ซึ่งที่ประชุมมีข้อสรุปดังนี้ 1) ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้พิการสามารถเข้ารักษาในสถานพยาบาลของรัฐได้ทุกแห่งโดยสำนักงานประกันสังคมจะนำเสนอคณะกรรมการแพทย์ และคณะกรรมการประกันสังคม และที่ปรึกษาพิจารณาเพื่อให้เห็นชอบออกประกาศ ฯ มีผลใช้บังคับภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2559 2) กรณีผู้พิการที่เป็นผู้ประกันตนถูกโอนสิทธิไปใช้บัตรทองและไม่ได้รับความสะดวกต้องเขารับบริการในสถานพยาบาลเอกชนเดิมและสถานพยาบาลเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคมสามารถนำใบเสร็จมายื่นเบิกกับสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา โดยสำนักงานประกันสังคมจะพิจารณาจ่ายให้ตามเงื่อนไขของประกาศคระกรรมการการแพทย์ ฯ โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ภายใต้บทเฉพาะกาลของประกาศกระทรวงการคลังฯ และ 3) บัญชีประเภทและอัตราค่าอวัยวะและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรคกรณีสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะหรืออวัยวะบางส่วน สำนักงานประกันสังคมได้ปรับรายการและอัตราจาก 31 รายการ เป็น 95 รายการโดยผู้พิการไม่ต้องสำรองเงินจ่ายและให้สถานพยาบาลมายื่นเบิกกับสำนักงานประกันสังคม

สำนักงานประกันสังคม ชี้แจ้งข้อเท็จจริง เพิ่มเติมว่า 3. กรณีประโยชน์ทดแทนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ถูกละเลยจากกรรมการประกันสังคมในการพิจารณาเพิ่มขึ้น สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการพัฒนาสิทธิประโยชน์ประกันสังคมตามมาตรา 40 โดยมีการพิจารณาเพิ่มขยายสิทธิประโยชน์เงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีประสบอันตราหรือเจ็บป่วยเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ เงินบำเหน็จกรณีชราภาพ อัตราเงินสมทบทางเลือกที่ 1 และอัตราเงินสมทบทางเลือกที่ 2 ซึ่งผลการดำเนินการดังกล่าวได้ผ่านพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงแรงงานเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2559 โดยในขั้นตอนต่อไปกระทรวงแรงงานจะต้องเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาฯ เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานลงนามถึงคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นก่อนส่งร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดำเนินการต่อไป

และ 4. กรณีสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐมปฏิเสธแรงงานข้ามชาติ แม้มีสถานะเป็นลูกจ้างขอชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวลูกจ้างเป็นแรงงานต่างดาวสัญชาติเมียนมา ขึ้นทะเบียนตามนโยบายของรัฐบาลไทย มีหนังสือเดินทาง (Passport) และใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) โดยทำงานตำแหน่งลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่ไม่ได้รับใบอนุญาตให้ทำงานกับสถานประกอบการ ต่อมาประสบอันตรายในพื้นที่จังหวัดนครปฐมสาขาสามพราน มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามกฎกระทรวงกำหนด จ่ายค่าทดแทนกรณีหยุดพักรักษาตัวและจ่ายค่าทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะ และกรณีดังกล่าวลูกจ้างได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งเงินทดแทนของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐม สาขาสามพราน ซึ่งคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีมติว่าลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน แต่มีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 โดยให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้สำนักงานประกันสังคมปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 50 เมื่อมีการแจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย หรือมีการยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทน หรือความปรากฎแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ว่าลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหายให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวน และออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิ

     

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net